logo-heading

แฟร้งค์ แลมพาร์ด กับฤดูกาลแรกในฐานะผู้จัดการทีม เชลซี คุณคิดว่าเขาสอบผ่านหรือไม่ ? เชื่อว่าหลายคนคงตอบว่า 'ผ่าน' จากบททดสอบที่เจอมามากมายในฤดูกาลนี้

วันนี้เรื่องที่ "ขอบสนาม" อยากนำเสนอก็คือ "การให้คุณได้รู้สิ่งที่เปลี่ยนไปที่ เชลซี เมื่อ แฟร้งค์ แลมพาร์ด เข้ามารับบทเป็นผู้จัดการทีม รวมไปถึงแนวทางต่างๆ ที่วางไว้" ถ้าพร้อมแล้วไปดูกันเลย

เสริมทัพไม่ได้

ปัญหาแรกที่ แฟร้งค์ แลมพาร์ด เจอเลยก็คือ "การโดนแบนจากตลาดซื้อขายนักเตะ" นับว่าเป็นปัญหาที่หนักระดับ 4-5 ดาวเลยทีเดียว เพราะอย่าลืมว่า เชลซี ต้องเสียผู้เล่นเบอร์ 1 ของทีมอย่าง เอแด็น อาซาร์ ให้ เรอัล มาดริด แต่ไม่สามารถหาตัวตายตัวแทนได้ แต่ยังดีหน่อยที่ได้ มาเตโอ โควาซิช กับ คริสเตียน พูลิซิช มาเป็นสมาชิกเพิ่มจากการใช้ออปชั่นซื้อขาดและเซ็นสัญญาล่วงหน้าตามลำดับ มันไม่มีทางเลือกสำหรับ แฟร้งค์ แลมพาร์ด เพราะยังไงก็ต้องใช้นักเตะเท่าที่มี แต่เขาก็จัดการกับปัญหาข้อนี้ได้เป็นอย่างดีด้วยการไว้เนื้อเชื่อใจเหล่าบรรดานักเตะดาวรุ่งของทีมนั่นคือการเปิดโอกาสให้นักเตะอย่าง แทมมี่ อบราฮัม, เมสัน เมาท์, รีซ เจมส์ และ ฟิกาโย่ โทโมรี่ ขึ้นมาพิสูจน์ตัวเอง และก็ทำผลงานได้ค่อนข้างดีเลยทีเดียว นับเป็นอีกสิ่งแปลกใหม่และชวนเซอร์ไพรส์มากๆ เพราะถ้าย้อนเวลากลับไปเราจะเห็นว่าผู้จัดการทีม เชลซี ส่วนใหญ่ไม่ค่อยให้โอกาสหรือสนใจนักเตะดาวรุ่งเท่าไหร่ >>> รวมปัญหา ของ เชลซี ในยุคของ แฟร้งค์ แลมพาร์ด

มั่นใจในตัวนักเตะ

การไว้ใจและเชื่อใจในตัวนักเตะนับเป็นคุณสมบัติที่ผู้จัดการทีมทุกคนต้องมี ถึงแม้ แฟร้งค์ แลมพาร์ด จะเดินในเส้นทางสายกุนซือมาแค่ 2 ปี แต่เขาเป็นคนที่เข้าใจหัวอกของนักเตะเป็นอย่างดี นอกจากเรื่องการไว้ใจและให้โอกาสพวกนักเตะจากอคาเดมี่แล้ว อีกหนึ่งเรื่อง ฟีล กู้ด เกี่ยวกับการไว้ใจนักเตะก็คือเคสของ คริสเตียน พูลิซิช เขาโดนวิจารณ์หนักใช้ได้เลยเรื่องผลงานในสนาม ได้เล่นไปไม่นานก็ต้องหลุดเป็นตัวสำรองยาวๆ หลายคนคงมองว่า คริสเตียน พูลิซิช คงหมดอนาคตแน่ๆ ซื้อมาก็แพง และก็ทำหน้าที่แทน เอแด็น อาซาร์ ไม่ได้ด้วย แต่สิ่งที่ แฟร้งค์ แลมพาร์ด ได้พูดเอาไว้ก็คือ การให้กำลังใจ อย่ากดตัวเองมากเกินไป ตั้งใจซ้อมต่อไปเดี๋ยวโอกาสก็มาเอง เขาสร้างความเชื่อมั่นให้กับ พูลิซิช จนเมื่อเขาได้รับโอกาสอีกครั้งสิ่งที่เปลี่ยนไปคือ พูลิซิช ทำผลงานได้ดีมาก มีส่วนร่วมกับเกมรุกเยอะขึ้น และยิงประตูกับทำแอสซิสต์ได้แบบต่อเนื่อง

