logo-heading

หากจะพูดถึง ‘แชมป์ไร้พ่าย’ แฟนบอลชาวไทยส่วนใหญ่น่าจะนึกถึง อาร์เซน่อล มาเป็นทีมแรก แต่คุณรู้หรือไม่ว่า ปืนใหญ่ ไม่ใช่ทีมล่าสุดใน 5 ลีกใหญ่ยุโรป ที่สามารถคว้าแชมป์ลีกแบบไม่แพ้ใครเลยได้

หากแต่เป็น ‘ไอ้ม้าลาย’ ยูเวนตุส เมื่อฤดูกาล 2011/12 และแน่นอนในช่วงนี้ที่ ‘แฟนจูฟ’ กำลังขื่นข่มกับผลงานสุดระทมของทีม วันนี้ ขอบสนาม ของเรา จึงอยากจะหยุดเวลา พาไปย้อนฟังถึงช่วงเวลาอันแสนหอมหวานของพวกเขากันบ้าง

กับ ยูเว่ ชุดประวัติศาสตร์ ที่สามารถพลิกจากจุดตกต่ำสู่การมาเป็นแชมป์ลีกไร้พ่าย ซึ่งเราจะพาไปดูกันว่าพวกเขาสามารถทำมันได้อย่างไร ?

 

1. เสี่ยงแล้วได้เจอโค้ชที่ใช่

ย้อนไปก่อนซีซั่น 2011/12 จะเริ่มขึ้น ถือเป็นช่วงที่ตกต่ำของ ยูเวนตุส พวกเขาเคยถูกปรับตกชั้นจากคดี กัลโช่ โปลี เมื่อปี 2006 และไม่ได้สัมผัสกับแชมป์ เซเรีย อา มานานถึง 8 ปีเต็ม รวมถึง 2 ฤดูกาลก่อนหน้าก็จบได้แค่เพียงอันดับ 7 ของตารางมาสองปีติด

ยูเว่ จึงตัดสินใจที่จะเปลี่ยนแปลง ด้วยการกล้าที่จะ ‘เสี่ยง’ ดึง อันโตนิโอ คอนเต้ อดีตนักเตะและกัปตันสโมสรมาเป็นผู้จัดการทีม ทั้ง ๆ ที่ คอนเต้ ตอนนั้น ยังมีประสบการณ์ในลีกสูงสุดเพียงแค่ไม่กี่นัดเท่านั้นเอง

 

2. การเสริมทัพที่โคตรตรงจุด

ปีนั้นถือเป็นปีที่ ยูเว่ มีการยกเครื่องขุมกำลังพอสมควร มีนักเตะย้ายออกมากมาย และมีนักเตะหน้าใหม่ย้ายเข้ามาหลายคนเช่นกัน และมีหลายดีลที่โคตรตรงจุดช่วยยกระดับทีมขึ้นมา ทั้งการเข้ามาของ สเตฟาน ลิชสไตเนอร์ ในตำแหน่งแบ็คขวา, สองกองหน้าอย่าง มีร์โก วูชินิช และ อเลสซานโดร มาตรี้, ซิโมเน่ เปเป้ ในตำแหน่งปีก, อาร์ตูโร่ วิดัล ผู้เข้ามาเป็นกองกลางพลังม้า

และที่สำคัญที่สุด ดีลที่แฟน ๆ หลายคนยกย่องว่าคุ้มค่าที่สุดในรอบหลายทศวรรษ คือการคว้า อันเดรีย ปีร์โล่ จาก เอซี มิลาน เข้ามาเป็นจอมทัพในแนวลึกแบบฟรี ๆ ไม่เสียค่าตัว

3. พัฒนาระบบการเล่น

อย่างที่เราบอกไปในหัวข้อแรกว่า ยูเวนตุส เลือกที่จะยอมเสี่ยงแล้วได้โค้ชที่ใช่ และคนที่ใช่อย่าง คอนเต้ ก็ใช้วิธีที่ใช่ ด้วยการเข้ามาปรับเปลี่ยนสไตล์การเล่นของทีมเป็นสิ่งแรก ๆ จากเน้นบอลโยน คอนเต้ ปรับ ทัพจูฟ ให้ทันสมัยมากขึ้น ด้วยการโฟกัสในการเพรสซิ่งสูง และเน้นการครอบครองบอล

