logo-heading

หลังจาก พรีเมียร์ลีก อังกฤษ โชว์ความเป็นอินดี้ เปลี่ยนกฎตลาดซัมเมอร์ ให้ปิดตัวก่อนใครเพื่อน ในช่วงที่ก่อนออกสตาร์ทฤดูกาลใหม่ ราวๆ 1 สัปดาห์ ซึ่งเริ่มปฏิบัติกันมาตั้งแต่ปี 2017 แต่กระนั้นมันมีก็ความเสียงวิจารณ์มากมายตามมามากมาย หลากหลายประเด็น เพราะทำอะไรไม่เหมือนชาวบ้านเขา

แต่ล่าสุด พรีเมียร์ลีก ยืนยันว่า สโมสรได้โหวตให้ตลาดนักเตะช่วงซัมเมอร์ เลื่อนกลับไปปิดเหมือนเดิมในวันที่ 1 กันยายน ซึ่งจะเริ่มกันตั้งแต่ปรีซีซั่น ที่จะถึงนี้ อะไรคือข้อดี ที่ทำให้กฎนี้ถูกกลับมาใช้อีกครั้ง ลองไปดูกันเลย

  1. มีเวลาพิจารณาตัวเลือก
เมื่อซีซั่นเก่าจบไป คนเป็นโค้ชย่อมเห็นจุดอ่อนของทีมอยู่แล้ว ว่าต้องแก้ไขตรงจุดไหน ตำแหน่งไหนควรจะต้องซื้อเพิ่ม แต่ด้วยความที่ พรีเมียร์ลีก อังกฤษ ปิดตลาดก่อนใครเพื่อน ทำให้ตัวเลือกที่มองไว้ ก็ไม่ได้ตัวมาครอบครองแบบที่ใจหมายปอง เพราะมีเวลาไม่มากนัก ไหนจะต้องเจรจา ไหนจะต้องต่อรองราคาอีก ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เมื่อซัมเมอร์ก่อน ต้องเสียทั้ง โรเมลู ลูกากู กับ อเล็กซิส ซานเชซ ไปให้กับ อินเตอร์ มิลาน โดยที่แทบไม่มีเวลาพิจารณาตัวเลือกเข้ามาทดแทน แค่มีข่าวแล้วก็หายไป จนกลายเป็นตำนาน 48 ชั่วโมง ที่ถูกกล่าวขาน ฉะนั้นเมื่อเวลาขยายไปเป็นแบบเก่า เชื่อว่าจะทำให้แต่ละทีมมีเวลาพิจารณาตัวเลือกมากยิ่งขึ้น
  1. หาตัวแทนได้ทัน หากมีใครย้ายทีม
เรื่องการย้ายเข้า ย้ายออก เป็นเรื่องปกติอยู่แล้วสำหรับวงการลูกหนัง บางคนต้องการไปหาประสบการณ์ใหม่ๆ บางคนต้องการย้ายเพื่อโอกาสลงสนามมากขึ้น หรือ บางคนต้องการย้ายเพื่อประสบความสำเร็จ แต่ด้วยตลาดแบบเก่าของ พรีเมียร์ลีก อังกฤษ สโมสรเลยมีการขัดขวางไม่ให้บางคนย้ายทีม เนื่องด้วยการหาตัวแทนไม่ทันเวลา กระนั้นเรื่องราวเหล่านี้จะหมดไป เพราะจากเคยปิดตอนต้นเดือนสิงหาคม ก่อนที่ฤดูกาลจะเริ่มขึ้น ก็จะเปลี่ยนกลับไปเป็นวันที่ 1 กันยายน ตามเดิม เท่ากับว่าถ้าหากมีใครคิดย้ายทีม เชื่อว่าสโมสรก็พร้อมปล่อย กับคนที่ไม่มีใจอยู่กับทีม เพียงแค่ต้องแจ้งกันมาตั้งแต่เนิ่นๆ สโมสรก็จะดำเนินการหาตัวแทน เพื่อสร้างทีมไม่ให้พบรอยต่อกับการสู้ศึกฤดูกาลใหม่
  1. ไม่โดนโก่งราคา
เคสนี้ไปถาม เชลซี ได้เลยครับ ว่าการที่ต้องเสีย ติโบต์ กูร์กตัวส์ ผู้รักษาประตูมือ 1 ไปให้กับ เรอัล มาดริด และ มีเวลาเพียงแค่ไม่กี่วัน กับการหาตัวแทนมาเป็นมือกาวคนใหม่ ทำให้พวกเขาต้องยอมทุ่มเงินเป็นเงิน 71.6 ล้านปอนด์ เพื่อซื้อตัว เกปา อาร์ริซาบาลาก้า จาก แอธเลติค บิลเบา แบบหลีกเลี่ยงไม่ได้  เพราะถ้าไม่รีบทำอะไรสักอย่าง เชลซี ก็ไม่สามารถซื้อใครได้แล้ว ฉะนั้นด้วยเวลาที่มันจำกัด ทัพ "สิงห์บลูส์" เลยต้องยอมทุ่มเงินเป็นสถิติโลกผู้รักษาประตู เรียกว่าโดนโก่งราคาสุดๆ และ นั่นคือข้อเสียของการปิดตลาดก่อนใครเพื่อน แต่พอ พรีเมียร์ลีก อังกฤษ เปลี่ยนกลับมาใช้ในรูปแบบเดิม การโดนโก่งราคาเกินความจริง ก็จะหดหายลงไป เพราะบางครั้งเรื่องเม็ดเงินที่โอเว่อร์ ก็ไม่ได้การันตีว่าจะเป็นของที่คุณภาพจริงๆ
  1. โค้ชได้เวลาสร้างทีม
การปิดตลาด พรีเมียร์ลีก อังกฤษ แบบเก่า อาจมีข้อดีเรื่องของการไม่เหลื่อมล้ำ แต่ข้อเสียของมันก็คือทีมเล็กๆ ถ้าต้องเสียนักเตะคนสำคัญไป มันจะทำให้ศักยภาพลดลงไปด้วย ไม่เพียงแค่ทีมเล็กเท่านั้น ทีมใหญ่ก็เช่นกัน ยิ่งชั่วโมงนี้ เปลี่ยนกุนซือกันเป็นว่าเล่น ถ้าหากมีผลงานไม่ดีเกิดขึ้น ยิ่งเป็นช่วงซัมเมอร์ ถ้ามีโค้ชคนใหม่เข้ามาทำทีม การปิดตลาดแบบวันที่ 1 กันยายน ย่อมเป็นอะไรที่ดีกว่าอยู่แล้ว เพราะจะมีเวลาสร้างทีมมากกว่าเดิม ได้ใช้นักเตะที่อยากใช้ ได้ซื้อนักเตะที่อยากให้เข้ามาเปลี่ยนแปลง เวลาจะขายใครออกไป ก็น่าจะทำได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องลังเลกลัวว่าจะไม่มีตัวแทน 
logoline