logo-heading

สมาคมฟุตบอลฯแจง 4 ข้อเรียกร้องสโมสร แถมให้อีก 3 ยืนยันการเลื่อนเตะเร็วขึ้นทำไม่ได้ กรณีเลื่อนชั้นตกชั้นยังคงต้องมีเหมือนเดิม

จากกรณีที่มีข่าวว่าผู้บริหารสโมสรฟุตบอลบางคน ออกมาเคลื่อนไหวชักชวนสโมสรสมาชิกให้ลงชื่อทำหนังสือถึงสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ เพื่อให้ดำเนินการตามความต้องการเช่น 1.ให้สมาคมฯ จัดการแข่งขันฟุตบอลลีกเร็วขึ้น กว่ามติเดิมของสโมสรสมาชิก คือ 12 กันยาน 2563 และให้จบสิ้นในเดือนธันวาคม 2563 2. ให้สมาคมฯ จัดแข่งขันฟุตบอลลีกอาชีพ ฤดูกาล 2563 ให้จบภายในเดือนธันวาคม 2563 เพื่อให้ทรูถ่ายสดตลอดฤดูกาล และทรูจะจ่ายเงินตอบแทนค่าลิขสิทธิ์ตามสัญญาคือ 1,200 ล้านบาท 3. ให้สมาคมฯ ยกเลิกระบบการเลื่อนชั้น-ตกชั้น สำหรับฤดูกาล 2563 4. สโมสรจะทำข้อตกลงระหว่างกันเอง เรื่องจำนวนการส่งนักเตะต่างชาติลงสนามในแต่ละนัด เพื่อมิให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบ ในการนี้ ขอชี้แจงดังนี้ 1.สโมสร ลงมติเป็นเอกฉันท์ให้เลื่อนการแข่งขัน 12 กันยายน 2563 จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างรุนแรงเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ทำให้สโมสรสมาชิกมีมติร่วมกันเป็นเอกฉันท์ให้เลื่อนการแข่งขันออกไปจนถึงวันที่ 12 กันยายน 2563 เพราะคาดว่าสถานการณ์คงยังไม่ดีขึ้นในเร็ววัน และเพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่ายเบี้ยเลี้ยงเงินเดือนนักบอลและเจ้าหน้าที่ทีม โดยให้สมาคมแจ้งไปยังฟีฟ่าขอเปลี่ยนแปลงกำหนดเวลาโอนย้ายนักฟุตบอลเป็นกรณีพิเศษ จึงทำให้บางสโมสรปล่อยตัวนักเตะต่างชาติกลับภูมิลำเนา และ ณ ปัจจุบันส่วนใหญ่ยังไม่สามารถเดินทางกลับมาได้ในขณะนี้ จึงอาจจะส่งผลถึงความได้เปรียบเสียเปรียบกับบางสโมสรในการแข่งขันฟุตบอลอาชีพ และโดยหลักการ การเปลี่ยนแปลงนโยบายของสมาคมไม่ควรถูกกำหนดหรือเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการกดดันของสโมสรบางส่วน เพราะจะทำให้เกิดความเสียหาย ความน่าเชื่อถือ และความได้เปรียบเสียเปรียบ ความเสมอภาคกัน 2. เริ่มแข่งขันเร็วขึ้น และให้จบฤดูกาล 2563 ภายในเดือนธันวาคม ในเรื่องนี้หากมีเหตุผลเพียงพอและเป็นที่ยอมรับ ทั้ง สโมสร นักกีฬาฟุตบอล และทรู ที่จะต้องมีการแข่งขันที่ถี่ๆ ทุกๆ 2-3 วันต่อแมตซ์ สมาคมฯ ก็พร้อมที่จะดำเนินการ แต่เรื่องการถ่ายทอดของทรูจะมีขึ้นตามที่กำหนด หรือจ่ายเงินครบ 1,200 ล้านหรือไม่คงยังไม่สามารถยืนยันได้เพราะสมาคมคงต้องรอให้มีการเจรจาตามข้อเสนอของทรูเสียก่อน 3.