logo-heading

ภายหลัง แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด จัดการสั่งปลด โอเล่ กุนนาร์ โซลชา ออกจากตำแหน่งกุนซือเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อเซ่นต่อผลงานที่ย่ำแย่ ฉะนั้นไม่แปลกที่ในช่วงที่ผ่านมาจะมีชื่อของนายใหญ่ชื่อดังไม่ต่ำกว่า 10 คน วนเวียนมีข่าวเชื่อมโยงกับทัพ "ปีศาจแดง"

ก่อนที่ล่าสุดสื่อใหญ่ทุกเจ้าจะรายงานตรงกันว่าบอร์ดบริหารของ แมนฯ ยูไนเต็ด ได้เลือกแล้วที่จะแต่งตั้ง ราล์ฟ รังนิค กุนซือวัย 63 ปี เข้ามาขัดตาทัพด้วยสัญญาระยะสั้นเพียง 6 เดือน พร้อมเงื่อนไขเข้ารับตำแหน่งที่ปรึกษาของสโมสรอีก 2 ปี ซึ่งแม้ชื่อของ รังนิค จะหายไปจากสารบบการคุมทีมมาราวๆ  2 ปี แต่ด้วยชื่อที่เจ้าตัวสะสมมาตลอดเส้นทางนี้นั้น ไม่แปลกที่จะได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในกุนซือจอมแท็คติก และเป็นครูของผู้จัดการทีมบางคนในยุคนี้ด้วย ว่าแล้ว ขอบสนาม ของเราจะพาไปรู้จักกับว่าที่กุนซือคนใหม่ของ "ปีศาจแดง" ให้มากขึ้น ว่าเขาเป็นใครมาจากไหน และชีวิตสายกุนซือเคยผ่านงานอะไรมาบ้างแล้ว

ฟุตบอลที่แตกต่าง

ย้อนกลับไปสมัยที่ ราล์ฟ รังนิค ยังคงสวมสตั๊ดไล่หวดลูกหนังอยู่นั้นเจ้าตัวค้าแข้งกับทีมที่ไม่ได้มีชื่อมากนัก ก่อนที่จะหันหลังให้กับชีวิตค้าแข้งด้วยวัย 30 ปี แต่ทว่าก่อนหน้านั้นเจ้าตัวก็เริ่มหันเห และสนใจเรื่องงานโค้ชจนได้รับโอกาสจับงานทางด้านนี้ และยิงยาวมาจนถึงปัจจุบัน โดยปรัชญาการทำทีมของ รังนิค ค่อนข้างแตกต่างจากคนในยุคสมัยนั้น และด้วยเหตุนี้ความสำเร็จแรกของเขาในงานด้านคือการคุมสโมสรที่มีชื่อว่า อูล์ม 1846 คว้าแชมป์ระดับดิวิชั่น 4 มาครองได้สำเร็จ หลังจากนั้นชื่อของเขาก็เริ่มเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้นถึงขั้นถูกเชิญไปออกรายการโทรทัศน์เพื่อบรรยายถึงเคล็ดลับด้านของฟุตบอลของตัวเอง จากนั้นสื่อในเยอรมันก็พร้อมใจตั้งฉายาว่า "โปรเฟสเซอร์ เยอรมัน" แต่นั่นเหมือนเป็นคำเย้ยหยันเสียมากกว่า เพราะรูปแบบฟุตบอลของ รังนิค ช่างแตกต่างเป็นอย่างมาก เพราะในเยอรมันในช่วงนั้นนิยมการลงเล่นในระบบปราการหลัง 3 คน พร้อมเล่นแบบการประกบตัว ซึ่งนั้นทำให้วิถีของ รังนิค ต่างจากคนอื่นๆ ในยุคนั้นมากเลยทีเดียว ทำความรู้จัก ราล์ฟ รังนิค (ว่าที่) กุนซือคนใหม่ของ แมนฯ ยูไนเต็ด

