logo-heading

สุดสัปดาห์ที่ผ่านมาแวดวงลูกหนังไทย คงไม่มีอะไรที่น่าตื่นเต้นไปกว่า เกมอำลาสนามในสีเสื้อธงไตรรงค์ ของ สินทวีชัย หทัยรัตนกุล เมื่อเขาได้สวมปลอกแขนป้องกันหน้าปากประตูทีมชาติ

แม้จะดูน้อยนิด 15 นาทีเศษ แต่ทุกจังหวะที่มือกาวจากสกลนครได้โชว์ฝีมือ นั้นบ่งบอกถึงความเก๋าและประสบการณ์ที่สั่งสมมายาวนานกว่า 18 ปีเต็มในนามทีมชาติ ทว่าในพงศาวดารลูกหนังไทย รวม103 ปี กลับมีแข้งเพียงแค่ 5 รายเท่านั้น ที่ได้รับเกียรติลงเล่นเกมนัดอำลาทีมชาติเท่านั้น ประกอบด้วย อํานาจ เฉลิมชวลิต, สุรชัย จตุรภัทรพงศ์, เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง, ธชตวัน (ตะวัน) ศรีปาน และ สินทวีชัย เท่านั้น ไม่น่าเชื่อว่ามีนักเตะระดับตำนานในอดีตจวบจนถึงปัจจุบัน อยู่โยงรับชาติไทยมายาวนาน สร้างผลงานอันลือลั่น ยิงประตูมากมายถล่มทลาย เป็นถึงระดับออลสตาร์เอเชีย รวมไปถึงการไปโลดแล่นในลีกยังต่างแดน กลับไม่มีโอกาสได้มีแมตซ์อำลาสนามเป็นของตัวเอง ขอบสนามขอนำไปพบเหล่านักเตะชั้นเซียนไทย ผู้ไม่เคยมีแม้แต่แมตซ์อำลาของตัวเอง ทั้งที่สร้างสมเกียรติประวัติมายาวนานในสมรภูมิลูกหนังไทย 1.ดุสิต เฉลิมแสน แข้งตำนานทีมชาติไทยที่คุณไม่เชื่อว่าไม่มีนัดอำลา ยอดโค้ชที่ถนัดช่ำชองในการทำทีมเลื่อนชั้น จากไทยลีก 2 สู่ไทยลีก อาจจะเรียกว่าได้ว่าเป็นมือปืนรับจ้างตัวจริงเสียงจริง ในสมัยเป็นผู้เล่นสวมสตั๊ดในสนามเป็นแข้งพรสวรรค์หาตัวจับยากมากในวงการ "โอ่ง สกล" ครบเครื่องเด่นทั้งเกมรุกและเกมรับ มีลูกตั้งเตะที่อันตราย แม้จะเป็นแข้งที่ไม่มีระเบียบวินัย แต่ถึงเวลาฝีกซ้อม สภาพร่างกายกลับฟิตเปี๊ยะกว่าพวกไม่ยุ่งกับอบายมุย สิงห์อีซ้ายจากสกลนคร เดิมทีเล่นในตำแหน่งกองกลางตัวรุก แต่ถูกปรับเปลี่ยนบทบาทมาเล่นแบ็คซ้ายแทน  ในช่วงเอเชียน คัพ ปี 1996 ที่ยูเออีกลับกลายเป็นว่าดันแจ้งเกิดและเล่นได้ดีกว่าตำแหน่งที่ตัวเองถนัดเสียอีก จนทำให้แฟนบอลส่วนใหญ่จดจำเขาได้ ดุสิต คือนักเตะแดนสยามรายที่ 6 ที่ได้รับเลือกให้เป็นผู้เล่นออลสตาร์เอเชีย ปี 1997 ปีพ.