logo-heading

สนามน้ำขัง จะเตะได้มั้ย?

อย่าฝืนเตะเลย หาวันอื่นเตะดีกว่า?

เตะเถอะ เห็นใจแฟนบอลที่เดินทางมาไกลบ้าง?

ถ้าเลื่อนโปรแกรมจะไปลงวันไหน?

เรามักพบกับประโยคเหล่านี้เป็นประจำตลอดทุกฤดูกาลในศึกฟุตบอล ไทยลีก ที่แข่งในช่วงระหว่างฤดูฝนเกิดปัญหาสารพัดมากมาย ทั้งฝนตกเฉอะแฉะ สภาพสนามไม่เอื้อต่อการเล่นฟุตบอลที่สนุก สวยงาม แถมเสี่ยงเกิดการบาดเจ็บนักกีฬา ความพร้อมการจัดการสนาม รวมไปถึงเหตุการณ์ไฟสนามดับ จนกลายเป็นภาพที่เราทต้องเห็นกันแทบทุกฤดูกาลไปเสียแล้ว

โดยล่าสุดในเกมวีค 7 มีเคสที่เกิดขึ้นหลายคู่ เริ่มตั้งแต่ คู่ อุทัยธานี เอฟซี เปิดบ้านพบกับ การท่าเรือ เอฟซี เกมดังกล่าวกว่าจะกลับมาเตะได้ต้องเลื่อนออกไปถึง 2 ชั่วโมง เนื่องจากสภาพฝนตกลงมาอย่างหนัก พื้นสนามมีน้ำขังเป็นจำนวนมาก จึงมีภาพที่แฟนบอลเจ้าถิ่นช่วยกันรีดน้ำออกจากสนาม เพื่อให้เกมกลับมาแข่งขันได้ กระทั่งได้กลับมาแข่งอีกครั้งช่วงเวลา 21.00 น. แม้สภาพสนามที่ไม่สมบูรณ์และยังคงมีน้ำขังอยู่

ถึงเวลาหรือยัง? ที่ทีมไทยลีก ควรยกระดับสนามแข่ง ให้มีประสิทธิภาพกว่าเดิม

ขณะที่อีกคู่ที่มีปัญหาฝนตกลงมาอย่างหนักในระหว่างเกมคือคู่ของ ทรู แบงค็อก ยูไนเต็ด เปิดบ้านพบ ลีโอ เชียงราย ยูไนเต็ด ก่อนหน้าเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เจ้าบ้าน เพิ่งพบกับปัญหานี้ในเกมเปิดบ้านรับ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ทำให้ถูกเลื่อนออกไป ซึ่งเกมคู่นี้สามารถเคลียร์กลับมาเตะได้อีกครั้ง แต่ทว่าสภาพพื้นสภาพจัดว่าค่อนข้างเละเทะ ส่งผลต่อการเล่นของทั้งสองทีม

และอีกเหตุการณ์คือไฟสนามดับถึง 2 ครั้ง เกิดขึ้นคู่ สุโขทัย เอฟซี เปิดบ้านพบ บีจี ปทุม ยูไนเต็ด ทำให้ต้องเสียเวลาไปหลายนาที และสุดท้ายยังคงอยู่ในเงื่อนไขกฎเวลาแก้ไขให้กลับมาเตะได้ จึงไม่ถูกปรับแพ้

ปฏิเสธไม่ได้ว่านี่คือครั้งที่ 4 เข้าไปแล้ว สำหรับสนาม ทะเลหลวง ที่เกิดเหตุการณ์ไฟสนามดับ จากที่เคยเกิดตั้งแต่ ฤดูกาล 2015 เกมที่พบกับ นครปฐม สมัยเล่นอยู่ลีกรอง, ฤดูกาล 2016 เกมไทยลีกพบกับ เมืองทอง ยูไนเต็ด, ฤดูกาล 2023/24 เกมที่พบ ตราด เอฟซี และสดๆ ร้อนๆ ที่พบกับ บีจี ปทุม ยูไนเต็ด

