logo-heading

ฟุตบอลโลก 2018 กำลังจะเปิดสนามดวลแข้งกันแล้วที่แดนหมีขาว ประเทศรัสเซีย แม้ใครต่อใครจะบอกว่ากระแสที่เมืองไทยไม่คึกคัก แต่เชื่อเถอะว่าเดี๋ยวก็ “ฟีเวอร์” เหมือนเดิม

ช่วงเวลาใกล้ถึงฟุตบอลโลกทีไรฟุตบอลไทยมักถูกกระทบชิ่งถึงเสมอ คำถามที่ว่า “เมื่อไรฟุตบอลไทยจะไปฟุตบอลโลก” ถูกขุดมาเป็นประเด็นอยู่ทุกรอบ 4 ปี ส่วนคำตอบของคำถามนี้คงแล้วแต่มุมมอง แต่ส่วนใหญ่หนักไปทางเย้ยหยันว่า “ชาติหน้า” เสียมากกว่า !!! หลายคนมองแบบนี้เพราะดูจากสภาพความเป็นจริงแล้วมันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสักนิด ทุกชาติในโลกต่างต้องการไป “ฟีฟ่า เวิลด์คัพ” แต่จะมีสักกี่ชาติที่สมหวัง สำหรับฟุตบอลไทยเคยเข้าใกล้คำว่า “รอบสุดท้าย” มากที่สุด 2 ครั้ง จากทั้งหมด 21 ครั้งที่ฟุตบอลโลกเริ่มจัดเตะกันมาตั้งแต่ปี 1930 รวมระยะเวลากว่า 88 ปีแล้ว ครั้งแรกที่นักเตะจาก “ลุ่มน้ำเจ้าพระยา” มีโอกาสลุ้นมากที่สุดคือ “ฟุตบอลโลก 2002” ที่ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เป็นเจ้าภาพร่วมกัน นั่นคือฟุตบอลโลก รอบสุดท้าย ครั้งแรกใน “เอเชีย” ทีมชาติไทยสร้างประวัติศาสตร์ผ่านเข้าไปเล่นในฟุตบอลโลก 2002 รอบคัดเลือก รอบ 10 ทีมสุดท้ายโซนเอเชีย ได้สำเร็จเป็นครั้งแรก ถือเป็นก้าวที่ใกล้เคียงมากที่สุด จากนั้นนักเตะไทยต้องใช้เวลาถึง 15 ปีกว่าจะกลับมายืนในจุดที่เคยได้ลุ้นอีกครั้งใน “ฟุตบอลโลก 2018” รอบคัดเลือก รอบ 12 ทีมสุดท้ายโซนเอเชีย แต่ทั้ง 2 ครั้งที่ทีมชาติไทยมาถึงประตูบานสุดท้ายของเอเชียก่อนไปถึงฟุตบอลโลก นักเตะไทยยังสะกดคำว่า “ชนะ” ไม่เป็น ถึงตรงนี้จึงต้องบอกว่าหากทีมชาติไทยจะไปฟุตบอลโลกคงต้องวางเป้าหมายทีละสเตป นั่นคือเป็น “ขาประจำ” ในรอบคัดเลือก รอบสุดท้ายโซนเอเชีย ให้ได้ก่อน จากนั้นต้องตามหาชัยชนะนัดแรกในรอบคัดเลือก รอบสุดท้ายให้ได้ เมื่อทำทั้ง 2 สเตปนี่ได้แล้วคำว่าฟุตบอลโลก รอบสุดท้าย ถึงจะมีคำว่า “ใกล้เคียง” มากยิ่งขึ้น แน่นอนละครับว่าทุกสิ่งทุกอย่างต้องใช้ระยะเวลาพัฒนา สิ่งสำคัญที่สุดคือ “เป้าหมาย” และการลงมือทำแบบจริงๆจังๆ ที่ผ่านมาเคยได้ยินสารพัดโครงการ “ขายฝันฟุตบอลโลก” แต่สุดท้ายก็แค่ข่าวตามกระแส เงียบหายไปตามกาลเวลา วันนี้ สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ มี THE MASTER PLAN” หรือ “แผนแม่บทพัฒนาฟุตบอลแห่งชาติระยะยาว 20 ปี” (พ.