logo-heading

ฟุตบอลไทยใน “กีฬาเอเชี่ยนเกมส์” ครั้งที่ 18 ปิดฉากไปอย่างสมบูรณ์แบบแล้ว ผลงานทั้งทีมชายและหญิงปฏิเสธไม่ได้ว่า “สอบตก” ทั้งคู่ !!!

ทีมชายไม่ชนะใครมี 2 แต้มตกรอบแรก ส่วนทีมหญิงได้เข้ารอบสองแบบงงๆมี “0 แต้ม” และแพ้รวดทุกนัด ถึงตรงนี้ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนจาก สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ว่าจะเอาไงต่อ ฟุตบอลหญิงคงไม่มีอะไรน่าห่วง เพราะ “มาดามแป้ง” นวลพรรณ ล่ำซำ และ “โค้ชหนึ่ง” หนึ่งฤทัย สระทองเวียน คงนำทีมไป “ฟุตบอลโลกหญิง 2019” เหมือนเดิม แต่ถ้าจะให้ดีก็ไม่ค่อยปล่อยให้ความล้มเหลวในเอเชี่ยนเกมส์ “จาการ์ตา & ปาเลมบัง 2018” ผ่านไปเฉยๆ เพราะทัวนาเมนต์นี้สาวไทยแพ้ทีมร่วมอาเซียนอย่าง “สาวญวน”

น่าแปลกใจตรงที่ฟุตบอลหญิงไทยตีตั๋วไปชิงแชมป์โลก 2 สมัยติดอย่างน่าชื่นชม แต่ทำไมเราถึงก้าวผ่านคู่แข่งระดับอาเซียนไปไม่ได้เสียที

เวียดนาม กลายเป็นของสแลงของทีมชาติไทย ไม่ว่าจะเป็น ซีเกมส์ หรือ เอเชี่ยนเกมส์ ในช่วง 2 ปีหลังสุดเวียดนามทำผลงานดีกว่าไทยในทั้ง 2 รายการ นี่คือการบ้านข้อใหญ่ที่ สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ ต้องระดับความคิดเพื่อปรับปรุงแก้ไข ไม่งั้นในภายภาคหน้าตั๋วฟุตบอลโลกหญิงอาจหลุดไปอยู่ในมือ เวียดนาม บ้างก็เป็นได้ ขณะที่ฟุตบอลชายยังเป็นอะไรที่ต้องจับตามอง หลายเสียงเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลง แต่อีกหลายเสียงสนับสนุนให้เดินตามนโยบายที่วางเอาไว้ จริงๆแล้วเอเชี่ยนเกมส์จำกัดอายุนักเตะไว้ที่ 23 ปีอยู่แล้ว เตะจบแล้วจบไป ไม่มีไปแข่งไหนต่อ หลังจากนี้นักเตะต้องกระโดดขึ้นชั้นไปเล่น “ชุดใหญ่” ต่อเท่านั้น แต่ครั้งนี้มีประเด็นตรงที่ สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ วางนโยบายมุ่งเป้าไปที่ “กีฬาโอลิมปิก 2020” ที่ประเทศญี่ปุ่น ทำให้การเตรียมทีมเอเชี่ยนเกมส์ต้องมองสำหรับระยะยาวด้วย ทั้งทีมงานผู้ฝึกสอนและนักฟุตบอลอีกกว่าครึ่งทีมที่อายุไม่เกิน 21 ปีในทีมเอเชี่ยนเกมส์จึงจะต้องลุยต่อในการล่าฝัน “โตเกียว 2020” เหตุผลในการเลือกผู้เล่นเอเชี่ยนเกมส์ชุดนี้มีการอธิบายไปหลายรอบแล้วจากคนที่เกี่ยวข้อง อยู่ที่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เท่านั้น แต่บางรายทำเหมือน “ไม่พยายามเข้าใจ” เสียที !!!