กล่อมนักเตะให้เล่นตามแผน

หลายคนอาจจะมองว่า เชลซี ในยุคของ แฟร้งค์ แลมพาร์ด มันก็ไม่ได้ต่างอะไรกับสไตล์ "ซาร์รี่บอล" ของ เมาริซิโอ ซาร์รี่ เลยสักนิดถ้าดูจากการจัดทัพและวางตำแหน่งนักเตะ เพราะ จอร์จินโญ่ ยังยืนเป็นมิดฟิลด์ตัวสุดท้ายตามเดิม และให้ เอ็นโกโล้ ก็องเต้ เป็นตัวทะลวงขึ้นหน้าเหมือนเดิม จริงอยู่ที่มันไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนไป แต่ทำไมรู้สึกว่าปีนี้ในยุคของ แฟร้งค์ แลมพาร์ด เกมรุกมันถึงได้จัดจ้านและหวังผลได้มากกว่ายุค ซาร์รี่ ทั้งที่มี เอแด็น อาซาร์ ด้วย เคล็ดลับของความเปลี่ยนแปลงนี้มันง่ายนิดเดียว สำหรับ จอร์จินโญ่ ที่ทำหน้าที่เป็น โฮลดิ้ง มิดฟิลด์ แต่กลับโดนวิจารณ์เยอะเรื่องการสร้างสรรค์เกม ทำแอสซิสต์ก็ไม่ได้เลย วางบอลยาวก็ไม่ค่อยแม่น นานๆ จะมีช็อตจ่ายตัดหลังสวยๆ ให้เห็นสักที แต่สิ่งที่ แฟร้งค์ แลมพาร์ด ได้ไปเกลี้ยกล่อม จอร์จินโญ่ ก็คือ พยายามอ่านเกมให้ดีขึ้น เคลื่อนที่ยามไม่มีบอลให้เยอะขึ้น วิ่งให้เยอะขึ้น และเน้นช่วยเกมรับให้เยอะขึ้น เราจะเห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับ จอร์จินโญ่ ปีนี้มันดีขึ้นกว่าปีก่อนเยอะเลย ส่วนไอ้เจ้า วิลเลี่ยน ที่ชอบติดสกิลบอลชายเดี่ยว ขี้เลี้ยง ปีนี้ก็ใจกว้างจ่ายบอลให้เพื่อนเยอะขึ้น เล่นมีความเป็นทีมมากขึ้น และก็ลงมาช่วยเกมรับเยอะขึ้นด้วย นั่นก็เป็นเพราะการได้ แฟร้งค์ แลมพาร์ด เป็นคนกำชับมาอีกที คุณไม่จำเป็นต้องพยายามเล่นให้เก่งขึ้น เพียงแค่ทำเพื่อทีมให้มากขึ้นก็แค่นั้น

บรรยากาศในห้องแต่งตัว

ตลอดช่วงที่ผ่านมาเราจะเห็น เชลซี มีผู้จัดการทีมระดับท็อปวนเวียนเข้ามาบัญชาทัพอยู่มากหน้าหลายตา แต่ส่วนใหญ่ก็มักเป็นคนที่มีอีโก้สูงในระดับหนึ่ง และเราจะเห็นข่าวร่ำข่าวลืออยู่บ่อยๆ เรื่องปัญหาภายในระหว่างตัวนักเตะกับกุนซืออะไรทำนองนี้ในห้องแต่งตัว แต่ในยุคของ แฟร้งค์ แลมพาร์ด เราไม่เห็นข่าวแนวนี้หลุดออกมาเลย และจากสิ่งที่เขาปฏิบัติกับนักเตะทั้งในและนอกสนาม มันก็เป็นเครื่องยืนยันการันตีได้ว่าพี่แกเองก็สร้างความเชื่อมั่นและคุมนักเตะทั้งทีมได้อยู่หมัด ส่วนสำคัญน่าจะเป็นเพราะ แลมพาร์ด เป็นหนึ่งในนักเตะที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์สโมสร เชลซี เขาอยู่กับ เชลซี มานาน รู้ทุกอย่างที่เกี่ยวกับ เชลซี ไม่ว่าจะเป็นธรรมเนียมหรือประเพณีต่างๆ และเขาก็เป็นไอดอลของดาวรุ่ง เชลซี หลายๆ คนด้วย ไม่แปลกที่ใครๆ ต่างก็เชื่อฟังเขา แลมพาร์ด เป็นคนฉลาด หัวดีหัวไว และก็มีความกระหายในชัยชนะสูง นี่เป็นสิ่งที่ใครๆ หลายคนหลงใหลในตัวผู้ชายคนนี้ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่กุนซือ เชลซี คนก่อนๆ ไม่มี สิ่งที่ แฟร้งค์ แลมพาร์ด ได้สร้างขึ้นมาทั้งหมดนี้ทางสื่อต่างประเทศเขาเรียกว่า Winning Culture หรือถ้าแปลเป็นไทยตรงๆ ก็คือ "วัฒนธรรมแห่งชัยชนะ"

HaMuDosSantos (หมู ขอบสนาม)

บางส่วนของเนื้อหา : theprideoflondon ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ทางไลน์ขอบสนาม
logoline