ศ.2540 และได้เข้าร่วมแข่งเกมนัดรวมดาราโลกและเอเชีย ที่ฮ่องกงในปีเดียวกัน "เดอะ โอ่ง" อยู่ในทีมชาติไทย ชุดจิ๊กโก๋อาเซียน ได้แชมป์อาเซียน คัพ 3 สมัย ปี1996,2000,2002, เหรียญทองซีเกมส์ 2 สมัย ปี1997,1999 อยู่ในชุด 10 ทีมสุดท้ายโซนเอเชีย คัดบอลโลกปี 2002 แม้ว่าจะช่วยชาติมายาวนานกว่า 125 เกมตลอดระยะเวลากว่า 13 ปี แต่เขาไม่ได้มีโอกาสอำลายูนิฟอร์มธงไตรรงค์ที่เขารักเลย และดุสิต เองก็ปิดฉากไม่สวยหรู เมื่อมีปัญหากับ คาร์ลอส โรแบร์โต้ คาร์วัญโญ่ หลังจบเกมแพ้เกาหลีเหนือ 1-4 เมื่อเดือนกันยายนปี 2004 2.ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน แข้งตำนานทีมชาติไทยที่คุณไม่เชื่อว่าไม่มีนัดอำลา "เพชฌฆาตหน้าหยก" ยอดศูนย์หน้าหมายเลข 1 ตลอดกาลของทีมชาติไทย ว่ากันว่าเขาเยี่ยมที่สุดและคงหาคนที่จะไปทดแทน "เดอะ ตุ๊ก" ได้ยาก ชายหนุ่มจากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ผู้แจ้งเกิดในฐานะดาวรุ่งโนเนม ในฟุตบอลถ้วยพระราชทานคิงส์ คัพ ปี 1981 (พ.ศ.2524) ยิง 2 ประตูพาทีมชนะเกาหลีเหนือ 2-1 ในช่วงการต่อเวลา จากนั้นมา ชายที่ชื่อเดิม เผด็จ ขันเครือ ก็สร้างความสั่นสะเทือนแด่กองหลังฝั่งตรงข้ามทั้งไทยและเทศ เขาทำได้ครบเครื่อง เลี้ยงบอล, ส่ง, โหม่ง, ยิงประตูได้หมดทุกรุปแบบ 103 ประตู ในสีเสื้อทีมชาติพิสูจน์ถึงคุณภาพได้เป็นอย่างดี และถูกเลือกให้เป็นออลสตาร์เอเชีย จากสมาพันธ์ฟุตบอลเอเชีย เมื่อปี 1982 (พ.ศ.2525) จนกระทั่งได้โอกาสไปค้าแข้งยังต่างแดนกับทีม ลัคกี้ โกลด์ สตาร์ (เอฟซี โซล) ยาวนาน 3 ฤดูกาล ก้าวทุกรางวัลในแผ่นดินโสมขาว (ดาวซัลโวลีก, ทำแอสซิสต์มากสุดในลีก, เป็น11 ผู้เล่นยอดเยี่ยมประจำฤดูกาล และคว้าแชมป์ลีก ซึ่งทั้งหมดเกิดขึ้นในปี 1985) "เดอะตุ๊ก" ประสบความสำเร็จกับทีมชาติได้แชมป์คิงส์ คัพ 5 สมัย (1981,1982,1983,1989,1992) และเหรียญทองซีเกมส์ 5 สมัย (1981,1983,1985,1993,1997) แม้ขึ้นชื่อว่าเป็นสตาร์ลูกหนังเบอร์ต้นๆของดินแดนด้านขวาน แต่เขาก็ไม่ได้รับเกียรติได้อำลาสีเสื้อทีมชาติ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะตัวเขาเอง ประกาศเลิกเล่นไปถึง 3 ครั้ง แต่ถูกผู้ใหญ่ในสมาคมฯขอร้องให้กลับมาช่วยชาติ ในการแข่งขันซีเกมส์ที่สิงคโปร์ ในปี 1993 และ ซีเกมส์ที่อินโดนีเซีย 1997 โดยยุติบทบาทอย่างจริงจังในขณะที่มีอายุ 38 ปี 3.