logo-heading

ฟุตบอลไทยลีก 2020/21 เริ่มจะทวีคูณความดุเดือดเลือดพล่านออกมาเรื่อยๆ กับข่าวการซื้อขายโยกย้ายนักเตะในตอนนี้ ซึ่งทำให้เห็นอนาคตอะไรบางอย่างของวงการฟุตบอลไทย โดยเฉพาะทีมบิ๊กโฟร์ที่เปลี่ยนไปจากเมื่อครั้งอดีต

ผมเริ่มเข้ามาทำข่าวฟุตบอลไทยลีก ครั้งแรกเมื่อปี 2552 หรือฤดูกาล 2009 ในช่วงที่ฟุตบอลไทยลีก ที่ตอนนั้นเรียกว่า "ไทยพรีเมียร์ลีก" กำลังค่อยๆ ปรับตัวจากคำว่ากึ่งอาชีพไปเป็นฟุตบอลอาชีพอย่างเต็มตัว ซึ่งในตอนนั้นมันก็เหมือนกำลังตั้งไข่กันหมด บรรดาสโมสรต่างๆ ก็ค่อยเรียนรู้ที่จะพัฒนาตัวเองจากสโมสรที่เป็นหน่วยงานองค์กรต่างๆ บางทีมก็เป็นทีมจังหวัดที่มาจากสมาคมกีฬา บางทีมด็เป็นเอกชนแต่ยังกระท่อนกระแท่น ก็ค่อยๆ สร้าง และพัฒนากันมาเรื่อยๆ

จนถึงวันนี้ก็ปาเข้าไป 12 ปีแล้ว ก็กล้าพูดได้เต็มปากว่าตอนนี้ฟุตบอลไทยของเราก็เป็นอาชีพแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ 

ร้อยเปอร์เซ็นต์ในทีนี้หมายถึงว่า ทุกๆ สโมสรเป็นบริษัทนิติบุคคล ทำฟุตบอลเพื่อหากำไร และกำไรก็มาจากสปอนเซอร์และตั๋วเข้าชมรวมทั้งสินค้าที่ระลึก นี่คือนิยามของสโมสรอาชีพ คืออยู่ด้วยธุรกิจฟุตบอลอย่างแท้จริง ในส่วนของนักฟุตบอลเองก็มีรายได้จากการเล่นฟุตบอลเป็นหลัก ไม่ใช่ว่าวันธรรมดาต้องไปทำงานบริษัท ตอนเย็นมาซ้อมบอล เสาร์อาทิตย์ก็ไปแข่งเหมือนแต่ก่อน ตอนนี้นักบอลเป็นอาชีพเต็มตัวกันหมดแล้ว เพียงแต่การบริหารจัดการต่างๆ ของสโมสรเองก็ดี หรือตัวนักฟุตบอลเองก็ดี ที่มันยังไม่ได้เป็นรูปแบบมืออาชีพเหมือนต่างประเทศ มันก็เลยทำให้ลีกของบ้านเรา มันยังไม่ได้ดูมืออาชีพขนาดนั้น แม้มันจะเป็นลีกอาชีพแล้วก็ตาม (งงไหมครับ) ที่เกริ่นมาข้างตนยังไม่ได้เข้าเนื้อหาที่จะพูดถึงในวันนี้แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ เพียงแต่เล่าให้ฟังว่าไทยลีกของเราพัฒนามาถึงจุดไหนแล้ว บอกว่าเป็นอาชีพแต่ทำไมอะไรหลายๆ อย่างมันก็ยังดูสมัครเล่นอยู่เลย เอาละมาเข้าเรื่อง ที่ต้องย้อนไปอดีตเมื่อปี 2009 ก็เพื่อที่จะพูดถึงทีมมหาอำนาจของวงการฟุตบอลไทยลีก หรือที่ให้เข้าใจง่ายคือทีมบิ๊กโฟร์ หรือบิ๊กทีมของวงการฟุตบอลไทย ที่ดูเหมือนในตอนนี้มันจะเปลี่ยนไปแล้ว เอาตั้งแต่แรกที่ผมมาทำข่าวฟุตบอลไทย