logo-heading

ปี 2012 สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ภายใต้การบริหารงานของ วรวีร์ มะกูดี อดีตนายกสมาคมฯ ประกาศว่า สโมสรศรีสะเกษ เอฟซี จะเปลี่ยนชื่อสโมสรเป็น อีสาน ยูไนเต็ด พร้อมย้ายสนามเหย้าจากศรีสะเกษ ไปอยู่ที่จังหวัดอุบลราชธานี การแข่งขันใน ฤดูกาล 2012 จบลงไป อีสาน ยูไนเต็ด คว้าอันดับที่ 5 ของตารางคะแนนไทยลีก นี้คือการเริ่มต้นของมหากาพย์แย่งสิทธิ์

จากนั้นในปี 2013 ข้อพิพาท เรื่องสิทธิ์การทำทีมเริ่มปะทุขึ้น พร้อมกับการประท้วงอย่างหนักของแฟนบอล ขณะที่สโมสรศรีสะเกษ เอฟซี ได้เรียกร้องสิทธิ์ทำทีมคืนจาก อีสาน ยูไนเต็ด ก่อนที่สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ ในยุคนั้น จะประกาศคืนสิทธิ์ให้ ศรีสะเกษ เอฟซี กลับมาลุยศึกไทยลีกได้อีกครั้ง 

แต่ฝั่งผู้บริหาร อีสาน ยูไนเต็ด ไม่ยอมและได้ยื่นฟ้องต่อ ศาลปกครองอุบลราชธานี ก่อนที่ศาลปกครองจะมีคำสั่งคุ้มครอง ทำให้ ศรีสะเกษ เอฟซี ในปีนั้นต้องยุติการแข่งขันทันที ทั้งที่เพิ่งลงสนามไปได้เพียง 3 นัดเท่านั้น ทำให้ฤดูกาลนั้นฟุตบอลไทยลีก จึงเหลือทีมแข่งขันเพียง 17 ทีม เท่านั้น

ปี 2014 ศรีสะเกษ เอฟซี ได้สิทธิ์ลงเล่นในลีกสูงสุดอีกครั้ง จนถึงในช่วงปลายปี 2016  ศาลปกครองศาลปกครองอุบลราชธานี มีคำพิพากษาให้เพิกถอนมติ หรือ คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดี (สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ) ทำให้สิทธิการทำทีมกลับไปอยู่กับ อีสาน ยูไนเต็ด แต่ก็ยังมีการยื่นเรื่องถึงศาลปกครองสูงสุดทำให้คดีนี้ยืดเยื้อออกไป

ในระหว่างนั้น ศรีสะเกษ เอฟซี ที่ยังคงเล่นในลีกสูงสุด แต่ก็เริ่มผลงานไม่ดีอย่างต่อเนื่อง จนตกชั้นลงไปเล่นในศึกไทยลีก ในฤดูกาล 2018 และหล่นลงไปอยู่ในไทยลีก 3 ในฤดูกาล 2020/2021   

27 ก.ค.2565 วันพิพากษา โดย ศาลปกครองอุบลราชธานี ศาลปกครองสูงสุด พิพากษา ให้สมาคมฟุตบอลฯ คืนสิทธิ์ ทีมฟุตบอลศรีสะเกษ เอฟซี ให้แก่ อีสาน ยูไนเต็ด และชดใช้ค่าเสียหายให้ อีสาน ยูไนเต็ด เป็นจำนวนเงิน 18.5 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินต้น นับตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 คิดคราวๆ ก็น่าจะประมาณ 32 ล้านบาท

จากคำพิพากษาดังกล่าว นับเป็นการสิ้นสุดคดีการแย่งสิทธิ์ระหว่าง ศรีสะเกษ เอฟซี กับ อีสาน ยูไนเต็ด ที่ยาวนาน 10 ปี

แต่สิ่งที่ตามมา และสะเทือนวงการฟุตบอลไทย ในยุคที่เพิ่งโดนวิกฤตโควิด 19 เล่นงาน จนขาดสภาพคล่อง จากความเสียหายทางเศรษฐกิจ ที่เหล่าบรรดาสปอนเซอร์ต่างๆ ก็ต้องรัดเข็มขัด ตัดงบสนับสนุน

สมาคมฯ ไม่ใช่หน่วยงานของรัฐ ไม่ได้มีงบประมาณจัดสรรประจำปี รายได้ส่วนใหญ่ ต้องพึ่งพาพวก ค่าสิทธิประโยชน์ จากการจัดกิจกรรมฟุตบอล ของทั้งทีมชาติ และลีก ซึ่งต้องดำเนินงานให้เกิดการแข่งขันและเกิดการโฆษณาประชาสัมพันธ์ตามสิทธิ์จึงจะสามารถรับการสนับสนุนตามสัญญา ไม่ได้มีงบประมาณสำรองไว้เหมือนกับหน่วยงานของรัฐ

ปัจจุบันลำพังเงินรายได้ที่มีแค่ใช้หมุนเวียนเพื่อจัดการแข่งขันทีมชาติทุกชุด การเก็บตัว ค่าบริหารจัดการฟุตบอลลีก เงินสนับสนุนสโมสร ค่าผู้ตัดสิน ค่าเดินทาง ค่าผลิตสัญญาณถ่ายทอดสด ฯลฯ ก็แทบจะชักหน้าไม่ถึงหลังอยู่แล้ว

มรดกหนี้สิน 32 ล้านบาท จึงถือเป็นหนี้สิ้นที่เกิดขึ้นแบบไม่ทันตั้งตัว ความเสียหายครั้งนี้ สุดท้ายใครจะเป็นคนรับผิดชอบ ต้องไปย้อนดูว่า จะสามารถดำเนินคดี ฟ้องสภากรรมการ ที่ได้ออกคำสั่งจนทำให้สมาคมฯ และสมาชิก เสียหาย ได้หรือไม่ต่อไป


 


 

ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมของ ขอบสนาม
logoline