ศ.2560-2579) ขึ้นมาใหม่ เนื้อหาใจความในหนังสือเล่มใหญ่มีมากมาย 158 หน้ากระดาษ อธิบายความคงไม่หมด ใครสนใจให้ไปโหลดที่ www.fat.or.th เอาครับ 1 ในสาระสำคัญที่มีการวางแผนสำหรับพัฒนาฟุตบอลไทยรอบด้านคือเป้าหมายที่วางไว้ว่า “ปี 2036 ทีมชาติไทยต้องติดอันดับ 50 ของโลกใน “ฟีฟ่า” และเป็นอันดับ 6 ของเอเชีย” เป้าหมายช่วงระหว่างทางยังมีการระบุด้วยว่า “ทีมชาติไทยต้องมีผลงานระดับแนวหน้าเอเชียและสร้างโอกาสผ่านเข้าสู่รอบสุดท้ายฟุตบอลโลกภายในปี 2026” นั่นคือธงที่ตั้งไว้ ส่วน “ยุทธศาสตร์” ที่จะนำพาไปให้ถึงตรงนั้นมีรอบด้านที่ต้องพัฒนา ทั้งองค์กร สโมสร เยาวชน การแข่งขัน ผู้ตัดสิน แพทย์ วิทยาศาสตร์การกีฬา ฯลฯ รายละเอียดเป็นอย่างไรใครอยากรู้เพิ่มเติมเชิญไปคลิกโหลดมาอ่านกันได้ครับ แต่เท่าที่ได้ศึกษาและคุยกับคนที่เกี่ยวข้องมาต้องบอกว่าไม่ได้มีอะไรที่เป็นพิเศษมากมาย แนวทางการพัฒนาเป็นไปตามแบบแผนที่โลกฟุตบอลทั่วไปทำกันอยู่แล้ว สิ่งสำคัญที่สุดคือการลงมือทำมากกว่า แล้วต้องดูผลลัพธ์ด้วยว่าสัมฤทธิ์ผลแค่ไหน อย่างที่บอกครับว่าเคยเห็นสารพัดโครงการสวยหรู แต่สุดท้ายเป็นแค่ถ้อยคำบนกระดาษ ดังนั้นต่อให้วาดฝันไว้สวยงามขนาดไหนแต่ถ้าไม่ลงมือทำมันก็เท่านั้น แต่ถ้าร่วมด้วยช่วยกันแล้วทำกันจริงๆจังๆอะไรที่คิดว่าเป็นไปไม่ได้มันอาจเป็นไปได้ แม้กระทั่งฝันที่ยากที่สุดอย่างการอยากจะไปฟุตบอลโลกก็ตามเถอะ ไม่ได้โลกสวย แค่ลอง “คิดบวก” อย่างเมื่อก่อนใครจะเชื่อว่าวันนี้ฟุตบอลไทยจะเป็นบูม นักเตะไทยเงินเดือนหลักแสน ค่าลิขสิทธิทีวีพุ่งถึง 20 ล้านบาท คนดูเต็มสนามมีแฟนคลับ โลกก็หมุนใส่สปีดเร็วทุกวัน อะไรๆล้วนเปลี่ยนแปลง ฟุตบอลโลกกำลังจะปรับเพิ่มเป็น 48 ทีมในรอบสุดท้ายด้วย ดังนั้นโอกาสของทุกชาติย่อมมีมากกว่าเดิม คำว่า “ฝันให้ไกลแล้วไปให้ถึง” ยังใช้ได้อยู่เสมอครับ ตั้งธงแล้วเดินไป ถึงจะหกล้มบ้าง สะดุดบ้าง ย่อมดีกว่านั่งขายฝันนอนฝันไปวันๆ ขออนุญาตปิดท้ายแบบดื้อๆด้วยคำคมเด็ดๆจากนักกอล์ฟที่เอามาใช้ได้ในทุกวงการแล้วกันครับ “ตีลูกให้ถึงดวงจันทร์ ถึงพลาดก็ยังอยู่ท่ามกลางดวงดาว”  

  “บับเบิ้ล”

ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมของ ขอบสนาม
logoline