logo-heading

ฟุตบอลถ้วยพระราชทานคิงส์ คัพ ทัวร์นาเมนต์ที่เต็มไปด้วยมนต์ขลังอันศักดิ์สิทธิ์ มีตำนานมากมายถูกเล่าขานไม่รู้จักจบสิ้น จุดริเริ่มมาจาก พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ ยมนาค นายกสมาคมฟุตบอลลูกหนังไทยในยุคนั้น ได้ทำหนังสือถึงราชเลขาธิการ ขอให้นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

เพื่อขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ดำเนินการจัดการแข่งขันฟุตบอลคิงส์คัพ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาต พร้อมทั้งพระราชทานถ้วยถมทองคำสำหรับทีมชนะเลิศ และระบุไว้ชัดเจนว่าถ้วยใบนี้จะไม่มีทีมไหนได้เป็นกรรมสิทธิ์

ตลอดระยะเวลา 50 ปีที่ผ่านมา มีผู้เล่นจากทีมชั้นนำมากมายจากทั่วทุกสารทิศ มาโชว์ฝีเท้าในคิงส์ คัพ นอกจากนี้เวทีแห่งนี้ได้ช่วยแจ้งเกิดนักเตะลุ่มน้ำเจ้าพระยา มาประดับวงการนับไม่ถ้วนด้วยเช่นกัน ขอบสนามขอคัดสรร 9 ตำนาน ผู้สร้างชื่อในรายการอันสง่างามแห่งนี้ จะมีใครบ้าง ย้อนความหลังไปดูพร้อมๆ กัน นิวัฒน์ ศรีสวัสดิ์ 9 ตำนานแข้งไทย ขึ้นทะเบียนแจ้งเกิดในศึกคิงส์ คัพ ตำนานผู้มีลมหายใจชาวเมืองพิษณุโลก คือ 1 ใน 18 ผู้เล่นประวัติศาสตร์ ที่นำธงไตรรงค์ไปโบกสะบัด ในการแข่งขันฟุตบอลชาย โอลิมปิกเกมส์ ปี 2511 (1968) ที่เม็กซิโก นิวัฒน์ ศรีสวัสดิ์ คือปีกขวายอดเยี่ยมยุทธจักรลูกหนังไทย แม้รูปร่างที่เล็กเพียงแค่ 155 เซนติเมตรเท่านั้น แต่กลับไม่ได้เป็นอุปสรรคในการเดินหน้าเกียรติยศสู่ทำเนียบทีมชาติไทย “น้าต๋อง” มีพรแสวงมากกว่าพรสวรรค์ เขาฝึกเลี้ยงบอลมากกว่าผู้เล่นร่วมทีมทั่วไป ซ้อมหนักจนครองครอบบอลได้เชื่องเท้า ความดีความชอบตรงนี้คงต้องยกเครดิตให้แก่ปรมาศจารย์ฟุตบอลแดนสยาม อ.สำเริง ไชยยงค์ ผู้มอบความรู้มากมายให้แก่เขา นิวัฒน์ เริ่มต้นชีวิตฟุตบอลกับสโมสรราชวิถีตามด้วยการขยับฝีเท้าของตนเอง จนกลายเป็นยอดแข้งระดับตำนานให้ทีมการท่าเรือแห่งประเทศไทย ฟุตบอลไทยในยุค 50 ปีก่อน เป็นที่ทราบกันดีว่า ถ้าหากเป็นตัวจริงในทีมสิงห์เจ้าท่าได้เมื่อไหร่ ตำแหน่งในทีมชาติคงไม่หนีไปไหน และฉายา ”สิงห์สนามศุภ” ไม่ใช่เรื่องที่เกินความจริง เพราะยามได้ที่ นิวัฒน์ ประจำการอยู่ทางริมเส้นฝั่งขวา สร้างปัญหาให้คู่แข่งเสมอ และเรียกเสียงฮือฮาจากแฟนบอลทั่วสารทิศมาแล้ว นิวัฒน์ มีความทรงจำที่แสนงดงามกับคิงส์ คัพ เพราะนี่คือผู้เล่นที่สัมผัสทัวร์นาเมนต์ มากสุดเป็นประวัติศาสตร์ถึง 12 ครั้ง นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2511-2522 (1968-1979) แต่คงไม่มีคิงส์ คัพ ครั้งไหนที่ “สิงห์สนามศุภ” ดีใจและร่ำไห้ไปในเวลาเดียวกันเท่ากับการนำทัพด้ามขวาน ผ่านเข้าชิงกับเกาหลีใต้ ในครั้งที่ 12 รูปเกมที่สูสีจนจะลงเอยด้วยผลเสมอ กระทั่งท้ายเกม นิวัฒน์ ผ่านบอลให้ ดาวยศ ดารา น้องชายต่างบิดาตนเอง สังหารประตูชัยมอบของขวัญอันล้ำค่าด้วยโทรฟี่แชมป์คิงส์ คัพ สมัยแรกและแก่เขา พร้อมทั้งยุติการรับใช้ชาติหลังจบเกมทันที ปัจจุบันน้าต๋อง อายุ 70 ปี มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ใช้ชีวิตช่วงบั้นปลาย หลังเกษียณอายุจากงานที่การท่าเรือแห่งประเทศไทย มาถ่ายทอดศาสตร์ลูกหนังให้เยาวชนย่านคลองเตย หน้าสนามแพท สเตเดี้ยม ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ *รู้หรือไม่ นิวัฒน์ ศรีสวัสดิ์ เป็นนักเตะไทยคนแรก ที่ได้ตำแหน่งดาวซัลโว ฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานคิงส์คัพ ในปี พ.ศ.2517 (1974) ยิงไปทั้งสิ้น 6 ประตู ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน 9 ตำนานแข้งไทย ขึ้นทะเบียนแจ้งเกิดในศึกคิงส์ คัพ พงศาวดารลูกหนังแดนสยามเกือบ 100 ปี ไม่มีใครที่ได้รับการยกย่องว่า “โคตรบอล” ตลอดกาลเท่ากับชายที่ชื่อ ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน สไตรเกอร์หมายเลข 1 ของไทย “เดอะตุ๊ก” ปราดเปรื่องเจนจัดรอบด้าน เลี้ยง, ส่ง, โหม่ง, ยิง ทำได้หมด ครบเครื่องไม่มีใครเกินต้านทาน ตำนานผู้นี้สร้างชื่อตั้งแต่อายุ 18 ปีให้แก่สโมรสรทหารอากาศ ระเบิดตาข่ายคู่แข่งไป 12 ประตู คว้าดาวซัลโว ถ้วยพระราชทาน ก. ปี 2523 จากนั้นประตูทีมชาติผายมือต้อนรับ ปิยะพงษ์ ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา กราฟชีวิตที่พุ่งพรวดแรงจนฉุดไม่อยู่ 1 ปีต่อมา “เดอะตุ๊ก” ประสบความสำเร็จในการสวมเสื้อทีมชาติ ในคิงส์ คัพ หนแรกในชีวิต ซึ่งเป็นการแข่งขันครั้งที่ 14 ปี พ.ศ.2524 หนุ่มน้อยจากประจวบคีรีขันธ์ซัลโวคู่ต่อกรในทัวร์นาเมนต์ไป 5 ประตู ช่วงเวลาที่น่าประทับใจสำหรับหัวหอกรายนี้ มันเกิดขึ้นในรอบชิงชนะเลิศ พบกับเกาหลีเหนือ ซึ่งว่ากันว่านี้คือทีมยากจะต่อกรด้วยที่สุดในครั้งนั้น โสมแดง ขึ้นนำ ไทย ไปก่อน 1-0 ตั้งแต่ครึ่งแรก ซึ่งมองมุมไหน ทีมไทยก็ไม่มีโอกาสเอาชนะได้เลย ทว่า ปิยะพงษ์ ทำให้ลูกหลานชาวโชซอนฝั่งคอมมิวนิสต์ ลิ้มรสชาติความพ่ายแพ้ เบิ้ล 2 ประตู นำทีมชาติไทยพลิกสถานการณ์กลับมาครองแชมป์ ในช่วงต่อเวลา 2-1 หลังจบเกมแฟนบอลในสนามศุภชลาศัย ลงมาสวมกอดนักเตะทีมชาติไทย แบบบ้าคลั่ง ส่วน”เดอะตุ๊ก” แปรเปลี่ยนสถานะจากดาวรุ่งวัยคะนองสู่ตำนานลูกหนังไทยคนใหม่ พร้อมสมญานามจากสื่อมวลชนในยุคนั้นว่า “เพชฌฆาตหน้าหยก” จนได้รับการจารึกในฐานะออลสตาร์เอเชีย จากสมาพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย ในปี 2525 (1982) ชั้นเชิงลูกหนังแพรวพราวกว่าแข้งไทยทั่วไป