logo-heading

ว่ากันว่า คราบน้ำตาที่ โอลด์ แทร็ฟฟอร์ด ไม่เคยแห้งเลย เพราะมันจะไหลมาอีกครั้งในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ของทุกปี วันครบรอบเหตุโศกนาฏกรรมที่ มิวนิค เหตุการณ์ที่เศร้าที่สุดในประวัติศาสตร์สโมสร

เชื่อว่าแฟนบอลแทบทุกคน ต่อให้ไม่ได้เชียร์ แมนฯ ยูไนเต็ด ก็น่าจะเคยได้ยินเรื่อง โศกนาฏกรรม มิวนิค มาบ้างมันคืออุบัติเหตุที่ทำลายขวัญกำลังใจของทุกคนที่เกี่ยวข้อง และกลายเป็นตำนานเรื่องฝังรากลึกอยู่กับเรื่องเล่าอื่นๆ ในสโมสร แบบที่คนรุ่นนั้นไม่มีใครอยากได้ยินเท่าไหร่ อย่างแรกที่ต้องทำความเข้าใจกันก่อน หลายคนคิดว่าเหตุการณ์นี้คือเหตุการณ์ที่เครื่องบินโดยสารที่มีนักเตะ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ตกที่ มิวนิค ประเทศเยอรมัน แต่ความเป็นจริงแล้วมันไม่ได้ตก มันยังไม่ทันขึ้นด้วยซ้ำ แท้จริงเหตุการณ์นี้คือเหตุการณ์เครื่องบินลื่นไถลบนรันเวย์ตอนจะเอาเครื่องขึ้น ตกเส้นทางไปชนโกดังจนพังพินาศทั้งลำ จากทีมที่อุดมดางรุ่งชั้นพระกาฬและนักเตะดีๆ มากมาย ล้มทั้งยืนจนหลายคนคิดว่าพวกเขาอาจยืนกลับขึ้นไม่ได้อีก แล้วอะไรทำให้นักเตะ “ปีศาจแดง” ต้องพาตัวเองไปยังจุดที่พญามัจจุราชเอื้อมมือมาคว้าชะตาชีวิตพวกเขาไปแบบนั้น เรื่องนี้ต้องย้อนกลับไปในปี 1955 ที่ ยูฟ่า จัดการแข่ง ยูโรเปี้ยน คัพ ขึ้น ถ้วยนี้คือ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ในปัจจุบัน ตอนนั้นทีมที่จะไปเล่นได้มีแค่แชมป์ หลายชาติตื่นตัวให้ความร่วมมือส่งทีมเข้าแข่ง ยกเว้น อังกฤษ ที่ทำตัวอินดี้ไม่คบค้าสมาคมกับใคร แชมป์ปีนั้นคือ เชลซี ก็อดไปตามระเบียบ แต่ไม่ใช่กับ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่เป็นแชมป์ในฤดูกาลถัดมา พวกเขาสู้กับ เอฟเอ เพื่อคว้าสิทธิ์ไปให้ได้ และกลายเป็นทีมแรกที่กรุยทางสู่เวทียุโรปให้กับทีมอังกฤษในที่สุด ปีแรก แมนฯ ยูฯ แพ้ เรอัล มาดริด แชมป์เก่าในรอบรองชนะเลิศ พร้อมการเป็นดาวซัลโวของ เดนนิส ไวโอเล็ต ที่ทำไป 9 ประตู, รองดาวซัลโว ทอมมี่ เทย์เลอร์ ยิง 8 ประตู เหนือกว่า อัลเฟรโด้ ดิสเตฟาโน่ ของ “ราชันชุดขาว” ด้วยซ้ำ ยุคนั้นคือยุคเกรียงไกรของ “บัสบี้เบ๊บ” ลูกทีมของมหากุนซือในตำนาน แมตต์ บัสบี้ อย่างแท้จริง พวกเขาคว้าแชมป์ลีกได้อีกสมัย แต่ครั้งนี้สิ่งที่ต้องเผชิญคือปัญหาการเดินทาง สภาพอากาศ และโปรแกรมการแข่งขันที่รออยู่ ตอนนั้นพวกเขาเดินทางไปแข่งกับ ดูคลา ปาร์ก ที่ เช็ก แต่ปัญหาคือขากลับ ที่สภาพอากาศไม่อำนวย สุดท้ายเครื่องไปลงที่ฮอลแลนด์ ก่อนจะนั่งรถไฟสายยาวกลับมากัน จนนักเตะล้าเล่นเกมสุดสัปดาห์กันไม่เอาอ่าว รอบ 8 ทีมสุดท้ายพวกเขาเจอ เร้ดสตาร์ เบลเกรด จาก ยูโกสลาเวีย เลกแรกที่ โอลด์ แทร็ฟฟอร์ด ไม่มีปัญหา