โยกย้ายคุมทีมหลายแห่ง

ชีวิตการคุมทีมของ รังนิค เริ่มต้นขึ้นเมื่อช่วงปี 1983 กับสโมสรที่มีชื่อว่า วิคตอเรีย บัคนัง ทีมระดับดิวิชั่นหกของ ยูเครน ซึ่งไฮไลท์อยู่ที่เกมที่เขาต้องโคจรมาพบกับ ดินาโม เคียฟ ทีมยักษ์ใหญ่ของประเทศ ในเกมกระชับมิตร ผลปรากฎว่าเกมเพรสซิ่งของ รังนิค เล่นเอาคู่แข่งไปแทบไม่เป็น จนนั้นกลายเป็นปรัชญาลูกหนังที่ วาเลรี่ โลบานอฟสกี้ นายใหญ่คู่แข่งต้องโค้งหัวคำนับ จากนั้นเขาก็ตระเวนพิสูจน์ตัวเองไปกับหลายสโมสร โดยเฉพาะในเยอรมันที่ในช่วงยุค 90 เขาผ่านงานมาแล้วกับทั้ง สตุ๊ตการ์ท ชุดยู-19, อูล์ม 1846, หรือ สตุ๊ตการ์ท (ชุดใหญ่) ก่อนที่ในยุค 2000 เป็นต้นมาชื่อของ รังนิค จะเริ่มก้าวขึ้นมามีบทบาทคุมทีมในศึกบุนเดสลีกา มากยิ่งขึ้น ไล่มาตั้งแต่ ฮันโนเวอร์, ชาลเก้ 04, ฮอฟเฟ่นไฮม์, ชาลเก้ 04 (รอบ 2 ) และ แอลเบ ไลป์ซิก ส่วนในเรื่องของความาเร็จ รังนิค อาจจะไม่ได้มีรูปธรรมที่เป็นระดับโทรฟี่ใหญ่ให้ได้มาเชยชมมากนัก อย่างในช่วงปี 2001-2004 เจ้าตัวก็พา ฮันโนเวอร์ เลื่อนชั้นสู่ลีกสูงสุดได้สำเร็จ จากนั้นก็โยกย้ายไป ชาลเก้ 04 แม้จะไม่ได้พุ่งชนกับความสำเร็จ เป็นพระรองถึง 2 รายการนั้นคือ บุนเดสลีกา กับ เดเอฟเบ โพคาล แต่นั่นก็พอจะเป็นเครดิตสำหรับตัวเขาได้อยู่เหมือนกัน จากนั้นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของ รังนิค นั้นก็คือการพาสโมสรจากหมู่บ้านเล็กๆ อย่าง ฮอฟเฟ่นไฮม์ เลื่อนชั้นจากดิวิชั่น 3 สู่ลีกสูงสุด ด้วยระยะเวลาเพียง 3 ปี เท่านั้น ก่อนที่เจ้าตัวจะอำลาสโมสรไป เพื่อกลับไปรับงานคุมทัพ ชาลเก้ 04 เป็นครั้งที่ 2 ซึ่งคราวนี้ รังนิค ก็เสกแชมป์ให้กับสโมสรได้สำเร็จนั้นก็คือโทรฟี่ เดเอฟเบ โพคาล ซึ่งหลังจากสละเก้าอี้ทัพ "ราชันน้ำเงิน" ในช่วงปี 2011 เจ้าตัวก็ว่างจากงานคุมทีมถึง 4 ปีเต็มๆ ก่อนจะเข้าคุมทัพ แอร์เบ ไลป์ซิก โดยเวลาครั้งนั้นเขาอยู่ในตำแหน่งได้เพียง 1 ฤดูกาล ก่อนที่ทีมจะไปแต่งตั้ง ราล์ฟ ฮาเซนฮุทเทิ่ล เข้ามาคุมทัพ แต่ทว่าก็อยู่ได้ไม่นานก็แยกทางกันไป และสโมสรก็หวนกลับมาแต่งตั้ง รังนิค อีกครั้ง ซึ่งนี่เองก็เหมือนเป็นช่วงเวลาที่เขาปูพื้นฐานให้กับสโมสรก่อนที่ ยูเลี่ยน นาเกลมันน์ จะเข้ามารับงาน เพื่อสานต่อให้ทีมเดินไปข้างในในแนวทางที่เขาได้วางเอาไว้ให้แล้ว

