logo-heading

อย่างแรก คืออาร์เซน่อลไม่ได้มีปัญหาเรื่องเงินนะครับ พวกเขามีเพียงพอ แต่ที่เป็นปัญหาคือการส่งบัญชีต่างหาก มันมีลิมิทที่่ทำให้ขยับตัวเดือนมกราคมไม่ได้ เรียกว่ากฎการทำกำไรและความยั่งยืน หรือ PSR

มันก็คือกฎการเงินเวอร์ชั่นพรีเมียร์ลีก ส่วนของยูฟ่าจะเป็น FFP โดยวิธีคิดคือบัญชี 3 ปีหลังสุดห้ามขาดทุนเกิน 105 ล้านปอนด์ ซึ่งถ้าเกินก็มีโอกาสโดนตัดแต้มแบบเอฟเวอร์ตัน แต่มันไม่ได้หมายความว่าหาทางเลี่ยงไม่ได้ เพราะสามารถเอาค่าใช้จ่ายดาวรุ่งหรือทีมหญิงมาลดได้ เหมือนที่เชลซีก็ใช้ทริคนี้เหมือนกัน (อารมณ์เหมือนลดหย่อนภาษี)

อาร์เซน่อลมีตัวเลข 3 ปีหลังสุดตึงมาก จนซื้อใครเพิ่มเดือนมกราคมไม่ได้ ซึ่งหลายคนอาจสงสัยว่า ปีนี้ได้ไปเล่น UCL ไม่ใช่หรือ? รายได้ก็เพิ่มมหาศาล แล้วมันจะตึงได้ยังไง?

คำตอบคืออาร์เซน่อลเพิ่งได้มาเล่น UCL ปีนี้ แต่ 2 ปีก่อนพวกเขาไม่ได้เล่น ทำให้รายได้รวมสโมสรยังไม่ได้เยอะขนาดนั้น 

หากกางตัวเลข 2 ปีที่ไม่ได้ไป UCL อาร์เซน่อลทำเงินไปทั้งสิ้น 821.1 ล้านปอนด์ ซึ่งถ้าเอาไปเทียบกับทีมในลอนดอนด้วยกัน สเปอร์สทำไป 981.3 ล้านปอนด์ ส่วนเชลซีทำไป 984 ล้านปอนด์

นอกจากนี้ 821.1 ล้านปอนด์ที่เป็นรายได้เนี่ย พอเอามาหักรายจ่ายออกไป สโมสรยังขาดทุนประมาณ 153 ล้านปอนด์ ซึ่งตัวเลขนี้ยังไม่ได้ลดหย่อนค่าใช้จ่ายเยาวชนและทีมหญิง ของจริงมันจะลดลงมาอีก แต่ก็เห็นชัดว่ายังขาดทุนอยู่

เท่านั้นไม่พอ ซัมเมอร์ล่าสุดอาร์เซน่อลทุ่มเงินไปมหาศาลกับดีลของ เดแคลน ไรซ์ และไค ฮาแวร์ตซ์ เรียกว่ารายได้ปีนี้คงเพิ่มเยอะจาก UCL แต่ก็มีรายจ่ายเพิ่มเติมจากนักเตะเหล่านี้ด้วย 

ตลาดมกราคมที่ผ่านมาเนี่ย มันจะนับรอบบัญชีรวมกับที่ซื้อไรซ์และฮาแวร์ตซ์เหมือนกัน และรวมกับ 2 ปีก่อนที่ไม่ได้ไป UCL ด้วย ซึ่งถ้าเร่งลงทุนทันที อัตรารายจ่ายมันอาจแซงรายได้ไปมหาศาล

คิดง่ายๆ 3 ปีหลังสุด อาร์เซน่อลทำเงินเยอะแค่ปีเดียว แต่เงินน้อยไป 2 ปี นี่คือเหตุผลที่พวกเขาขยับตัวเยอะไม่ได้ แต่ความแตกต่างของสโมสรจะเกิดขึ้นฤดูกาลหน้าต่างหาก

ดูจากตารางคะแนนตอนนี้ ยังไงปีหน้าอาร์เซน่อลก็ได้เล่น UCL นั่นหมายความว่า รอบบัญชีอีก 2 ปีข้างหน้าเนี่ย มันจะไม่ใช่รายได้เยอะ 1 น้อย 2 แต่มันจะเป็นรายได้ที่มี UCL ถึง 2 ปี และไม่มี UCL แค่ปีเดียว 