จน ลัคกี้ โกลด์ สตาร์ (เอฟซี โซล) ไม่รอช้าดึงตัวไปทะลวงประตูในเคลีก นานถึง 3 ปี "เดอะตุ๊ก"ยิ่งใหญ่ถึงขั้นกวาดทุกรางวัลบนแผ่นดินโสมขาว เรื่องราวบนแผ่นดินอารีดังกลายเป็นสิ่งที่นักบอลในรุ่นหลังอยากเจริญรอยตาม ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน รับใช้ชาติอย่างซื่อสัตย์ยาวนาน 16 ปี สถิติลงเล่นรวม 129 นัด ทำได้ถึง 103 ประตู โดยสามารถทำแฮตทริกได้ถึง 6 ครั้ง ซึ่งถือได้ว่าเป็นสถิติสูงที่สุดของทีมชาติไทย และยากจะมีใครทำลายลงได้ ปัจจุบันเดอะตุ๊ก อายุ 58 ปี มีหน้าตาในวงการคือแบรนด์แอมบาสเดอร์ฟุตบอลโตโยต้า ไทยลีก *รู้หรือไม่ ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน คือนักเตะผู้ทำประตูมากที่สุดตลอดกาล สำหรับการแข่งขันคิงส์ คัพ โดยซัลโวคู่ต่อสู้ไปทั้งสิ้น 34 ประตู วรวรรณ ชิตะวณิช 9 ตำนานแข้งไทย ขึ้นทะเบียนแจ้งเกิดในศึกคิงส์ คัพ ดาวเตะผู้ได้รับฉายา “มิดฟิลด์อัจฉริยะ” คือผู้สร้างสถิติสุดเจ๋งถึงขนาดพลิกโผติดทีมชาติไทย เป็นครั้งแรกในชีวิต ขณะที่มีอายุ 17 ปี ใช่คุณอ่านไม่ผิดหลอก ตอนนั้นเขากำลังเป็นนักเรียนม.5 โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย คิงส์ คัพ ครั้งที่ 12 ปี 2522 (1979) ดร.วิชิต แย้มบุญเรือง เฮดโค้ชขุนพลไตรรงค์ในเวลานั้นเกิดไปปิ๊งฟอร์มของ “ป้ำ” ในระหว่างลงเล่นให้ราชประชา ฟุตบอลเยาวชนชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทย เข้าอย่างจัง ส่งผลให้ชีวิตของลูกแม่ครัวในทีมตราชฎาเปลี่ยนไปทันที สิ่งที่ทำให้ วรวรรณ เหนือกว่านักบอลทั่วไปในโพซิชั่นเดียวกัน คือ การครอบครองบอลที่เหนียวแน่น มีลูกจ่ายที่เด็ดขาดทั้งระยะสั้น และระยะไกล รวมไปถึงการยิงประตูแถวสองสุดเฉียบขาด “ป้ำ” อยู่ในทีมชุดที่อุดมไปด้วยขุนพลระดับพระกาฬลูกหนังชุดนั้น ทั้ง นิวัฒน์ ศรีสวัสดิ์, อํานาจ เฉลิมชวลิต, เจษฎาภรณ์ ณ พัทลุง, ดาวยศ ดารา, สมชาย ชวยบุญชุม, ประพันธ์ เปรมศรี, จำเริญ คำนิล, เชิดศักดิ์ ชัยบุตร, ชัยวัฒน์ พรหมมัญ ฯลฯ โอ้โห! นี่คือกลุ่มนักเตะระดับตำนานที่เด็กอายุไม่บรรลุนิติภาวะ ร่วมเป็นหนึ่งในขุมพลชุดแชมป์กับเขาด้วย หลังดาวยศ ดารา ทำประตูโทนตัดสินเกมกับ เกาหลีใต้ หลังจบคิงส์ คัพ ในครานั้น “ป้ำ” สถาปนาตนเอง กลายเป็นจอมทัพหมายเลข 10 ในอีก 1 ทศวรรษต่อมา เขาคือจอมแอสซิสต์ดีไซต์เกมรุกอยู่ข้างหลัง ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน ด้วยชื่อเสียงอันเลื่องลือในคิงส์ คัพ กระฉ่อนไปไกลถึงเดนมาร์ก เฟเดอริคสเฮาน์ คว้าตัวไปร่วมทีม พร้อมทั้งโยกย้ายเล่นในเดนิชลีกกับวีบอร์กในเวลาต่อมา ปัจจุบัน “ป้ำ” ใช้ชีวิตในบทบาทชาวไร่ พร้อมทั้งปลูกสวนมะนาว ที่จังหวัดสิงห์บุรี *รู้หรือไม่ วรวรรณ ชิตะวณิช คือ 1 ใน 4 นักเตะที่มีชื่อคว้าแชมป์คิงส์ คัพ มากที่สุดถึง  6 สมัย พ.