logo-heading

ฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานคิงส์ คัพ เตรียมที่จะกลับมาจัดการแข่งขันอีกครั้งในปี 2022 นี้ หลังจากครั้งล่าสุดจัดไปเมื่อปี 2019 ซึ่งครั้งนั้นเป็นการแข่งขันครั้งที่ 47 ที่จังหวัดบุรีรัมย์

สำหรับความน่าสนใจของฟุตบอลคิงส์ คัพ ในปีนี้ คือเป็นอีกครั้งที่จะไปจัดการแข่งขันที่ต่างจังหวัด เพื่อให้แฟนบอลชาวต่างจังหวัดได้เชียร์ทีมชาติไทยกันติดขอบสนาม ซึ่งแนวโน้มมีโอกาสสูงที่จะไปลงที่จังหวัดสงขลา ที่สนามติณสูลานนท์

วันนี้เราจะพาทุกท่านย้อนกลับไปดูผลงานทีมชาติไทย และฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานคิงส์ คัพ ที่เคยจัดนอกกรุงเทพมหานคร ตามต่างจังหวัดต่างๆ มีทั้งหมด 6 ครั้งด้วยกัน ดังนี้

ครั้งแรกที่ จ.ภูเก็ต สนามสุระกุล (คิงส์ คัพ ครั้งที่ 36 ปี 2005 )

คิงส์ คัพ พ.ศ.2548 เป็นครั้งแรกที่ไปจัดนอกกรุงเทพ และเป็นภาคใต้ที่จังหวัดภูเก็ต ซึ่งตอนแรกจะจัดกัน 3 จังหวัดคือ กระบี่, พังงา และ ภูเก็ต เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาคใต้หลังเกิดเหตุการณ์สึนามิ แต่ด้วยความพร้อมต่างๆ สุดท้ายแล้วไปจัดที่ภูเก็ตจังหวัดเดียว

โดยครั้งนั้นมี 4 ชาติเข้าร่วม คือ ไทย, ลัตเวีย, เกาหลีเหนือ และ โอมาน โดยแข่งขันแบบพบกันหมดและนำที่ 1-2 มาชิงชนะเลิศ สำหรับผลงานของไทย 3 นัด เสมอ ลัตเวีย 1-1, ชนะโอมาน 1-0 และ แพ้เกาหลีใต้ 0-2 มี 4 คะแนน ได้อันดับ 3 ส่วนแชมป์เป็นของ ลัตเวีย ที่ชนะ เกาหลีเหนือ รอบชิง 2-1

ครั้งที่ 2 จ.ภูเก็ต สนามสุระกุล (คิงส์ คัพ ครั้งที่ 39 ปี 2009)

คิงส์ คัพ พ.ศ.2552 ครั้งนี้เป็นอีกครั้งที่ไปเตะกันที่ภาคใต้จังหวัดภูเก็ต สนามสุระกุล ครั้งนี้มีทีมเข้าร่วม 4 ชาติด้วยกัน ประกอบไปด้วย ไทย, เดนมาร์ก, เลบานอน และ เกาหลีเหนือ

โดยรอบรองชนะเลิศ ไทย ชนะ เลบานอน 2-1 เข้าไปชิงชนะเลิศกับเดนมาร์ก เสมอกันในเวลา 2-2 ก่อนที่ทีมโคนมจะชนะจุดโทษไป 5-3 ไทยได้รองแชมป์

ครั้งที่ 3 จ.นครราชสีมา สนามเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา (คิงส์ 40 ปี 2010)

คิงส์ คัพ พ.ศ.2553 ยังคงไปจัดที่ต่างจัดหวัด และเป็นครั้งแรกที่ภาคอีสาน จังหวัดนครราชสีมา โดยครั้งนั้นมี 4 ชาติร่วมโม่แข้ง คือ ไทย, เดนมาร์ก, โปแลนด์ และ สิงคโปร์ โดยเตะแบบพบกันหมด

ผลงาน 3 นัดของไทย ชนะ สิงคโปร์ 1-0, แพ้ โปแลนด์ 3-1 และ แพ้เดนมาร์ก 3-0 ได้ 3 คะแนน จบอันดับ 3 ส่วนแชมป์เป็นของเดนมาร์ก โดยคิงส์ คัพ ครั้งนั้นโปแลนด์ มี โรเบิร์ต เลวานดอฟสกี้ ซึ่งเป็นดาวรุ่งมาร่วมแข่งขันด้วย

ครั้งที่ 4 จ.เชียงใหม่ สนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี (คิงส์ คัพ ครั้งที่ 42 ปี 2013)

คิงส์ คัพ พ.ศ.2556 เป็นครั้งแรกที่ไปจัดภาคเหนือจังหวัดเชียงใหม่ มี 4 ชาติลงเตะ คือ ไทย, สวีเดน, ฟินแลนด์ และ เกาหลีเหนือ นัดแรกไทย แพ้ ฟินแลนด์ 1-3 ไปชิงที่ 3 กับเกาหลีเหนือ เสมอกัน 2-2 ได้ที่ 3 ร่วม

ส่วนแชมป์ตกเป็นของสวีเดน ที่ชนะ ฟินแลนด์ ในนัดชิงชนะเลิศไป 3-0

ครั้งที่ 5 จ.นครราชสีมา สนามเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา (คิงส์ คัพ ครั้งที่ 43 ปี 2015)

คิงส์ คัพ พ.ศ.2558 เป็นการกลับมาที่โคราชอีกครั้ง มี 4 ชาติลงเตะแบบพบกันหมด ประกอบไปด้วย ไทย, เกาหลีใต้ ยู23, อุซเบกิสถาน ยู23 และ ฮอนดูรัส ยู20

ผลงาน 3 นัดของไทย ชนะ ฮอนดูรัส 3-1, แพ้ อุซเบกิสถาน 5-2 และเสมอเกาหลีใต้ 0-0 มี 4 คะแนน ได้อันดับ 2 ส่วนแชมป์เป็นของเกาหลีใต้ ได้ 7 คะแนน

ครั้งที่ 6 จ.บุรีรัมย์ สนามบุรีรัมย์ สเตเดี้ยม (คิงส์ คัพ ครั้งที่ 47 ปี 2019)

คิงส์ คัพ พ.ศ.2562 ไปจัดกันที่บุรีรัมย์ ซึ่งเป็นครั้งล่าสุดของฟุตบอลคิงส์ คัพ มี 4 ชาติลงเตะ ประกอบด้วย ไทย, เวียดนาม, อินเดีย และ กือราเซา

นัดแรก ไทย แพ้ เวียดนาม 1-0 ไปชิงอันดับ 3 กับ อินเดีย และก็แพ้ไป 1-0 ทำให้แพ้รวด 2 นัด ได้อันดับสุดท้ายของรายการ

ส่วนคิงส์ คัพ ครั้งที่ 48 ในปีนี้ สุดท้ายแล้วจะไปจัดการแข่งขันที่จังหวัดไหน และจะมีทีมไหนมาร่วมแข่งขันบ้าง รอลุ้นกัน ซึ่งจะเตะกันในเดือนกันยายนนี้

ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมของ ขอบสนาม
logoline