และอีกหัวใจสำคัญ คือ คอนเต้ มีความกล้าในการปรับเปลี่ยนแท็คติกของทีม เพื่อให้เหมาะกับฝั่งตรงข้าม เขาไม่กลัวที่จะปรับจากแผน 4-4-2 มาใช้ระบบ 3-5-2 ที่กลายเป็นลายเซ็นของเขาในปัจจุบัน หรือจะแผน 4-3-3 ระบบที่ คอนเต้ เลือกใช้มากที่สุดในซีซั่นนั้น

โดยชุดหลัก ๆ ของพวกเขา หัวใจสำคัญที่สุดคือแนวรับ มี จานลุยจิ บุฟฟ่อน ยืนเป็นประตู 3 กองหลัง BBC โบนุชชี่, บาร์ซาญี่ และ คิเอลลินี่ มีแบ็คตัวหลักเป็น ลิชสไตเนอร์

มีกองกลางที่สมดุลและสามารถเล่นได้หลายรูปแบบ นำมาโดย ปิร์โล ตัวสร้างสรรค์, วิดัล ตัวพลังงาน และ เคลาดิโอ มาร์คิซิโอ ตัวบาลานซ์ ส่วนกองหน้ามักจะใช้งาน 3 คนหลัก ๆ คือ วูชินิช, มาตรี้ และ ซิโมเน่ เปเป้

 

4. ความเป็นทีมคือหัวใจ

ฟังเรื่องก่อนหน้ามาดูเหมือนจะสวยหรูใช่ไหมครับ ทว่าเส้นทางในช่วงออกสตาร์ทของพวกเขา ช่างตรงข้ามกับคำนี้เลย หลัง ยูเวนตุส เริ่ม 7 นัดแรกในฤดูกาล 2011/12 ด้วยการเสมอไปถึง 4 เกม ในเดือนตุลาคม มีแต้มตามหลัง เอซี มิลาน ถึง 7 แต้ม ณ ตอนนั้นยังไม่มีใครคิดถึงเรื่องแชมป์

ก่อนที่ คอนเต้ จะเริ่มส่งต่อแนวทางการเล่น รวมถึงทัศนคติที่ยอดเยี่ยมภายในทีม รวมทั้งการ ‘ปลุกใจ’ ที่ถือเป็นอีกจุดเด่นของ คอนเต้ 

ทุกอย่าง ๆ ส่งต่อไปถึงลูกทีม เห็นได้จากผลงานที่กลับมาชนะ 4 นัดรวด และการฉลองแต่ละประตูของ ยูเวนตุส ยุคเขา ที่เต็มไปด้วยแพชชั่นและความทุ่มเท

จากนั้นช่วงกลางฤดูกาล แม้ ยูเว่ จะมีผลงานที่ขึ้น ๆ ลง ๆ บ้าง แต่ที่สำคัญคือพวกเขาไม่มีแพ้สักนัด ด้วยจุดเด่นที่สุดของทีมชุดนี้ คือเกมรับที่โคตรแข็งแกร่งและเป็นปึกแผ่นเดียวกัน

5. เต็มที่ไม่มีผ่อน

มาในช่วงท้ายฤดูกาล ยูเวนตุส เริ่มมีผลงานดีชนะถี่ ๆ จนได้รับคำชมมากมาย แต่นั่นกลับไม่ทำให้ คอนเต้ รู้สึกดีด้วย เขาจึงได้กล่าวคำปลุกใจที่เป็นที่น่าจดจำ คำที่แสดงความเป็น ยูเวนตุส ในยุคเขา ผ่านสื่อไปถึงลูกทีมว่า

“ตอนนี้ ผู้คนต่างพากันชื่นชมเรา แต่นั่นกลับทำให้ผมรู้สึกกลัว เพราะอะไรนะหรอ เพราะผมกลัวใครบางคนที่นี่จะเริ่มผ่อนคลาย จากการได้รับเสียงปรบมือและคำชื่นชม”

“แต่ความจริงคืออะไร ความจริงคือสิ่งที่แสดงในสนาม ความจริงคือหยาดเหงื่อ ความจริงคือการเสียสละ และนั่นคือสิ่งที่พาเรามาถึงจุดนี้ และที่สำคัญเรายังไม่ได้ทำมันให้สำเร็จเลย” 