ปี 2009 ตอนนั้นยังไม่มีบุรีรัมย์ แต่มีทีมการไฟฟ้าฯ ซึ่งการไฟฟ้า ก็เป็นทีมรัฐวิสาหกิจ จะบอกว่าเป็นบิ๊กทีมก็โอเคในเรื่องของชื่อเสียง เคยเป็นแชมป์ไทยลีก มีนักเตะทีมชาติมากกมาย แต่มันก็ไม่ได้รู้สึกว่าการไฟฟ้า เป็นมหาอำนาจอะไรขนาดนั้น ฤดูกาล 2009 ในความคิดของผม บิ๊กทีมมีอยู่ 3 ทีม คือทีมที่รวยและดูมีฐานะก็คือ 1.เมืองทอง หนองจอก ยูไนเต็ด 2.ชลบุรี เอฟซี และ 3.บางกอกกล๊าส เอฟซี นี่คือ 3 ทีมที่ดูเป็นมหาอำนาจ มีเงิน ผลงานดี มีลุ้นแชมป์ อีกทีมที่โดดเด่นเข้ามาก็คือ การท่าเรือไทย เอฟซี ที่มีชื่อเสียงเก่าแก่ แต่ว่ากันตามตรงก็ไม่ได้เงินถุงเงินถังอะไรขนาดนั้น แต่ก็พอที่จะเบียดกับสามทีมข้างต้นได้ และถ้าเจาะไปจริงๆ มีเพียงแค่ เมืองทอง กับ บางกอกกล๊าส เท่านั้นที่ดูจะทีมที่ไม่มีปัญหาเรื่องการเงิน คือเป็นบิ๊กทีมตัวจริง ขณะที่ฉลามชล ชื่อเสียงเสียง การบริหารจัดการเป็นทีมใหญ่จริง แต่งบประมาณในการทำทีมก็ไม่ได้เยอะไปกว่าเมืองทอง และบีจี แต่ก็ถือว่าอยู่ในกลุ่มบิ๊กทรีหรือบิ๊กโฟร์ตอนนั้น เวลาผ่านไป มีบุรีรัมย์ พีอีเอ ขึ้นมา ปัจจุบันคือบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ซึ่งก็สถาปนาตัวเองเป็นมหาอำนาจลูกหนังเมืองไทยได้ในฤดูกาล 2011 หลังคว้าแชมป์ไทยลีก สมัยแรกได้ในชื่อบุรีรัมย์ นั่นคือการประกาศศํกดาของแชมป์เซราะกราวในการขึ้นมาเป็นบิ๊กทีมอย่างแท้จริง เมื่อมีทีมสายฟ้าขึ้นมา ทีมอย่างชลบุรี ก็ดูจะดร็อปๆ ไป การท่าเรือ ก็เริ่มถอยลงเรื่อยๆ บีจี ยังมีเงินเหมือนเดิม เพียงแต่ว่าผลงานมันก็สามวันดีสี่วันไข้ เลยไม่สามารถขึ้นมาเป็นยอดทีมได้สักที เพราะยังไม่เคยเป็นแชมป์อะไร ส่วนเมืองทอง ก็ยังคงเป็นทีมมหาอำนาจเหมือนเดิม แถมยังได้สปอนเซอร์เจ้าใหญ่อย่างเอสซีจี มาร่วมลงทุน ทำให้ยังคงเป็นบิ๊กทีมอยู่ตลอดเวลา มีลุ้นแชมป์ทุกฤดูกาล แม้จะเป็นรองบุรีรัมย์ แต่ถ้านับแค่ 2 ทีม นี่คือสองทีมที่ดีที่สุดของเมืองไทย ตอนนั้น วันเวลาผ่านไป ทีมอย่างการท่าเรือ ดูจะหนักสุดมีปัญหาเรื่องการเงิน เกือบจะยุบทีมไปแล้ว ยังดีที่มีนางฟ้าอย่างมาดามแป้งเข้ามาเทคโอเวอร์ ทำให้ทีมลืมตาอ้าปากขึ้นมาได้ ขณะที่บีจี เอง แม้จะไม่ประสบปัญหาเรื่องการเงิน แต่อย่างที่บอกผลงานกลับถอยหลังลงเรื่อยๆ ถึงขั้นตกชั้นไปเมื่อปี 2019 ก่อนจะกลับมาอีกครั้งในฤดูกาล 2020 นี้ ทีมอย่างชลบุรี ที่อยู่แบบสมถะมาตลอด หลายๆ ทีมแซงหน้าไป แต่เขายังอยู่ที่เดิม ทำให้มันก็เริ่มจะมีสั่นคลอนบ้าง ก็จะเห็นได้ว่าช่วงหลังๆ ก็เน้นปั้นเด็กและเอานักเตะตัวเก๋าๆ กลับมา จะไม่ได้ทุ่มซื้อซูเปอร์สตาร์อะไร แถมยังต้องปล่อยตัวหลักออกไปจากทีมด้วย มีช่วงนึงที่เชียงราย ยูไนเต็ด ก้าวขึ้นมาเป็นเจ้าบุญทุ่ม มีนายทุนเข้ามาร่วมทำทีม ก็กลายเป็นมหาเศรษฐีขึ้นมา ซื้อตัวดังๆ อย่าง ฐิติพันธ์ อย่าง ธรบูรณ์ และอีกหลายคนไปร่วมทัพ ได้กาม่า ไปคุมทีม ซึ่งก็ประสบความสำเร็จมากมาย แต่พอถึงจุดนึงเมื่อประสบปัญหาก็มีสั่นคลอนลงไป แต่กระนั้นพวกเขาก็ยังก้าวขึ้นมาเป็นแชมป์ไทยลีกได้ มาถึงฤดูกาลนี้ 2020 อะไรๆ ดูจะเปลี่ยนไปเยอะ ทีมอย่างกิเลนผยอง ที่แต่ก่อนนั้นเป็นทีมมีเงินมาโดยตลอด ตอนนี้เริ่มจะต้องประหยัด และขายนักเตะซุปตาร์ออกไปจากทีมทีละคนสองคน จนเริ่มจะคล้ายๆ กับชลบุรี แล้ว คือต้องหันมาปั้นเด็กแทน และด้วยเวลานี้ที่ดูเหมือนจะปล่อยตัวเก๋าๆ อย่าง สารัช ไปอีกคน ก็ต้องบอกเลยว่านักเตะไทยที่เป็นทีมชาติ เป็นตัวชูโรงไม่เหลือแล้ว ละนั่นอาจจะทำให้สถานะของกิเลนผยอง ที่เคยเป็นมหาอำนาจลูกหนังเมืองไทย มันก็ค่อยๆ หายไปด้วย เพราะตอนนี้มันมีคลื่นลูกใหม่ที่ก้าวขึ้นมา และก้าวขึ้นมาแบบแข็งแกร่งด้วย นอกจากบุรีรัมย์ ที่ยังอยู่บนสุดเหมือนเดิมแล้ว ทีมอย่างบียู หรือทรูแบงค็อก ที่พยายามจะก้าวขึ้นมาเป็นแชมป์ไทยลีกให้ได้หลายต่อหลายฤดูกาลแต่ก้ยังไม่สำเร็จ ส่วนเรื่องเงินไม่มีปัญหา ทีมการท่าเรือ ของมาดามแป้ง ก็เป็นอีกทีมที่ไม่มีใครปฏิเสธว่านี่คือทีมเศรษฐีตัวจริง แต่พวกเขาก็กำลังรอความสำเร็จอยู่ ทีมอย่างบีจี ปทุม ที่เลื่อนชั้นกลับขึ้นมาสู่ลีกสูงสุด ในฤดูกาลนี้พวกเขาแสดงให้เห็นแล้วว่า พวกเขาคือบิ๊กทีมตัวจริง และตอนนี้ก็พร้อมที่จะก้าวขึ้นมาท้าชิงแชมป์ด้วยอีกคน ในฤดูกาล 2020 นี้ ถ้าจะบอกว่าทีมไหนคือบิ๊กโฟร์ ทั้งเรื่องของสถานะทางการเงิน และความพร้อมศักยภาพในการจะเป็นแชมป์ไทยลีกแล้วละก็คือ ก็คงจะเป็น 4 ทีมนี้ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด, ทรู แบงค็อก, การท่าเรือ เอฟซี และ บีจี ปทุม ยูไนเต็ด 
logoline