เอาเรื่องรัดกุมก่อน ฤดูกาลก่อนอาร์เซน่อลเป็นทีมที่เล่นเร้าใจ กล้าบุกใส่ทุกทีมไม่ว่าจะเจอกับใคร แต่บางทีชอบพลาดเสียแต้มเวลาดันสูง เช่น นัดไปเยือน แมนฯ ยูไนเต็ด เดือนกันยายน 2022 วันนั้นพวกเขาครองบอล 60.5% แต่จบลงด้วยความพ่ายแพ้ เพราะโดนทีเด็ดแรชฟอร์ดสวนกลับ
หรือจะเป็นเกมที่เปิดบ้านเจอซิตี้ เดือนกุมภาพันธ์ 2023 วันนั้นพวกเขาครองบอลถึง 63.5% เรียกว่ามีไม่กี่ทีมหรอกที่จะข่มซิตี้ของเป๊ปได้ แต่สุดท้ายพวกเขาแพ้คาบ้าน ซึ่งเป็นหนึ่งในจุดเปลี่ยนที่ทำให้ซิตี้กลับมามั่นใจด้วย
อาร์เซน่อลปีก่อนเหมือนเป็นทีมที่เร่งเครื่องเก่ง แต่ผ่อนเพื่อเอาชัวร์ไม่เนียน บวกกับประสบการณ์ลุ้นแชมป์ที่ยังไม่เยอะ ก็เลยพังช่วงท้ายแบบน่าเสียดาย
มิเกล อาร์เตต้า เองก็ทราบปัญหานี้ เขาเคยบอกเองว่าปีก่อนอาร์เซน่อลชอบเสียแต้มเกมใหญ่ คือเวลาเจอทีมเล็กไม่ค่อยมีปัญหา แต่ชอบแพ้ทีมใหญ่ด้วยกัน โดยเฉพาะการแพ้ซิตี้แบบเหย้าเยือน มันเหมือนส่งแต้มให้คู่แข่งแย่งแชมป์โดยตรง
อย่างไรก็ตาม ลองมาดูสถิติฤดูกาลนี้ เกมเลกแรกที่พวกเขาเปิดบ้านชนะซิตี้ได้ ไม่จำเป็นต้องครองบอลเยอะ ไม่จำเป็นต้องเปิดแลก วันนั้นพวกเขาครองบอลแค่ 49% แต่มีโอกาสยิงประตู 12 ครั้ง มากกว่าซิตี้ 3 เท่า ชนะด้วยสกอร์ 1-0
จากนั้นเกมเยือนบ้าง ทุกคนรู้ว่าการเล่นบ้านซิตี้มันยากมาก เอาแค่เสมอได้ก็เก่งแล้ว ซึ่งอาร์เตต้าเองก็รู้ว่าถ้าไปเปิดเกมแลก มีโอกาสแพ้สูง วันนั้นเลยวางแผนแบบรัดกุม เชื่อมั่นในพลังเกมรับจนเสมอ 0-0 ด้วยการครองบอลแค่ 27.5%
มันอาจดูเล่นไม่สวย ผิดคอนเซปต์ที่อาร์เซน่อลเคยเป็น แต่มันก็ทำให้ฤดูกาลนี้เก็บ 4 แต้มในการเจอซิตี้ ต่างกับปีก่อนที่ไม่ได้สักแต้ม
ไม่ใช่แค่การเจอกับซิตี้ที่อาร์เซน่อลรัดกุมนะครับ ตอนเยือนสเปอร์สครองบอลแค่ 37.8% แต่ก็บุกชนะได้ 3-2 หรือจะเป็นนัดล่าสุดที่ไปเยือนยูไนเต็ด พวกเขาครองบอลแค่ 45.8% แต่ก็คว้า 3 แต้มล้ำค่าได้ คือมันไม่จำเป็นต้องสวยงามตลอด เพราะผลลัพธ์สำคัญที่สุด
จนถึงตอนนี้ อาร์เซน่อลคือทีมที่ปังสุดเมื่อเล่นเกมใหญ่ โดยเล่นเกมเจอบิ๊ก 6 ไปครบแล้ว 10 นัด ปรากฏว่าชนะ 6 เสมอ 4 ไม่แพ้เลย นี่คือปัจจัยสำคัญที่อาร์เซน่อลรัดกุมเป็น + มีความเก๋ามากขึ้น ซึ่งการจะลุ้นแชมป์บอลลีกได้ มันไม่ได้วัดที่ความหวือหวา แต่วัดที่ความคงเส้นคงวาระยะยาวต่างหาก
