logo-heading

ฝ่ายพัฒนาผู้ตัดสิน ชี้แจงเหตุการณ์ และการทำหน้าที่ ในการแข่งขันฟุตบอล รีโว่ ไทยลีก ฤดูกาล 2022/23 แมตช์เดย์ที่ 19 หลังจากได้รับรายงานจากผู้ที่เกี่ยวข้อง มีทั้งหมด 4 เหตุการณ์ ดังนี้

♦️เหตุการณ์ที่ 1 คู่ระหว่าง ขอนแก่น ยูไนเต็ด พบ การท่าเรือ เอฟซี ในนาทีที่ 58

ฝ่ายพัฒนาผู้ตัดสิน เคลียร์ชัด 4 จังหวะปัญหาการตัดสินศึกไทยลีก วีค19 (คลิป)

ในจังหวะที่ บดินทร์ ผาลา กองกลางการท่าเรือ เอฟซี ปะทะ กับ อลงกรณ์ จรนาทอง ผู้เล่นขอนแก่น ยูไนเต็ด ในเขตโทษ เป็นจุดโทษหรือไม่..? นั้น 

เหตุการณ์นี้ ผู้ตัดสินในสนามได้ตัดสินให้เป็นจุดโทษ เนื่องจากเห็นว่าบดินทร์ ผาลา ถูกอลงกรณ์ จรนาทอง ผู้เล่นขอนแก่น ยูไนเต็ด ชนล้มลงหลังจากออกบอลไปแล้ว

- หลังจากนั้นเมื่อ VAR ได้มีการตรวจสอบ พบว่าผู้เล่นของขอนแก่น ยูไนเต็ด ได้พยายามหยุดร่างกายเพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะ ประกอบกับผู้เล่นของการท่าเรือ เอฟซี ได้ออกบอลไปทางขวามือตนเอง และกระโดดตรงเข้าไปหาผู้เล่นฝ่ายรับ ทำให้มีการปะทะกันเกิดขึ้น จึงได้แนะนำให้ผู้ตัดสินมาตรวจสอบภาพเหตุการณ์จากจอ VAR  ข้างสนาม (On-Field Review) เนื่องจากเหตุการณ์นี้ต้องใช้ดุลยพินิจในการพิจารณา (Subjective Decision)

- เมื่อผู้ตัดสินได้ตรวจสอบอีกครั้งจากจอ VAR แล้ว มีความเห็นว่าผู้เล่นของการท่าเรือ เอฟซี ได้แตะบอลไปด้านขวามือของตัวเอง แต่ได้เคลื่อนที่ตรงเข้าไปหาผู้เล่นของขอนแก่น ยูไนเต็ด ซึ่งเป็นการปะทะที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ (Unavoidable Contact) ทำให้ผู้ตัดสินพิจารณาว่า ไม่มีการกระทำผิดกติกาของผู้เล่นฝ่ายรับเกิดขึ้น จึงได้ทำการยกเลิกจุดโทษของการท่าเรือ เอฟซี

♦️เหตุการณ์ที่ 2 คู่ระหว่าง พีที ประจวบ เอฟซี พบ ชลบุรี เอฟซี ในนาทีที่ 45+6

ในจังหวะที่ บอลสัมผัสแขงของ ดิเอโก บาร์ดันก้า กองหลัง ชลบุรี เอฟซี ในเขตโทษ เป็นจุดโทษหรือไม่..? นั้น 

เหตุการณ์นี้ ผู้ตัดสินในสนามไม่ได้ตัดสินให้เป็นจุดโทษ และได้ปล่อยให้การเล่นดำเนินต่อไป

