logo-heading

วงการฟุตบอลยุโรป แสดงจุดยืนมาตลอดว่า "จะต่อต้านการเหยียดผิว" ทุกรูปแบบ เพราะในอดีตที่ผ่านมา เกมลูกหนังมักตกเป็นข่าวฉาวเรื่องเหยียดเชื้อชาติมาโดยตลอด ซึ่งแน่นอนว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด 

สมัยก่อนอาจจะข่าวฉาวเรื่องการเหยียดผิวเกิดขึ้นในสนาม อาจจะมีจากปากนักเตะที่ห้ำหั่นกัน หรือ พวกแฟนบอลถ่อย ที่ตะโกนด่านักเตะแบบไม่คิดหน้าคิดหลัง แต่ยุคสมัยนี้ มันลุกลามไปมากกว่านั้น เพราะทุกคนเข้าถึงโซเชี่ยล คิดจะพิมพ์อะไรก็พิมพ์ คิดจะเขียนอะไรก็เขียน โดยไม่คำนึงอะไรทั้งสิ้น เอาแค่ความสะใจตัวเองเป็นหลัก

เรื่องบางเรื่องถ้าเราไม่เจอกับตัว คงจะไม่มีทางรู้ว่า มันจะรู้สึกอย่างไร หรือ มีผลกระทบต่อสภาพจิตใจมากแค่ไหน ซึ่งเหล่านี้แหละครับทำให้ทุกสโมสรในศึก พรีเมียร์ลีก อังกฤษ รวมถึงทุกลีกชนชั้น ประกาศบอยคอตต์โซเชี่ยล เน็ตเวิร์ค ทุกช่องทาง เพื่อแสดงพลังให้เอาจริงเอาจังกับพวกเหยียดผิว ให้สิ้นซาก

แต่บางคนอาจจะไม่รู้ที่มาว่า การบอยคอตต์ของ พรีเมียร์ลีก อังกฤษ เริ่มต้นจากจุดไหน และ ทำไปเพื่ออะไร จะมาอธิบายให้ทุกคนทราบกันแบบพอสังเขป

- เหตุผลของการเริ่มบอยคอตต์ โซเชี่ยล เน็ตเวิร์ค

ที่มาของการแบนโซเชี่ยล คงไม่ต้องเกริ่นอะไรมากอีกแล้ว เพราะมันเริ่มต้นมาจากการ "เหยียดเชื้อชาติ" เนื่องด้วยโลกยุคปัจจุบัน การเข้าถึงทำได้อย่างง่ายดาย ไม่พอใจอะไรก็พิมพ์โดยไม่นึกคิด โดยเฉพาะการแสดงความคิดเห็นที่ขาดวุฒิภาวะ แต่กระนั้นผู้ให้บริการโซเชี่ยลมีเดีย อาทิ เฟซบุ๊ค, ทวิตเตอร์ หรือ อินสตาแกรม กลับเพิกเฉย ไม่มีบทลงโทษอะไรทั้งสิ้น ซึ่งนั่นทำให้ พรีเมียร์ลีก อังกฤษ, สมาคมฟุตบอลอังกฤษ (เอฟเอ), องค์กรฟุตบอลลีกอังกฤษ (อีเอฟแอล) รวมถึง ลีกฟุตบอลหญิงอังกฤษ ประกาศจะขอบอยคอตต์หันหลังให้กับโซเชี่ยลทุกช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นแอคเคาน์ส่วนตัว หรือ สโมสร ขนาดสำนักข่าวกีฬาดังๆอย่าง สกาย สปอร์ต ก็ขอเข้าร่วมแคมเปญนี้ด้วย พรีเมียร์ลีก อังกฤษ ได้แถลงการณ์ถึงการบอยคอตต์ ครั้งนี้ไว้ว่า "ข้อความที่จะกล่าวถึงไม่มีอะไรซับซ้อน บริษัทผู้ดูแลโซเชี่ยลจะต้องมีมาตรการเด็ดขาด เพื่อหยุดคอมเมนต์เชิงเหยียดเชื้อชาติทางออนไลน์ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงจะต้องเกิดขึ้นในแพลทฟอร์มของพวกเขา"

- บอยค็อตต์ ถึงวันไหน ?

การบอยค็อตต์ โซเชี่ยล เน็ตเวิร์ค ของ พรีเมียร์ลีก อังกฤษ ครั้งนี้ จะใช้เวลาทั้งสิ้น 4 วัน ซึ่งได้เริ่มไปแล้วตั้งแต่เวลา 15.00 น. เมื่อวันศุกร์ที่ 30 เมษายน ที่ผ่านมา ไปสิ้นสุดวันที่ 3 พฤษภาคม ช่วงเวลาประมาณ 23.59 น. (ตามเวลาประเทศอังกฤษ) (หากคิดตามเวลาท้องถิ่นประเทศไทย คือ 3 ทุ่ม ของวันที่ 30 เมษายน - 6 โมงเข้า วันที่ 4 พฤษภาคม)

