logo-heading

ในที่แรกผมไม่ได้วางหนังเรื่องนี้ไว้เป็นลิสต์รายชื่อที่จะดูในช่วงกักตัวอยู่แล้ว เพราะอยู่ในแพลตฟอร์ม Netflix และคิดว่าดูเมื่อไหร่ก็ได้ แต่หลังจากที่ผมเขียนรีวิวหนังทางเลือกมาพอสมควร มันก็ถึงเวลาที่จะเอาตัวเองไปสัมผัสกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงในวงการอเมริกันเกมส์ อย่างเบสบอล ที่ลบล้างแนวคิดแบบเก่าๆทิ้งไป ใช้หลักเศรษฐศาสตร์ในการนำสถิติข้อมูล มาเป็นทางเลือกประกอบในการคว้าตัวนักกีฬามาร่วมทีม ตรรกะนี้เองที่ทำให้ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายลงได้อย่างมหาศาล และมันกลายเป็นแนวทางใหม่ที่ทีมกีฬาอาชีพมากมาย ใช้ไว้ประกอบการตัดสินใจ อาทิเช่นลิเวอร์พูล, บอสตัน เรด ซ็อกซ์, เบรนท์ฟอร์ด, เลสเตอร์, นอริช ซิตี้, บาร์นสลี่ย์, มิดทิลแลนด์, อาแซด อัลค์มาร์ โดยทีมที่ว่ามานี้ เจริญรอยตามสูตรที่เรียกว่า Moneyball ของทีมโอ๊คแลนด์ แอธเลติก

ข้อดี ในโลกแห่งความเป็นจริงการทำอะไรสักอย่างหนึ่งต้องใช้ทุนมากมายมหาศาล เพื่อหวังผลกำไรเป็นการตอบแทนที่สมน้ำสมเนื้อ ยิ่งในวงการกีฬาการมีเงินมาก มันย่อมเป็นข้อได้เปรียบที่ทีมทีมนั้นจะประสบความสำเร็จ แต่มันไม่ใช่กับ โอ๊คแลนด์ แอธเลติก ทีมเบสบอลดัง Major League Baseball ในแคลิฟอร์เนียที่เจ้าของไม่ได้มีเงินและประสบความสำเร็จทางธุรกิจจากด้านอื่นๆ ประกอบกับผลงานในสนามก็แย่ไร้ความสำเร็จที่จับต้องได้ มันเลยเป็นเหตุผลพอที่จะไม่น่าลงทุน บิลลี่ บีน ในฐานะผู้จัดการทั่วไปของทีมรู้ดีว่าการเจรจาขอเงินเพื่อหาผู้เล่น คงทำไม่ได้แน่ เขาจึงใช้วิธีการ ผ่าทางตัดเปลี่ยนแปลงทีม โดยใช้ข้อมูลเชิงสถิติมาวิเคราะห์ผลงานนักกีฬา เพื่อเป็นการดึงผู้เล่นที่ชื่อไม่ดัง ที่ถูกประเมินมูลค่าต่ำไป ค่าตัวถูก โดนมองข้ามจากทีมใหญ่เข้าสู่ทีม จากนักเศรษฐศาสตร์หนุ่มที่ไม่มีเคยเป็นนักกีฬามาก่อน บีนและผู้ช่วยเช็คเทปวิดีโอนักกีฬาหาข้อดีข้อเสียผ่านการวิเคราะห์ผู้เล่นหลากหลายตำแหน่ง ทำไมคนนี้ถึงไม่ได้ไปทีมใหญ่ และนั้นแหละจุดเล็กๆน้อยๆ ทำให้เขาได้ผู้เล่นราคาถูกมาร่วมทีม วิธีคิดนี้แปลกใหม่และโดนต่อต้านจากทีมงานหลังบ้านพอสมควร โดยเฉพาะกลุ่มสเกาต์ที่พวกเขาเชื่อว่าวิธีการนี้จะทำให้ผลงานทีมตกต่ำลงมากกว่า แถมเฮดโค้ชที่สั่งการข้างสนามก็ไม่เอานักกีฬาที่บีนหามา