logo-heading

หลายครั้งที่การตัดสินของผู้ตัดสินหลัก และ VAR เป็นตัวแปรและจุดเปลี่ยนเกมสำคัญในการแข่งขันฟุตบอลพรีเมียร์ลีก การตัดสินที่ยังหามาตรฐานไม่ได้ทำให้แฟนบอลต้องหงุดหงิดไปตาม ๆ กัน

ล่าสุดเกมบิ๊กแมตช์ระหว่าง แมนเชสเตอร์ ซิตี้ และ ท็อตแน่ม ฮ็อทสเปอร์ ก็มีประเด็นดราม่าของผู้ตัดสินอย่าง ไซม่อน ฮูเปอร์ กับการเป่าจังหวะที่ทำให้แฟนบอลต้องร้องอุทานว่า อิหยังวะ

ไซม่อน ฮูเปอร์ ผู้ตัดสินวัย 41 ปี ชาวอังกฤษ ตกเป็นประเด็นให้พูดถึงอย่างหนัก จากการตัดสินเกมนัดล่าสุด ในจังหวะที่ เออร์ลิ่ง ฮาแลนด์ ถูกทำฟาวล์ และ ฮูเปอร์ ได้ผายมือให้เล่นต่อไป ทำให้ แจ็ค กรีลิช มีจังหวะได้ที่จะหลุดเดี่ยวไปดวลกับผู้รักษาประตู

แต่หลังจากนั้น ฮูเปอร์ ก็เป่านกหวีดหยุดเกม และย้อนกลับมาให้ฟาวล์กับผู้เล่น แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ทำให้เขาถูกนักเตะ ทัพเรือใบสีฟ้า ประท้วงอย่างหนัก เนื่องจากจังหวะนี้เป็นโอกาสสำคัญที่อาจจะทำให้ แมนฯ ซิตี้ ขึ้นนำ สเปอร์ ได้

แม้จะมีปัญหาเกิดขึ้นก็ตาม แต่ทาง สกาย สปอร์ต ได้รายงานว่า ฮูเปอร์ ไม่ได้รับบทลงโทษใด ๆ จากทาง พรีเมียร์ลีก และยังคงได้ลงตัดสินเกมต่อไปที่ ลิเวอร์พูล ต้องบุกไปเยือน เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด ในคืนวันพุธที่จะถึงนี้อีกด้วย ในทางกลับกัน สมาคมฟุตบอลอังกฤษ หรือ เอฟเอ ได้ตั้งข้อหากับ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ที่มีผู้เล่นประพฤติตัวไม่เหมาะสมเข้าไปล้อมและประท้วงผู้ตัดสิน

นับเป็นอีกประเด็นสุดร้อนที่ถูกถกเถียงกันและตั้งคำถามมากมาย ซึ่งหากมองแค่ฤดูกาลนี้นับตั้งแต่ พรีเมียร์ลีก เปิดฤดูกาลมา เกิดความผิดพลาดของผู้ตัดสินหลายต่อหลายครั้ง หากผู้ตัดสินผิดพลาด เช่นเกมที่ ท็อตแน่ม ฮ็อทสเปอร์ พบ ลิเวอร์พูล กับจังหวะไม่ล้ำหน้าของ หลุยซ์ ดิอาซ แต่ผู้ตัดสิน VAR ดาร์เรน อิงแลนด์ กลับไม่เช็กจังหวะสำคัญ พร้อมปล่อยเกม เนื่องจากคิดว่า ผู้ตัดสินในสนาม ไซม่อน ฮูเปอร์ได้เป่าให้ล้ำหน้าไปแล้ว สุดท้ายก็ลงเอยด้วยการแถลงการณ์ของโทษของ เจ้าหน้าที่จากคณะกรรมการสมาคมผู้ตัดสินอาชีพ หรือ PGMOL พร้อมบอกว่าเป็นความผิดพลาดส่วนบุคคล และลงโทษด้วยการ ห้ามไม่ให้ อิงแลนด์ ทำหน้าที่ในเกมที่ลิเวอร์พูลลงแข่งขันอีกต่อไปตลอดทั้งฤดูกาลนี้

