logo-heading

โดยในเกมดังกล่าว เอกวาดอร์ มาได้ประตูจากการเหมาคนเดียว 2 ตุงของ เอเนอร์ วาเลนเซีย กองหน้าวัยเก๋าที่ซัดประตูในศึกฟุตบอลโลก รอบสุดท้ายไปแล้ว 5 ตุง จากการลงสนาม 4 นัด

ซึ่งในเกมดังกล่าวได้เกิดประเด็นขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นเกมเมื่อ วาเลนเซีย จัดการซัดบอลเข้าไปกองที่ก้นตาข่ายได้แล้ว ทว่ากลับถูก VAR ยึดกลับไปเนื่องจากจังหวะก่อนหน้านั้นมีการล้ำหน้าเกิดขึ้น

แน่นอนว่า ณ วินาทีนั้นอาจเกิดเสียงวิจารณ์มากพอสมควรกับภาพการถ่ายทอดสดที่ออกมาไม่ชัดเจน และภาพช้าจากการถ่ายทอดสดไม่ได้มีการตีเส้นให้ได้แฟนบอลได้เห็น

ช็อตนี่พี่เคลียร์ : ไขสาเหตุ เอกวาดอร์ ถูกริบประตู

ว่าแล้วมาไล่เรียงเหตุการณ์ในช็อตดังกล่าวกันอีกครั้ง ซึ่งประเด็นนี้เกิดขึ้นเมื่อ มิเชล เอสตราด้า แข้งของ เอกวาดอร์ ได้ขึ้นเล่นในจังหวะดวลกับ ซาอัล อับดุลลาห์ อัล ชีบ นายทวาร ของกาตาร์ ที่หวังออกมาตัดบอล ก่อนบอลจังหวะต่อเนื่องจะไปเข้าทาง เฟลิกซ์ ตอร์เรส ตวัดไปให้ วาเลนเซีย ทำประตู

โดยช็อตล้ำหน้าตรงนั้นวัดตั้งแต่จังหวะแรกที่ เอสตราด้า ขึ้นเล่นบอล เจ้าตัวมีส่วนของร่างกายตั้งแต่หัวเข่าลงมาอยู่ในตำแหน่งที่เหลื่อมออกมาจากผู้เล่นคนสุดท้าย ย้ำว่าคนสุดท้าย ! ของ กาตาร์ ทำให้ถูกจับล้ำหน้าไป ซึ่งเมื่อภาพปรากฎทุกอย่างออกมาถือว่าชัดเจน และเด็ดขาดมากพอสมควรในการตัดสิ้น

ทั้งนี้ในศึกฟุตบอลโลก 2022 ได้มีการนำเทคโนโลยีที่ชื่อว่า SAOT (Semi-automated offside technology) เข้ามาช่วยในการดักจับล้ำหน้า ซึ่งเสมือนเป็นการยกระดับการตัดสินไปอีกขั้นจากเดิมที่พิจารณาจากการตีเส้นเพียงเท่านั้น 

ช็อตนี่พี่เคลียร์ : ไขสาเหตุ เอกวาดอร์ ถูกริบประตู

ทว่าคราวนี้ทุกอย่างมีการถูกพัฒนาประมวลผลจากกล้อง 12 ตัวเพื่อติดตามการยืนตำแหน่งของผู้เล่นในสนาม

ซึ่งจะมีการคำนวนร่างกายถึง 29 จุด ไม่ว่าจะเป็น แขน, ขา, ปลายเท้า หรือ หัวเข่า เพื่อให้เกิดความโปร่งใสมากที่สุดในการตัดสิน 

นอกจากนั้นการประมวลผลจะออกมาในรูปแบบของ 3 มิติ และผลจะออกมาในเวลาเพียง 3 วินาทีเท่านั้น ก่อนที่จะมีการเผยแพร่ให้กับแฟนบอลที่ชมการถ่ายทอดสด หรือ จอในสนามให้ได้รับรู้ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

นอกจากนั้นตัวของลูกฟุตบอล Al Rihla ภายใต้แบรนด์ อดิดาส จะมีการใช้เซ็นเซอร์ Inertial Measurement Unite (IMU) เพื่อช่วยตรวจจับเหตุการณ์การล้ำหน้าที่ก้ำกึ่งโดยจะส่งข้อมูลกลับไปยังห้องปฏิบัติการเพื่อความแม่นยำที่มากขึ้น

ทั้งนี้ในส่วนของเทคโนโลยี SAOT เคยถูกทำมาใช้ทดสอบกับทัวร์นาเมนต์ใหญ่อย่างชิงแชมป์สโมสรโลก เมื่อปีที่แล้ว รวมไปถึงในฤดูกาลนี้รายการ แชมเปี้ยนส์ลีก ก็นำเทคโนโลยีดังกล่าวมาเริ่มใช้กันแล้ว ซึ่งแฟนบอลน่าจะได้เห็นผ่านๆ ตากันมาบ้าง

หลังจากนี้คาดว่าเทคโนโลยี SAOT จะถูกใช้งานอย่างแพร่หลายมากยิ่งขึ้น เพื่อให้การตัดสินออกมาเป็นธรรมมากที่สุด แม้จะยังคงใช้ผู้ตัดสินในการควบคุมก็ตาม

หลังจบเกมนัดประเดิมสนามพร้อมเทคโนโลยีใหม่ที่ช่วยในการตัดสิน เชื่อว่าทัวร์นาเมนต์ฟุตบอลโลก 2022 ครั้งนี้เราคงได้เห็นการตัดสินในรูปแบบนี้มากยิ่งขึ้น ทั้งเนี้ยบ และเที่ยงตรง เพราะด้วยความละเอียดที่มากกว่าเดิมหลายร้อยเท่านั้นเอง

- Paolinho -

ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมของ ขอบสนาม
logoline