logo-heading

วันจันทร์หน้าพรีเมียร์ลีกจะประกาศแล้วว่า ทีมไหนบ้างที่ขาดทุน 3 ปีหลังสุดเกิน 105 ล้านปอนด์ จนอาจโดนลงโทษแบบเอฟเวอร์ตัน ซึ่งผมคิดว่ายูไนเต็ดและอาร์เซน่อลคงไม่ได้กังวลรอบนี้มาก เพราะรอบที่จะประกาศเนี่ย ยังไม่รวมตลาดล่าสุดที่อาร์เซน่อลทุ่มซื้อไรซ์ หรือยูไนเต็ดที่ซื้อโอนาน่า

รอบที่จะประกาศคือฤดูกาล 2022-23, 2021-22 และพิเศษหน่อย คือยอดอีกปีจะเอาฤดูกาล 2020-21 และ 2019-20 มาหารเฉลี่ยกัน เพื่อช่วยเหลือแต่ละทีมยุคโควิด นั่นหมายความว่า หากการเงินคุณไม่หนักจริงๆ ก็อาจไม่โดนลงโทษหนักแบบเอฟเวอร์ตัน

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่ากังวลคือรอบถัดไป เพราะมันจะไม่มีฤดูกาลที่เอามาเฉลี่ยกันช่วงโควิดแล้ว แต่จะนับของฤดูกาล 2023-24 เข้ามาแทน ซึ่ง 2 ทีมนี้เสริมทัพช่วงซัมเมอร์ไปเยอะเสียด้วย 

นับเฉพาะดีลหลัก แมนฯ ยูไนเต็ด จัดเต็มคว้า เมสัน เมาท์ ด้วยเงินต้น 55 ล้านปอนด์, ราสมุส ฮอยลุนด์ เงินต้น 64 ล้านปอนด์ และโอนาน่าอีกราว 44 ล้านปอนด์ เบ็ดเสร็จค่าตัว 163 ล้านปอนด์ ซึ่งเวลาลงบัญชีจริงต้องเอาสัญญาไปหารค่าตัว โดยทั้ง 3 คนเซ็น 5 ปี = ลงบัญชีเฉพาะค่าตัวปีละ 32.6 ล้านปอนด์

เมื่อรวมค่าเหนื่อยอีกทั้งหมด 23.64 ล้านปอนด์ (อ้างอิงจากเว็บไซต์ Sportrac) ทำให้แพ็คเกจรวม 3 ดีลนี้ คือลงบัญชีปีละ 56.24 ล้านปอนด์ ถามว่ามันเยอะไหม? ถ้ามองว่าแค่ 3 ดีลมันก็เยอะ แต่ไม่ถึงขั้นวิกฤติ

ปัญหาของยูไนเต็ดที่สื่อการเงิน Swissramble วิเคราะห์คือ พวกเขาซื้อเยอะไม่เป็นไร แต่ดีลขายออกเนี่ยสิ พวกเขาทำได้ไม่ดีเลย บางดีลได้เงินน้อยเกินไป หรือบางดีลเกือบจะขายได้แพงแบบแม็กไกวร์ ก็ดันมาล่มเสียก่อน ทำให้ยอดรวมมันไม่สมดุล นี่คือสาเหตุที่พวกเขาไม่เซ็นถาวรกับ โซฟียาน อัมราบัต แต่เลือกที่จะยืมตัวแทน เพราะกลัวเรื่อง FFP เนี่ยแหละ

ผีปืนเป็นอะไร? ทำไมซื้อไม่ได้? ทั้งที่งานต้องแก้เยอะ

ยิ่งพอดูผลงานฤดูกาลนี้ แทนที่จะพุ่งแรงใน UCL กลับปลิวตั้งแต่รอบแบ่งกลุ่ม ทำให้เสียรายได้ไปมหาศาล เชื่อว่ายูไนเต็ดคงวิเคราะห์แล้วว่า หากไปลงตลาดหนักหน่วงในเดือนมกราคม 2024 มันจะยิ่งเพิ่มปัญหาให้พวกเขา 

ย้ำอีกที ลงบัญชีรอบต่อไป มันจะไม่ใช่บัญชีที่ผ่อนปรนเพราะโควิดแล้ว แต่จะเป็นบัญชี 3 ปีที่พวกเขาเซ็นแพงปีนี้ + ฤดูกาลก่อนเซ็น คาเซมิโร่, อันโตนี่ และลิซานโดร รวมถึง 2 ปีก่อนที่เซ็น ซานโช่ วาราน และโรนัลโด้ เรียกว่ายอดรวม 3 ฤดูกาลมันจะพุ่งปรี๊ด แต่ขาออกกลับไม่เปรี้ยง ทำให้ขยับตัวตอนนี้ยาก

ยูไนเต็ดเคยทำกำไรหลังหักภาษีช่วงผ่อนปรนโควิด 86.8 ล้านปอนด์ แต่พอไม่นับรอบนั้น นับของฤดูกาล 2021-22 ขาดทุน 115.5 ล้านปอนด์ และของฤดูกาล 2022-23 ขาดทุน 28.7 ล้านปอนด์ ไม่ว่ายังไงพวกเขาก็ต้องเบาเสริมทัพเดือนมกราคม ไม่งั้นปรับบัญชีรอบหน้าไม่ทัน โดนตัดแต้มแน่