บทบาทใหม่

ชื่อของ รังนิค อาจแลดูหายไปจากเวทีการคุมทีม เนื่องด้วยเขาได้รับงานในบทบาทใหม่นั้นก็คือผู้อำนวยการกีฬาของบริษัทเร้ดบูลล์  ที่ดูแลสโมสรในเครือไม่ว่าจะเป็น ไลป์ซิก, ซัลซ์บวร์ก หรือ นิวยอร์ค ซึ่งภายใต้เงินสนับสนุนระดับมหาศาลไม่แปลกที่สโมสรอย่าง แอร์ ไลป์ซิก จะสร้างความฮือฮาด้วยการปีนไต่จากฟุตบอลในระดับดิวิชั่น 4 เยอรมัน สู่ลีกสูงสุดด้วยระยะเวลาเพียง 6 ปี เท่านั้น ก่อนที่จะสถาปนาตัวเองเป็นสโมสรชั้นนำของลีกเมืองเบียร์ ได้ไปอวดโฉมในศึก แชมเปี้ยนส์ลีก อย่างต่อเนื่องในช่วงหลัง แม้ระบบแบบนี้แฟนบอลทีมอื่นๆ อาจจะไม่ชอบใจ เนื่องด้วยค่อนข้างขัดกับโมเดลของลีก แต่ทว่าแฟนบอลของ ไลป์ซิก ไม่ได้สนใจ เพราะทีมของเขากำลังไปได้สวย และมีแนวทางที่ชัดเจนว่าเหล่าเจ้าของทีมต้องการสิ่งไหน และต้องการทำให้ทีมไปอยู่ในจุดที่ยิ่งใหญ่มากกว่าเดิม จากนั้นชีวิตของ รังนิค ดูเหมือนจะชอบการทำงานแนวบริหารมากกว่า เพราะเจ้าตัวสร้างความเซอร์ไพรส์ด้วยการตอบรับการเป็นผู้จัดการฝ่ายพัฒนากีฬาของ โลโคโมทีฟ มอสโก ทีมในลีกสูงสุดของรัสเซีย เมื่อช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมานี้เอง แต่ทว่าด้วยความน่าสนใจในงานที่ แมนฯ ยูไนเต็ด ยื่นเข้าไปให้ ทำให้เขาเริ่มมีความคิดที่อยากจะกลับมายืนคุมทีมที่ข้างสนามอีกครั้ง แม้จะมีเพียงระยะเวลาเพียง 6 เดือนเท่านั้นกับบทบาทนี้ แต่ไฮไลท์คงอยู่ที่การเข้ารับตำแหน่งที่ปรึกษาของสโมสรหลังจากนั้นที่ตัวเขาเองก็ดูปรารถนาถึงสิ่งนี้มากพอสมควร ทำความรู้จัก ราล์ฟ รังนิค (ว่าที่) กุนซือคนใหม่ของ แมนฯ ยูไนเต็ด

