logo-heading

ซีอีโอไทยลีก ยืนยันไม่ได้บังคับสโมสรสมาชิกในไทยลีกให้ส่งผู้เล่นอาเซียนลงเล่นตามโควต้า อยู่ที่ความสมัครใจของแต่ละสโมสร

เบนจามิน ตัน ผู้อำนวยการคลับ ไลเซนซิง สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ และรองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายควบคุมการแข่งขัน บริษัท ไทยลีก จำกัด ชี้แจงถึงนโยบายโควต้านักเตะอาเซียน ที่จะใช้ใน โตโยต้า ไทยลีก ฤดูกาล 2019 ว่ายังอยู่ในหลักเกณฑ์ 3+1+3 สำหรับการส่งชื่อในแต่ละแมตช์เช่นเดิม เพียงแต่ว่าทีมสามารถใส่ชื่อในการลงทะเบียน 35 คนได้ไม่จำกัดจำนวนเท่านั้น และไม่ได้เป็นการบังคับให้แต่ละสโมสรต้องส่งชื่อครบตามจำนวนโควต้าแต่อย่างใด สำหรับในฤดูกาลหน้า ลีกสูงสุดของประเทศไทย ได้มีการอนุญาตให้นักเตะต่างชาติลงสนามได้ไม่เกิน 7 คน (แบ่งเป็นเอเชีย 1 คน อาเซียน 3 คน และชาติอื่นๆ 3 คน รวมรายชื่อผู้เล่นสำรองแล้ว) ขณะที่การลงทะเบียนสามารถใส่ชื่อนักเตะสัญชาติอาเซียนได้ไม่จำกัดโควต้า ซึ่งโควต้าดังกล่าวมิได้บังคับให้สโมสร ลงทะเบียนนักเตะต่างชาติ, เอเชีย หรืออาเซียน ตามจำนวนที่กำหนด หากแต่เป็นการช่วยสนับสนุนสโมสร ที่ต้องการขยายฐานแฟนบอลไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยนโยบายนี้ถือเป็นการพัฒนาเชิงรุกของไทยลีก เพื่อสร้างโอกาสที่จะเพิ่มมูลค่า รวมถึงลิขสิทธิ์การแพร่ภาพ ที่จะนำมาต่อยอดกลับไปยังสโมสร อันได้แก่ เงินรางวัล เงินสนับสนุน และโครงการอื่นๆ ที่จะทำให้ฟุตบอลไทยพัฒนาต่อไป ขณะที่ในฟุตบอลถ้วยอย่าง โตโยต้า ลีก คัพ และ ช้าง เอฟเอ คัพ ยังมีการอนุญาตให้นักเตะต่างชาติลงสนามได้ไม่เกิน 5 คน (ต่างชาติ 3 เอเชีย 1 และอาเซียน 1) เช่นเดียวกับ เอ็ม-150 แชมเปี้ยนชิพ (ไทยลีก 2), ออมสิน ลีก โปร (ไทยลีก 3) และ ออมสิน ลีก (ไทยลีก 4) โดย มร. เบนจามิน ตัน กล่าวว่า “เราต้องการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางฟุตบอลแห่งอาเซียน เราภูมิใจเป็นอย่างมากที่ลีกอื่นๆ ในภูมิภาคมองไทยลีก ว่าวิธีการบริหารงานของเราอยู่ในระดับมืออาชีพ และเมื่อไม่นานมานี้เราก็มีชื่อติด 1 ใน 10 ลีกที่ดีที่สุดในเอเชียจากเอเอฟซี” “มันเป็นการตัดสินใจที่มีการศึกษาวิจัยอย่างถี่ถ้วน นี่เป็นวิธีการดำเนินงานที่มีแบบอย่างเจลีก เพื่อพัฒนาและผลักดันลีก โดยการเซ็นต์นักเตะอาเซียน ซึ่งรวมถึงนักเตะไทย ไปขยายตลาดเจลีก ซึ่งเห็นได้ชัดว่าพวกเขามีฐานแฟนบอลมากขึ้น และได้ประชาสัมพันธ์ลีกของประเทศตัวเองไปสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” “เราต้องวางแผนการขยายมูลค่าการแข่งขัน และช่วยให้สโมสรเองสามารถมองนอกกรอบ เป็นไปไม่ได้เลยที่สโมสรทั้งหมด จะสามารถยืนหยัดด้วยงบประมาณจากสปอนเซอร์ในประเทศที่มีอยู่ เพราะงบประมาณแต่ละที่ ก็ต้องสนับสนุนให้กับสโมสร ตามความเหมาะสมของการตลาด หรือแม้แต่ค่าซื้อขายนักเตะ และยอดขายบัตร” “ดังนั้นในนโยบายนี้ เป็นการเพิ่มศักยภาพให้สโมสรที่เห็นโอกาส ขยับตนเองให้เป็นสโมสรให้เป็นที่รู้จักระดับภูมิภาค ถือเป็นช่องทางที่จะสร้างความแข็งแกร่งอย่างยั่งยืนให้กับสโมสร เปิดโอกาสให้สโมสรได้มีแนวทาง หากว่ามีความสนใจในการต่อยอด ใครที่รุกก่อน