ศ. 2522 (1979) , 2524 (1981), 2525 (1982), 2526 (1983), 2532 (1989), 2535 (1992) *วรวรรณ มีเพื่อนสนิทในวงการบันเทิงชื่อพงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง เนื่องจากเล่นฟุตบอลร่วมกัน เมื่อครั้งศึกษาที่คณะพลศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สมปอง นันทประภาศิลป์ 9 ตำนานแข้งไทย ขึ้นทะเบียนแจ้งเกิดในศึกคิงส์ คัพ อ.ประวิทย์ ไชยสาม กุนซือทีมชาติหมายมั่นปั้นมือจะนำทีมไทยครองแชมป์คิงส์ คัพ ปี 2525 (1982) เพื่อฉลองครบรอบ 200 ปีรัตนโกสินทร์สมโภชน์ ให้ได้ ก่อนเริ่มทัวร์นาเมนต์ “โค้ชเทวดา” สร้างความประหลาดใจดร็อป ศิริศักดิ์ แย้มแสง มือกาวสังกัดธนาคารกรุงเทพ เนื่องจากแอบหนีแคมป์ทีมชาติ 1 วัน หลังรู้ว่าสูญเสียตำแหน่งตัวจริงในทีมชาติ ให้แก่ “ใหญ่” สมปอง นันทประภาศิลป์ นายด่านดาวรุ่งจากราชประชา ไฮไลท์สำคัญแจ้งเกิดตำนานนายทวารจอมเซฟ เกิดขึ้นในนัดชิง เหตุการณ์ในครั้งนั้น ไทยผ่านเข้าชิงชนะเลิศเป็นดราม่ากับเกาหลีใต้ เป็นเกมที่สู้กันยืดยื้อถึง 120 นาที เกินกว่าต่อเวลาด้วยซ้ำ ที่หวดกันเพื่อหาผู้ชนะ จนข่าวหนังสือพิมพ์ในยุคนั้นถึงกับพาดหัวข่าวว่าเป็น “คิงส์คัพมาราธอน” ชื่อชั้นนักเตะแดนด้ามขวาน เป็นรองสุดกู่ โสมขาวดาหน้าทำเกมบุกใส่เป็นชุด แต่ผู้ที่หยุดยั้งลูกยิงในวันนั้น คือ สมปอง ที่เซฟเป็นพัลวัน เมื่อไม่มีทีมไหนส่งบอลเข้าสู่ก้นตาข่ายสุดท้ายนำมาสู่การหาผู้ชนะด้วยการดวลจุดโทษตัดสิน ทั้งสองฝ่ายยิงจุดโทษได้ฝั่งละ 3 คนเท่ากัน ต้องยิงเป้าแบบซัดเด้นเดธ สุดท้าย เจ้าของฉายา”เสือใหญ่” ปัดลูกยิง บิน เบียง จู ออกไป นำทีมชาติไทยประกาศศักดิ์ดาคว้าแชมป์คิงส์ คัพ เหนือเกาหลีใต้ชุดใหญ่ ชนิดสะใจแฟนบอลรอบสนามศุภชลาศัย สร้างความสุขในการฉลองครบรอบ 2 ศตวรรษเมืองหลวงของสยามประเทศ หลังจากวันนั้น สมปอง นันทประภาศิลป์ กลายเป็นตัวหลักของทีมชาติไทยตลอดมา พร้อมกับรับใช้ราชประชา อู่ข่าวอู่น้ำเดิม แต่จากความไม่แน่นอนในวงการฟุตบอลยุคนั้นที่เป็นเสมือนลีกสมัครเล่น "เสือใหญ่" จึงเลือกย้ายไปค้าแข้งกับ"นกวายุภักษ์" ธนาคารกรุงไทย พร้อมทั้งได้จ็อบที่มั่นคงในชีวิตคือนายแบงค์ และประกาศแขวนถุงมือในเวลาต่อมา ปัจจุบัน สมปอง หันหลังให้กับฟุตบอลไทย โดยใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวแบบเงียบๆ ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประเสริฐ ช้างมูล 9 ตำนานแข้งไทย ขึ้นทะเบียนแจ้งเกิดในศึกคิงส์ คัพ ชายหนุ่มจากสุพรรณบุรี ผู้ดับความหวังแฟนบอลชาวจีน ที่หวังเห็นทีมลูกหนังแดนมังกรเข้ารอบ 4 ทีมสุดท้ายเอเชี่ยน เกมส์ 1990 ในวันชาติ 1 ตุลาคม ใช่แล้วผู้เขียนกำลังหมายถึง ประเสริฐ ช้างมูล แต่น้อยคนไม่ยักรู้ว่า ดาวเตะรายนี้แจ้งเกิดกับฟุตบอลรายการคิงส์ คัพ ครั้งที่ 20 เมื่อปี พ.