logo-heading

พรีเมียร์ลีก อังกฤษ กำลังได้รับผลกระทบอย่างหนัก จากการแพร่ระบาดของโรคร้าย โควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ ทำให้โปรแกรมการแข่งขันเกิดความไม่แน่นอน บางคู่ต้องเลื่อนการแข่งขันออกไปเพื่อความปลอดภัย

แต่ก็มีเคสที่น่าเห็นใจอย่าง แอสตัน วิลล่า เมื่อทีมชุดใหญ่และสตาฟฟ์โค้ชถูกตรวจพบเชื้อ ไวรัสโคโรน่า สูงถึง 14 คน คนที่ไม่ได้เป็นก็ต้องกักตัว ยอมจำใจส่งชุดเด็ก ลงไปเล่นเกมพ่าย ลิเวอร์พูล 1-4 ตกรอบ เอฟเอ คัพ

ต่อให้เป็นแค่เกมๆหนึ่ง แต่มันจะส่งผลระยะยาว โดยมีรายงานว่า พรีเมียร์ลีก อังกฤษ อาจต้องเลื่อนการแข่งขัน แต่นั่นคือสิ่งที่พวกเขาคิดจะทำเป็นขั้นตอนสุดท้าย ซึ่งตอนนี้ พรีเมียร์ลีก ได้ออก 11 มาตรการ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ จะมีอะไรบ้าง ไปติดตามกัน จะได้คุยกับคนอื่นรู้เรื่อง

  1. สโมสรลงโทษ พวกทีละเลยมาตรการคุม โควิด-19

ในคำศัพท์ชาวตะวันตก จะมีคำว่า "Covidiot"  ที่บัญญัติออกมา เพื่อประณาม พวกทำตัวไม่สนโลก หรือ เห็นแก่ตัวมากกว่าใคร อาทิ ยังออกไปมาหาสู่ผู้คน ทั้งๆที่ต้องกักตัวอยู่บ้าน เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ หรือ ว่าไปหาสินค้ามาตุนมากเกินกว่าจะเป็น โดยไม่สนไม่แคร์คนอื่น ซึ่งก็มีข่าวให้เห็นตลอดว่าพวกนักเตะ พรีเมียร์ลีก อังกฤษ บางคน ยังแหกกฎฝ่าล็อคดาวน์ โควิด-19 ทั้งจัดปาร์ตี้กับกลุ่มเพื่อน หรือ จ้างเด็กเอ็นมานัว เสมือนเป็นวัยรุ่นพูลวิลล่า ดังนั้นถ้ามีใครละเมิดกฎแบบนี้ สโมสรจะต้องโดนลงโทษไปด้วย ฐานไม่ยอมควบคุมให้อยู่ในระเบียบ
  1. ห้ามกอดกัน เมื่อทำประตู

ยังจำกันได้ไหมครับ ช่วงที่ โควิด-19 ระบาดหนักรอบแรก ลีกที่กลับมาโม่แข้งลีกแรก คือ บุนเดสลีกา เยอรมัน แมตช์นั้นทั่วโลกจับตามองอย่างมาก หลังจากทุกอย่างเงียบลง มานานหลายเดือน และ เป็น เออร์ลิ่ง ฮาแลนด์ ที่บัญญัติท่าดีใจแห่งยุคเชื้อร้าย ซึ่งเป็นสิ่งที่แฟนบอลอยากเห็น เพราะวันนั้น ฮาแลนด์ ยิงให้ทีมเอาชนะ ชาลเก้ โดยเขาวิ่งไปที่มุมธง ก่อนจะโยกตัวเต้นเบาๆ อารมณ์เหมือนใช้บลูทูธสื่อสารกับเพื่อน และ นี่แหละคือสิ่งที่ พรีเมียร์ลีก อังกฤษ ต้องการให้นักเตะเฉลิมฉลองหลังซัดประตู แทนการกอดกัน ทั้งเป็นคู่ หรือ เป็นกลุ่ม
  1. ห้ามจับมือ

เห็นหัวข้อนี้ แล้วก็อดนึกถึงชาว โอตะ ที่ชื่นชอบศิลปินวงไอดอลสาวอย่าง bnk48 ไม่ได้จริงๆ เพราะเขามักจะมีกิจกรรมให้ได้มาจับมือกับคนที่เราซัพพอร์ท แต่กระนั้นในยุคนี้ ไม่อาจทำแบบนั้นได้อีกแล้ว เช่นเดียวกับ พรีเมียร์ลีก อังกฤษ ก็มีมาตรการห้ามให้นักเตะ, สตาฟฟ์โค้ช สัมผัสด้วยการจับมือเป็นอันขาด ตามมาตรการ โซเชี่ยล ดิสแทนซิ่ง เพราะมือของเรา อาจเอาไปป้ายหน้า ป้ายตา ต่อได้ ฉะนั้นวิธีที่จะแสดงความเคารพต่อกัน คือการเอากำปั้นชนกันก็เพียงพอ
  1. ห้ามแลกเสื้อหลังจบเกม