วิทยา เลาหกุล แข้งตำนานทีมชาติไทยที่คุณไม่เชื่อว่าไม่มีนัดอำลา ยอดแข้งชาวลำพูน ผู้ถีบตัวเองจากนักบอลโนเนมบ้านนอก จนเข้ามาสู่เมืองกรุงฯกับทีม"ตราชฎา" ราชประชา ที่เปรียบเสมือนบ้านหลังแรกของเด็กหนุ่มที่มีชื่อเล่นว่า "ยา" เขาคือคงที่จริงจังบ้าซ้อมฟุตบอล และมักจะตื่นเช้าๆก่อนใครเพื่อน  ชีวิตของกองกลางรายนี้จึงหายใจเข้าออกเป็นฟุตบอล ประวิทย์ ไชยสาม ผู้ที่เป็นโค้ชราชประชา และสต๊าฟฟ์ทีมชาติในเวลานั้น ผลักดันให้ วิทยา ได้ลงเล่นสวมเสื้อทีมชาติไทยที่เขาใฝ่ฝัน ในช่วงปี 1975-1986 จนฝีเท้าของ"เฮงซัง" ไปเข้าตาสโมสรยันมาร์ ดีเซล (เซเรโซ โอซาก้า) แต่ด้วยความที่ไม่รู้สึกสนุกกับฟุตบอลแดนปลาดิบที่เวลานั้นคือกึ่งอาชีพกึ่งสมัครเล่น "เฮงซัง" แพ็คกระเป๋ากลับมายังแดนสยามลงเตะให้ทีมชาติ จนถูกเอเยนต์แนะนำให้ไปเล่นฟุตบอลที่เยอรมนี กับแฮร์ธ่า เบอร์ลิน แม้จะเล่นบ้างไม่ได้เล่นบ้าง แต่สั่งสมประสบการณ์ที่ล้ำค่ามากจากดินแดนเมืองเบียร์ และในช่วงเวลาดังกล่าวแอบไปลงเรียนโค้ชที่เมืองโคโลญจน์ เจ้าของฉายาฮาล์ฟอังกฤษลงเล่นในทีมชาติชุดใหญ่ไปกว่า 82 นัด คว้าแชมป์ซีเกมส์ 2 สมัย ในปี 1977 และ 1985 แต่ไม่เคยได้สัมผัสโทรฟี่คิงสื คัพ แม้แต่ครั้งเดียว แม้จะเป็นตัวหลักให้ทีมชาติ ด้วยความที่ชีวิตส่วนใหญ่ค้าแข้งยังต่างแดน ทั้งญี่ปุ่นและเยอรมัน ส่งผลให้ "เฮงซัง" กลายเป็นหนึ่งในตำนานลูกหนังแดนสยามที่ไร้แมตซ์อำลาอีกราย 4.นที ทองสุขแก้ว แข้งตำนานทีมชาติไทยที่คุณไม่เชื่อว่าไม่มีนัดอำลา ถ้าปิยะพงษ์ ผิวอ่อน คือยอดนักเตะในตำแหน่งกองหน้า "ดำ ดินปืน" ก็เป็นโคตรกองหลังระดับตำนานของทีมชาติไทย เด็กหนุ่มจากอุตรดิตถ์ ผู้ที่ฝึกหัดฟุตบอลด้วยตนเอง ทำให้พื้นฐานเบสิคฟุตบอลแน่นเก่งกาจกว่าคนรุ่นราวคราวเดียวกัน จนได้รับโอกาสสำคัญจากสโมสรถาวรฟาร์ม ในนครสวรรค์ สโมสรแห่งนี้ให้โอกาสดาวรุ่งโนเนมลงเล่นบอลถ้วยพระราชทาน ค. และได้ก้าวสู่รั้วทีมชาติ ในปี 1986 อาจหาญ ทรงงามทรัพย์ สต๊าฟฟ์ทีมชาติในช่วงนั้น จับ นที มาฝึกปรือลูกหนังร่วมกับ อํานาจ เฉลิมชวลิต และ ณรงค์ อาจารยุตต์ ในช่วงบั้นปลายชีวิตนักเตะเพื่อให้ซึมซับวิธีการเล่นของ2 