ศ.2532 (1989) อ.ประวิทย์ ไชยสาม โค้ชทีมชาติในยุคนั้น เรียกตัวดาวเตะโนเนมพรสวรรค์สูง สังกัดราชประชาเข้าสู่ทำเนียบทีมชาติ ท่ามกลางความแปลกใจของสื่อมวลชนลูกหนังในยุคนั้น ทำไมถึงเสี่ยงนำแข้งไร้ประสบการณ์มาร่วมทีมเดียวกับ ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน, เฉลิมวุฒิ สง่าพล, สุทิน สุรัก ไชยกิตติ, ไพโรจน์ พ่วงจันทร์ และ วรวรรณ ชิตะวณิช คำวิจารณ์ค่อยๆ หายไป เมื่อ ”โค้ชเทวดา” พิสูจน์ให้เห็นเป็นรูปธรรม ว่าการเลือก แข้งรายนี้ไม่ใช่การตัดสินใจที่ผิดพลาดแต่ประการใด “เสริฐ” สวมยูนิฟอร์มทีมชาติ โชว์เพลงแข้งคิงส์ คัพ หนแรกในชีวิตแบบไม่ตื่นสนาม (คิงส์ คัพ ครั้งที่ 20 ปีพ.ศ.2532) พร้อมทั้งเจาะตาข่ายทีมชาติจีน ชุดบี ในเกมรอบฯ ซึ่งนับเป็นสกอร์แรกในนามทีมของ “เหน่อเสน่ห์” ก่อนจะมาประสบความสำเร็จครองถ้วยคิงส์ คัพ ในหนนั้น กำชัยเหนือโรเตอร์ โวลโกกราด สโมสรจากลีกสหภาพโซเวียต (รัสเซียในปัจจุบัน) 3-1 อย่างไรก็ดี ประเสริฐ เป็นผู้เล่นเกมรุกสไตล์กล้าได้กล้าเสีย เขามักจะเจออาการบาดเจ็บเล่นงานอยู่บ่อยครั้ง ทำให้ชื่อของ “เหน่อเสน่ห์” ค่อยๆหายไปจากทีมชาติและหลุดออกจากทีมถาวร หลังการถ่ายสายเลือดใหม่จากผู้เล่นชุดดรีมทีม ปัจจุบันอดีตนักเตะผู้ผ่านการโลดเเล่นในต่างแดน ทั้งคอสโม่ ออยส์ ในญี่ปุ่น และ กลันตัน ของมาเลเซีย ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าอะคาเดมี่ให้แก่สโมสรเมืองกาญจน์ ยูไนเต็ด อุดม สุวรรณเลขา 9 ตำนานแข้งไทย ขึ้นทะเบียนแจ้งเกิดในศึกคิงส์ คัพ ว่ากันว่าคิงส์ คัพ คือใบเบิกทางชั้นดีที่นำพาผู้เล่นดีกรีทีมชาติไทยมากมาย ต่อยอดไปสู่การเล่นฟุตบอลสโมสร ปลุกปั้นผู้เล่นจากภูธร และหนึ่งในนั้นมีชื่อของอุดม สุวรรณเลขา "ปีกกระดูกยุง" รายนี้อาจไม่ใช่ผู้เล่นขึ้นหิ้งสำหรับแฟนบอลชาวไทย แต่ใครจะไปเชื่อว่า แข้งโนเนมจากจังหวัดยะลา ผู้แจ้งเกิดมาจากฟุตบอลยามาฮ่า ไทยแลนด์ คัพ กับทีมเชียงใหม่ ทักษะฝีเท้าอันฉกาจฉกรรจ์ ลีลาการกระชากบอลลากเลื้อยที่ไม่ธรรมดา นำพาสู่ทำเนียบทีมชาติ และได้เป็นผู้เล่นสโมสรตำรวจ พ.ศ.2532 เป็นช่วงวิกฤติทีมชาติไทย “โค้ชเทวดา” อ.