logo-heading

ฟุตบอลไทยลีก 2023/24 จะเปิดฤดูกาลกันในช่วงกลางเดือนสิงหาคมนี้ นับจากวันนี้ก็เหลือเวลาอีกประมาณ เดือนครึ่งถึงสองเดือนก็จะเปิดฉากฟาดแข้งกันแล้ว แต่ปัญหาก็คือตอนนี้ยังหาเจ้าภาพที่จะมาซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลลีกยังไม่ได้ และก็ยังไม่รู้ด้วยว่าบทสรุปของเรื่องนี้จะจบแบบไหน

ว่าด้วยเรื่องของลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด!! มีความสำคัญไฉน? ทำไมต้องรอให้ได้บทสรุป!! แล้วถ้าไมีมีถ่ายทอดสดฟุตบอลจะเตะกันได้ไหม?

จริงๆ ฟุตบอลมันก็แข่งกันได้แหละครับต่อให้ไม่มีการถ่ายทอดสด เพราะในอดีตฤดูกาล 2009 ที่ไทยลีกเข้าสู่โหมดอาชีพช่วงแรกๆ ก็ไม่ได้มีการถ่ายทอดสดครบทุกคู่ และยังไม่มีเรื่องของค่าลิขสิทธิ์ด้วยซ้ำไป ตอนนั้นจำได้ว่าทางสยามกีฬา จะเป็นผู้ดูแลเรื่องของการประชาสัมพันธ์ หรือผู้ดูแลสิทธิ์ประโยชน์นั่นแหละ เพียงแต่ตอนนั้นมันยังไม่มีเรื่องของค่าลิขสิทธิ์เข้ามา ไทยลีก ก็ถ่ายทอดทางช่องสยามกีฬาทีวี ทางทีสปอร์ต และทางช่อง 11 ซึ่งก็ถ่ายเป็นบางคู่ ไม่ได้ครบทุกคู่แบบทุกวันนี้ 

ซึ่งพอวันนึงที่ฟุตบอลไทยมาถึงจุดที่มีการจัดการเรื่องลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดขึ้นมา เพื่อเข้าสู่การเป็นฟุตบอลอาชีพที่แท้จริง ก็เลยทำให้เงินตรงส่วนนี้กลายเป็นรายได้สำคัญของบรรดาสโมสรโดยเฉพาะกับไทยลีก ที่เป็นลีกสูงสุด ได้เงินสนับสนุนทีมจากค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดถึงทีมละ 20 ล้านบาท มากกว่าการเป็นแชมป์ไทยลีกเท่าตัว

เงินตรงส่วนนี้เองที่ทำให้ทุกสโมสรมีเงินเข้ามาบริหารจัดการทีมให้มีสภาพคล่องมากขึ้น นอกเหนือจากเงินที่ได้จากสปอนเซอร์ของแต่ละสโมสรอยู่แล้ว

กับบรรดาทีมใหญ่ๆ ที่มีสปอนเซอร์เยอะอยู่แล้ว หรือมีเจ้าของทีมที่รวย ก็อาจจะไม่ได้กระทบมากนักถ้าเทียบกับทีมเล็กๆ ที่ไม่ได้มีเงินถุงเงินถึง แต่รายได้หายไป 20 ล้าน ต่อให้ทีมใหญ่ทีมเล็กก็คงไม่โอเคทั้งนั้น

ดังนั้นเรื่องของลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดจึงมีความสำคัญมากๆ กับการบริหารจัดการของสโมสรฟุตบอลอาชีพในเมืองไทย

และแน่นอนว่าตัวเลขเบื้องต้นที่ทุกสโมสรต้องการก็คือ 20 ล้านขั้นต่ำ ตามที่เคยได้มาก่อนหน้านี้ (นับเฉพาะลีกสูงสุด) แต่ด้วยปัญหาที่เกิดขึ้นจากฤดูกาลที่แล้ว ด้วยมูลค่าที่ลดลง บวกกับปัญหาสภาพคล่องของสมาคมฯ ก็เลยทำให้เงินมันลดลงไปกว่าครึ่งเมื่อฤดูกาลที่แล้ว

