logo-heading
กกท.ชู“ นิวนอร์มอล สปอร์ตส”ขับเคลื่อนมหกรรมกีฬา สู้ โควิด-19

การแพร่ระบาดของไวรัส "โควิด-19" เปลี่ยนแปลงโลกไปทุกมิติรวมถึงกีฬา ที่จะต้องปรับตัวสู่ความปกติวิถีใหม่ หรือ New Normal :นิว นอร์มอล  วงการกีฬาเมืองไทยต้องปรับตัวครั้งใหญ่ เพื่อให้กิจกรรมต่างๆ สามารถเดินหน้าต่อไปได้ โดยมีการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.)  ประสานความร่วมมือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทาง และรูปแบบปฎิบัติในการดำเนินกิจกรรมกีฬา นิวนอร์มอล สปอร์ต: New Normal Sports เพื่อสร้างบรรทัดฐานใหม่ของวงการกีฬาไทย

การแพร่ระบาดของ"โควิด-19" เปลี่ยนแปลงโลกไปทุกมิติรวมถึงกีฬา ที่จะต้องปรับตัวสู่ความปกติวิถีใหม่ หรือ New Normal :นิว นอร์มอล  เพื่อให้กิจกรรมต่างๆ สามารถเดินหน้าต่อไปได้  กกท.ได้ประสานความร่วมมือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทาง และรูปแบบปฎิบัติในการดำเนินกิจกรรมกีฬา นิวนอร์มอล สปอร์ต: New Normal Sports สร้างบรรทัดฐานใหม่วงการกีฬาไทย

ปี 2564 วงการกีฬาของไทย จะมีการจัดการแข่งขันมหกรรมกีฬาหลากหลายมหกรรม อาทิ กีฬาเยาวชนแห่งชาติ ครั้งที่ 36 “ช้างขาวเกมส์” ระหว่างวันที่ 23 พฤษภาคม -5 มิถุนายน  , กีฬาอาวุโสแห่งชาติ ครั้งที่ 3 “ตราดเกมส์” ระหว่างวันที่ 8 -14 มิถุนายน 2564 ,กีฬาแห่งชาติ ครั้งที่ 47 "ศรีสะเกษเกมส์" ระหว่างวันที่ 15 สิงหาคม - 5 กันยายน ,กีฬาคนพิการแห่งชาติ ครั้งที่ 37 "นครลำดวนเกมส์" ระหว่างวันที่ 18 - 22 กันยายน

ขณะที่ปี 2565 จะมีการแข่งขันกีฬาเยาวชนแห่งชาติ ครั้งที่ 37 "พัทลุงเกมส์"   , กีฬาอาวุโสแห่งชาติ ครั้งที่ 4 "เสกักเกมส์" , กีฬาแห่งชาติ ครั้งที่ 48 "กาญจนบุรีเกมส์" และกีฬาคนพิการแห่งชาติ ครั้งที่ 38 "เมืองกาญจน์เกมส์" ในปี  2566  มหกรรมกีฬาในประเทศเหล่านี้ถือเป็นการจัดการแข่งขันกีฬาที่มีความสำคัญ ต่อการพัฒนาศักยภาพของนักกีฬาไทยแต่ละกลุ่ม

ดังนั้นการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) จึงวางแนวทางป้องกัน และมาตรการการจัดการแข่งขันมหกรรมกีฬาในประเทศรูปแบบ "นิว นอร์มอล" ท่ามกลางการแพร่ระบาดของไวรัส "โควิด-19" อีกทั้งยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับกลุ่มนักกีฬา กลุ่มผู้ปกครอง รวมถึงบุคลากรทางการกีฬาทุกองคาพยพ ที่จะมีส่วนเกี่ยวข้องเข้าร่วมแข่งขันมหกรรมกีฬารายการต่างๆ