- เคสล่าสุด

จำเกมที่ ลิเวอร์พูล พ่ายแพ้ต่อ เรอัล มาดริด 1-3 ในศึก ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก รอบก่อนรองชนะเลิศ นัดแรก กันได้ไหมครับ วันนั้นนักเตะ หงส์แดง หลายๆคนเล่นผิดฟอร์ม ไม่สบอารมณ์แฟนบอลเท่าไหร่นัก และ กลายเป็นว่าแพะรับบาปที่โดนด่าเละเทะ คือ นาบี เกอิต้า ซึ่ง เจอร์เก้น คล็อปป์ ส่งลงเป็นตัวจริงแบบเซอร์ไพรส์ รวมไปถึง ซาดิโอ มาเน่ และ เทรนท์ อเล็กซานเดอร์-อาร์โนลด์ ก็ไม่เว้น ทั้ง 3 คน กลายเป็นที่รองรับอารมณ์ของแฟนบอลบนโลกโซเชี่ยล ใช้แค่ปลายนิ้วสัมผัส พ่นคอมเมนต์ในเชิงเหยียดผิว โดยที่ไม่นึกถึงใจคนที่ต้องเห็นเลยด้วยซ้ำ ทำให้เรื่องนี้มันกลายเป็นกระแสที่พูดถึงกันอย่างกว้างขวาง อย่าง จอร์แดน เฮนเดอร์สัน กัปตันทีม ลิเวอร์พูล ออกมาปกป้อง และ ประณามการเหยียดเชื้อชาติของแฟนบอลไร้สำนึก ซึ่งครั้งนั้น "เฮนโด้" ก็เคยเปรยไว้แล้วว่า "อาจจะปิดแอคเคาน์ตัวเองในโลกโซเชี่ยล เพื่อต่อต้านการเหยียดผิว"

- ซาฮา ทำให้วงการลูกหนัง ตระหนักเรื่องเหยียดผิวอีกครั้ง

กลายเป็นธรรมเนียมไปแล้ว สำหรับเกมลูกหนังยุโรป โดยเฉพาะ พรีเมียร์ลีก อังกฤษ ที่จะมีการนั่งคุกเข่าเป็นเชิงสัญลักษณ์ ภายใต้แคมเปญ Black Lives Matter เพื่อร่วมกันแสดงออกถึงการต่อต้านการเหยียดผิว เรียกร้องความยุติธรรมให้กับ จอร์จ ฟลอยด์ ชายผิวดำชาวสหรัฐ ที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจผิวขาว ใช้เข่ากดคอจนขาดอากาศหายใจและเสียชีวิต เมื่อช่วงกลางปี 2020 ถึงแม้ว่าแคมเปญการคุกเข่านี้ จะกระทำต่อมาจนกลายเป็นธรรมเนียม แต่ถึงกระนั้น วิลฟรีด ซาฮา ปีกผิวสีของ คริสตัล พาเลซ กลายเป็นนักเตะคนแรกของ พรีเมียร์ลีก อังกฤษ ที่ปฏิเสธทำ Take a knee .. ไม่ใช่ว่าเขาไม่สนับสนุนเรื่องต่อต้านการเหยียดผิว แต่สาเหตุที่เขาเลือกยืนนิ่งๆ เป็นเพราะรู้สึกว่า "การคุกเข่าตอนนี้เป็นเหมือนเพียงกิจวัตรก่อนเตะเท่านั้น เพราะสุดท้ายบางคนก็ยังคงโดนเหยียดสีผิวอยู่ดี" ซาฮา เน้นย้ำอีกว่า ที่จริงแล้วในสังคมควรจะต้องกระตุ้นเรื่องต่อต้านเหยียดผิวให้มากกว่านี้ และ โลกโซเชี่ยล เน็ตเวิร์ค ต้องมีมาตรการที่เด็ดขาดกว่านี้ เพราะการเหยียดเชื้อชาติทางออนไลน์ ยังมีให้พบเห็นในทุกๆวัน ซึ่งไม่ใช่แค่นักฟุตบอลเท่านั้น คนธรรมทั่วไปก็ประสบพบเจอ ทำให้มองว่าการ "คุกเข่า" ก็ไม่มีประโยชน์ และ ประเด็นนี้แหละครับ การต่อต้านเหยียดผิว กลับมาเป็นประเด็นที่หลายคนให้ความสนใจอีกครั้ง - มีองค์กรไหนเข้าร่วมบ้าง ต้องบอกว่าการบอยคอตต์โซเชี่ยลของวงการลูกหนังแดน "ผู้ดี" สร้างแรงกระเพื่อมไปทั่วยุโรปจริงๆครับ เพราะหลายๆองค์กรต่างให้ความสนใจในแคมเปญนี้กันอย่างกว้างขวาง โดย สหพันธ์ฟุตบอลยุโรป หรือ ยูฟ่า ก็ประกาศหยุดความเคลื่อนไหวทางโซเชี่ยล ทุกแพลทฟอร์ม ในช่วงเวลาเดียวกันกับทาง พรีเมียร์ลีก อังกฤษ เช่นเดียวกันกับ สมาคมสโมสรฟุตบอลยุโรป (อีซีเอ) ซึ่งเพิ่งแต่งตั้ง นาสเซอร์ อัล-เคไลฟี่ ประธาน ปารีส แซงต์-แชร์กแมง เข้ามาดำรงในตำแหน่งประธาน แทนที่ อันเดรีย อันเญลลี่ หัวเรือใหญ่ ยูเวนตุส ที่ลาออกจากคดี ยูโรเปี้ยน ซูเปอร์ ลีก ก็ประกาศบอยคอตต์โซเชี่ยล ทุกแพลทฟอร์มเช่นกัน เชื่อว่าสุดท้ายแล้ว การเหยียดผิว จะไม่มีทางหมดไปบนโลก แต่แคมเปญนี้ คงจะทำให้ผู้ดูแลสื่อโซเชี่ยล ไม่ว่าจะเป็น เฟซบุ๊ค, ทวิตเตอร์ และ อินสตาแกรม ตระหนักมากขึ้นว่า "คำพูดที่มันกระทบต่อจิตใจ" สำคัญมากเพียงใด การเอาผิดอย่างจริงจังกับพวกเหยียดผิวสำคัญแค่ไหน ถึงแม้มันจะไม่หมด แต่ให้ลดน้อยลงไป ก็ยังดี

ฮาย ฮาวดี้-

logoline