แถมยังบินไปเล่นเกมที่ เบลเกรด ได้แบบสบายๆ ผ่านเข้ารอบรองชนะเลิศไปได้เป็นฤดูกาลที่สองติดต่อกัน ฟอร์มแรงขนาดนั้น พวกเขากลายเป็นตัวเต็งประจำทัวร์นาเมนต์ในทันที แต่ใครจะรู้ว่าพวกเขาเป็นตัวเต็งได้ไม่ทันจะข้ามวัน ก็กลายเป็นข่าวใหญ่บนหน้าหนังสือพิมพ์ แต่ไม่ใช่ในทางที่ดีเท่าไหร่ วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 1958 เป็นวันที่สภาพอากาศย่ำแย่มากวันหนึ่ง พวกเขาต้องเดินทางจาก ยูโกสลาเวีย กลับ อังกฤษ และต้องกลับทันทีให้ได้ ไม่ใช่บินไปต่อรถไฟแบบคราวก่อน เพราะมันเสียหายต่อการเล่นเกมสุดสัปดาห์ แต่กำหนดการณ์เกิดล่าช้าเมื่อ จอห์นนี่ เบอร์รี่ นักเตะของทีมดันทะลึ่งทำพาสปอร์ตหายซะอย่างงั้น การบินรอบแรกเป็นไปโดยสวัสดิภาพ เครื่องบินลงจอดที่ มิวนิค เพื่อเติมน้ำมัน ผู้โดยสารทุกคนถูกเรียกขึ้นเครื่องทันที แต่รอบแรกไปไม่ได้ เพราะสภาพอากาศ แต่อย่างที่บอกว่าครั้งนี้รอไม่ได้ กัปตันตันสินใจไปต่อ เรียกคนขึ้น และพยายามบิน ทว่าดวงถึงฆาต รันเวย์ที่เคลียร์น้ำแข็งออกไปหลายครั้งแล้ว ก็จับตัวแข็งขึ้นมาอีก สุดท้ายเครื่องที่เร่งเต็มสปีดเพื่อเตรียมบินเกิดลื่น และเอาไม่อยู่สุดท้ายไถลตกรันเวย์จนเกิดเป็นเหตุสยองขวัญ วันนั้นไม่ได้มีแค่นักเตะและทีมงานของ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เท่านั้น ยังมีผู้สื่อข่าวและผู้โดยสารอื่นๆ ด้วย นักเตะ “ปีศาจแดง” โดนยมทูตพรากชีวิตไปทันทีในที่เกิดเหตุ 7 คน ล้วนแล้วแต่เป็นตัวหลัก ทีมงานของทีม 3 ชีวิต ผู้สื่อข่าว 7 คน ผู้โดยสารทั่วไป 2 คน และลูกเรือ 2 คน ครั้งนั้นมี 2 คนที่อาการร่อแร่ คือ แฟร้งค์ สวิฟท์ ผู้สื่อข่าว และอดีตทีมชาติอังกฤษ เสียชีวิตระหว่างส่งตัวไปโรงพยาบาล และอีกหนึ่งคนคือนักเตะที่ได้ชื่อว่าเป็นดาวรุ่งที่ดีที่สุดเท่าที่ฟุตบอลอังกฤษเคยมีมา ดันแคน เอ็ดเวิร์ดส์ เขาเสียชีวิตในอีก 15 วันถัดมาหลังเกิดเหตุการณ์ ในความโชคร้าย ยังมีโชคดี ตอนนั้นมีผู้รอดชีวิต 4 คน เป็นลูกเรือ 3 คนเป็นผู้สื่อข่าว และ 3 คนเป็นผู้โดยสาร ขณะที่บุคลากรของ “ปีศาจแดง” เหลือรอดอยู่ 10 คน ประกอบด้วย
  • จอห์นนี่ เบอร์รี่ (คนที่ทำพาสปอร์ตหาย) เล่นต่อไม่ได้ - เสียชีวิตในปี 1994
  • แจ็คกี้ บลันช์ฟลาวเวอร์ – เล่นต่อไม่ได้ เสียชีวิตในปี 1998
  • บ็อบบี้ ชาร์ลตัน – ยังมีชีวิตอยู่
  • บิลล์ โฟลคส์ – เสียชีวิต 2013
  • แฮร์รี่ เกร็กก์ – ยังมีชีวิตอยู่
  • เคนนี่ มอร์แกนส์ – เสียชีวิต 2012
  • อัลเบิร์ต สแคนลอน – เสียชีวิต 2009
  • เดนนิส ไวโอเล็ต – เสียชีวิต 1999
  • เรย์ วู้ด – เสียชีวิต 2002
  • แมตต์ บัสบี้ (ผู้จัดการทีม) – เสียชีวิต 1994