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายเกม โดยเฉพาะความผิดพลาดของ ไซม่อน ฮูเปอร์ วีรกรรม ไซม่อน ฮูเปอร์ ในเกมที่ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด พบ วูล์ฟแฮมป์ตัน สิงหาคม 2023 ช่วงทดเจ็บ อังเดร โอนาน่า ผู้รักษาประตูออกมาตัดบอลไม่โดน พลาดไปกระแทกกับ ซาซ่า คาลัดจ์ซิช ซึ่งดูแล้วสามารถเป็นจุดโทษได้ แต่ผู้ตัดสินที่ 1 อย่าง ไซม่อน ฮูเปอร์ และ VAR ไม่ให้จุดโทษ

ความผิดพลาดของผู้ตัดสินมีให้เห็นบ่อยจนเป็นเรื่องชินชา ผู้ตัดสินทำผิดลงโทษด้วยการแบน ให้ลงไปตัดสิน แชมเปี้ยนชิพ หรือ ลีกวัน ลีกทู แต่สุดท้ายก็ได้กลับมาตัดสินลีกสูงสุดแล้วก็มีการทำผิดซ้ำซากต่อไป ซึ่งถ้าไล่เรียงทั้งความผิดพลาดของการตัดสิน VAR และ ผู้ตัดสินหลังที่ทำให้ทีมเสียผลประโยชน์ มีหลายเหตุการณ์จนรู้สึกเป็นเรื่องธรรมดา ยังไม่เห็นมีมีวิธีแนวทางแก้ไขรักษามาตรฐาน ยกระดับการตัดสินให้ดีกว่าเดิมได้เลย ในขณะที่มีเทคโนโลยีมาช่วย แต่บางครั้งกลับทำให้ดูแย่ลงไปอีก

การตัดสินที่ไร้มาตรฐานในพรีเมียร์ลีกยังคงมีมาอย่างต่อเนื่อง ไม่แปลกใจที่ครั้งหนึ่งฟุตบอลโลกปี 2018 ไร้ผู้ตัดสินอังกฤษ บทวิเคราะห์อย่างหนึ่งของกรรมการไม่ว่าจะเป็น VAR หรือผู้ตัดสินหลักนั่นก็คือการมีประสบการณ์ที่เท่ากันหรือต่างกันเกินไป เช่นผู้ตัดสิน VAR ที่มีประสบการณ์น้อยกว่าตัดสิน อาจทำให้ผู้ตัดสินหลักไม่มั่นใจ หรือหากผู้ตัดสินหลักมีประสบการณ์น้อยกว่า ผู้ตัดสิน VAR ก็ทำให้เขาไม่กล้าที่จะตัดสินใจอะไร โยนกันไปมา สุดท้ายที่เสียประโยชน์ก็เป็นทีมหรือสโมสรฟุตบอล

แม้จะมีบทลงโทษตามสมควร แต่สุดท้ายเกมการแข่งขันที่มีจุดเปลี่ยนเกมก็ไม่สามารถกลับมาแก้ไขอะไรได้ ทุกอย่างต้องดำเนินต่อไป กับโลกฟุตบอลที่มีเทคโนโลยี และ ดุลยพินิจผู้ตัดสินเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่มีการแข่งใหม่ เสียผลประโยชน์ไปแล้วโดยไม่สามารถเอาอระไรกลับมาได้ ขณะที่ผู้ตัดสินที่ผิดพลาด ก็มีทั้งได้บทลงโทษตามสมควร กับที่ไม่โดนอะไรเลย

แฟนบอลทีมใน พรีเมียร์ลีก ยังคงต้องลุ้นทั้งผลงานทีมตัวเอง และผลงานในสนาม ลุ้นทั้งรายชื่อ 11 ตัวจริง และรายชื่อของผู้ตัดสิน พร้อมกับภาวนาให้ตัดสินดีดี อย่ามีอะไรที่เป็นจุดเปลี่ยนเกมแบบน่ากังขา ส่วนความมีมาตรฐานก็ยังคงต้องรอต่อไป เชื่อว่าเคสล่าสุดก็คงไม่เป็นเคสสุดท้ายที่มีการตัดสินผิดพลาด เพิ่งผ่านนัดครึ่งฤดูกาล หนทางยังอีกยาวไกล เชื่อว่ายังคงมีความผิดพลาดให้เห็นรออยู่อีกหลายเกม และยังคงมีคำถามอีกหลายครั้งว่า มาตรฐานผู้ตัดสิน พรีเมียร์ลีก อยู่ที่ไหน ? เพราะตอนนี้แฟนบอลยังหาไม่เจอเหมือนกัน

ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมของ ขอบสนาม
logoline