ประวิทย์ ไชยสาม จากไปอย่างกะทันหัน ทำให้ต้องเปลี่ยนหัวหน้าผู้ฝึกสอนเป็น คาร์ลอส โรแบร์โต คาร์วัลโญ่ สตาร์ดังมากมายต่างบอกปัดการรับชาติในยุคโค้ชบราซิเลี่ยน ทว่าตัวคาร์ลอส ไม่แคร์กลับปัญหาเหล่านี้ เขากลับสอดส่องมองหาผู้เล่นประเภทโลว์โปร์ไฟล์มาสวมเสื้อธงไตรรงค์ รวมถึงตัว อุดม ด้วยที่ได้โอกาสในคิงส์ คัพ ปี2533 (1990) ซึ่งถือเป็นการลงเล่นในนามทีมชาติไทย ในคิงส์ คัพ หนแรกและหนเดียวในชีวิต แมตซ์เปิดสนามประเดิมพบเคนยา อาคันตุกะจากกาฬทวีป รูปเกมที่หมิ่นเหม่ใกล้จบลงด้วยเสมอกัน ทว่าก่อนหมดเวลา 2 นาที สปอร์ตไลท์ฉายแสงตรงมายัง อุดม เมื่อเขาสังหารประตูชัยนำทีมล้มอาคันตุกะจากกาฬทวีป ไปแบบหวุดหวิด 2-1 ตลอดระยะเวลาที่ อุดม รับใช้ชาติในคิงส์ คัพ ครั้งนั้น แข้งชาวยะลารายนี้ ตอบแทนความไว้วางใจที่ คาร์ลอส มีให้แก่ตนเอง อย่างหมดสิ้น ตั้งแต่การฝึกซ้อมจนถึงการลงสนามจริง เรียกว่าทุ่มเททุกวินาทียามที่มีธงชาติติดอยู่ตรงหน้าอกซ้าย และเป็น 1 ในขุนพลชุดคว้าแชมป์ในปีดังกล่าว สำหรับนัดชิงแข้งไทยเถลิงบัลลังก์คว้าแชมป์ คิงส์ คัพ ได้สำเร็จ ย้ำแค้น โรเตอร์ โวลโกกราด สโมสรจากลีกสหภาพโซเวียต (รัสเซียในปัจจุบัน) จากการต่อเวลาพิเศษ 2-1 เนื่องจาก 90 นาที สู้กันอย่างดุเดือดจบลงด้วยผลเสมอ 1-1 พอสิ้นสุดทัวร์นาเมนต์คิงส์ คัพ กลับไปรับใช้สโมสรตำรวจ ปักหลักลงเล่นให้แก่ทีมสุภาพบุรุษโล่ห์เงินเพียงแค่ทีมเดียว จนกระทั่งแขวนสตั๊ด ปัจจุบันเขาปฏิบัติหน้าที่ผู้พิทักษ์สันติราษฏร์ ตำแหน่งรองผู้กำกับ ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองท่าอากาศยานเชียงใหม่ ในยศพันตำรวจโทอุดม สุวรรณเลขา พร้อมทั้งเปิดอะคาเดมี่สอนฟุตบอลเยาวชนในชื่อ Dream Star Academy Chiangmai ณ อำเภอสันทราย ในเจียงใหม่เจ้า เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง 9 ตำนานแข้งไทย ขึ้นทะเบียนแจ้งเกิดในศึกคิงส์ คัพ ชายหนุ่มจากอำเภอน้ำพอง หนีออกจากบ้านที่ขอนแก่นเข้ามาสานฝันการเล่นฟุตบอลในเมืองหลวง จากนั้นชีวิตของเขาก็ไม่เคยเหมือนเดิมอีกต่อไป “โก้” สู้ชีวิตเพื่ออุทิศแก่ลูกหนังใบกลมๆ ที่เขารัก เดินหน้าคัดตัวทีมชาติ 17 ปี ก่อนจะถูก “บิ๊กหอย” ธวัชชัย สัจจกุล ผู้จัดการทีม ชักชวนให้เข้ามาฝึกซ้อมเพื่อเตรียมสำหรับคัดเลือกโอลิมปิกที่แอตแลนต้า ปี 1996 ด้วยความอยากลองของ “บิ๊กหอย” และ “น้าชัช” ชัชชัย พหลแพทย์ จึงเสนอองค์กรลูกหนังไทย ควรส่งแข้งดรีมทีม วัดฝีเท้าคิงส์ คัพ ปี 2536 (1993) ในครั้งที่ 24 ในชื่อไทยปรีโอลิมปิก แม้จะไม่ประสบความสำเร็จ แต่1 ปีถัดมา เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง และผองเพื่อนดรีมทีม รวมใจกันสู้ลบคำสบประมาทจากแฟนบอลและสื่อมวลชนที่มองว่าทีมนี้เป็นแค่ไม้ประดับ ได้แบบพลิกความคาดหมาย ทีมชุดดรีมทีม ที่สวมยูนิฟอร์มดาวตก ลงสนามด้วยความกระหาย นับตั้งแต่เกมแรกกับทีมชาติจีน ฟันฝ่าด่านอรหันต์ทั้งญี่ปุ่น, โรเตอร์ โวลโกกราด ของรัสเซีย ก่อนจะล้มทีมสมัครเล่นแคว้นเวสต์ฟาเล่นจากเยอรมนี 4-0 