ส่วนอาร์เซน่อล พวกเขาเซ็นฮาแวร์ตซ์เงินต้น 62 ล้านปอนด์, ทิมเบอร์เงินต้น 34.3 ล้านปอนด์ และไรซ์เงินต้น 100 ล้านปอนด์ เบ็ดเสร็จรวม 196.3 ล้านปอนด์ เฉลี่ยตามสัญญาลงบัญชีปีละ 39.26 ล้านปอนด์ ซึ่งเมื่อรวมค่าเหนื่อยอีก 31.5 ล้านปอนด์ จะทำให้แพ็คเกจรวมนักเตะใหม่คือ 70.76 ล้านปอนด์ 

เท่านั้นไม่พอ ต้องใส่ค่าเหนื่อย ดาบิด ราย่า เพิ่มเข้าไปอีก ทำให้ยอดรวมของจริงจะเป็น 75.16 ล้านปอนด์ มหาศาลมาก ซึ่งเราต้องใช้มาตรฐานเดียวกัน คือจะดูแค่ตลาดรอบนี้ไม่ได้ ต้องดูตลาดฤดูกาล 2022-23 ที่พวกเขาเซ็นเชซุส, ซินเชนโก้, ทรอสซาร์ หรือจะเป็นฤดูกาล 2021-22 ที่เซ็นเบน ไวท์, โอเดการ์ด, แรมส์เดลล์ พวกนี้อีก เบ็ดเสร็จมันก็เยอะทีเดียว

หลายคนอาจสงสัย? แต่รายได้ปีนี้ของอาร์เซน่อลมี UCL ด้วยนะ มันน่าจะเพิ่มจากปีก่อนมหาศาลไม่ใช่หรือ? แถมยังขายนักเตะทำเงินไปได้เยอะ เช่น ชาก้า, บาโลกุน, เทอร์เนอร์ ทำไมถึงน่ากังวลล่ะ?

ให้คิดแบบง่ายๆ ถ้าอาร์เซน่อลไม่กังวล FFP พวกเขาคงเซ็นราย่าถาวรไปเลย ไม่ใช่ยืมตัวแบบที่เป็นอยู่ นอกจากนี้ อาร์เซน่อลยังต่อสัญญาเพิ่มค่าเหนื่อยเพียบ เช่น ซาก้าตัวเลขกระโดดจากปีละ 3.6 ขึ้นมาเป็นปีละ 10.1 ล้านปอนด์ ซึ่งตัวเลขนี้คือแบบเงินต้นด้วย ยังไม่รวมแอดออนอีกบาน

ผีปืนเป็นอะไร? ทำไมซื้อไม่ได้? ทั้งที่งานต้องแก้เยอะ

หรือจะเป็นกัปตันโอเดการ์ดก็เพิ่มจากปีละ 5.9 เป็น 12.4 ล้านปอนด์ ซึ่งพวกเขาทำแบบนี้กับมาร์ติเนลลี่ หรือซาลิบาด้วยเช่นกัน เลยไม่แปลกใจที่เพดานค่าเหนื่อยทั้งทีมจะพุ่งมหาศาล 

นอกจากนี้ เราต้องมองเรื่องรายได้ด้วย อาร์เซน่อลอาจจะได้เล่น UCL ปีนี้ก็จริง แต่พวกเขาหายจากรายการนี้ไปหลายปี พอกลับมาปีนี้ มันไม่ใช่ว่าเงินจะพุ่งกระโดดทันที มันต้องใช้เวลาสะสมค่าสัมประสิทธิ์ เพื่อให้ส่วนแบ่งกลับมาสูงอีกครั้ง

อาร์เซน่อลทำรายได้ 327.6 ล้านปอนด์เมื่อปี 2021, 369.1 ล้านปอนด์เมื่อปี 2022 และปี 2023 คาดว่าจะแตะ 400 ล้านปอนด์ได้ แต่มันเป็นไปได้ยากที่จะไปถึง 500 ล้านปอนด์ทันที ต่างกับลิเวอร์พูลที่รายได้ 3 ปีหลังสุดคือ 701.7, 550.4 และ 558.6 ล้านปอนด์ตามลำดับ 

ทางแก้ของอาร์เซน่อล คือต้องไปเล่น UCL ให้ต่อเนื่องหลายปี เดี๋ยวตัวเลขรายได้จะมากขึ้นเอง ซึ่งพอรายได้มากขึ้น มันก็มีช่องว่างสำหรับรายจ่ายมากกว่าเก่า 

ส่วนยูไนเต็ด โจทย์แก้อาจเหนื่อยหน่อย คือพวกเขาต้องขายนักเตะให้ได้ราคาดีกว่านี้ และต้องกลับไปทำผลงานให้ดีด้วย เพราะที่ผ่านมาพวกเขายืนระยะด้วยการตลาดระดับโลก ทำรายได้ราว 600 ล้านปอนด์มาตลอด แต่ในอนาคตถ้าผลงานทีมไม่ปัง อำนาจในการต่อรองทางธุรกิจก็จะน้อยลง ทำให้รายได้ลดลงด้วย 

นี่คือสาเหตุทั้งหมดว่า ทำไมยูไนเต็ดและอาร์เซน่อล ถึงเสริมทัพแบบจัดเต็มตอนนี้ไม่ได้ แต่ถ้าถามว่าปัญหาของพวกเขาแก้ได้ไหม? มันแก้ได้ แค่ต้องใช้เวลา และต้องทำผลงานในสนามให้ดีควบคู่กัน 

- Petr Boat -

ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมของ ขอบสนาม
logoline