มาฤดูกาลใหม่นี้ทางสมาคมฯ และไทยลีก ก็ต้องการที่จะหาเงินกลับมาให้ได้เท่าเดิมคือสโมสรละ 20 ล้านบาท ซึ่งก็ต้องการคนมาซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาทต่อฤดูกาล มันถึงจะเพียงพอและไม่เจ็บตัวมากนัก และมีเงินให้กับทุกสโมสรทุกดิวิชั่น

แต่ปัญหาก็คือไม่มีเจ้าภาพเจ้าไหนที่พร้อมควักเงินในราคา 500 ล้านบาทนี้ได้ เจ้าเดิมอย่าง AIS PLAY ที่เมื่อฤดูกาลที่แล้วตามข่าวก็คืออยู่ที่ 300-400 บาท ซึ่งมันก็ไม่พออยู่แล้ว มาในฤดูกาลใหม่นี้ AIS ก็ไม่อยากจ่ายที่ราคาเท่าเดิม ก็เลยต้องการหาเจ้าใหม่เข้ามา

พอไปคุยกับ Truevisions เจ้าของเดิมที่เคยให้ปีละกว่า 1,000 ล้านบาท มาถึงวันนี้เขาก็ไม่พร้อมจ่าย อย่าว่าแต่พันล้านเลย 500 ล้านที่ต้องการก็ไม่เอา โดยทรูฯ ต้องการจะจ่ายแค่ 100-200 ล้านเท่านั้น แลกกับการถ่ายทอดสดเฉพาะเกมทีมชาติ และไทยลีกบางคู่เท่านั้น ตามความเข้าใจก็น่าจะอยากถ่ายแค่ทีมใหญ่ที่มีคนดูเยอะๆ เป็นหลัก ซึ่งในความเป็นจริงคงทำไม่ได้ที่จะถ่ายบางคู่

แล้วอีกเหตุผลที่ทรูเองก็ไม่อยากที่จะมาทุ่มแบบเต็มตัวก็เพราะเขาเองก็มีฟุตบอลพรีเมียร์ลีกที่เป็นคิงส์อยู่แล้ว บอลไทยที่จะมาเปิดฤดูกาลในช่วงเวลาเดียวกัน เตะวันเดียวกัน แข่งเวลาใกล้ๆ กันอีก มันก็เลยไม่จำเป็นที่จะทุ่มเงินขนาดนั้น 

ส่วนเจ้าอื่นๆ ที่มีตามข่าวจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ ก็ดูแล้วว่าไม่น่าจะมีเจ้าไหนจ่ายได้ตามราคาที่ตั้งไว้ ทำให้ปัญหายังค้างเติ้งอยู่ในตอนนี้ พอๆ กับเรื่องการจัดตั้งรัฐบาล และการเทคโอเวอร์แมนฯ ยู ที่เมื่อไม่ได้ตัวเลขที่ต้องการ ทุกอย่างก็นิ่งอยู่กับที่

ในส่วนของไทยลีกเองก็พยายามจะจัดการในเรื่องให้เรียบร้อยก่อนเปิดฤดูกาล โดยในวันอังคารที่ 27 มิ.ย.นี้ ได้มีการนัดหมายผู้บริหารสโมสรมาประชุมร่วมกันเพื่อหาทางออกในเรื่องนี้ ว่าจะเอากันอย่างไร เพื่อให้ไทยลีกเดินหน้าต่อไปได้

วันนี้ผมลองวิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ว่าเรื่องลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดไทยลีกฤดูกาลนี้ มันจะไปจบที่ตรงไหนได้บ้าง เทียบเคียงกับหลายๆ ฤดูกาลที่ผ่านมา เมื่อมีปัญหามันจะมีทางออกแบบไหน

1.AIS PLAY เหมือนเดิมแต่สโมสรได้เงินไม่ถึง 20 ล้าน

ถ้าดูจากข่าวที่ผ่านมาเหมือนว่าข้อเสนอที่ดีที่สุดก็คือ AIS PLAY ที่พร้อมจะถ่ายทอดสดเหมือนเดิม เพียงแต่ว่าค่าลิขสิทธิ์าจจะได้เท่าเดิมหรือน้อยกว่าฤดูกาลที่แล้ว ซึ่งสโมสรเองก็อาจจะได้เงินไม่ถึง 20 ล้านบาทเหมือนซีซั่นที่ผ่านมา นอกเสียจากว่าทางสมาคมฯ และไทยลีกจะไปหาเงินมาเพิ่มตรงส่วนนี้จากสปอนเซอร์อื่นๆ คือถ้าหาใครไม่ได้ทาง AIS ก็ยังพร้อมที่จะถ่ายทอดสด

