logo-heading

ปลายเดือนกรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา ทีมฟุตบอลระดับตำนานภาคอีสานอย่าง "ศรีสะเกษ เอฟซี" ถูกศาลปกครองอุบลราชธานี ตัดสินคืนสิทธิ์การทำทีมให้แก่ทีม "อีสาน ยูไนเต็ด" หลังมีการฟ้องร้องเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2556 ในยุคของนายวรวีร์ มะกูดี อดีตนายกสมาคมฯ คนที่ 16

ศาลปกครองสูงสุดอุบลราชธานี มีคำพิพากษาให้สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ คืนสิทธิ์ทีมฟุตบอล ศรีสะเกษ เอฟซี ให้ทีม อีสาน ยูไนเต็ด พร้อมชดใช้ค่าเสียหายให้ อีสาน ยูไนเต็ด เป็นจำนวน 18,482,162 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินต้น นับตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 ประมาณ 32 ล้านบาท โดยให้ชำระให้แล้วเสร็จภายใน 60 วันนับแต่วันที่คดีถึงที่สุด เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา

โดยมีประเด็นที่น่าติดตาม 2 เรื่อง ที่จะส่งผลกระทบต่อวงการฟุตบอลไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คือ

1. การคืนสิทธิ์ให้ อีสาน ยูไนเต็ด กลับมาสู่ลีกอาชีพอีกครั้ง แต่จะไปเริ่มที่ลีกไหน ซึ่งยังคงเป็นเรื่องที่ยังไม่มีข้อสรุปชัดเจน

2. คำสั่งศาลที่ให้สมาคมชุดปัจจุบันชดใช้ค่าเสียหายให้ อีสาน ยูไนเต็ด เป็นจำนวน 32 ล้านบาท กำลังอยู่ขั้นตอนการเจรจาผ่อนชำระหนี้ ซึ่งหาหาข้อยุติไม่ได้จะเข้าสู่ขั้นตอนของการบังคับคดีเอาจากทรัพย์สินของสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ

ในการบังคับคดี สำนักบังคับคดีปกครองมีแนวทางในการดำเนินการบังคับเพื่อให้เป็นไปตามคำบังคับของศาลปกครอง ทั้งนี้ ตามมาตรา 72 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ประกอบกับระเบียบสำนักงานศาลปกครองว่าด้วยการดำเนินการบังคับให้เป็นไปตามคำบังคับของศาลปกครอง พ.ศ. 2544 ดังนี้

กรณีที่ศาลปกครองมีคำบังคับให้ผู้ใดชำระเงินหรือส่งมอบทรัพย์สินตามคำพิพากษาหรือให้บุคคลกระทำหรือละเว้นกระทำอย่างใดเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย ถ้าผู้นั้นไม่ปฏิบัติตามคำบังคับดังกล่าว ศาลปกครองอาจมีคำสั่งให้มีการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของบุคคลนั้น

ทั้งนี้ โดยให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม ในกรณีที่ศาลปกครองออกหมายบังคับคดีตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการยึด อายัดทรัพย์สิน หรือขับไล่รื้อถอน

เมื่อถึงจุดนั้นเท่ากับว่า รายได้ต่างๆ ที่จะเข้ามาในบัญชีของสมาคมฯ เช่น ค่าสิทธิประโยชน์ ค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอด เงินสนับสนุนสิ่งปลูกสร้างขั้นพื้นฐาน จากฟีฟ่า เอเอฟซี ฯลฯ จะถูกอายัด เพื่อนำไปใช้หนี้ ไม่สามารถใช้เงินในการดำเนินกิจกรรมฟุตบอลได้อีกต่อไป ทั้ง การจัดการแข่งขัน ถ่ายทอดสด ฟุตบอลเยาวชน ฟุตบอลลีก ฟุตซอล ฟุตบอลหญิง และงบประมาณสนับสนุนจากทั้งหมดจากภาครัฐ และสหพันธ์ ซึ่งจะทำให้สมาคมฯ อาจจะประสบปัญหาจากฟีฟ่า เนื่องจากงบประมาณไม่ได้ถูกนำไปใช้ในการพัฒนากีฬาฟุตบอลตามเจตนารมณ์ของฟีฟ่า

หากเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นจริง สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ภายใต้การบริหารงานของ พล.ต.อ.ดร.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ต้องหาเงินมาชดใช้หนี้ทั้งที่ตัวเองไม่ได้ก่อ และเป็นระเบิดเวลาลูกใหญ่ที่ผู้บริหารชุดเก่าทิ้งไว้ ซึ่งก่อนหน้านี้ก็ต้องใช้หนี้ กรมสรรพากร เพราะไม่ได้เสียภาษีตั้งแต่ปี 2550 - 2555 เป็นจำนวน 131,000,000 บาท

ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมของ ขอบสนาม
logoline