logo-heading

กลายเป็นประเด็น “ดราม่า” ทันทีเมื่อบิ๊กทีมอย่าง “ปราสาทสายฟ้า” บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ประกาศชัดจะไม่ปล่อยนักเตะให้ทีมชาติไทยใน “เอเชี่ยนเกมส์” หาก “ไทยลีก” ไม่หยุด !!!

ดูแล้วคงไม่ใช่แค่ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด แน่ๆ เชื่อว่าน่าจะมีอีกหลายทีมที่ “ไม่โอเค” ในการปล่อยตัวไปรับใช้ชาติในช่วง “เอเชี่ยนเกมส์” เหมือนกัน กรณีนี้ไม่น่าแปลกใจและตกใจอะไรเลยสักนิดครับ ใครๆก็รู้ว่าหาก “ไทยลีก” ไม่หยุดช่วง “เอเชี่ยนเกมส์” แล้วสโมสรที่ไหนจะปล่อยนักเตะไปให้กับทีมชาติไทย เอาจริงๆ ขนาดว่าช่วงเวลาบอลลีกไม่เตะ บางสโมสรยัง “เห็นแก่ตัว” ไม่ปล่อยนักเตะให้ทีมชาติไทยเลยด้วยซ้ำ แล้วนี่ลีกไม่หยุดคิดเหรอว่าจะปล่อยตัวกัน...ไม่มีทาง แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่ากรณี “เอเชี่ยนเกมส์” จะเป็นเรื่องที่สโมสรเห็นแก่ตัวนะครับ การตัดสินใจของ สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ ที่ไม่หยุดลีกทำให้สโมสรไม่มีทางเลือกอื่นมากนัก คำว่า “ใจเขา ใจเรา” น่าจะอธิบายสถานการณ์ต่างๆได้ดี กรณีนี้ สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ และ สโมสร ไม่มีทาง “วินๆ” ทั้งคู่แน่ กีฬา “เอเชี่ยนเกมส์” ครั้งที่ 18 จะแข่งขันระหว่างวันที่ 18 ส.ค.- 2 ก.ย.ที่แดน “อิเหนา” อินโดนีเซีย ช่วงเวลานั้นจะตรงกับโปรแกรมลีกช่วงเข้าโค้งสุดท้ายของฤดูกาลแล้ว “ไทยลีก 1” จะมี 3 เกมในช่วงนั้นคือนัดที่ 28-30 ส่วน “ไทยลีก 2” ที่มีแค่ 15 ทีมนี่ใกล้จบเลยเป็นนัดที่ 26-28 นอกจากนี้ยังมี “เอฟเอคัพ” รอบ 8 ทีมสุดท้ายอีก 1 นัด ดูจากตรงนี้เห็นชัดเจนว่าสถานการณ์ของลีกจะเข้มข้นขนาดไหนในช่วงเวลานั้น “ไทยลีก 1” มีตกชั้นถึง 5 ทีม ไหนจะลุ้นแชมป์กันอีก แล้วสโมสรจะปล่อยตัวหลักได้อย่างไร ส่วน “ไทยลีก 2” ที่ตกชั้น 2 ทีมจาก 15 ทีมใช่ว่าจะเบา แต่ละทีมต้องเต็มร้อยเหมือนกัน ไหนจะลุ้นติด 1 ใน 3 เพื่อเลื่อนชั้นอีก ดังนั้นเรื่องการปล่อยตัวหลักคงเป็นอะไรที่ยากมากๆ อย่าเอาคำว่า “เสียสละ” มาบีบบังคับสโมสรเลยครับ ประเด็นนี้อยู่ที่ “การจัดการ” มากกว่า ไม่ใช่ว่าเอะอะอะไรก็อ้างแต่คำว่า “เพื่อชาติ” มุมหนึ่งต้องเข้าใจหัวอกสโมสร แต่อีกมุมก็ต้องเข้าใจว่า สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ และ “ไทยลีก” ทำไมถึงเลือกที่จะไม่หยุดลีกในช่วง “เอเชี่ยนเกมส์” เหตุผลเพราะในช่วงปลายปีต่อเนื่องถึงต้นปีหน้านักเตะ “ช้างศึก” มีคิวรออยู่เพียบ ทั้งเกมระดับย่านภูมิภาคอาเซียนและการยกระดับไปสู่ระดับทวีปเอเชีย ปีนี้ฟุตบอลชิงแชมป์อาเซียน “เอเอฟเอฟ ซูซูกิคัพ 2018” ปรับรูปแบบใหม่ ไม่มี “เจ้าภาพ” รอบแรกเตะพบกันหมดในกลุ่มเหมือนเดิม แต่จับสลากเตะเหย้าหรือเยือน (นัดเดียว) ด้วยเหตุนี้ “ซูซูกิคัพ” จึงมีเวลาแข่งขันนานกว่าเดิมคือขยายเป็นเกือบ 2 เดือน เริ่มนัดแรกเร็วตั้งแต่วันที่ 8 พ.