- หลังจากนั้นเมื่อ VAR ได้มีการตรวจสอบ พบว่าจังหวะที่ดิเอโก บาร์ดันก้า กองหลังชลบุรี เอฟซี ได้พยายามเข้าสกัดบอลจาก อิบราฮิม โทมิวะ กองหน้า พีที ประจวบ เอฟซี นั้น ผู้เล่นของชลบุรี เอฟซี ได้มีการสไลด์ตัวเข้าไปและแขนตั้งตรงลงกับพื้นเพื่อใช้ในการพยุงตัว (Arm Supporting Body) และบอลมาสัมผัสแขน ซึ่งเป็นข้อยกเว้นของกติกา เมื่อบอลสัมผัสแขนที่ตั้งตรงลงกับพื้น เพื่อใช้ในการพยุงตัวจะไม่เป็นการกระทำผิดกติกา ถึงแม้ว่าแขนนั้นยังไม่สัมผัสพื้นก็ตาม

- เมื่อ VAR ตรวจสอบเหตุการณ์แล้ว ได้เห็นตรงกับผู้ตัดสินว่าไม่ได้มีการกระทำผิดกติกาของผู้เล่นฝ่ายรับเกิดขึ้น จึงแจ้งยืนยันกับผู้ตัดสินว่าเหตุการณ์นี้ไม่เป็นจุดโทษ

- เหตุการณ์ที่ VAR เห็นตรงกับผู้ตัดสินในสนาม จะไม่มีการแนะนำให้ผู้ตัดสินมาทำการตรวจสอบภาพเหตุการณ์จากจอ VAR ข้างสนาม (On-Field Review) แต่ VAR จะแจ้งกับผู้ตัดสินว่าได้ตรวจสอบเหตุการณ์เส้นสิ้นแล้ว (Check Complete) และสามารถเริ่มเล่นตามกรณีได้เลย

♦️เหตุการณ์ที่ 3 คู่ระหว่าง แบงค็อกยูไนเต็ด พบ สุโขทัย เอฟซี ในนาทีที่ 45+1

ในจังหวะที่ บอลสัมผัสแขนของ อนุชิต เงินบุคคล กองกลางสุโขทัย เอฟซี ในเขตโทษ เป็นจุดโทษหรือไม่..? นั้น 

เหตุการณ์นี้ ผู้ตัดสินในสนามไม่ได้ตัดสินให้เป็นจุดโทษ และได้ปล่อยให้การเล่นดำเนินต่อไป

- หลังจากนั้นเมื่อ VAR ได้ทำการตรวจสอบแล้ว พบว่าจังหวะที่ชญาวัต ศรีนาวงษ์ กองหน้าแบงค็อก ยูไนเต็ด จ่ายบอลเข้ามาในเขตโทษ บอลได้มีการสัมผัสแขนของ อนุชิต เงินบุคคล กองกลางสุโขทัย เอฟซี ซึ่งได้ทำการสไลด์เพื่อบล็อคลูกบอล แต่ขณะที่บอลสัมผัสแขนนั้น แขนไม่ได้อยู่ในลักษณะของการพยุงร่างกาย (Arm Supporting Body) แต่มีการเหยีดออกซึ่งเป็นการทำตัวให้ใหญ่ขึ้นผิดธรรมชาติ

- เหตุการณ์ที่มีโอกาสเป็นจุดโทษ VAR ต้องทำการตรวจสอบเหตุการณ์ APP (Attacking Possesion Phase) ว่าได้มีการกระทำผิดกติกาของผู้เล่นฝ่ายรุกเกิดขึ้นก่อนที่จะมีโอกาสเป็นจุดโทษหรือไม่ ซึ่งเมื่อ VAR ได้ตรวจสอบ APP แล้ว พบว่ามีการแย่งบอลของ เฮแบร์ตี้ แฟร์นานเดส กองหน้าแบงค็อก ยูไนเต็ด กับ สมคิด ชำนาญศิลป์ กองกลางสุโขทัย เอฟซี ที่อาจจะเป็นการฟาวล์เกิดขึ้นก่อน จึงได้แนะนำให้ผู้ตัดสินมาตรวจสอบภาพเหตุการณ์จากจอ VAR  ข้างสนาม (On-Field Review) เนื่องจากเหตุการณ์นี้ต้องใช้ดุลยพินิจในการพิจารณา (Subjective Decision)