2.AIS PLAY+Truevisions ออกกันคนละครึ่ง

เท่าที่ดูตัวเลขของทั้ง AIS PLAY และ Truevisions แล้ว เป็นไปได้ไหมที่ทั้งคู่จะออกค่าลิขสิทธิ์กันคนละครึ่ง เจ้าละ 250 ล้าน รวมเป็น 500 ล้าน ที่สมาคมฯ ต้องการ AIS ก็ถ่ายบอลลีกไป ส่วนทรูฯ ก็ถ่ายทีมชาติทุกชุดไป หรือจะถ่ายไทยลีกบางคู่ด้วยก็ตามแต่ มาตกลงกัน ปัญหาก็คือทั้งคู่เขาจะร่วมงานกันได้ไหม5555 แต่ถ้าได้เงินมา 500 ล้าน สโมสรก็จะได้เงินสนับสนุนเท่าเดิมที่เคยได้

3.ถ่ายทอสดทางโซเชี่ยลสโมสร หาสปอนเซอร์กันเอง

หรือถ้าหาใครไม่ได้จริงๆ ตัวเลขก็ไม่โอเค จะลองให้แต่ละสโมสรนำสัญญานถ่ายทอดสดมาออกทางโซเชี่ยลมีเดียของแต่ละสโมสรเองเหมือนที่เคยทำเมื่อฤดูกาล 2020 ดีไหม (แต่ในครั้งนั้นมีฟรีทีวีที่ทางรัฐบาลเข้ามาช่วยด้วยอีกทาง) แต่ครั้งนี้ก็ถ่ายโซเชี่ยลสโมสรเป็นหลัก แล้วสโมสรก็ไปหาสปอนเซอร์กันเอง ส่วนสมาคมฯ ก็รับผิดชอบเรื่องค่า OB ค่าการนำสัญญาณถ่ายทอดสดมาออกอากาศไป

4.ไทยลีก ถ่ายเองทาง เฟซบุ๊ค+ยูทูป หาสปอนเซอร์มาช่วยสโมสร

หรืออีกทางเป็นโมเดลเดียวกับฟุตซอลลีก ในฤดูกาลนี้ ที่ทางไทยลีก กับสมาคมฯ ก็เป็นเจ้าภาพนำสัญญาณถ่ายทดสดมาออกมากาศเองเลยทางเฟซบุ๊ค และยูทูป ของไทยลีกที่มีอยู่แล้ว ส่วนรายได้ต่างๆ ก็ต้องไปวิ่งหาสปอนเซอร์เข้ามา 

5.ให้รัฐบาลเข้ามาช่วยถ่ายทางฟรีทีวี

หรือสุดท้ายอย่างที่เคยเกิดขึ้นเมื่อฤดูกาล 2020 ที่กลับมาเตะหลังโควิด แต่ไม่มีการถ่ายทอดสด รัฐบาลจึงเข้ามาช่วยในโครงการ "รวมไทย SAVE บอลไทย 2020" ก็มีการหาเงินมาสนับสนุนให้บอลไทยมีการถ่ายทอดสดผ่านทางฟรีทีวี 4 ช่อง รวมทั้งทางออนไลน์ควบคู่ไปด้วย

แต่ช้อยส์นี้ปัญหามันอยู่ที่ว่าการเมืองไทยยังไม่นิ่ง อยู่ในระหว่างการเปลี่ยนถ่ายจากรัฐบาลเก่าสู่รัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งดูแล้วไม่น่าจะดำเนินการอะไรได้ทันก่อนมีรัฐบาลแน่ๆ ดังนั้นข้อนี้จึงเป็นไปได้ยากและน้อยที่สุด

ทั้งหมดทั้งมวลจะออกมาแบบไหน ก็ต้องรอดูกันในวันที่ 27 มิ.ย.นี้ ที่เขาจะประชุมร่วมกันกับสโมสร คงจะมีความคืบหน้าออกมาเกี่ยวกับลิขสิทธิ์บอลไทย ก็รอติดตามกัน

#ชิชาริเต่า

ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมของ ขอบสนาม
logoline