เปิดชีวิตของ น็อบบี้ สไตล์ส หนึ่งในตำนานของ แมนยูฯ ก่อนสิ้นลมในวัย 78 ปี
หนึ่งในนักเตะที่เข้าขั้นระดับตำนานของสโมสร แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ผู้คนต่างชื่อชอบทักษะ และความสามารถบนฟลอร์หญ้าของชายผู้นี้ มันสมองที่เฉียบคมในการเล่นฟุตบอล นอกจากนั้นเขายังเป็น 1 ใน 2 แข้งร่วมกับ เซอร์ บ็อบบี้ ชาร์ลตัน ที่เป็นนักเตะชาวอังกฤษที่สามารถเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศได้ทั้งศึกฟุตบอลโลก และบอลถ้วยใหญ่ในระดับสโมสร เขาผู้นี้มีนามว่า น็อบบี้ สไตล์ส
แต่ในวันนี้ น็อบบี้ สไตล์ส ในวัย 78 ปี ได้จากโลกใบนี้ไปแล้วเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม ที่ผ่านมา หลังจากที่ต้องต่อสู้กับโรคมะเร็งต่อมลูกหมากและมีภาวะสมองเสื่อมขั้นสูงมาอย่างยาวนาน แต่ถ้ามองย้อนกลับไปในอดีตชีวิตของเขาผู้นี้น่าสนใจยิ่งนักโดยเส้นทางสายลูกหนังที่เริ่มต้นได้อย่างกับหนังชีวิตเรื่องหนึ่ง ย้อนกลับเมื่อครั้งที่ น็อบบี้ สไตล์ส ยังคงอยู่ในวัยเรียนรู้ รูปร่างหน้าตาเขาเป็นเด็กที่หน้าตาสะบักสะบอม อาศัยอยู่แถวถนน Collyhurst โดยมีความฝันที่อยากที่จะเลียนแบบ เอ็ดดี้ โคลแมน รุ่นพี่ที่ค้าแข้งกับสโมสร แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด
จนกระทั่งเข้าสู่ปี 1957 ชีวิตของเขาได้พลิกผันได้เข้าไปเป็นเด็กฝึกหัดวิชาลูกหนังกับ แมนฯ ยูไนเต็ด ซึ่งเขาได้กล่าวในอัตชีวประวัติของเขาว่าชีวิตนี้มันไม่ง่ายเลยกับการได้มาอยู่ในจุดนั้น "การดำเนินชีวิตไม่มีใครเคยบอกว่ามันจะง่าย"
โดย น็อบบี้ สไตล์ส ในช่วงแรกนั้นเจ้าตัวได้โอกาสวาดลวดลายกับทีมสำรองของ "ปีศาจแดง" จนกระทั่งปี 1958 ในทีมสำรองที่พบกับ แอสตัน วิลล่า เจ้าตัวโชว์ได้อย่างยอดเยี่ยม และรักษาผลงานเอาไว้ได้อย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งทำให้ถูกเรียกตัวขึ้นไปยังทีมในชุดใหญ่ครั้งแรกในช่วงฤดูกาล 1960-61 และได้ประเดิมสนามนัดแรกในเกมที่พบกับ โบลตัน ในเดือนตุลาคมของปี 1960 ซึ่งนั้นคือบันไดก้าวแรกในการเดินเส้นทางนักฟุตบอลอาชีพของเขา
แน่นอนในห้วงเวลานั้นกุนซือของ แมนฯ ยูไนเต็ด คือ แมตต์ บัสบี้ คุณต้องมีความพยายามเพิ่มเป็นอีกเท่าตัว แต่สำหรับ น็อบบี้ สไตล์ส ด้วยแนวทางการเล่นของเขา บวกความกระตือรือร้น และแนวทางการดำเนินชีวิต มันช่วยให้หลอรวมให้ตัวเขาสามารถเป็น ยูไนเต็ด ได้ไม่ยาก ซึ่งเรื่องนี้ จอห์นนี่ แคร์รี่ กัปตัน แมนฯ ยูไนเต็ด ชุดแชมป์เอฟเอ คัพ ปี 1948 ได้ พูดถึงเด็กหนุ่มอย่าง สไตล์ส ภายหลังได้ยลฟอร์มการเล่นของเขาที่มีจุดเด่นเรื่องของการสกัดบอล และกลายเป็นนักเตะที่มีมันสมองเรื่องฟุตบอลเกมรับมากพอสมควร ซึ่งมันเหมาะสมกับตำแหน่งมิดฟิลด์ตัวรับที่ต้องการคนที่แข็งแกร่ง และยอดเยี่ยมแบบเขา
"คุณต้องรู้จุดที่แท้จริงของการเล่น คุณต้องเข้าใจว่าคุณติดทีมตรงไหน และสิ่งที่คุณมีส่วนช่วยได้ดีที่สุด คุณเป็นคนแรกที่ครองบอล และรับลูกโหม่งเข้ามาซึ่งมันจะเป็นการกำหนดวิธีการเล่นของทีม"
ซึ่งด้วยทัศนคติส่วนตัวของเขาทำให้ น็อบบี้ สไตล์ส ก้าวขึ้นมาเป็นแกนหลักของทีมได้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะก่อนที่เจ้าตัวจะขึ้นมาสู่ชุดใหญ่ของทีมเพียง 2 ปี ได้เกิดโศกนาฏกรรมมิวนิค และด้วยเหตุการณ์ครั้งนั้นมันก็เลยทำให้เป็นเหมือนการสร้างแรงผลักดันให้กับเจ้าตัวเติบโตให้เร็วขึ้น เพราะนั้นมันไม่ได้หมายถึงเพียงตัวของนักฟุตบอล หรือในฐานะผู้เล่นเท่านั้น แต่มันคือทีมที่ต้องก้าวเดินต่อไป
วันเวลาผ่านไปช่วงชีวิตที่เข้าได้สูดลมหายใจกับทีมชุดใหญ่ก็ดำเนินอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งเข้าสู่ฤดูกาล 1967-68 แมนฯ ยูไนเต็ด ได้โอกาสเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศศึกยูโรเปี้ยน คัพ (ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก ในปัจจุบัน) ไปพบกับ เบนฟิก้า แน่นอนเกมในวันนั้น น็อบบี้ สไตล์ส ทำผลงานได้อย่างพอใจเขาเป็นเหมือนเงาตามตัวที่คอยประกับ ยูเซบิโอ ตำนานของทีมคู่แข่งแบบทุกฝีก้าว จนได้รับคำชมว่าเขาเปรียบเหมือนสุนัขดมกลิ่นที่ความรู้สึกว่องไว และสายตามที่เฉียบแหลม ซึ่งความพยายามตรงนี้ช่วยให้ทีมได้เถลิงบัลลังก์แชมป์ยุโปรได้อย่างสง่างาม
แต่ใครจะรู้ว่าระหว่างทางก่อนที่จะได้ฉลองความสำเร็จตัวของ น็อบบี้ สไตล์ส ต้องเข้ารับการผ่าตัดกระดูกอ่อนถึง 2 ครั้งในช่วงระหว่างปี 1967-1969 ซึ่งทำให้เขาได้รับผลกระทบมากพอควรทั้งต้องพักยาวถึง 8 เดือน แต่สุดท้ายเรื่องราวทุกอย่างก็ผ่านไปได้ด้วยดี เขามีชื่อติดทีมชาติอังกฤาชุดลุยศึกฟุตบอลโลกปี 1970 ซึ่งเป็นการลงเล่นเวิลด์คัพ ครั้งที่ 2 ของเจ้าตัว
