logo-heading

ส.บอล ออกมาชี้แจงกฎระเบียบของเอเอฟซี เรื่องโค้ชทีมชาติในระดับต่างๆ เผยโปรแกรมใหญ่บอลโลกรอบคัดเลือกช่วง ก.ย. โค้ชทีมชาติต้องโปรไลเซนส์

สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ภายใต้การบริหารงานของ พล.ต.อ.ดร.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกสมาคมฯ ได้ดำเนินนโยบายของการวางรากฐานเพื่อพัฒนากีฬาฟุตบอลอย่างมีระบบและยั่งยืน ซึ่งบุคลากรที่มีความสำคัญยิ่ง คือ "ผู้ฝึกสอน" ปัจจุบัน สหพันธ์ฟุตบอลเอเชีย (เอเอฟซี) กำหนดคุณสมบัติของผู้ฝึกสอนที่จะทำหน้าที่ในแต่ละรายการแข่งขันในระดับนานาชาติ ระหว่างปี 2019-2022 จะต้องผ่านการฝึกอบรมและมีระดับไลเซนส์ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด เพื่อเป็นการยกระดับคุณภาพของเกมการแข่งขันกีฬาฟุตบอล สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ เล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนา "ผู้ฝึกสอน" เพื่อนำความรู้ไปต่อยอดในการพัฒนาเด็กและเยาวชน จึงได้มีการจัดอบรมโค้ชในระดับต่างๆ เพื่อให้บุคลากรโค้ชไทยได้อบรม และมีคุณสมบัติที่เข้าหลักเกณฑ์ในการทำหน้าที่ในการแข่งขันฟุตบอลในระดับนานาชาติได้ สำหรับปี 2019 หลักเกณฑ์เรื่องไลเซนส์ ของผู้ฝึกสอนที่จะทำหน้าที่ในการแข่งขันฟุตบอลรายการต่างๆ ที่จัดโดย สหพันธ์ฟุตบอลเอเชีย (เอเอฟซี) มีดังนี้ ทีมชาติชุดใหญ่ และ ทีมชาติรุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี (ชาย - หญิง) หัวหน้าผู้ฝึกสอน - ระดับ โปรไลเซนส์ ผู้ช่วยผู้ฝึกสอน - ระดับ เอ ไลเซนส์ โค้ชผู้รักษาประตู - ระดับ Goalkeeping Level 2 โค้ชฟิตเนส - ระดับ Conditioning Level 1 ทีมชาติรุ่นอายุไม่เกิน 19 ปี และ 16 ปี (ชาย - หญิง) ผู้ฝึกสอน - ระดับ เอไลเซนส์ ผู้ช่วยผู้ฝึกสอน - ระดับ บี ไลเซนส์ โค้ชผู้รักษาประตู - ระดับ Goalkeeping Level 2 โค้ชฟิตเนส - ระดับ Conditioning Level 1 สำหรับ การแข่งขันที่จัดโดย เอเอฟซี ประกอบไปด้วย การแข่งขันฟุตบอลโลก รอบคัดเลือก และ รอบสุดท้าย, การแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์เอเชีย รอบคัดเลือก และ รอบสุดท้าย เป็นต้น ส่วนการแข่งขันฟุตบอลรายการอื่น ที่ไม่ได้จัดโดย เอเอฟซี อาทิ การแข่งขันฟุตบอลอุ่นเครื่องตามปฏิทิน ฟีฟ่า เดย์, การแข่งขันฟุตบอลรายการสี่เส้าต่างๆ ที่จัดโดยสมาคมฟุตบอลประเทศอื่นๆ เป็นต้น ซึ่งการแข่งขันฟุตบอลเหล่านี้ จะไม่มีการกำหนดเรื่องไลเซนส์ของผู้ฝึกสอนในตำแหน่งต่างๆ
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมของ ขอบสนาม
logoline