ยอดแข้ง และก้าวมาเป็นเสาหลักให่แข้งลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เขาครบเครื่องในเรื่องการยืนตำแหน่ง อ่านจังหวะฉกบอลจากคู่ต่อสู้ เลี้ยงบอลกินตัวเยี่ยม แถมเซ็ตเกมขึ้นไปทำประตูเองได้อีกด้วย ซึ่งหาได้ยากสำหรับผู้เล่นไทยที่มาจากการเป็นกองหลัง ด้วยฝีเท้าอันยอดเยี่ยมทำให้ประธานสโมสรพานาโซนิค กัมบะ (กัมบะ โอซาก้า) มาดูฟอร์มและดึง "ดำ อุตรดิตถ์" ไปร่วมทีม เขาใช้เท้าทั้ง 2 ข้างทำเงินได้กว่า 1 ล้านบาท  ติด 11 ผู้เล่นยอดเยี่ยม 7 จาก 11 ครั้ง จนพวกแข้งซามูไรต้องยกนิ้วคารวะ แข้งใจนักเลงรายนี้ เปรียบเสมือนเสาหลักทีมชาติ พิทักษ์หน้าปากประตูทีมชาติไทยไม่ต่ำกว่า 14 ปี (1986-1999) ประสบความสำเร็จได้แชมป์ซีเกมส์ 3 ครั้ง (1993,1995,1997,1999) เอเชี่ยนเกมส์ ได้อันดับ 4 ถึง 2 ครั้ง คือในครั้งที่ 11 ที่จีน (1990) และครั้งที่ 13 ที่เมืองไทย (1998) นที ปิดฉากทีมชาติไทย หลังจบทัวร์นาเมนต์ซีเกมส์ ที่บรูไน ปี 1999 ลงเล่นไปทั้งสิ้น 87 เกม ทำได้ 1 ประตู และหันหลังให้วงการลูกหนังทันที ปัจจุบันทำงานอยู่ที่หน่วยตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดอุทัยธานี และมียศคือพันตำรวจโท 5.วรวรรณ ชิตะวณิช แข้งตำนานทีมชาติไทยที่คุณไม่เชื่อว่าไม่มีนัดอำลา เจ้าของฉายามิดฟิลด์อัจฉริยะ คือแนวรุกฝีเท้าฉกาจคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ลูกหนังไทย เมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้ว จากเด็กลูกแม่ครัวในทีมราชประชา จนกระทั่งได้มาพบวิทยา เลาหกุล ชีวิตเขาจึงเปลี่ยนไปทันที "ป้ำ" พบพรสวรรค์จากเท้าทั้ง 2 ข้างเป็นใบเบิกทางสู่ทำเนียบทีมชาติไทยชุดใหญ่ ตั้งแต่อายุ 17 ปี ในขณะที่เรียนอยู่ชั้นม.5 ที่โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย และอยู่ในทีมชุดคว้าแชมป์คิงส์ คัพ ในปี1979 และปักหลักเป็นจอมทัพหมายเลข 10 ปั้นเกมรุกอยู่ด้านหลังปิยะพงษ์ ผิวอ่อน ผลงานอันยอดเยี่ยมของ วรวรรณ ในสีเสื้อทีมชาติ ถูกแทยีน มัตซึยาม่า (เอฮิเมะ) ดึงตัวไปร่วมทีมเมื่อปี 1985 เขาเล่นอยู่ที่สโมสรแห่งนี้เพียงแค่ 1 ปี ยิงไป 20 ประตู