ภายหลังครั้งแรกที่เขาได้โอกาสลงเล่นทัวร์นาเมนต์นี้คือเมื่อปี 1966 โดย สไตล์ส คือ 1 ในขุมกำลังชุดคว้าแชมป์ของทัพ "สิงโตคำราม" และได้ลงเล่นในรอบชิงชนะเลิศด้วย ซึ่งนับมาจนถึงวันนี้นั้นคือการเข้าชิงหนล่าสุดของทีมชาติอังกฤษอีกด้วย
ก่อนที่ด้วยวิถีลูกหนังจากพัดพาตัวเขาออกจากสโมสรที่ปลุกปั้นอย่าง แมนฯ ยูไนเต็ด โดยในช่วงเดือนเมษายน 1971 น็อบบี้ สไตล์ส ถูกสโมสร มิดเดิลสโบรห์ ดึงตัวไปร่วมทีมด้วยมูลค่า 20,000 ปอนด์ ทิ้งสถิติการลงสนามกับทัพ "ปีศาจแดง" ไว้ที่ 311 นัด พ่วงด้วยแชมป์ยูโรเปี้ยนส์ คัพ 1 สมัย กับ แชมป์ลีกสูงสุด 2 สมัย ในปี 1965 กับ 1967
โดยชีวิตของเขาหลังออกจาก โอลด์ แทรฟฟอร์ด ก็ค้าแข้งอยู่กับ โบโร่ ได้ 2 ปี ก็โยกย้ายอีกครั้งไปร่วมทัพ เปรสตัน นอร์ท เอนด์ ก่อนประกาศแขวนสตั๊ดอำลาเส้นทางลูกหนังในปี 1975 ก่อนที่อีก 2 ปี หลังจากนั้นเขาจะมุ่งหน้าสู่เส้นทางกุนซือโดยประเดิมงานแรกกับอดีตต้นสังกัดอย่าง เปรสตัน ก่อนข้ามน้ำทะเลไปคุมทีม แวนคูเวอร์ ไวท์แคปส์ ทีมในประเทศอเมริกา ก่อนกลับมายังดินแดนผู้ดีอีกครั้งในปี 1985 ในฐานะกุนซือของ เวสต์บรอมวิช อัลเบี้ยน
จนกระทั่งปี 1989 หลังเจ้าตัวว่างงานอยู่ 3 ปีเต็ม เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ก็ได้เรียกตัวเขาให้กลับมาทำงานกับ แมนฯ ยูไนเต็ด อีกครั้ง แน่นอนเขาคว้าโอกาสครั้งนี้ไว้อย่างรวดเร็ว เพราะนี้คือการได้กลับมายังบ้านหลังเดิมเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 18 ปี
"ผมจากที่นี่ไป 18 ปีแล้ว แต่มันเหมือนกับว่าผมเพิ่งถอยหลังออกไปเมื่อวานนี้เอง"
แน่นอนการกลับมายังรังตัวเองอีกครั้งนี้คราวนี้เขาเปรียบเสมือนเป็นพี่เลี้ยงเด็กที่คอยให้คำปรึกษา และถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตสิ่งบางอย่างในตัวให้กับนักเตะเยาวชนของทีมในตอนนั้นไม่ว่าจะเป็น พอล สโคลส์, เดวิด เบ็คแฮม, พี่-น้อง เนวิลล์ และ นิคกี้ บัตต์ ซึ่งด้วยวิธีการแบบนี้มันเหมือนเอาสายเลือดของทีมมาถ่ายทอดความเป็น ยูไนเต็ด ใส่เด็กรุ่นใหม่เพื่อสืบตำนานรุ่นสู่รุ่น
จากเด็กเนื้อตัวสะบักสะบอม สู่เด็กเก็บบอลที่ได้ค่าแรงเพียง 6 เพนนี ก้าวกระโดดกลายเป็นตำนานของสโมสรที่ยิ่งใหญ่อย่าง แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด แม้วันนี้เขาจะโบกมืออำลาโลกใบนี้ไปแล้ว แต่ผลงานที่เขาได้ทำไว้คือเครื่องพิสูจน์ความยิ่งใหญ่ของชายที่ชื่อ น็อบบี้ สไตล์ส อยู่เสมอ
RIP Nobby Stiles