ในรอบชิง ไปแบบสุดมันส์ และสตาร์เด่นในวันนั้นหนีไม่พ้น เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง ซิโก้ ทำประตูในทัวร์นาเมนต์ดังกล่าว 2 ลูก แต่นั้นก็เพียงพอจะทำให้ พ่อค้าแข้งจอมตีลังกา ถีบตัวเองสู่ตำแหน่งศูนย์หน้าทีมชาติไทยแทนที่ ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน ในเวลาต่อมา จากนั้นเรื่องราวของกองหน้าหมายเลข 13 คงไม่ต้องสาธยายให้มากความ เขาผจญภัยร้อยเอ็ดเจ็ดย่านน้ำ ทั้งในประเทศและต่างแดน ไม่ว่าจะเป็นธนาคารกรุงไทย, ราชประชา, ตำรวจ, ปะลิส ของมาเลเซีย, อาร์มฟอร์ซ ทีมจากสิงคโปร์, ฮองอันยาห์ลาย ในเวียดนาม จนก้าวมาสู่บทบาทโค้ชจุฬา ยูไนเต็ด, ชลบุรี, บีบีซียู, บางกอก เอฟซี และทีมชาติไทย ซึ่งเขาผู้นี้เองแหละที่สร้างความสุขให้แก่วงการฟุตบอลไทย 4-5ปีที่ผ่านมา ได้กลับมากรี๊ดกร๊าดหลงไหลไปกับฟุตบอลสไตล์ติ๊ก-ต๊อก พร้อมกับการทวงบัลลังก์เจ้าอาเซียนคืนสู่มาตูภูมิอีกครา *รู้หรือไม่ ทำเนียบแชมป์คิงส์ คัพ 15 สมัยของทีมชาติไทย มีกุนซือเพียงแค่คนเดียวเท่านั้น ที่สามารถคว้าแชมป์ ในฐานะผู้เล่นและโค้ช เขาคนนั้นคือ เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง ทำได้ถึง 4 สมัย แชมป์ในฐานะผู้เล่น 3 สมัย ปีพ.ศ. 2537, 2543,2549 (1994,2000,2006) แชมป์ในฐานะโค้ช 1 สมัย ปีพ.ศ. 2559 (2016) ตะวัน ศรีปาน 9 ตำนานแข้งไทย ขึ้นทะเบียนแจ้งเกิดในศึกคิงส์ คัพ เด็กหนุ่มชาวสระบุรีผู้ไม่มีความคิดฝันไกลถึงการเป็นผู้เล่นทีมชาติในวัยเยาว์ แต่ใครจะคิดละเวลาต่อมา ชื่อจริงของเขาปักอยู่หลังเสื้อหมายเลข 10 ขับเคลื่อนเกมรุกให้ทีมชาติยาวนานถึง 15 ปี ตะวัน ศรีปาน ชอบเล่นฟุตบอลมากตั้งแต่เป็นเด็กบ้านนอก เขาฝึกซ้อมอย่างหนักกับพี่ชาย กระทั่งโชคชะตานำพา “แบน” มาสู่ทำเนียบทีมชาติ ชนิดที่เขาเองไม่คิดว่าจะมีวันนั้น เด็กหนุ่มผู้กำลังเล่าเรียน คณะวิศวะฯ อยู่ที่เทคนิคฯนนทบุรี ถูกชักชวนให้ไปเล่นฟุตบอลกับสโมสรธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ ในถ้วยพระราชทาน ง. ฝีเท้าที่เหนือกว่าเพื่อนร่วมทีมเกิดไปเตะตา ชัชชัย พหลแพทย์ ตามตื้อนานร่วม 3 เดือนเพื่อนำเพชรเม็ดงามรายนี้มาร่วมฝึกซ้อมกับแข้งดรีมทีม “แบน” คือแข้งดรีมทีมผู้ไม่เคยผ่านการติดทีมนักเรียนไทย หรือมีโปรไฟล์ที่โด่งดังจากบอลนักเรียน เลยทำให้เรื่องดังกล่าวไม่ต้องไปวิตกกังวลแต่อย่างใด คิงส์ คัพ ครั้งแรกในชีวิตปี พ.