ก็มีความได้เปรียบในการตลาด” “ซึ่งตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ อ่อง ธู นักเตะ โปลิศ เทโร ที่ช่วยทีมได้ทั้งในและนอกสนาม เขาได้ดึงฐานแฟนคลับจากเมียนมาให้เข้ามาร่วมชมเกมของสโมสร และหากมีนักเตะจากชาติเดียวกัน โคจรมาพบกันเอง ก็จะยิ่งสร้างความสนใจให้กับแมตช์นั้นๆ มากขึ้นไปอีก” “นอกจากนี้ยังเป็นการดึงดูดแบรนด์ และสปอนเซอร์จากประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากนี้ยังได้รับความสนใจจากสื่อ โทรทัศน์ ทำให้ลิขสิทธิ์ในการถ่ายทอดสด รวมถึงมูลค่าของลีกสูงขึ้น ซึ่งจะสามารถช่วยเพิ่มรายได้ให้กับลีก และสโมสรเพื่อที่จะพัฒนาขึ้นกว่าเดิม” “ด้วยนักเตะอาเซียน เราสามารถดึงดูดแฟนบอลที่มีประชากรจำนวน 650 ล้านคน ให้มาติดตามลีกและนักเตะ ไม่ใช่เฉพาะผู้เล่นจากประเทศของเขาเท่านั้น ยังรวมถึงนักเตะไทยด้วย” “ขณะเดียวกัน ผู้เล่นเองก็ต้องเข้าใจว่า สโมสรก็ไม่สามารถจะแบกรับค่าใช้จ่าย ที่เพิ่มขึ้นได้ในการจ้างผู้เล่นทั้งทีม โดยไม่มีรายได้ด้านอื่น นอกจากเงินสนับสนุน เงินรางวัล เงินจากสปอนเซอร์ ในแต่ละปีที่มีอยู่ตลอดไป ความยั่งยืนจะเกิดขึ้น เมื่อสโมสรมีความแข็งแกร่งและมั่นคง มีงบประมาณไปพัฒนาด้านอคาเดมีของตนเอง เพื่อลดค่าใช้จ่ายในอนาคต” “นอกจากนี้ การเล่นกับนักเตะระดับท็อปของอาเซียน ก็ถือเป็นการได้แลกเปลี่ยน และศึกษาแนวทางการเล่นของพวกเขาว่า เป็นอย่างไร และมีการพัฒนาไปถึงไหนแล้วเช่นกัน เหมือนอย่างที่ญี่ปุ่น เซ็นต์สัญญากับนักเตะอาเซียน” “ซึ่งการจัดสภาพแวดล้อมการแข่งขันที่เปิดกว้าง จะสามารถสร้างนักเตะไทยที่เก่งมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลช่วยให้เรามีทีมชาติที่แกร่งขึ้น เรามีหน้าที่สร้างความมั่นใจว่า ลีกของเราจะยังคงความน่าดึงดูดและการแข่งขันที่ดุเดือดต่อไปในอนาคต” “เรายังไม่ใช่สินค้าแบรนด์เนม ที่ไม่ใช่แค่ประกาศฟีเจอร์ใหม่ แล้วมีคนแห่จอง มันต้องลองในปีแรก เพื่อให้เกิดกระแสคนติดตาม อยากดูนักเตะของพวกเขา” เบนจามิน ตัน ทิ้งท้าย สำหรับหลักเกณฑ์ของนักเตะสัญชาติอาเซียน ในการลงทะเบียนเพื่อเข้าร่วมแข่งขันรายการ โตโยต้า ไทยลีก 2019 มีดังนี้ 1. เป็นนักเตะโควต้าอาเซียนที่มีชื่ออยู่ในฐานข้อมูลการลงทะเบียนไทยลีก 1-4 รวมถึงฟุตบอลถ้วย ณ วันที่ 20 สิงหาคม 2018 โดยนักเตะตามคุณสมบัติดังกล่าว จะต้องมีชื่อติดทีมชาติลงสนามแข่งขันไม่น้อยกว่า 3 นัด ก่อนสิ้นปี 2019 หากไม่ครบจะไม่สามารถลงทะเบียนนักเตะในโควต้าอาเซียน ฤดูกาล 2020 2. สำหรับนักเตะโควต้าอาเซียนที่ขึ้นทะเบียนใหม่ ในฤดูกาล 2019 จะต้องเคยติดทีมชาติลงสนามแข่งขัน ในเกมที่ได้รับการรับรองจากสหพันธ์ฟุตบอลอาเซียน (AFF), สมาพันธ์ฟุตบอลเอเชีย (AFC) หรือสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA) ในรุ่น U19 ขึ้นไป อย่างน้อย 3 เกม พร้อมหนังสือรับรองจากสมาคมกีฬาฟุตบอลจากแต่ละประเทศ 3. ในส่วนของโควต้าการส่งชื่อลงสนามเป็นตัวจริง + ตัวสำรอง ในแต่ละแมตช์ สำหรับนักเตะอาเซียน เมื่อรวมกับโควต้านักเตะเอเชีย และต่างชาติแล้ว สามารถส่งชื่อ และลงสนามได้ไม่เกิน 7 คน 4. สำหรับโควต้าอาเซียนนั้น เป็นสิทธิ์ของสโมสรที่จะส่ง หรือไม่ส่งชื่อลงทะเบียนก็ได้
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมของ ขอบสนาม
logoline