อาจารย์ของหลายๆ กุนซือ

อย่างที่กล่าวไปเมื่อช่วงข้างต้นว่าฟุตบอลในสไตล์ของ รังนิค แตกต่างจากความนิยมในช่วงเยุคสมัยเริ่มต้นของเขา แต่นั้นกลายเป็นปรัชญาลูกหนังที่เฟื่องฟูเหลือเกินในยุคปัจจุบัน ถ้าพูดถึง "เกเก้นเพรสซิ่ง" เชื่อว่าหลายคนคงหุ้นหูไม่ใช่น้อย เพราะแนวทางนี้ เจอร์เก้น คล็อปป์ เอามาติดตั้งให้กับ ลิเวอร์พูล จนกลายเป็นทีมที่แข็งแกร่งในปัจจุบัน โดยครั้งหนึ่ง รังนิค เคยหล่นบทสัมภาษณ์เกี่ยวกับฟุตบอลในรูปแบบนี้ไว้ว่า "มันง่ายมาก เกเก้นเพรสซิ่ง เป็นสไตล์ฟุตบอลเชิงรุก คล้ายกับวิธีที่ ดอร์ทมุนด์ หรือ ลิเวอร์พูล กำลังเล่นอยู่ภายใต้การทำทีมของ คล็อปป์" "เราชอบการเพรสสูง  กับการตอบโต้ที่เข้มข้นมาก เมื่อเราได้บอล เราไม่ชอบการจ่ายบอลแบบเหลี่ยม หรือแบ็ค ผู้รักษาประตูก็ไม่ควรเป็นคนที่สัมผัสบอลมากที่สุดเช่นกัน ในเกือบทุกลีก และทุกประเทศ ผู้รักษาประตูเป็นนักเตะที่มีขอบเขตจำกัดมากที่สุดในสนามในทางเทคนิค ดังนั้นเราต้องแน่ใจว่าเขามีการสัมผัสบอลด้วยเท้าน้อยที่สุด" "มันเป็นฟุตบอลที่รวดเร็ว, เชิงรุก, โจมตี, โต้กลับ, ตอบโต้, น่าตื่นเต้น และสนุกสนาน" นอกจาก คล็อปป์ แล้ว อีกหนึ่งตัวอย่างชั้นดีที่เอาแนวทางของ รังนิค ไปต่อยอดจนถึงทุกวันนี้ก็คือ แอร์เบ ไลป์ซิก โดยเฉพาะในยุคของ ยูเลี่ยน นาเกลมันน์ ที่ทำฟุตบอลได้อย่างสวยงาม เกมรุกดุดันตามสไตล์ที่ รังนิค ได้ปลูกฝังวางเอาไว้ จนเรื่อยมาถึงกุนซือปัจจุบันอย่าง เจสซี่ มาร์ช ที่แม้จะไม่เปรี้ยงปร้างเท่าเก่า แต่แนวทางนี้ยังคงถูกนำมาใช้อยู่เสมอ ฉะนั้นแล้วมันจึงน่าสนใจเป็นอย่างมากว่าชื่อของ รังนิค เมื่อเข้ามาคุมทัพ แมนฯ ยูไนเต็ด ที่มีตัวผู้เล่นครบมือ เขาจะสามารถช่วยยกระดับ และพาปีศาจแดงตนนี้ให้กับผงาดอีกครั้งได้หรือไม่ รวมไปถึงการวางรากฐานต่างๆ ต่อจากนี้เพราะด้วยแนวทางของ รังนิค คือการให้โอกาสดาวรุ่ง วางรากฐาน และเพิ่มมูลค่าให้กับสโมสร ซึ่งการออกจากเซฟโซนที่บอร์ดบริหารของ แมนฯ ยูไนเต็ด ทำในครั้งนี้ ถือว่าน่าสนใจไม่น้อย กับกุนซือมากประสบการณ์ แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ แต่มวลรวมในคราวนี้ดูแล้วแฟนบอล “ปีศาจแดง” คงปลื้มใจกับดีลนี้ไม่น้อย จากศาสตราจารย์ลูกหนังในเยอรมัน เขากำลังจะเข้ามาเป็นกอบกู้ยอดทีมแห่งอังกฤษให้กลับมาเชิดหน้าชูตาอีกครั้ง  ซึ่งบทสรุปจะออกมาในรูปแบบไหน เวลาเท่านั้นที่จะเป็นคำตอบของทุกคำถามเอง 

- Paolinho -

logoline