logo-heading

“บอลนอกแค่สะใจ บอลไทยอยู่ในสายเลือด” วลีที่เรามักได้ยินกันมาตลอดตั้งแต่อดีตมาถึงปัจจุบัน หลายๆ คนส่วนมากอาจจะชื่นชอบติดตามดูฟุตบอลลีกดังต่างประเทศ แต่สำหรับฟุตบอลไทยก็คืออีกหนึ่งสิ่งที่ก็ต้องติดตามให้กำลังใจกัน

กว่าไทยลีกจะกลายเป็นลีกอาชีพที่ใครๆ รู้จักในปัจจุบัน มีการแข่งขันที่เข้มข้น สโมสรตัวแทนไปทำผลงานยอดเยี่ยมในระดับเอเชีย จนมีคะแนนค่าประสิทธิ์อยู่อันดับต้นๆ เพิ่มโควต้าสโมสรจากไทยไปเล่น เอเอฟซี แชมเปี้ยนส์ลีก มากกว่า 1 สโมสรนั้น ผลมาจากการที่สโมสรต่างๆ ยกระดับพัฒนาตัวเองขึ้นมาได้ เพื่อเป้าหมายแย่งชิงความสำเร็จมาสู่สโมสร และต่อยอดสร้างมูลค่าทีมในอนาคต

จากลีกที่เรียกได้ว่าเป็นลีกที่มีเงินสะพัด อู้ฟู่ อันดับต้นๆ ของอาเซียน แต่ปัจจุบันมูลค่าลีก ค่าลิขสิทธิ์มันตกลงไปอย่างน่าใจหาย เหลือเพียงแค่ 50 ล้านบาทเท่านั้น มีปัญหาสภาพคล่อง ถูกประเมินกลายเป็นดูเหมือนไร้ค่า จึงเกิดความสงสัยว่าทำไมฟุตบอลไทยถึงได้ถึงจุดนี้

ย้อนกลับไป 10 กว่าปีก่อน ช่วงระหว่างปี 2010-2016 ต้องยอมรับว่านี่คือช่วงที่ฟุตบอลไทยบูมแบบสุดๆ ตั้งแต่ระดับสูงสุดไปจนถึงระดับภูมิภาค แต่ละสโมสรมีแนวคิดต้องการพัฒนาให้วงการฟุตบอลบ้านเรามีความเป็นมืออาชีพ สร้างรากฐานเยาวชนให้แข็งแกร่งยั่งยืน ด้วยเม็ดเงินมหาศาล ยกระดับการแข่งขันแย่งชิงความสำเร็จ บวกกับการเพิ่มมูลค่าของสโมสรส่งเสริมการตลาดที่มากขึ้น

ส่วนหนึ่งที่ฟีเวอร์ขึ้นมาได้อันเนื่องมาจากผลงานของทีมชาติไทยช่วงที่กลับมาประกาศศักดาคว้าแชมป์ฟุตบอลอาเซียนคัพ สมัยที่ 4 นับเป็นครั้งแรกในรอบ 12 ปีที่ได้แชมป์ ซึ่งคุมทัพโดย “โค้ชซิโก้” เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง และมีบรรดานักเตะซูเปอร์สตาร์หลายคนที่ทำผลงานร้อนแรง อาทิ ชนาธิป สรงกระสินธ์, ธีราทร บุญมาทัน, สารัช อยู่เย็น, เกริกฤทธิ์ ทวีกาญจน์ และนักเตะคนอื่นๆ ที่ฟอร์มโดดเด่น จนใครๆ ก็อยากติดตาม

นับเป็นช่วงเวลาที่จุดประกายศรัทธาของแฟนบอลชาวไทยกลับมาอีกครั้ง ประกอบกับผลงานของสโมสรต่าง ๆ ในช่วงนั้นเล่นได้สนุกเร้าใจ ซูเปอร์สตาร์เก่งๆ เริ่มมารวมกันอยู่ในทีมมากขึ้น ยกตัวอย่างช่วงฤดูกาล 2016 ที่ เมืองทอง ยูไนเต็ด แทบมีนักเตะระดับทีมชาติมากมายเกือบทั้งทีม

นักเตะยกระดับทั้งในด้านฝีเท้า ได้รับเงินเดือนหลักแสนกว่าบาท เริ่มมีออกไปค้าแข้งลีกต่างประเทศเพิ่มขึ้น ประกอบกับ ไทยลีก ก็เริ่มเป็นเป็นที่น่าสนใจในระแวกอาเซียน นักเตะอยากที่จะเข้ามาค้าแข้ง และมีการซื้อลิขสิทธิ์ไปถ่ายทอดต่อในประเทศ จนสามารถกวาดรายได้กว่าร้อยล้านบาท

สถิติตลอดช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา สามารถทำรายได้ไปทั้งหมดมีดังนี้

- ปี 2011-2013 ค่าลิขสิทธิ์อยู่ที่ 600 ล้านบาท (เฉลี่ยปีละ 200 ล้านบาท) ซื้อลิขสิทธิ์ 3 ปี