ศ.2537 (1994) นักเตะจากถ้วยพระราชทานประเภท ค. ขึ้นทะเบียนแจ้งเกิดในนามทีมชาติได้อย่างเหลือเชื่อ เขาคือกลจักรสำคัญในทีมชุดนั้น เล่นเกมรุกร่วมกับ รุ่งเพชร เจริญวงศ์, สุชิน พันธ์ประภาส, สมาน ดีสันเที๊ยะ และเกียรติศักดิ์ เสนาเมือง รวมใจกันสู้กรุยทางสู่รอบชิงกับทีมเวสต์ฟาเล่นของเยอรมนี โดยที่ “แบน” สังหารประตูส่งท้ายให้เกมนัดนี้จบลงด้วยผล 4-0 พร้อมทั้งเขียนเรื่องราวบทใหม่สำหรับคิงส์ คัพ ด้วยการเป็นทีมชาติไทย ชุดบี ทีมแรกสร้างประวัติศาสตร์ครองแชมป์คิงส์ คัพ แบบที่ไม่เคยมีใครทำได้มาก่อนในพงศาวดารลูกหนังแห่งนี้ ชีวิตหลังจบคิงส์ คัพ ในครั้งนั้น “แบน” เป็นผู้เล่นดรีมทีมที่ขยับตัวเองสู่ทำเนียบทีมช้างศึก ก่อนจะอำลาทีมในปี 2008 และเข้าสู่วงการโค้ชอาชีพฝากฝีมือกับหลายสโมสรมากมาย อาทิเช่น บีอีซี เทโรศาสน, สระบุรี เอฟซี, เพื่อนตำรวจ และเมืองทอง ยูไนเต็ด อนุรักษ์ ศรีเกิด 9 ตำนานแข้งไทย ขึ้นทะเบียนแจ้งเกิดในศึกคิงส์ คัพ ตลอด 50 ปีของคิงส์ คัพ ดาวเตะชื่อดังมากหน้าหลายตา ทยอยตบเท้ามาสัมผัสเวทีลูหนังอันทรงเกียรติแห่งนี้ เช่น โรนัลดินโญ่, ไบรอัน เลาดรู๊ป, เอ็บเบ้ ซานด์, เฟลมมิ่ง โพลเซ่น, โรเบิร์ต เลวานดอฟสกี้,ชา บุม กุม รวมถึง ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน แต่กลับไม่เคยมีใครเจ๋งพอซัลโว 3 ประตูเกมนัดชิงดำได้เลย ทว่าบทบันทึกในคิงส์ คัพ ครั้งที่ 31 กลับถูกขีดเขียนมาให้ อนุรักษ์ ศรีเกิด จารึกชื่อในฐานะแฮตทริกฮีโร่ นัดชิงฯปี 2000 (พ.ศ. 2543) กับฟินแลนด์ กองกลางจากสมุทรปราการ สอดแทรกขึ้นทีมสู่ทำเนียบทีมชาติไทยในช่วงนั้น เขาเป็นผู้เล่นที่มีทักษะการครอบครองบอลที่ล้ำเลิศ บวกไหวพริบที่ดีผสมผสานการอ่านเกมที่ชาญฉลาด ทำหน้าที่คุมกลางตรงกลางสนามและผ่านบอลให้เพื่อนร่วมทีมเล่นได้ง่าย ไม่แปลกที่ “จุ่น” ได้รับความไว้วางใจจากปีเตอร์ วิธ โค้ชชาวเมืองผู้ดี ให้บัญชาเกมกลางสนามอย่างต่อเนื่อง 27 กุมภาพันธ์ 2000 (พ.ศ.2543) คือวันที่อยู่ในความทรงจำของ “จุ่น” ไปตลอดกาล เขาทำสิ่งที่แข้งชื่อดังมากมายทำไม่ได้ในรอบชิงฯคิงส์ คัพ นั้นคือการเหมา 3 ประตูใส่ขุนพลฟินนิช แบบหาทางกลับเมืองเฮลซิงกิไม่เจอ ชัยชนะท่วมท้นเหนือชาติจากสแกนดิเนเวีย 5-1 ก็เพียงพอจะทำให้ทัพนักเตะแดนสยามได้พร้อมฉลองโทรฟี่แชมป์ต่อหน้าแฟนบอลในราชมังคลากีฬาสถาน กว่า 15,000 คน ความโด่งดังจากแมตซ์ดังกล่าวนำพาให้ จุ่น ยึดตำแหน่งหมายเลข 6 ในนามทีมชาติทันที เขาปักหลักอยู่กับทีมในชุดเข้ารอบ 10 ทีมสุดท้าย คัดบอลโลก โซนเอเชีย ปี 2002 ปัจจุบันอนุรักษ์ ศรีเกิด เปลี่ยนบทบาทสู่การทำหน้าที่หัวหน้าผู้ฝึกสอนขอนแก่น เอฟซี ทีมระดับเอ็ม-150 แชมเปี้ยนชิพ ร่วมวงชิงชัยตั๋วเลื่อนชั่นไทยลีก ซีซั่น 2019

เอ็มเร่

  เครดิตภาพ : สมาคมประวัติศาสตร์ฟุตบอลแห่งประเทศไทย,นิตยสารฟุตบอลสยาม, แฟนเพจฟุตบอลไทยในอดีต by tommy bar, สารานุกรมฟุตบอลไทย
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมของ ขอบสนาม
logoline