ย.แล้วไปจบนัดสุดท้ายชิงชนะเลิศวันที่ 15 ธ.ค. หลังจากนั้นขุนพล “ช้างศึก” จะมีคิวต่อเลยในฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติเอเชียหรือ “เอเชี่ยนคัพ 2019” ระหว่างวันที่ 5 ม.ค.-1 ก.พ. 62 ที่ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ ทีมชาติไทยมีคิวรออยู่เพียบ เกมลีกจึงจำเป็นต้องเตะจบให้เร็วที่สุดเพื่อให้ “ช้างศึก” ได้เตรียมทีมและนักเตะยังมีสภาพ ไม่ใช่ว่าไปอัดโปรแกรมลีกไว้ท้ายฤดูกาลจนนักเตะกรอบ นั่นคือเหตุผลที่ สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ ตัดสินใจไม่เบรก “ไทยลีก” ในช่วง “เอเชี่ยนเกมส์” จริงๆ แล้วไม่ว่าจะ เอเชี่ยนเกมส์ ซูซูกิคัพ หรือ เอเชี่ยนคัพ ขึ้นชื่อว่าเป็น “ทีมชาติไทย” ไปแข่งขันทุกรายการล้วนมีความสำคัญหมดละครับ แต่บางครั้งมันต้องจัดลำดับความสำคัญ ตอนนี้คงบอกได้แค่ว่า สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ เตรียมแผนรับมือสำหรับ “เอเชี่ยนเกมส์” ที่ไม่มีการหยุดลีกเอาไว้แล้ว ไม่งั้นคงไม่วางโปรแกรมลีกไว้แบบนี้ ทีมงาน “เอเชี่ยนเกมส์” เลือกผู้เล่นไว้แล้วประมาณ 50 คนในรุ่นอายุไม่เกิน 21 ปี แบ่งนักเตะเป็น 3 กลุ่มคือ 1.สโมสรไม่ปล่อยแน่ 2.โอกาส 50-50 และ 3.สโมสรปล่อยแน่ กลุ่มที่สโมสรไม่ปล่อยแน่ๆคือตัวหลักแต่ละทีมนั้นละครับ ส่วนกลุ่ม 50-50 นี่คือไม่ใช่ตัวหลักของทีมแต่ยังต้องเจรจา ขณะที่กลุ่มสุดท้ายคือคนที่เล่นในทีมบีเป็นหลัก แผนการคร่าวๆคือการเซตผู้เล่นเอาไว้ตามนี้ จากนั้นจะคุยกับสโมสรเพื่อเคลียร์ให้จบ แล้วประกาศรายชื่อเตรียมทีมเลย เริ่มจากเกมอุ่นเครื่องที่ต้องไปเตะที่จีนปลายเดือนนี้ จบจากนั้นลุยต่อเตรียมทีมต่อเนื่องไปถึง “เอเชี่ยนเกมส์” ข้ามไป “ซีเกมส์” ปี 2019 และเป้าหมายใหญ่ที่ “ยู-23 ชิงแชมป์เอเชีย 2020” เพื่อคัดไปโอลิมปิก “โตเกียว 2020” แน่นอนละว่าระหว่างทางกว่าจะถึงเป้าหมายใหญ่คงต้องลุ้นกันว่าจะได้พวก “ตัวหลัก” มาร่วมทีมได้ขนาดไหน แต่ถ้ามัวแต่รอตัวหลักแล้วไม่เตรียมแผนอะไรรองรับเลยคงไม่ใช่ ทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ที่การวางแผนและการจัดการ กรณี “ดราม่าบอลเอเชี่ยนเกมส์” ถือเป็น 1 ในแผนที่ได้มีการคิดและตัดสินใจออกมาแล้วว่าจะไม่หยุดลีก กรณีนี้ไม่ง่ายที่จะวินๆทั้งสโมสรและทีมชาติไทย “ได้อย่าง-เสียอย่าง” ครับ  

“บับเบิ้ล”

ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมของ ขอบสนาม
logoline