- ปี 2014-2016 ค่าลิขสิทธิ์อยู่ที่ 1,800 ล้านบาท (เฉลี่ยปีบละ 600 ล้านบาท) ซื้อลิขสิทธิ์ 3 ปี

- ปี 2017-2020 ค่าลิขสิทธิ์อยู่ที่ 4,200 ล้านบาท (เฉลี่ยปีละ 1,050 ล้านบาท) ซื้อลิขสิทธิ์ 4 ปี

- ปี 2021-2022 ค่าลิขสิทธิ์อยู่ที่ 800 ล้านบาท

- ปี 2023-24 ลงมาเหลือเพียงแค่ 50 ล้านบาท เท่านั้น

ขณะที่ ทาง สมาคมฯ เผยเรตติ้งการชมฟุตบอลไทยลีกฤดูกาล 2022/23 ที่ผ่านมาทั้งถ่ายทอดสดและย้อนหลัง มียอดคนดูมากถึง 11.66 ล้านคน และยอดวิวรวม 1,001,352,000 วิว สูงสุดเป็นประวัติศาสตร์

ในฤดูกาล 2021/22 ยังได้มีการสำรวจเรตติ้งผู้ชมคอนเทนต์ฟุตบอล โดยไทยลีกถือเป็นอันดับ 1 มีค่าเฉลี่ยเรตติ้งสูงสุดอยู่ที่ 0.887 ตามมาด้วยอันดับ 2 พรีเมียร์ลีก 0.792 และอันดับ 3 บุนเดสลีกา 0.527

สำหรับ ตัวเลข 50 ล้านบาทเป็นตัวเลขน้อยมากๆ สำหรับไทยลีก หากเทียบกับความนิยมไทยลีก ซึ่งปัญญาที่เกิดขึ้นครั้งนี้ต้องยอมรับว่ามาจากการบริหารวางแผนที่ผิดพลาดของสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ กับ บริษัท ไทยลีก จำกัด อย่างปฏิเสธไม่ได้ ที่ชะล่าใจปล่อยยื้อมาถึงช่วงที่ใกล้จะเปิดฤดูกาล และจะเป็นที่ไม่มีบริษัทเอกชนไหนเลยที่เข้ามาถือลิขสิทธิ์ เนื่องจากตัวเลขที่ทางสมาคมฯตั้งเอาไว้สูง ซึ่งก็ไม่มีการเปิดเผยว่าราคาอยู่ที่เท่าไหร่

ด้วยวิกฤตดังกล่าว สมาคมฯ ได้หาทางออกด้วยการให้ไฟเขียว 16 สโมสร เข้ามาบริหารสิทธิประโยชน์เองสามารถนำสัญญาณที่ สมาคมฯ จะเป็นผู้รับหน้าที่เป็นผู้ผลิต และให้สโมสรไปเผยเเพร่ และหาสปอนเซอร์ได้ฟรีทุกเเพลตฟอร์ม พร้อมผุดแคมเปญที่ชื่อว่า #SaveThaiLeague 

ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ของฟุตบอลไทยเลยก็ว่าได้นะครับ ในการให้เหล่าสโมสรไปบริหารจัดการเอง โดยได้ข้อสรุปว่าไทยลีก 2023/24 จะถ่ายผ่านช่องทาง Over-The-Top (OTT) นั้นมีค่าสมัครสมาชิกรายเดือน เดือนละ 59 บาท และรายปี 500 บาท ซึ่งหากซื้อแบบรายปี จะเฉลี่ยออกมาได้แมตช์ละ 2 บาทเท่านั้น

ขณะที่ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด, บีจี ปทุม ยูไนเต็ด และ การท่าเรือ เอฟซี คือ 3 ทีมที่ตกลงจ่ายทีมละ 20,000 ยูสเซอร์ แล้วนำเงินมาเข้ากองกลาง แบ่งกัน 16 ทีม อาจนำไปทำโปรโมชั่นแจกยูสเซอร์ดูฟุตบอล ผ่านการขายเสื้อแข่งขันหรือของที่ระลึกต่างๆ 

ฉะนั้น นี่อาจเป็นการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสที่ทาง สมาคมฯ-ไทยลีก เปิดโอกาสให้สโมสรได้ส่งเสริมการตลาดอย่างเต็มที่ หากคุณรักฟุตบอลไทยอยากเชิญชวนเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนได้หลายช่องทาง การซื้อสินค้าที่ระลึกแบบถูกลิขสิทธิ์ ซื้อตั๋วเข้าชมที่สนาม หรือใครไม่สะดวกก็ซื้อแพ็กเกจชมถ่ายทอดสด ซึ่งราคาก็ถือว่าเข้าถึงและจับต้องได้ ทั้งหมดนี้จะเป็นแรงขับเคลื่อนทำให้วงการฟุตบอลไทยเดินหน้าต่อไปได้ มาร่วม #SaveThaiLeague ด้วยกันนะครับ

 

Chunka

ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมของ ขอบสนาม
logoline