แทบจะเป็นธรรมเนียมไปแล้ว เวลาที่เตะเสร็จครบ 90 นาที จะมีการแลกเสื้อ เก็บไว้เป็นที่ระลึก แต่กระนั้นในยุค โควิด-19 เชื้อมันแพร่กระจายได้หลากหลายวิธี  ฉะนั้นเสื้อแข่งขันมันจะชุ่มไปด้วยเม็ดเหงื่อ ซึ่งอาจเป็นอีกหนึ่งสาเหตุทำให้ที่มีโอกาส เชื้อจะแพร่กระจาย เพื่อเป็นการป้องกัน ให้เป็นมาตรการ ตัดไฟตั้งแต่ต้นลม พรีเมียร์ลีก อังกฤษ จึงสั่งห้ามนักเตะแลกเสื้อกัน แต่ก็ไม่ได้เข้มงวดอะไรมากนัก ยังมีแอบๆให้เห็นแลกกันอยู่เหมือนเดิม
  1. มีจุดตรวจอุณหภูมิ ที่สนามซ้อมชัดเจน

ต่อให้เราจะมั่นใจว่าเราไม่ได้ออกไปไหนมาแน่นอน คงไม่มีเชื้อ โควิด-19 อยู่ในร่างกาย แต่กระนั้นเราไม่รู้ว่า เพื่อนๆหรือคนอื่นๆในทีม เดินทางไปไหนกันมาบ้าง ฉะนั้นก่อนที่จะต้องมาพบปะเจอหน้า จะต้องมีจุดตรวจวัดไข้ที่ชัดเจน อารมณ์เหมือนเราจะเข้าร้านสะดวกซื้อ จะมีการตรวจอุณหภูมิในร่างกาย ไม่ให้เกิน 37.5 องศาเซลเซียส และ ลงชื่อเอาไว้ว่าเราเดินทางมา เช่นกันกับสนามฝึกซ้อม ต้องมีการทำแบบนี้ให้เป็นมาตรฐาน ซึ่งอาจจะมีการตรวจเชื้อ โควิด-19 ด้วย ว่าเราไม่ได้มีผลเป็นบวก
  1. ใส่แมสก์ทุกเวลา ห้ามถอดเด็ดขาด

หน้ากากอนามัย หรือ หน้ากากผ้า เปรียบเป็นอาวุธชนิดหนึ่ง ที่ไว้ต่อสู้กับสงครามเชื้อร้าย โควิด-19 เพราะเป็นการป้องกันละอองน้ำลาย หรือ สารคัดหลั่ง ไม่ให้แพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น เช่นกัน ฉะนั้นนี่คือข้อที่สำคัญที่สุดในการป้องกันตัวเอง ฉะนั้น เมื่อถึงแมตช์เดย์ วันคิกออฟ นักเตะ, สตาฟฟ์ และ เจ้าหน้าที่ทุกคน ที่มีส่วนร่วมอยู่ในสนาม จะต้องสวมหน้ากากทุกคน และ แทบจะต้องสวมทุกเวลา ยกเว้นนักเตะที่ลงสนามเท่านั้น เพราะถ้าให้ลงเล่น แล้วสวมหน้ากากด้วย น่าจะขาดอากาศหายใจตายไปก่อน
  1. รถบัสของทีม ให้แบ่งคนไปกัน 3 คัน

ปกติแล้วรถบัสที่นักเตะจะใช้นั่งมาสนามแข่งขัน จะจุผู้โดยสารได้ประมาณ 40-50 คน ซึ่งก็พอดิบพอดี กับปริมาณของทีมๆหนึ่ง รวมทั้งสตาฟฟ์โค้ช และ นักเตะ แต่ตอนนี้ การเว้นระยะห่างทางสังคม เป็นสิ่งที่ต้องปฏิบัติให้เป็นแบบอย่างกับผู้อื่น โดยในรถจำเป็นต้องนั่งแบบที่เว้นที่ ทำให้ พรีเมียร์ลีก อังกฤษ ออกกฎว่า แต่ละทีมให้ใช้รถบัส 3 คัน แบ่งคนเฉลี่ยเท่าๆกัน เพื่อป้องกันแพร่ระบาดอีกหนึ่งทาง ซึ่งปัจจุบัน พรีเมียร์ลีก ได้เพิ่มกฎให้เพิ่มตัวสำรองจาก 7 คน เป็น 9 คน เรียบร้อย จึงมีนักเตะเพิ่มขึ้นมาอีก เท่ากับว่ารถบัสคันเดียวคงไม่เพียงพอ และ การใช้รถบัส 3 คัน คือคำตอบ
  1. ประเมินความเสี่ยงเมื่อต้องเดินทาง