ตอนนั้นทุกคนต่างบอบช้ำ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด หลังประสบอุบัติเหตุสภาพดูแทบไม่ได้ แทบไม่เหลือนักเตะให้ใช้งาน แต่พวกเขาไม่ถอนตัวแม้แต่รายการเดียว ยังคงแข่งต่อไปเท่าที่หานักเตะมาลงแข่งได้ หลายทีมพร้อมให้นักเตะมายืมตัว อีกหนึ่งเรื่องที่คนเข้าใจผิดคือเรื่องที่ตอนนั้น ลิเวอร์พูล คู่แค้นตลอดกาลก็ส่งนักเตะมาช่วยเหลือด้วย ความเป็นจริงคือ ใช่ครับ “หงส์แดง” ส่งนักเตะมาจริง แต่ แมนฯ ยูฯ ก็รับไว้แค่น้ำใจเท่านั้น จบซีซั่น “เร้ด เดวิลส์” จากแชมป์เก่า ตกเป็นทีมอันดับ 9 ฟุตบอลยุโรปแพ้ เอซี มิลาน ในรอบรองชนะเลิศแบบสู้ไม่ได้ แต่เหมือนฟ้ายังปราณี ที่ แมตต์ บัสบี้ ที่รักษาตัวในโรงพยาบาลอยู่นาน ก็กลับมาได้ และพาทีมจบรองแชมป์ในซีซั่นถัดมา บ็อบบี้ ชาร์ลตัน ได้โอกาสและกลายเป็นดาวซัลโวของทีม แต่มันไม่ยั่งยืน เพราะโครงสร้างทีมมันพังพินาศไปแล้ว พวกเขาเคยจบฤดูกาลในอันดับที่ 19 ด้วยซ้ำ กว่าจะกลับไปคว้าแชมป์ลีกได้อีกครั้งต้องรอถึงปี 1964-65 เลยทีเดียว พร้อมการสร้างชื่อของ 3 ทหารเสือ เดนิส ลอว์, จอร์จ เบสต์ และแกนหลักจากเมื่อครั้งเครื่องบินตกอย่าง บ็อบบี้ ชาร์ลตัน อีกคนที่รอดชีวิตและยังอยู่กับทีมชุดนี้คือ บิล โฟลคส์ กองหลัง และนี่คือยุค “บัสบี้ เบ๊บ” ได้กลับมาเกรียงไกรอีกครั้ง ถ้าคุณคิดว่า แมนฯ ยูไนเต็ด กลับมาคว้าแชมป์ลีกได้หลังเจอโศกนาฏกรรมคือจุดพีค คุณคิดผิดครับ ฤดูกาล 1966-67 พวกเขาก็เป็นแชมป์ได้อีก และเดินทางไปแข่งฟุตบอลยุโรปอีกครั้งตามโควตา และเรื่องมหัศจรรย์ก็เกิดขึ้น พวกเขาได้เจอกับ เรอัล มาดริด ในรอบรองชนะเลิศอีกครั้ง เหมือนเมื่อครั้งแรกที่เขามาเล่นรายการนี้ แต่สิ่งที่ไม่เหมือนคน พวกเขาเก็บชัยใน โอลด์ แทร็ฟฟอร์ด จากประตูของ “เทพบุตรมหาภัย” จอร์จ เบสต์ ในนาทีที่ 36 ก่อนจะบุกไปเสมอที่ ซานติอาโก้ เบร์นาเบว 3-3 ผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เข้ารอบชิงชนะเลิศไปพบกับ เบนฟิก้า ที่คว่ำ ยูเวนตุส ยักษ์ใหญ่จากอิตาลีมาได้ด้วยสกอร์รวม 3-0 พร้อมนำโดยตำนานของโลกฟุตบอลอย่าง ยูเซบิโอ้ “ปีศาจแดง” ได้ประตูนำในช่วงต้นครึ่งหลัง จาก บ็อบบี้ ชาร์ลตัน ในนาทีที่ 53 แต่มาโดนตีเสมอได้โดย การ์ช่า นาทีที่ 79 แต่การต่อเวลาเหมือนจะเข้าทางทีมจากอังกฤษ พวกเขายิง 3 ลูกรวดจาก จอร์จ เบสต์ นาทีที่ 92, ไบรอัน คิดด์ นาทีที่ 94 และลูกฝังจมดินของ ชาร์ลตัน ในนาทีที่ 99 ล้ม เบนฟิก้า ของ ยูเซบิโอ้ ดาวซัลโวทัวร์นาเมนต์ไปแบบราบคาบ คว้าแชมป์ ยูโรเปี้ยน คัพ เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ทีม และเป็นทีมแรกในอังกฤษ ซึ่งปีนั้นเป็นการครบรอบ 10 ปี โศกนาฏกรรมที่ มิวนิค พอดิบพอดี ว่ากันว่า เราล้มกี่ครั้ง ไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่สำคัญที่เราลุกขึ้นยืนได้กี่ครั้งมากกว่า

- เทพเฟี๊ยต -

logoline