ขอให้สมาคมฯ ยกเลิกระบบการเลื่อนชั้น-ตกชั้น ฟุตบอลลีกอาชีพ ฤดูกาล 2563 การยกเลิกระบบการเลื่อนชั้น-ตกชั้น ฤดูกาล 2563 นั้นคงเป็นไปได้ยาก และคงไม่ได้รับการยอมรับจากสโมสรรวมทั้งแฟนบอล ทั้งยังอาจก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมาถึงความน่าเชื่อถือและมูลค่าของลีก และอาจถูกมองว่าเป็นประโยชน์กับบางสโมสรเท่านั้น โดยหลักการ การยกเลิกการเลื่อนชั้นตกชั้นจะทำได้เฉพาะฤดูกาลที่เกิดเหตุสุดวิสัย และการแข่งขันไม่สามารถจัดได้ครบตามโปรแกรม 4.เรื่องโควตานักฟุตบอลต่างชาติของแต่ละสโมสร เรื่องจำนวนนักฟุตบอลต่างชาติของแต่ละสโมสร นั้น สมาคมฯ ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงตามความเห็นของบางสโมสรได้ เนื่องจากเป็นกติกาที่กำหนดขึ้น เป็นกติกาสากล อีกทั้งยังมีการแข่งขันไปแล้ว 4 นัดแรก หากมีการเปลี่ยนแปลงตามข้อเรียกร้องอาจทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบกับบางทีมได้ อีกทั้งยังเป็นสิทธิ์ของสโมสรที่จะลงทะเบียนตามระเบียบการแข่งขัน 5.สุขภาพนักกีฬา ความฟิต เพียงพอและเหมาะสมกับจำนวนแมตช์การแข่งขันถี่ๆ หรือไม่ สมาคมฯ ได้พูดคุยกับ สมาคมนักกีฬาฟุตบอลอาชีพ (PFA) ซึ่งแสดงความเป็นห่วงเรื่องของสุขภาพนักกีฬาฟุตบอลที่อาจเกิดอาการบาดเจ็บ เนื่องจากต้องลงสนามถี่ๆ อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งบางสโมสรที่เตรียมแผนไว้สำหรับกลับมาแข่งขันในวันที่ 12 กันยายน เพิ่งกลับมาเข้าแคมป์ฝึกซ้อม สภาพความฟิตของนักกีฬา ยังไม่มากพอและไม่เหมาะสมกับโปรแกรมหนักๆ อาจส่งผลเสียหายต่อตัวนักกีฬาได้ 6.ทีมชาติไทยกับการแข่งขันฟุตบอลโลก รอบคัดเลือก 3 นัดสุดท้าย การจัดแข่งขันลีกให้จบภายในเดือนธันวาคม ย่อมส่งผลกระทบต่อทีมชาติไทย ที่มีโปรแกรมแข่งขันในวันที่ 8 ตุลาคม 63 และ วันที่ 12 และ 17 พฤศจิกายน 63 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และต้องยกเลิกการเตรียมทีม อุ่นเครื่อง หรือ การเก็บตัวทั้งหมด เพื่อเลี่ยงโปรแกรมให้ฟุตบอลลีก นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงความพร้อมทางด้านร่างกายของนักกีฬาที่ต้องลงแข่งขันอย่างหนักทั้งฟุตบอลลีก และในนามทีมชาติไทย ซึ่งมีโอกาสที่นักกีฬาจะเกิดอาการบาดเจ็บหนัก จนส่งผลกระทบต่อทั้งสโมสรและทีมชาติได้ 7.การแข่งขันฟุตบอลสโมสรชิงแชมป์เอเชีย นอกจากนี้ การเร่งเตะให้จบภายในเดือนธันวาคม ยังส่งผลกระทบต่อ สโมสรเชียงราย ยูไนเต็ด ซึ่งถือว่าเป็นตัวแทนสโมสรจากประเทศไทย เข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนี้ จะพบตารางการแข่งขันที่ซ้ำซ้อน โดยไม่สามารถขยับตารางได้ หากในกรณีที่ไม่สามารถเข้าร่วมแข่งขันต่อได้ ย่อมสร้างความเสียหายให้กับสโมสร และสิทธิ์ในการเข้าร่วมแข่งขันของสโมสรจากประเทศไทยในอนาคตเช่นกัน  
logoline