สุดท้ายบีนใช้แข็งตัดสินใจโละนักกีฬาดังออกจากทีมเอาพวกที่ปรึกษาทีมออก บีบให้โค้ชต้องใช้งาน ทุ่มหมดหน้าตักเพื่อพิสูจน์สิ่งที่เขาคิดนั้นถูก สิ่งที่น่าทึ่งคือบีนรู้ดีว่าแนวคิดนี้ถูกต้อง แต่การจะทำให้เห็นภาพจับต้องได้มันยาก มนุษย์เรามีอีโก้เชื่อมั่นในตัวเอง จนบางครั้งไม่เปิดใจรับแนวทางใหม่ การจะไปพูดเพื่ออธิบายมันเป็นเรื่องยาก แถมกลยุทธ์แบบนี้ยังใหม่ในวงการกีฬา แต่เมื่อไม่มีทุน ก็ต้องหาของดีราคาไม่แพง เจียระไนนักกีฬาโนเนมขึ้นมาต่อกรกับทีมใหญ่ แนวคิดนี้ประสบความสำเร็จ ทีมชนะรวด 20 นัด จนเป็นสถิติใหม่ในรอบ 100 ปี ของวงการเบสบอล แม้จะไม่ได้แชมป์ แต่กลับทำให้เขาได้รับการทาบทามจากทีมใหญ่วงการเบสบอลที่บอสตัน ที่พร้อมประเคนค่าเหนื่อยมหาศาลให้  แต่การทำทีมใหญ่บางครั้งปัจจัยมันไม่เอื้ออำนวยกับทีมเล็กที่ไม่ต้องเผชิญหน้ากับความกดดันหรือเรื่องราวนอกสนาม ปรัชญาของบีนที่ชัดเจนคือการทำทีมกีฬาเอาชนะเงินตราและเขาไม่อยากให้เงินมาทำลายแนวทางการสร้างนักกีฬาของเขา ยิ่งดูยิ่งเข้าใจยิ่งดูยิ่งชอบในตัวบิลลี่ บีน นักแสดง แบรด พิตต์ สามารถถอดตัวตนบิลลี่ บีน ออกมาในหนังได้สมบูรณ์แบบ เขาแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่ต้องการจะนำแนวคิดที่แหวกแนวมาลบล้างความคิดเก่าๆที่ไม่จำเป็นต้องใช้เงินมากเพื่อหานักเบสบอลดีๆเข้าสู่ทีม ชอบความดราม่าที่ต้องปะทะเชือดเฉือนอารมณ์กับคนที่เห็นต่างกันเขา โจนาห์ ฮิลล์ หนึ่งในบทบาทสำคัญในหนังถ้าหากไม่มีคาแรกเตอร์ปีเตอร์ แบรนด์ ตรรกะ Moneyball อาจไม่ได้เกิดขึ้นในวงการกีฬา เพราะเขาเป็นทั้งเพื่อนและผู้ช่วยบีน และนำพาทีมประสบความสำเร็จด้วยการลงทุนน้อย แต่ได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า ข้อเสีย หนังอาศัยภาพจากฟุตเทจในการแข่งขันเบสบอลที่เป็นความจริง ไม่ได้ไปลงน้ำหนักการแสดงที่เยอะมาก น่าเสียดายที่ควรถ่ายภาพความจริงบางส่วนลงในหนังด้วย เพราะนักเบสบอลในหนังแทบไม่มีช็อตแอ็คชั่นมากเท่าที่ควร ออกไปทางหนักข้างสนาม สรุป หนังที่เหมาะสำหรับคนชอบดูกีฬา ถอดกลุยทธ์ความสำเร็จภายใต้งบประมาณที่จำกัด แบรด พิตต์ แสดงเป็นบิลลี่ บีน ได้สมบูรณ์แบบ มันทำให้คนดูฟุตบอลอย่างผมเข้าใจตรรกะ Moneyball มากขึ้น   หนังรับชมได้แบบถูกลิขสิทธิ์ผ่าน Netflix
logoline