พอรายได้มากขึ้น สโมสรก็สามารถมีรายจ่ายได้มากตาม ผมเลยมองว่าอาร์เซน่อลกำลังใช้ทฤษฎี 'อดเปรี้ยวไว้กินหวาน' ด้วยไปลงทุนช่วงซัมเมอร์แทน ซึ่งกับประธานเป้ผมยังมองว่ายาก เพราะแค่เงินกินเปล่าก็น่าจะเกิน 100 ล้านยูโร แล้วไหนจะมีค่าเหนื่อยปีละ 60-70 ล้านยูโรอีก แต่สำหรับคนอื่น เช่น วิคเตอร์ โอซิเมน ผมว่าเป็นไปได้

โอซิเมนค่าฉีกสัญญา 113 ล้านปอนด์ หากเซ็น 5 ปี ก็เอาจำนวนสัญญาไปหารค่าตัว ทำให้ลงบัญชีจริงๆ ปีละ 22.6 ล้านปอนด์ หรือจะเป็นค่าเหนื่อยอีก 250,000 ปอนด์ ตกปีละ 13 ล้านปอนด์ เรียกว่าลงบัญชีค่าตัว + ค่าเหนื่อยต่อปี ยังน้อยกว่าค่าเหนื่อยประธานเป้ปีเดียวอีก 

นอกจากนี้ อาร์เซน่อลยังสามารถเพิ่มรายได้จากการขายนักเตะด้วย เช่น เอ็ดดี้ เอ็นคีเทียห์ และเอมิลล์ สมิธ โรว์ ที่จะเป็นตัวทำกำไรชั้นดี เพราะนักเตะที่สโมสรปั้นมาเองเนี่ย มันไม่มีต้นทุนตอนซื้อมา ทำให้คุณขายได้เท่าไหร่? กำไรเข้าสโมสรแบบ 100% ทันที

หากอ้างอิงการประเมินราคาจาก Transfermarkt เอ็นคีเทียห์ 35 ล้านยูโร สมิธ โรว์ 25 ล้านยูโร ถ้าขายได้ราคานี้จริงคือ 60 ล้านยูโร หรือ 51 ล้านปอนด์ สโมสรสามารถเอาเงินตรงนี้่ไปใช้จ่ายส่วนอื่นๆ ได้เยอะมาก 

ส่วนเคสของ โธมัส ปาร์เตย์ ก็ได้กำไรเหมือนกัน แต่คงไม่เต็มเหนี่ยว เพราะซื้อมา 45 ล้านปอนด์ เซ็นสัญญา 5 ปี ลงบัญชีปีละ 9 ล้านปอนด์ ตอนนี้ผ่านไป 4 ปี เท่ากับเหลือค่าลงบัญชี 9 ล้านปอนด์

นั่นหมายความว่า หากอาร์เซน่อลขายปาร์เตย์ได้เท่าไหร่? ต้องเอามาลบ 9 ล้านปอนด์ก่อนด้วย ถึงจะคิดเป็นกำไร ต่างกับของเด็กปั้นที่กำไรเน้นๆ ซึ่งถ้าอาร์เซน่อลอยากได้เงินมหาศาล อาจต้องพยายามขายให้ลีกซาอุ เพราะถ้าขายในยุโรปด้วยกันคงหาทีมจ่ายเรท 30-40 ล้านปอนด์ลำบาก

เบ็ดเสร็จแล้วผมเชื่อว่าทีมงานอาร์เซน่อลเก่งพอ และวางแผนได้รัดกุมพอที่จะไม่สุ่มเสี่ยงลงทุนตอนมกราคม เพราะจะไปกระทบต่อยอด 2 ปีก่อน โดยเลือกที่จะไปลงทุนซัมเมอร์นี้ ซึ่งสามารถขายนักเตะทำเงินได้เยอะขึ้น และมีรายได้จาก UCL เพิ่มขึ้นด้วย 

ผมเชื่อว่าเราจะได้เห็นการเสริมทัพเกิน 100 ล้านปอนด์จากอาร์เซน่อลแน่ อยู่ที่ว่าจะเป็นดีลเดียวเจ็บแล้วจบ หรือแบ่งเป็น 2 ดีล เช่นกองหน้ามาแข่งกับเชซุส และปีกขวามาคอยสลับกับซาก้า 

ปีนี้อาร์เซน่อลจะได้แชมป์ไหม? ผมตอบไม่ได้ แต่ดูจากการวางแผนต่างๆ พวกเขาทำทีมแบบไม่มั่ว ซึ่งถ้าปีนี้ไม่สำเร็จ ปีหน้าก็จะยังมีลุ้นเหมือนเดิม เพิ่มเติมคือการเงินที่ดีขึ้นกว่าในอดีต

- Petr Boat -

ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมของ ขอบสนาม
logoline