ปัจจัยต่อมา คือฟอร์มนักเตะ เช่น ไค ฮาแวร์ตซ์ อันนี้ผมอธิบายบ่อยครั้งว่าแกเป็นนักเตะที่แปลกทีเดียว ชอบเล่นแย่ครึ่งซีซั่นแรก แล้วมาปังครึ่งซีซั่นหลัง โดยฤดูกาลสุดท้ายกับเลเวอร์คูเซ่น เขาเล่นครึ่งซีซั่นแรกด้วยการยิง 2 จ่าย 1 แต่พอครึ่งซีซั่นหลังล่อไป 10 ประตู 5 แอสซิสต์
ตอนอยู่เชลซีปีคว้าแชมป์สโมสรโลก เขาเล่นครึ่งแรกของเกมลีกทำไป 2 ประตู 1 แอสซิสต์ แต่ครึ่งฤดูกาลหลังจัดไป 6 ประตู 2 แอสซิสต์ หรือจะเป็นฤดูกาลนี้กับอาร์เซน่อล ครึ่งทางแรกทำไป 4 ประตู 1 แอสซิสต์ แต่ครึ่งทางหลังทำไป 8 ประตู 6 แอสซิสต์ ฟอร์มพัฒนาขึ้นแบบตกใจ
ตอนแรกผมก็คิดว่า เป็นเรื่องดวงชะตาหรือเปล่า? ทำไมชอบเก่งครึ่งซีซั่นหลังตลอด แต่พอลองมาวิเคราะห์ดีๆ มันพบ 1 ปัจจัยที่เห็นชัด นั่นคือทั้ง 3 ฤดูกาลที่ผมยกตัวอย่างมา เขามีการปรับตำแหน่งการเล่นหมดเลย
ปีสุดท้ายกับเลเวอร์คูเซ่น เขาเล่นกลางรุกมาก่อน แต่พอจับไปยืนฟอลส์ไนน์ช่วงหลังโควิด กลายเป็นยิงกระจุย, ปีแชมป์โลกกับเชลซี เล่นกลางรุกมาตลอดเหมือนกัน แต่พอจับไปเล่นกองหน้าแทนลูกากู กลายเป็นแบกทีมได้ เช่นเดียวกับตอนนี้ ตอนแรกเล่นมิดฟิลด์เบอร์ 8 ตัวซ้าย แต่พอขยับมายืนกองหน้า กลายเป็นช่วยทีมแทบทุกนัด
นี่อาจเป็นบทสรุปทั้งหมดว่า ทำไมฮาแวร์ตซ์ชอบมาแรงช่วงท้าย เพราะโค้ชทีมต่างๆ ก็ชอบค้นพบฟอร์มเขาช่วงท้ายเหมือนกัน ซึ่งกับอาร์เซน่อลตอนนี้ ใครจะไปรู้ว่าถ้าฮาแวร์ตซ์ยังเล่นเบอร์ 8 แล้วกองหน้าเป็นเชซุสหรือเอ็นคีเทียห์ต่อไป อาร์เซน่อลจะมีลุ้นแชมป์จนถึงนัดสุดท้ายหรือเปล่า?
นั่นหมายความว่า อาร์เตต้าเองก็ตัดสินใจได้ดี ไม่ฝืนใช้ฮาแวร์ตซ์แบบผิดๆ จนกลายเป็นดึงฟอร์มร่างทองออกมาได้ เช่นเดียวกับ เดแคลน ไรซ์ ที่ได้อิทธิพลเรื่องนี้ด้วย เพราะในเมื่อฮาแวร์ตซ์ขยับไปยืนกองหน้าแล้ว ตัวเขาก็สามารถขยับมาเล่นเบอร์ 8 แทนได้ โดยที่เบอร์ 6 ให้ปาร์เตย์หรือจอร์จินโญ่รับจบไปเลย
4 นัดหลังสุดไรซ์ทำไป 1 ประตู 3 แอสซิสต์ หรือถ้านับยอดรวมทั้งซีซั่นเขาก็มีส่วนกับประตูมากขึ้นจริงๆ ตอนนี้ทำไป 7 ประตู 8 แอสซิสต์ในลีก นับว่าเยอะถ้ามองว่าเป็นคนที่ถนัดกลางรับจ๋าๆ มาก่อน
สำหรับผมคือให้เครดิตอาร์เตต้าครับ ตัดสินใจดีขึ้น ไม่ดื้อเกินไป แล้วก็วางหมากเกมใหญ่ดีขึ้นด้วย ไม่แปลกใจที่จะมีลุ้นแชมป์ลีกจนถึงนัดสุดท้าย แต่จะได้ชูถ้วยหรือเปล่า? ก็ต้องไปลุ้นเองว่าซิตี้จะพลาด 2 นัดสุดท้ายไหม?
ถ้าได้แชมป์ก็นับว่าคู่ควร แต่ถ้าเสร็จซิตี้ขึ้นมา พวกคุณอาจจะเสียดายได้ แต่ไม่มีอะไรให้เสียใจ เพราะถ้าคุณคิดว่าปีนี้ยังพัฒนาจากปีก่อนได้ แล้วทำไมปีหน้าจะพัฒนาจากปีนี้ไม่ได้?
- Petr Boat -