logo-heading

ถือเป็นเรื่องฮือฮาเลยสำหรับการเปลี่ยนแปลงโควตานักเตะต่างชาติ (อีกแล้ว) ของไทยลีก ที่มีการตกลงปลงใจกันเรียบร้อย หลังการประชุมระหว่าง สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ, บริษัท ไทยลีก จำกัด และ ทีมในศึกไทยลีก โดยมีการกำหนดโควตานักเตะต่างชาติใหม่ เป็นจำนวนไม่เกิน 7 คน ตั้งแต่ฤดูกาล 2019 เป็นต้นไป แบ่งออกเป็น ต่างชาตินอกเอเชีย 3 คน, เอเชียนอกอาเซียน 1 คน และ อาเซียนอีก 3 คน

ส่วนสำคัญที่งอกเงยออกมา นั่นก็คือ “จำนวนโควตานักเตะอาเซียน 3 คน” ซึ่งกลายเป็นที่ถกเถียงกันในโลกโซเชี่ยลอย่างมาก แน่นอนว่า มันคือเรื่องของการตลาดโดยตรง ไม่ต้องไปคิดอะไรให้มากความ ปรากฏการณ์ “อ่อง ธู โมเดล” สำหรับโควตาอาเซียนในไทยลีก ที่เกิดยอดขายเสื้อคนเดียว มากกว่ายอดขายเสื้อทั้งหมดที่เหลือของสโมสร โปลิศ เทโร เอฟซี ในปีนี้ และ ปรากฏการณ์ “ชนาธิป แอนด์ โค อิน เจแปน” ที่ต้องมีการส่งสัญญาณยิงสดมายังเมืองไทย ตามคำเรียกร้อง เป็นสองโมเดลหลักที่ทำให้การเพิ่มโควตาอาเซียนดูมีน้ำหนักมากขึ้น ปัจจุบัน คนดูไทยลีกในสนามลดลง ข้อจำกัดของคนดูมีมากขึ้น ค่าใช้จ่ายเอย, ฟ้าฝนไม่เป็นใจเอย, ฟอร์มการเล่นของทีมที่เชียร์เอย, ติดงานเอย, เล่นกลางสัปดาห์เอย, ติดฟุตบอลโลก, ติดฟุตบอลพรีเมียร์ลีก อะไรต่อมิอะไร ที่ทำให้คนดูฟุตบอลไทยลีกในสนามลดลง หันไปชมเกมทางออนไลน์ หรือดูเพียงไฮไลท์มากขึ้น โควต้าอาเซียน… การตลาดบนความเสี่ยง จากปรากฏการณ์ “อ่อง ธู ฟีเวอร์” และ พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ก็ทำให้เกิดโควตาอาเซียน เพื่อขายคอนเทนต์ที่มีในโลกออนไลน์ เริ่มต้นง่ายๆ จากย่านอาเซียนเนี่ยแหละ ที่มีคนอีกหลายร้อยล้านคน หากวันหนึ่งมีสักประเทศมาซื้อลิขสิทธิ์ และขายได้จริง ประโยชน์ก็จะตกกับผู้ได้รับลิขสิทธิ์ และไหลต่อเนื่องมายังสโมสร ที่จะได้เงินส่วนแบ่งค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดเพิ่มจากเดิม เพื่อนำไปหล่อเลี้ยงสโมสรให้ “กินดีอยู่ดี” มากกว่าเดิม นั่นคือ ประโยชน์ของการขายได้ แต่ถ้าขายไม่ได้หล่ะ??? นี่คือคำถามสำคัญเลย เพราะหากไม่มีการขายคอนเทนต์ถ่ายทอดสดฟุตบอลไทยลีก ไม่ว่าจะแพลตฟอร์มใดก็ตาม ไปยังประเทศในอาเซียน ที่ได้สิทธิ์ประโยชน์ 3 โควตาในศึกไทยลีก ในระยะ 1-2 ปี ข้างหน้า แล้วจะมีโควตาไว้ทำอะไร เพราะผลประโยชน์จะไม่ได้ตกอยู่กับภาพรวมซะแล้ว แต่จะตกไปแค่กับทีมใดทีมหนึ่ง ที่สามารถทำการตลาดได้จากนักฟุตบอลอาเซียน เช่น อ่อง ธู กับ โปลิศ เทโร เอฟซี หรือสามารถหานักเตะที่ฟอร์มดีมาลงสนามได้ เช่น ไมเคิ่ล ฟาลเคสการ์ด นายทวารจอมหนึบ ที่จะเป็นฟรีโควตาสำหรับ ทรู แบงค็อก ยูไนเต็ด ไปโดยปริยาย ซึ่งจะทำให้ “แข้งเทพ” ใส่โควตาเอเชียได้ทันทีอีก 1 คน ถ้าจะทำการตลาดที่ประสบความสำเร็จจริงๆ ผลประโยชน์มันต้องตกกับทั้งลีก เหมือนที่ เจ ลีก ญี่ปุ่น เป็น นั่นคือการขายลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดทั้งลีกให้กับประเทศไทย โดยที่มีนักเตะไทยไปเล่นแค่ 3 คน ทั้งที่มีโควตาเป็นฟรีโควตาเลยให้กับทุกทีม ซึ่งถ้าหากขายไม่ได้ หรือยังไม่มีคนซื้อ ประเด็นหลักของข้อเสีย จะทวีน้ำหนักมากขึ้นทันที โดยข้อแรกที่เด่นชัดเลยนั่นคือ การทำให้นักเตะไทย มีโอกาสเล่นลดลง แม้จะเป็นแค่ บางตำแหน่ง กับแค่บางทีมก็ตามที แต่นั่นก็ถือว่าเป็นข้อเสียที่ใหญ่พอจะส่งผลต่อทีมชาติไทย ในอนาคต ไม่ว่าจะชุดใดก็ตาม โอเคว่า ภาพรวมส่วนใหญ่ ทีมต่างๆ ก็คงไม่ได้ใช้นักเตะอาเซียนกันกระจายอยู่แล้ว เนื่องจากนักเตะไทย มีคุณภาพมากกว่าอย่างเห็นได้ชัด แถมสตาร์อาเซียน ยังมีค่าเหนื่อยที่แพงระดับนึง และมีข้อจำกัดของการสร้างเยาวชนในระบบอะคาเดมี่ของทีมต่างๆ บวกกับโควตาในศึก เอเอฟซี แชมเปี้ยนส์ ลีก ที่ยังคง 3+1 เช่นเดิม แต่หากยังไม่มีชาติใดซื้อจริงๆ ผลประโยชน์ที่ตกกับเพียงแค่ไม่กี่ทีม จะแว้งกลับมากัดเซาะการตลาดชิ้นนี้ว่า “ประสบความสำเร็จจริงๆ หรือไม่ ในภาพรวม” เพราะถ้าสุดท้าย ผ่านไปปีแล้วปีเล่า คอนเทนต์นี้ยังไม่สามารถ “ขายได้” จริง ในแพลตฟอร์มไหนก็ตาม กับแถบอาเซียน ก็อาจจะต้องลองหันกลับมาทำการตลาดแบบใหม่กับคนใกล้ตัวที่สุดดูไหม เพราะพวกเขาเนี่ยแหละ ที่เคยเข้าสนามไปชมไทยลีก “ด้วยใจ” ไม่ว่าจะมีเงื่อนไขในชีวิตอย่างไรก็ตาม

“จอน”

ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมของ ขอบสนาม
logoline