ถึงเวลาหรือยัง? ที่ทีมไทยลีก ควรยกระดับสนามแข่ง ให้มีประสิทธิภาพกว่าเดิม

เข้าใจว่าเหตุการณ์เหล่านี้คือเหตุสุดวิสัย ที่ไม่สามารถคาดการณ์กำหนดได้ การเลื่อนแข่งขันอาจมองว่าเป็นเรื่องที่ง่าย แค่หาวันที่ว่างก็สามารถลงโปรแกรมได้ แต่ไม่ใช่เลยหากจะกำหนดวันเตะใหม่อาจส่งผลกระทบหลายๆ ด้านจากที่เคยวางแผนเอาไว้ก่อนหน้านี้แน่นอน

เกมอุ่นเครื่องปรีซีซั่น ระหว่าง แมนเชสเตอร์ ซิตี้ พบกับ แอตเลติโก มาดริด ที่สนาม โซล เวิลด์คัพ สเตเดี้ยม ประเทศเกาหลีใต้ เรียกว่าเป็นกรณีศึกษาของหลายๆ ชาติ เกมดังกล่าวมีฝนตกลงมาอย่างหนักถูกเลื่อนออกไป 40 นาที และสามารถกลับมาแข่งขันได้อีกครั้งในระยะเวลาที่รวดเร็ว พื้นสนามปราศจากพังหลุดรุ่ย อันเนื่องมาจากทางฝ่ายจัดการแข่งขันมีการรับมือความพร้อม บวกกับสนามมีนำเทคโนโลยีที่ทันสมัย

ในบ้านเราหากต้องยกตัวอย่างสนามในไทย 2 สนามที่มีความทันสมัย มีระบบการระบายน้ำที่ค่อนข้างดีอันดับต้นๆ นั่นคือ สนาม บีจี สเตเดี้ยม หรือ ช้าง อารีน่า โดยผ่านการจัดแข่งขันระดับนานาชาติหลายครั้ง ก็สามารถรับมือเอาอยู่ได้ มีการนำเทคโนโลยีการระบายน้ำที่รวดเร็วมาใช้ได้ดีในระดับหนึ่ง

ถึงเวลาหรือยัง? ที่ทีมไทยลีก ควรยกระดับสนามแข่ง ให้มีประสิทธิภาพกว่าเดิม

หรืออีกเคสที่เคยเกิดขึ้น คือ การท่าเรือ เอฟซี เคยถูกปรับแพ้ถึง 2 ครั้ง ในฤดูกาล 2020/21 เกมที่พบกับ โปลิศ เทโร เอฟซี กับ เมืองทอง ยูไนเต็ด จากกรณีไฟดับ ซึ่งทางสโมสรมีมาตรการใหม่เพื่อไม่ให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นซ้ำด้วยการลงทุนติดตั้งเครื่องปั่นไฟใหม่ที่มีมาตรฐานสูง

การปรับปรุงยกระดับสนามแข่งขันในบางสโมสร เชื่อว่ามีแต่ผลดี แต่อาจต้องใช้งบประมาณที่สูงบวกกับสนามของแต่ละสโมสร ส่วนมากจะเป็นการเช่าใช้งานจากหน่วยงานของรัฐ ซึ่งก็เข้าใจว่าการเดินเรื่องอาจค่อนข้างใช้เวลานาน โดยอาจไม่ได้มองและใส่ใจตรงจุดนี้มากเท่าที่ควร และหันไปเน้นการลงทุนด้านอื่นๆ แทน

ถึงเวลาหรือยัง? ที่ทีมไทยลีก ควรยกระดับสนามแข่ง ให้มีประสิทธิภาพกว่าเดิม

สุดท้ายสโมสรหรือหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ที่ปัจจุบันร่วมกัน #SaveThaiLeague ผลักดันยกระดับทีม และวงการฟุตบอลไทยให้สูงขึ้น ควรเพิ่มคุณภาพของสนามแข่งขัน ระบบการระบายน้ำที่ดูมีประสิทธิภาพ ไฟส่องสนามสว่างได้ตามมาตรฐาน การจัดการเตรียมพร้อมรับมือกับเหตุการณ์ที่อาจจะมาโดยไม่คาดคิดไว้เสมอ

แม้ต้องลงทุนในราคาสูง เชื่อศักยภาพของคนในบ้านเราทำได้ จะส่งผลดียั่งยืนระยะยาว รวมไปถึงคุณภาพการจัดการแข่งขัน มูลค่าของลีกที่เพิ่มขึ้น อันเป็นความภูมิใจของแฟนฟุตบอลชาวไทยที่มีลีกการแข่งขันที่เข้มข้นและมืออาชีพ

CHUNKA

ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมของ ขอบสนาม
logoline