กกท.ชู“ นิวนอร์มอล สปอร์ตส”ขับเคลื่อนมหกรรมกีฬา สู้ โควิด-19

 ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.)  ให้ข้อมูลว่า  รูปแบบปฎิบัติในการดำเนินกิจกรรมกีฬา นิวนอร์มอล สปอร์ต: New Normal Sports  เป็นการพิจารณาบนพื้นฐานที่ว่า   กีฬาประกอบไปด้วย ผู้เล่น ผู้ชม ผู้เชียร์ แต่หลังจากที่เกิดเหตุการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส "โควิด-19"  คำว่า นิว นอร์มอล เกิดขึ้นกับทุกๆวงการ สำหรับกีฬาก็เช่นเดียวกัน ไม่ได้แตกต่าง มีวิถีกีฬาใหม่ หรือว่า นิวนอร์มอล ในการจัดการแข่งขันกีฬาซึ่งมีพัฒนาการเกิดมาจากโควิด-19  เดิมไม่เคยมีความคิดเรื่องของการจำกัดคนดู  ไม่มีความคิดเรื่องการจะต้องใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา เรื่องของมาตรการสาธารณสุขต่างๆ

ดังนั้นจึงต้องปรับตัวเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ให้ได้ การจัดการแข่งขันกีฬาจะมีความซับซ้อนแตกต่างกันไป บางชนิดกีฬาสัมผัสกันโดยตรง บางชนิดกีฬาไม่ต้องสัมผัส สิ่งเหล่านี้จะอยู่ในกฎ กติกา บางกีฬาจัดในแบบมหกรรม บางกีฬาจัดแบบเดี่ยวๆ จะอยู่ภายใต้กฎ กติกา  เพราะฉะนั้นสิ่งที่ยากลำบากพอสมควร ในการจัดทำคู่มือแต่ละชนิดกีฬาแตกต่างกันไป

ทั้งนี้มีกีฬาในความรับผิดชอบภายใต้สมาคมกีฬา "แห่งประเทศไทย" 80 กว่าชนิดกีฬา เพราะฉะนั้นจะมีคู่มือ 80 กว่าคู่มือ ทางหน่วยงาน กกท. กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกระทรวงสาธารณสุข มาวิเคราะห์จนได้คู่มือแต่ละชนิดกีฬา นอกจากคู่มือแต่ละชนิดกีฬาแล้ว  ก็ต้องปฏิบัติตามภายใต้มาตรการประกาศต่างๆ ของภาครัฐซึ่งมีอยู่ 4-5 ฉบับ และประกาศของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาด้วย  นอกเหนือจากกฎ กติกาสากลที่กำหนดจากสหพันธ์กีฬานานาชาตินั้นๆ แล้ว ผู้จัดกีฬาต้องคำนึงถึงรายละเอียดต่างๆ ตามคู่มือที่ได้ผลิตกันขึ้นมาภายใต้สถานการณ์โควิด-19

กกท.ชู“ นิวนอร์มอล สปอร์ตส”ขับเคลื่อนมหกรรมกีฬา สู้ โควิด-19

"คอนเซ็ปต์ในการใช้กับการจัดมหกรรมกีฬานั้น ต้องยอมรับปัจจุบันไม่เคยมี เราจะมีรูปแบบของการจัดกีฬาเดี่ยวๆ เช่น การจัดวิ่ง การจัดแบดมินตัน การจัดฟุตบอล ประเทศไทยเราจัดไปแล้วภายใต้การระบาดของโควิด-19 หรือแม้กระทั่งมวยก็เริ่มจัดแล้ว แต่สำหรับในแบบที่เป็นมหกรรมกีฬา กำลังจะจัดในกีฬาเยาวชนแห่งชาติ ครั้งที่ 36 "ช้างขาวเกมส์" เป็นที่แรก ซึ่งจะมีความซับซ้อนกว่าการจัดกีฬาทั่วๆไป"

"เนื่องจากมหกรรมกีฬาจะมีการรวมตัวกันของคนจำนวนมาก ทุกชนิดกีฬาจะมาแข่งขันในห้วงเวลาเดียวกันทั้งหมด เพราะฉะนั้นต้องวางมากตรการเฉพาะสำหรับการจัดมหกรรมกีฬา ซึ่งตอนนี้มีคู่มือเรียบร้อยแล้ว สิ่งที่เน้นคือ ทำอย่างไร ไม่ให้มีการรวมตัวกันในจังหวะเดียวกัน เช่น พิธีเปิด-ปิดการแข่งขัน ซึ่งเดิมไม่ได้จำกัด แต่คราวนี้ได้จำกัดแล้ว จะมีมาตรการเรื่องของการเว้นระยะ  มีเรื่องการใช้แอลกอฮอล์ เรื่องของการกำชับการใส่หน้ากากอนามัย รูปแบบก็จะเรียบง่ายขึ้น ลดการสัมผัส รวมถึงเรื่องของการกินอยู่ด้วย"

