logo-heading

เทศกาล “สงกรานต์” ผ่านพ้นไปแล้ว วิถีชีวิตชาวไทยกลับคืนสู่สภาวะปกติอีกครั้ง สำหรับวงการฟุตบอลไทยไม่ต้องรอกันนาน วันพุธที่ 18 เม.ย.นี้มีเตะให้ได้ดูกันทันทีครับ

กลางสัปดาห์นี้เป็นคิวของ “โตโยต้า ลีกคัพ 2018” รอบเพลย์ออฟ เตะกัน 14 คู่ แต่รอบนี้ยังไม่มีทีมจาก “ไทยลีก 1” ลงเตะ เพราะไปรอเล่นในรอบ 32 ทีมสุดท้ายเลย จบจากนั้นตั้งแต่วันศุกร์ที่ 20 เม.ย.ทั้ง “ไทยลีก 1” และ “ไทยลีก 2” จะกลับมาเตะ “ฟรายเดย์ ไนท์” ก่อนจะซัดกันยาวๆ ไปจบเลกแรกในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม แฟนบอลไทยลุ้นกันไปยาวๆ ครับ ชอบหรือชังทีมไหนตามเชียร์ตามแช่งกันได้เลย ส่วนโปรแกรมนัดต่อไปของทีมชาติไทยยังไม่มีข้อสรุปแบบชัวร์ๆ อย่างเป็นทางการ แต่คาดว่าแผนไปเข้าแคมป์ที่ยุโรปเพื่อเตะอุ่นเครื่อง 1 นัดน่าจะเป็นไปได้ยาก ลีกฤดูกาลนี้เตะกันโหดครับ ช่วงเวลาพักครึ่งฤดูกาลที่มีแค่ 12 วัน คือนัดสุดท้ายเลกแรก วันที่ 26 พ.ค. และนัดแรก เลกสอง วันที่ 9 มิ.ย.คงเป็นเวลาที่สโมสรอยากให้นักเตะพักมากกว่า สดุดีแข้งสาวไทย ที่สำคัญช่วงเวลาดังกล่าวไม่ใช่ “ฟีฟ่าเดย์” ด้วย สโมสรไม่จำเป็นต้องปล่อยตัวผู้เล่น ยิ่งต้องปล่อยให้ไปอยู่กับทีมชาตินานๆแบบเดินทางข้ามทวีปนั้นคงมีโอกาสเป็นไปได้น้อย แต่ถ้ามีการปรับแผนใหม่ให้ “ช้างศึก” อุ่นเครื่องกับทีมในเอเชียด้วยกันอาจพอมีหวัง เพราะแคมป์ทีมชาติไม่ต้องใช้เวลานาน สโมสรน่าจะยินดีและโอเคมากกว่า ทั้งนี้คงต้องรอความชัดเจนจาก สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ อีกครั้งนะครับ แต่จะว่าไปแล้วแผนแบบนี้น่าจะได้ข้อสรุปและความชัดเจนล่วงหน้ามานานแล้วด้วย ปัญหาเดิมๆ ของฟุตบอลไทยคือขาดการวางแผนที่แน่นอนและลงมือทำให้ได้ตามแผนที่วางไว้ สาเหตุที่ทำไม่ได้จะไปโทษ สมาคมฯ อย่างเดียวก็ไม่ถูก บางทีสโมสรก็ควรถูกตำหนิ หลายๆ เรื่องควรจะมีการหารือและคุยกันให้ชัดเจนเพื่อสรุปให้เป็นที่แน่นอนล่วงหน้า แต่ที่ผ่านมาไม่รู้ว่าคุยกันหรือเปล่าถึงได้เตะกันไปหารือกันไป ถึงตรงนี้เลยไม่สรุปสักที สมาคมฯ เป็นคนวางแผน แต่เหมือนไม่เคยถามสโมสรจึงต้องมาแก้ปัญหาภายหลังบ่อยๆ ถ้าคุยกันก่อนคงไม่มีปัญหาอย่างที่เห็น ส่วนสโมสรพอถูกเรียกให้มาประชุมเพื่อเคลียร์ให้จบเรื่องดันส่งคนไม่รู้เรื่องมาประชุม หลายๆ เรื่องเลยเคลียร์ไม่ได้เพราะคนมาประชุมไม่ได้รู้เรื่องหรือไม่มีอำนาจตัดสินใจใดๆ สิ่งสำคัญที่สุดของการทำงานใดๆคือการวางแผนนี่ละครับ ถ้าวางแผนดีๆและทำได้ ทั้งทีมชาติไทยและสโมสรจะวินๆ ทั้งคู่ นี่รวมถึงฟุตบอลหญิงด้วยนะครับ แม้จะไม่มีปัญหาเรื่องสโมสรเหมือนฟุตบอลชาย แต่ทีมสาวไทยจำเป็นต้องวางแผนให้ดีสำหรับ “ฟุตบอลโลกหญิง 2019” ด้วย ฟุตบอลหญิงอาจไม่มีเรื่องวุ่นระหว่างสโมสรกับทีมชาติ แต่นักเตะต้องพัฒนาต่อเนื่อง นั่นหมายความว่าจะให้ความสำคัญตรงยอดปลายที่ทีมชาติไม่ได้ แต่สโมสรต้องเอาด้วย สดุดีแข้งสาวไทย น่าสนใจตรงรากฐานสำคัญอย่าง “ลีกหญิง” นี่ละครับ ไม่รู้ว่าปีนี้ สมาคมฯ จะเอาอย่างไร เพราะดำเนินการจัดแข่งขันเองแบบไม่มีตำแหน่ง “ประธานพัฒนาฟุตบอลหญิง” ด้วย ปีที่แล้วลีกหญิงมี 10 ทีม แต่ในจำนวนนี้มีทีมชาติไทยหญิงรุ่นเยาวชนเตะด้วย 2 รุ่น เกมลีกเตะกันที่สนามกลางสนามเดียว แต่ละทีมพบกันฤดูกาลละ 2 ครั้ง รูปแบบของลีกเกิดขึ้นจากการศึกษาตามความเหมาะสมของฟุตบอลหญิงไทยแล้วครับ การจะเตะแบบลีกฟุตบอลชายที่มีเหย้า-เยือน สนามใครสนามมันคงทำได้ไม่ง่าย แม้จะยังไม่ใช่ลีกที่สมบูรณ์แบบแต่อย่างน้อยยังทำให้นักเตะได้พัฒนาต่อเนื่องบ้าง ไม่ใช่รอเวลาแค่มารวมตัวเตะกันในแคมป์ทีมชาติไทยเท่านั้น ถ้าว่ากันที่ยอดปลายตรงทีมชาติไทยต้องขอสดุดีผลงานของทีมฟุตบอลหญิงไทยจริงๆ ละครับ ทำผลงานได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ไปฟุตบอลโลกหญิงได้ 2 สมันซ้อนแบบไม่ธรรมดา แต่ถ้ามองที่แผนการพัฒนาคงต้องคิดให้หนักมากขึ้น ทรัพยากรนักเตะเรายังมีไม่มากนัก ผู้เล่นบางคนติดทีมชาติไทยมาเป็นสิบปีแล้ว รุ่นใหม่ที่ขึ้นมาทดแทนยังมีไม่เยอะอย่างที่น่าพอใจ ตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญที่สมาคมฯต้องพยายามทำให้ดีขึ้น ทำอะไรต้องรีบทำ “ตีเหล็กต้องตีตอนร้อน” อย่าให้การไปฟุตบอลโลกของสาวไทยเป็นการดีใจแค่แป๊ปเดียวหาย สดุดีแข้งสาวไทย ระดมสมองวางแผนแล้วลุยให้เต็มที่เลยครับ ทั้งแผนเตรียมทีม 1 ปีก่อนฟุตบอลโลกหญิง 2019 ที่ประเทศฝรั่งเศสของทีมสาวไทย รวมถึงการพัฒนาฟุตบอลหญิงไทยในระยะยาว ทำให้ได้ทำให้ดีเพื่อที่อนาคตทีมสาวไทยจะได้เป็น “ขาประจำ” ในฟุตบอลโลกหญิง รวมถึงขยับช่วงว่างกับทีมระดับแถวหน้าของเอเชียให้ลดน้อยลงจากเดิมด้วย คาดหวังให้สูงเอาไว้ก่อนครับ ไม่ใช่ยึดติดแค่ความสำเร็จระดับอาเซียนเอามาเป็น “ท่าไม้ตาย” อยู่ร่ำไป หวังแค่ไหน ได้แค่นั้น สู้ต่อไปทีมฟุตบอลสาวไทย

“บับเบิ้ล”

logoline