- เมื่อผู้ตัดสินได้ตรวจสอบอีกครั้งจากจอ VAR แล้ว เห็นว่าจังหวะที่ผู้เล่นของสุโขทัย เอฟซี ได้ทำการสไลด์เพื่อบล็อคลบอลนั้น ได้มีการใช้แขนพยุงตัวในจังหวะแรก แต่จังหวะที่บอลสัมผัสแขน ได้มีการเหยียดแขนออกทำให้ร่างกายใหญ่ขึ้น จึงเห็นควรว่ามีการแฮนด์บอลเกิดขึ้นจริง แต่เมื่อตรวจสอบ APP ก่อนเหตุการณ์จุดโทษแล้ว ผู้ตัดสินมองว่ามีการทำฟาวล์ของผู้เล่นฝ่ายรุกจากจังหวะที่ เฮแบร์ตี้ แฟร์นานเดส เข้ามาแย่งบอลจากทางด้านหลังของ สมคิด ชำนาญศิลป์ และได้ทำการเริ่มการรุกโดยทันทีทันใด (Start of APP) เป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องก่อนที่จะมีการแฮนด์บอลของผู้เล่นสุโขทัย เอฟซี

- ผู้ตัดสินจึงได้แจ้งกับผู้เล่นว่ามีการทำฟาวล์ของผู้ฝ่ายรุกเกิดขึ้น ก่อนที่จะเป็นจุดโทษ และให้เริ่มเล่นใหม่โดยการให้ฟรีคิกกับสุโขทัย เอฟซี


♦️เหตุการณ์ที่ 4 คู่ระหว่าง เมืองทอง ยูไนเต็ด พบ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ในนาทีที่ 54

ในจังหวะที่ปรเมศย์ อาจวิไล กองหน้าเมืองทอง ยูไนเต็ด ปะทะ กับ พรรษา เหมวิบูลย์ กองหลัง บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ในเขตโทษ เป็นจุดโทษหรือไม่..? นั้น 

เหตุการณ์นี้ ผู้ตัดสินในสนามไม่ได้ตัดสินให้เป็นจุดโทษ และได้ปล่อยให้การเล่นดำเนินต่อไป

- หลังจากนั้นเมื่อ VAR ได้มีการตรวจสอบ พบว่าจังหวะที่ปรเมศย์ อาจวิไล เลี้ยงบอลเข้าไปในเขตโทษ ของบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด นั้น ผู้เล่นฝ่ายรุกได้วิ่งเลยบอล และ เสียหลักไปชนกับผู้เล่นฝ่ายรับซึ่งพยายามเข้าแย่งชิงลูกบอล โดยที่ฝ่ายรับแย่งชิงไปที่บริเวณที่ว่างหน้าลูกบอล โดยการสัมผัสนั้นเกิดขึ้นจากผู้เล่นฝ่ายรุกเคลื่อนที่มาหา

- เมื่อ VAR เห็นตรงกับข้อมูลที่ผู้ตัดสินสื่อสารมา ว่าไม่ได้มีการกระทำผิดกติกาของผู้เล่นฝ่ายรับ จึงแจ้งยืนยันกับผู้ตัดสินว่าเหตุการณ์นี้ไม่เป็นจุดโทษ

- เหตุการณ์ที่ VAR เห็นตรงกับผู้ตัดสินในสนาม จะไม่มีการแนะนำให้ผู้ตัดสินมาทำการตรวจสอบภาพเหตุการณ์จากจอ VAR ข้างสนาม (On-Field Review) แต่ VAR จะแจ้งกับผู้ตัดสินว่าได้ตรวจสอบเหตุการณ์เส้นสิ้นแล้ว (Check Complete) และสามารถเริ่มเล่นตามกรณีได้เลย

ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมของ ขอบสนาม
logoline