และเป็นคนสำคัญของสโมสรแต่ในเวลานั้นเวทีฟุตบอลซามูไรไม่สนุกในสายตาเขานั้นเอง วรวรรณ กลับมาอยู่กับราชประชาได้ไม่นาน และก็ได้ไปผจญภัยใหม่ครั้งใหม่ที่เดนมาร์ก กับสโมสรเฟเดอริคสเฮาน์ และวีบอร์ก ได้ลงเล่นเป็นตัวหลักแทบทุกสัปดาห์และใช้ชีวิตที่แดนโคนมอย่างมีความสุข กระทั่งขอยกเลิกสัญญาและขอกลับมาเมืองไทย ช่วงปี 1990 "เดอะป้ำ" รับใช้ทีมชาติไทยไม่ต่ำกว่า 79 นัด ประสบความสำเร็จได้แชมป์คิงส์ คัพถึง 6 ครั้ง (1979,1981,1982,1983,1989,1992) ซิวเหรียญทองซีเกมส์ 3 หน ปี (1981,1983,1985)  โดยอำลาทีมไปแบบเงียบๆ หลังการก้าวเข้ามาของดาวรุ่งจากชุดดรีมทีม 6.เฉลิมวุฒิ สง่าพล แข้งตำนานทีมชาติไทยที่คุณไม่เชื่อว่าไม่มีนัดอำลา เจ้าของสมญานาม "เกล็น ฮอดเดิ้ล เมืองไทย" ฉายานี้ที่ได้มาจาก "ย.โย่ง" เอกชัย นพจินดา สุดยอดคัมภีร์ลูกหนังหมายเลข 1 ของสยาม ผู้ซึ่งมอบให้แด่กองกลางผมหยิก ที่เก่งกาจเชี่ยวชาญในเรื่องการวางบอลที่แม่นยำราวกับจับวาง เด็กหนุ่มจากย่านบางนา ผู้ผ่านการฝึกฟุตบอลจากโรงเรียนปทุมคงคา ฝีเท้าที่ยอดเยี่ยมทำให้ถูกดึงตัวสโมสรธนาคารกรุงเทพทันที พร้อมกับเพื่อนซี้พิชัย คงศรี สโมสรแบงก์บัวหลวง นำพา "หนุ่ย" ขยับตัวเองไปสู่ทีมชาติในปี 1981 ถ้าหากไม่มีอาการบาดเจ็บ หรือป่วย ประวิทย์ ไชยสาม โค้ชทีมชาติต้องส่งเขาลงบัญชาเกมแดนกลางแน่นอน บอลที่ขับเคลื่อนจากปลายเท้าเฉลิมวุฒิ มีประสิทธิภาพและหวังผลได้ทุกครั้ง มิดฟิลด์เท้าชั่งทอง ประสบความสำเร็จได้แชมป์กับทีมลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เช่น คิงส์คัพ 4 สมัย (1981, 1982, 1983,1992) เหรียญทองซีเกมส์ 3 สมัย (1981,1983,1985) นอกจากนี้ด้วยฟอร์มการเล่นที่สม่ำเสมอยามที่รับใช้ชาติ ส่งผลให้เขาได้รับเกียรติให้เป็นนักเตะออลสตาร์เอเชีย ในปี1986 ไปลงทำการแข่งขันนัดพิเศษที่ประเทศกาตาร์อีกด้วย แม้จะมีดีกรีมากแค่ไหน เฉลิมวุฒิ แต่สมาคมลูกหนังไทยในช่วงนั้นกลับเมินเฉย สุดท้ายก็ต้องบอกลาทีมชาติไทยหลังจบคิงส์ คัพ ปี1992 ที่ปิดฉากไปด้วยปัญหาอาการบาดเจ็บหัวเข่า ด้วยสถิติรับใช้ชาติ 76 แมตซ์ พังไป 18 ประตู

เอ็มเร่

ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมของ ขอบสนาม
logoline