ผู้ว่าการ กกท. กล่าวว่า  มหกรรมกีฬานั้น นักกีฬาทุกจังหวัดเดินทางมารวมตัวกัน  มีมาตรการเรื่องของการขยายห้วงเวลาแข่งออกไปแทนที่ เดิมจัด 7-10 วัน  ก็ขยายออกไปเพื่อลดการแออัด นอกจากนั้นสถานที่แข่งขัน พยายามใช้มาตรการใหม่ สนามแข่งขันกับสถานที่พัก  ให้อยู่ใกล้ๆ กัน ไม่ต้องมีการเดินทางมาก ไม่ต้องมีการไปสัมผัสสิ่งต่างๆ มาก  จัดระเบียบใหม่แบ่งกลุ่มชนิดกีฬาประเภททีม กีฬาต่อสู้ กีฬาบุคคล เพื่อให้มีการกระจายระยะเวลาไป  ช่วงแรกอาจจะแข่งกีฬาประเภททีม

กกท.ชู“ นิวนอร์มอล สปอร์ตส”ขับเคลื่อนมหกรรมกีฬา สู้ โควิด-19

ช่วงที่สองแข่งกีฬาบุคคล ช่วงที่สามแข่งกีฬาต่อสู้ เป็นต้น ซึ่งจะมีการจัดระบบใหม่ รวมไปถึงการกระจายไปจังหวัดในพื้นที่ใกล้เคียงด้วย เช่น จังหวัดตราด ที่จะเป็นเจ้าภาพกีฬาเยาวชนแห่งชาติ  ก็ได้รับความร่วมมือจากจังหวัดต่างๆ ที่อยู่ใกล้เคียงเช่นจังหวัดจันทบุรี  รับเป็นเจ้าภาพในหลายชนิดกีฬา  กล่าวคือแบ่งไปจัดที่จังหวัดจันทบุรี  จังหวัดระยอง, กรุงเทพมหานคร, จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อลดความเสี่ยงต่างๆ สิ่งต่างๆ เหล่านี้คือ การจัดมหกรรมกีฬาในวิถีใหม่นิวนอร์มอล

"หัวใจหลักเลยคือ กระทรวงสาธารณสุข ซึ่ง กกท.ได้พูดคุยกับทางจังหวัดตราด รวมถึงท้องถิ่นตราด และสาธารณสุขตราด ซึ่งเราถามไปก่อนเลยว่า  ตราด มีศักยภาพด้านสาธารณสุขที่จะรองรับคนในเวลาเดียวกันในปริมาณเท่าใด ถ้าสาธารณสุขตราดบอกว่า มีความเสี่ยงที่จะรับคนได้เยอะๆ เช่นบอกว่า รับได้ครั้งละ 2,000 คน เราก็ต้องกลับมาวางแผนกัน เพราะเราไม่สามารถให้คนหมื่นกว่าคนมาในจังหวะเดียวกัน มากิน มาอยู่ มาใช้ชีวิตในจังหวัดตราดพร้อมกัน เพราะจะไปเพิ่มความเสี่ยง เลยเป็นที่มาของการวางแผนกันจัดระเบียบใหม่ ยืดเวลาออกไป กระจายพื้นที่ออกไป จัดกลุ่มกีฬาให้เป็นหมวดหมู่ในการจัดแข่งขัน สำหรับกีฬาเยาวชนแห่งชาติค่อนข้างมีความซับซ้อน    สิ่งที่เราทำก็ต้องทำความเข้าใจ   คราวนี้เราอาจต้องขอความร่วมมือในการจำกัดคน  เดิมเคยมากันเป็นครอบครัวใหญ่ คราวนี้ก็อยากให้ลดจำนวนลง"

ดร.ก้องศักด  กล่าวด้วยว่า   หวังว่าการจัดการแข่งขันมหกรรมกีฬารายการต่อไปในกีฬาแห่งชาติ ครั้งที่ 47 "ศรีสะเกษเกมส์" ระหว่างวันที่ 15 สิงหาคม - 5 กันยายน  จะมีการฉีดวัคซีนกันมากขึ้นหลังจากประเทศไทยเริ่มมีการฉีดวัคซีนกันไปบ้างแล้ว เพราะฉะนั้นความเสี่ยงก็จะลดลงไปด้วย มาตรการสาธารณสุขหย่อนไม่ได้  จะต้องเข้มข้นเหมือนเดิม ไม่อยากจะเห็นภาพว่ากีฬาไปก่อให้เกิดปัญหาระดับชาติ เพราะฉะนั้นมาตรการต่างๆ ด้านสาธารณสุข ยังต้องยึดเป็นลำดับแรก แต่หวังว่าสถานการณ์จะดีขึ้นเรื่อยๆ