เอาเป็นว่าสิ่งสำคัญที่สุดอยู่ที่ สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ ว่าจะยึดมั่นในแนวนโยบายเดิม หรือจะเปลี่ยนแปลงแนวทางและวิธีการใหม่ ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำให้ทุกคนเข้าใจว่ากำลังทำอะไรอยู่ บางคนก็อคติเกินจะอธิบาย แต่ สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ ต้องรู้ตัวว่ากำลังทำอะไร คาดหวังอะไร และควรทำอะไร

ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่สิ่งที่ต้องห้ามเปลี่ยนแปลงคือเป้าหมายที่ “โตเกียว 2020” ที่ต้อง “เอาจริง” และ “ทำจริง” ฟุตบอลไทยไปโอลิมปิกมาแล้ว 2 สมัย ครั้งแรกใน “กีฬาโอลิมปิก 1956” ที่เมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย และครั้งล่าสุด “กีฬาโอลิมปิก 1968” ที่ประเทศเม็กซิโก หลังจากนั้นฟุตบอลไทยไม่เคยสัมผัสกับกีฬาโอลิมปิกอีกเลย ยุควันวานอาจจะมีคำว่า “ใกล้เคียง” บ้าง แต่หลังๆยิ่งพอปรับระบบคัดเลือกใหม่มักจะจอดป้ายแค่รอบแรกทุกที แต่ตามนโยบายแผนงานที่วางไว้ถือว่า กีฬาโอลิมปิก 2020 เป็นอีกครั้งที่ฟุตบอลไทย “น่าลุ้น” เพราะเตรียมการทั้งในและนอกสนามมาล่วงหน้าแล้ว ตอนแรก สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ จะส่งทีม “ยู21” ไปเอเชี่ยนเกมส์เพื่อเตรียมทีมระยะยาว แต่พอโดนกดดันจาก คณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทยฯ จึงต้องใช้ชุดผสมไป นอกจากนั้น สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ ยังเสนอตัวเป็นเจ้าภาพ “ฟุตบอลอายุไม่เกิน 23 ปีชิงแชมป์เอเชีย 2020” ที่จะใช้คัดเลือก “ตัวแทนเอเชีย 3 ทีม” ไป “โตเกียว 2020” สมาพันธ์ฟุตบอลเอเชีย (เอเอฟซี) จะประกาศผลว่าชาติใดได้เป็น “เจ้าภาพ” ในวันที่ 28 ส.ค.นี้ โดยมี เกาหลีใต้ และ มาเลเชีย เป็นคู่แข่งของไทย แต่แหล่งข่าวใน สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ ยืนยันว่า “ไทยแลนด์” ไม่น่าพลาด และหากได้เป็นเจ้าภาพจริงๆจะทำให้ทีมชาติไทยได้สิทธิ์เล่นรอบสุดท้ายแบบอัตโนมัติ อย่างไรก็ดีทีมชาติไทยจะใช้สิทธิ์ลงเตะรอบคัดเลือกด้วยเพื่อเป็นการเตรียมทีม โดยจะจับสลากแบ่งกลุ่ม รอบคัดเลือก วันที่ 7 พ.ย.นี้ แล้วไปเตะในเดือนมีนาคม 2019 ส่วนรอบสุดท้ายเตะมกราคม 2020 เพื่อหาทีมไปกีฬาโอลิมปิกที่โตเกียวระหว่างวันที่ 24 ก.ค. – 9 ส.ค. 2020

นี่คือเส้นทางล่าฝัน “โตเกียว 2020” ที่ฟุตบอลไทยต้องเตรียมทีมให้ดีที่สุดหากอยากเห็น “ฝันที่เป็นจริง” ดังนั้นจะทำอะไรต้องรีบทำ จะลุยต่อ หรือจะยังไง รีบๆสรุปแล้วดำเนินการ อย่ามัววุ่นวายกับกระแสข่าวต่างๆ เห็นนายกบอลไทยให้สัมภาษณ์แต่ละที บอกเลยว่า...เพลีย !!!

 

“บับเบิ้ล”

ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมของ ขอบสนาม
logoline