“มามองต่อไปข้างหน้า เราพร้อมที่จะสู้สุดใจจนจบ และอย่างที่ผมเคยพูดไปแล้ว ว่าทั้งเราและ เอซี มิลาน จะต้องสู้หลั่งเลือดกันไปจนถึงเกมสุดท้าย”

และฟอร์มของ ยูเว่ ในช่วงท้ายก็ไม่มีผ่อน พวกเขาชนะถึง 8 นัดรวด ก่อนจะไปการันตีคว้าแชมป์ได้ในนัดรองสุดท้ายของฤดูกาล และจบซีซั่นด้วยการแข่ง 38 นัด ชนะ 23 เสมอ 15 เก็บ 84 แต้ม สร้างหน้าประวัติศาสตร์เป็นแชมป์ไร้พ่ายของ เซเรีย อา ต่อจาก เอซี มิลาน ชุดปี 1991/92

 

บทสรุปที่สวยงาม

เราจะขอไล่จากหลังไปหน้า จานลุยจิ บุฟฟ่อน ได้รับฐานะเป็นผู้รักษาประตูเบอร์ 1 ของโลกอย่างเต็มตัว ด้วยการเก็บ 21 คลีนชีต จาก 35 นัดที่ลงสนาม ถือเป็นสถิติสูงสุดตลอดกาลในซีซั่นเดียวของ เซเรีย อา จากอัตราการเซฟระดับปีศาจถึง 83.2%

และบวกกับแนวรับ BBC ที่ทำให้ ยูเวนตุส ชุดนี้ ได้รับการยกย่องว่าเป็นทีมที่มีเกมรับแข็งแกร่งที่สุดในโลก เสียเพียง 20 ประตู จาก 37 เกม ค่าเฉลี่ยแทบจะเสียแค่ 2 นัด 1 ลูกเท่านั้น

อันเดรีย ปีร์โล่ คว้ารางวัลนักเตะยอดเยี่ยมแห่งปีไปแบบโคตรคู่ควร จากผลงานถึง 14 แอสซิสต์ ส่วน อาร์ตูโร่ วิดัล จากที่ไม่ประสบความสำเร็จนักจากลีกเยอรมัน ก็มาสถาปนาตนเป็นหนึ่งในกองกลาง box-to-box ระดับต้น ๆ ของโลก หาก ปิร์โล คือหัวใจเกมรุก วิดัล ก็เป็นหัวใจเกมรับในแดนกลางของทีมเหมือนกัน

และอีกสิ่งสำคัญ คือเป็นการปิดตำนานที่สวยงามของยอดตำนานสโมสรอย่าง อเลสซานโดร เดล ปิเอโร่ หลังจากค้าแข้งใน ทัพม้าลาย มาถึง 19 ฤดูกาล โดยเฉพาะการที่เจ้าตัวสามารถยิงในเกมนัดสุดท้ายของนัดปิดซีซั่นได้ด้วย

 

และนี่ก็เรื่องราวทั้งหมดเกี่ยวกับ ยูเวนตุส ยุคไร้พ่าย ที่เราได้นำมาเล่าให้ฟัง จะเห็นได้ว่าการจะสร้างหน้าประวัติศาสตร์อะไรแบบนี้ สโมสรนั้น ๆ จำเป็นจะต้องมีทั้งโค้ชที่ใช่, ทีมที่แข็งแกร่ง, ความเป็นอันหนึ่งอันเดียว รวมถึงหัวใจที่ใส่สุดไม่หยุดยั้ง ถึงจะสามารถสร้างบทสรุปที่สวยงามเช่นนี้ได้

และด้วยความสำเร็จในปีดังกล่าว ยังเป็นอีกหนึ่งในจุดสำคัญ ที่ทำให้ ยูเวนตุส กลับมาครองความยิ่งใหญ่ใน เซเรีย อา อีกครั้ง ด้วยการคว้า สคูเด็ตโต้ ติดต่อกันถึง 7 หนรวด

ณ ตอนนี้แฟน ยูเว่ ก็คงทำได้แต่รอแหละครับ อาจจะหวังให้เจอโค้ชที่ใช่ หรือคนที่ใช่คนเดิม มาช่วยให้สโมสรแห่งนี้กลับมาประสบความสำเร็จอย่างเก่าอีกครั้ง.

ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมของ ขอบสนาม
logoline