"ถึงจะมีสถานการณ์โควิด-19  แต่ถ้าเราไม่มีกิจกรรมอะไรเลย ความต่อเนื่องในการพัฒนานักกีฬาจะหยุดชะงักไป เช่น นักกีฬาได้แต่ซ้อมอยู่ที่บ้าน จะไม่เหมือนได้ลงสนามแข่งจริง ทั้งเรื่องของบรรยากาศ ประสบการณ์ต่างๆ ไม่สามารถที่จะเกิดขึ้นได้เลย ถ้าเราไม่สามารถจัดมหกรรมกีฬา เพราะฉะนั้นสิ่งที่มหกรรมกีฬาจะเป็นประโยชน์อย่างชัดเจนต่อวงการกีฬาคือ เรื่องของการพัฒนานักกีฬาซึ่งเราตั้งเป้าว่าเราจะต้องช่วงชิงอันดับ 1 ในอาเซียนให้ได้   จะต้องเป็นประเทศชั้นนำในทวีปเอเชีย ติดอันดับ 6 ของเอเชียให้ได้"

 

"สิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องมีมหกรรมกีฬา มีรายการแข่งขัน แม้แต่เราไปแข่งที่ปรับรูปแบบมาเป็นแบบออนไลน์ความรู้สึกจะไม่เหมือนกัน บรรยากาศภายใต้การแข่งขันจริง  เราใช้มาตรการภายใต้นิวนอร์มอลแบบนี้ แต่พยายามจัดอีเวนต์กีฬา  มหกรรมการแข่งขันให้ได้  ซึ่งก็ได้ประโยชน์ทางด้านกีฬาแล้วสิ่งที่ชัดเจนก็คือ เรื่องของมูลค่าทางเศรษฐกิจ เรื่องการสร้างงาน สร้างรายได้ เพราะจะเกิดการหมุนเวียนของเงินทันที เช่น กีฬาเยาวชนแห่งชาติ ครั้งที่ผ่านมาเรามีเงินหมุนเวียนประมาณ 800-900 ล้านบาท ถ้าเป็นกีฬาแห่งชาติ จะขยับตัวเลขขึ้นไปอีกเป็นหลักพันล้าน ตรงนี้คือ ประโยชน์ที่ได้จากการจัดมหกรรมกีฬา"

กกท.ชู“ นิวนอร์มอล สปอร์ตส”ขับเคลื่อนมหกรรมกีฬา สู้ โควิด-19

ดร.ก้องศักด กล่าวด้วยว่า   กกท. มีแผนในการจัดตั้ง "สปอร์ต ควอรันทีน" สถานที่สำหรับนักกีฬาที่ต้องเดินทางไปแข่งขันในต่างประเทศ และเมื่อเดินทางกลับเข้ามาต้องทำการกักตัว 14 วัน ก็สามารถกักตัว และทำการฝึกซ้อมได้ต่อเนื่อง ที่ศูนย์ฝึกกีฬาแห่งชาติมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี โดยจะเปิดให้บริการสำหรับบุคลากรทางการกีฬาเท่านั้น    โดยการจัดตั้ง "สปอร์ต ควอรันทีน" ได้รับความร่วมมือจากกระทรวงสาธารณสุข และอยู่ในช่วงการตรวจความเรียบร้อย เตรียมพร้อมที่จะเปิดใช้งาน โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการประมาณเดือนพฤษภาคมนี้    โดย  กกท.จะจัดคิวและลำดับของนักกีฬาแต่ละประเภทแต่ละชนิด ที่จะต้องเดินทางออกไปแข่งที่ต่างประเทศ   เพราะจะได้รองรับนักกีฬาได้อย่างเพียงพอ   ดร.ก้องศักด  กล่าว

กกท.ชู“ นิวนอร์มอล สปอร์ตส”ขับเคลื่อนมหกรรมกีฬา สู้ โควิด-19

logoline