ไม่อยากหยิบยกจากพื้นที่ต่างประเทศ แต่ขอหยิบยกพื้นที่จากประเทศไทย ขึ้นมาเป็นตัวอย่างแล้วกัน ที่ถูกควบคุม 5 จังหวัด ประกอบด้วย สมุทรสาคร ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และ ตราด ซึ่งต้องตรวจสอบประวัติการเดินทาง และ มีเอกสารรับรอง ในการเข้าออกพื้นที่ เช่นกัน ถ้าหากทีมไหน ต้องเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยง ที่มีการระบาดของ โควิด-19 ก็จำเป็นจะต้องประเมินสถานการณ์ให้ดี หรือ ส่งเรื่องไปยัง พรีเมียร์ลีก ว่าจะสามารถเดินทางไปได้ หรือ แข่งขันตามโปรแกรม ได้หรือเปล่า
  1. เจ้าหน้าที่สนามฝ่ายอื่นต้องผลตรวจเป็นลบ

ไม่ใช่แค่ว่า นักเตะ, สตาฟฟ์โค้ช, ผู้บริหาร, ผู้ตัดสิน หรือว่า บรรดานักข่าว ที่ได้รับอนุญาตให้เข้าสนาม จะต้องมีผลตรวจเชื้อ โควิด-19 เป็นลบ เท่านั้น แต่พนักงานหรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายอื่นๆ ต้องเป็นลบเช่นกัน อาทิ พนักงานดูแลความปลอดภัยนอกสนาม, เหล่าทีมแพทย์ หรือ เจ้าหน้าที่ทั่วไปของสโมสรนั้นๆ จะต้องได้รับการตรวจเชื้อหาผล โควิด-19 เช่นกัน ถ้าหากเป็นลบ ก็สามารถทำงานต่อไปได้ แต่ถ้าเป็นบวกให้กีดกันไปทันที
  1. ที่นั่งผู้บริหาร โซนนึง ต้องไม่เกิน 10 คน

ในช่วงที่ พรีเมียร์ลีก อังกฤษ ต้องเตะแบบปิดสนาม พวกเขามีมาตรการ ห้ามให้มีผู้คนเข้าชมเกินกว่า 300-500 คน ฟังดูเหมือนจะเยอะ แต่ไม่ใช่แบบนั้นครับ เพราะแบ่งได้แล้ว ก็ดูสมเหตุสมผล ประกอบด้วยผู้เล่น 40 คน (รวม2ทีม) , ทีมสตาฟฟ์ และ เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ 32 คน, เจ้าหน้าที่ประจำการแข่งขัน 12 คน, บุคคากรทางการแพทย์ 6-8 คน, เจ้าหน้าที่ พรีเมียร์ลีก 3 คน และ บรรดาสื่อมวลชนอีกอย่างน้อย 130 คน อาจมีบางกรณีอาจเพิ่มขึ้นสูงสุดที่ 500 คนต่อเกมการแข่งขัน ซึ่งก็คือเหล่าพวกผู้บริหาร ที่จะต้องเข้ามาดูความเคลื่อนไหวของทีม หรือ ต้องการดูฟอร์มการเล่นให้เห็นกับตา ทำให้ พรีเมียร์ลีก อังกฤษ ออกมาตรการว่า 1 บ็อกซ์ ของ ผู้บริหาร ห้ามกระจุกกันมากเกินไป เวลานั่งต้องห้ามเกิน 10 คน
  1. ข้อจำกัดในการฝึกซ้อม

สูงสุดคืนสู่สามัญ สามารถเอามาใช้กับประเด็นนี้ได้เลยครับ เพราะการฝึกซ้อมของแต่ละสโมสร อาจจะต้องลดความเข้มข้นลงมา คือห้ามโดนตัว และ ห้ามเข้าปะทะ อย่างเด็ดขาดในการฝึกซ้อม เมื่อเสร็จแล้วให้กลับบ้าน ไม่มานั่งจับกลุ่มเสวนากัน เป็นการป้องกันอีกทาง เพื่อหลบเลี่ยงการสัมผัส ในการแพร่เชื้อ โควิด-19 ซึ่งยังไม่รู้ว่าสุดท้ายแล้ว พรีเมียร์ลีก อังกฤษ จะเลื่อนการแข่งขันหรือไม่ แต่มาตรการเหล่านี้ จะช่วยให้ลดการแพร่เชื้อได้ไม่มากก็น้อย

ฮาย ฮาวดี้-

logoline