logo-heading

ฟุตบอลโลก 2018 จบลงด้วยความสำเร็จของทีม “ตราไก่” ฝรั่งเศส ที่คว้าแชมป์สมัยที่ 2 ปิดฉากการรอคอยที่ยาวนานกว่า 20 ปี

ตลอดเดือนที่ผ่านมาแฟนบอลไทยได้เห็นอะไรมากมายในฟุตบอลโลกและหวังว่าจะเป็นกรณีศึกษาให้ฟุตบอลไทยได้นำมาคิดและปฎิบัติตามไม่มากก็น้อย ประเด็นเรื่องของการตัดสินถือเป็นอีกไฮไลท์ของฟุตบอลโลกครั้งนี้ การนำเทคโนโลยี VAR” มาใช้ถูกกล่าวถึงอย่างมาก เพราะหลายเกมถูกตัดสินผลแพ้-ชนะด้วย “วีดิโอช่วยตัดสิน” แม้กระทั่งนัดชิงชนะเลิศที่ “VAR” ทำให้เกิดจุดโทษจนเป็นจุดเปลี่ยนของเกม สิ่งที่น่าสนใจและคนฟุตบอลไทยควรตะหนักมากที่สุดคือ “การยอมรับคำตัดสิน” ที่สำคัญต้องไม่ลืมว่าผู้ตัดสินคือคนที่ใหญ่ที่สุดในสนาม หลายเหตุการณ์ในฟุตบอลโลกที่มีการใช้ VAR รวมถึงการพิจารณาต่างๆของผู้ตัดสิน แน่นอนว่าการประท้วงหรือไม่เห็นด้วยจากผู้เล่นหรือทีมน่ะมีได้ แต่ไม่อยู่ในขั้นเกินเลย ไม่มีใครไปล้อมกรอบผู้ตัดสินแบบต้องถอยร่นหนีจากการจะโดนรุมสกรัม ผู้จัดการทีมหรือผู้ฝึกสอนไม่มีไปสบถด่าหรือโวยวายแบบน่าเกลียดตรงขอบสนาม ที่เห็นส่วนใหญ่แค่เข้าไปสอบถามหรือแสดงอาการคัดค้านและไม่เห็นด้วยบ้างเล็กน้อย ตรงนี้ถือเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว แต่ไม่มีใครที่ทำอะไรเกิดเหตุ ยิ่งเกมจบแล้วยิ่งจบกัน นี่คือสิ่งที่ฟุตบอลไทยต้องเรียนรู้และพัฒนาไปสู่คำว่า “มืออาชีพ” ไม่ใช่ “เอาแต่ได้” อะไรที่ตัวเองเสียเปรียบ ไม่ได้ดั่งใจ ไม่ได้ประโยชน์ โวยวายเสียจนลืมคำว่า “สปีริต” หลายเหตุการณ์ในฟุตบอลไทยที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นชัดเจนว่าเราต้องพัฒนากันตรงนี้อีกเยอะทีเดียว อย่างไรก็ตามผู้ตัดสินไม่ใช่ถูกทั้งหมด แม้จะเป็น ‘King of the Field’ แต่ก็เป็น “มนุษย์” ที่ทำอะไรย่อมผิดพลาดกันได้ ความผิดพลาดเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ แต่หากมากไปถือว่าไม่ปกติและต้องแก้ไข ช่วงนี้คนฟุตบอลไทยหลายเสียงฟันธงตรงกันว่าผู้ตัดสินไทยเข้าขั้น “ท๊อปฟอร์ม” อีกแล้ว !!! หลายสนามผู้ตัดสินโดนด่ายับ เพราะ “เชิ้ตดำทำฟลาว์” จริงๆ จนเกิดคำถามว่า “มาตรฐานผู้ตัดสินไทยอยู่ตรงไหน ?” จริงๆแล้วกติกา “ฟีฟ่า” ที่ใช้กันก็มีเล่มเดียว แต่คนนำไปใช้ดันไม่ใช่มาตรฐานเดียวกัน บางกรณีที่ควรจะพิจารณาโทษคล้ายๆกันจึงมีคำตัดสินที่ไม่เหมือนกัน ที่เห็นชัดๆคือพวกการคาดโทษด้วยใบเหลืองและใบแดง ขอยกตัวอย่างบางเหตุการณ์ที่กำลังฮอตๆ นัดล่าสุดผู้ตัดสินถูกนักเตะวิ่งชนแบบเจตนา ผลคือนักบอลคนนั้นโดนใบแดงโดยตรงไล่ออกจากสนามทันที แต่บางกรณีที่เห็นคล้ายๆกัน ผู้ตัดสินถูกผู้เล่นชน ผลัก ชี้หน้า ตะโกนด่าใส่ แสดงกริยาไม่ยอมรับคำตัดสินชัดเจน บางคนคาดโทษด้วยใบเหลือง แต่บางรายไม่แจกสักใบ โอเคละว่าตรงนี้อาจมองได้ว่าขึ้นอยู่กับ “ดุลยพินิจ” ของผู้ตัดสินที่ดูว่ารุนแรงหรือไม่ แต่หลายกรณีที่เป็นเรื่องกติกาจริงๆควรจะเป็นมาตรฐานเดียวกัน ยกตัวอย่างกรณีใบแดงจากการทำร้ายคู่ต่อสู้ ที่ผ่านมาเห็นหลายเหตุการณ์มากที่ “สองมาตรฐาน” จริงๆ บางเกมนักเตะเจตนาเข้าสกัดบอลแต่จังหวะมันช้า จากจะสไลด์บอลกลายเป็นสไลด์คน ผู้ตัดสินบางคนทำเฮี้ยบให้ใบแดงตรงเลยทันที แต่หลายสนามที่มีจังหวะอันตราย ยกเท้ากระโดดสกัดบอลถีบถึงยอดอก หรือบางรายตีศอกตอนแย่งโหม่ง แต่ผู้ตัดสินที่เห็นกับตาแท้ๆดันคาดโทษแค่ใบเหลือง !!! กรณีต่างๆเหล่านี้จึงเป็นคำถามว่าผู้ตัดสินไทยมีมาตรฐานตรงไหนแน่ ? แน่นอนครับว่าผู้ตัดสินแต่ละคนมาตราฐานการทำหน้าที่ไม่เท่ากัน ชั้นเชิง ฝีมือ หรือว่าศิลปะในการตัดสินไม่เหมือนกัน แต่ถ้าเป็นเรื่องที่กติการะบุไว้ชัดๆว่าเจตนาทำร้ายคู่ต่อสู่ต้องใบเหลืองหรือใบแดงมันควรเป็นมาตรฐานเดียวกันที่ชัดเจน เชื่อแน่ว่าผู้ตัดสินต้องได้รับการอบรมหรือเรียนรู้กติกาต่างๆมาในทิศทางเดียวกัน แต่ต้องถามว่าทำไมนำไปปฏิบัติไม่เหมือนกัน เมื่อผู้ตัดสินแต่ละคนมีมาตรฐานไม่เหมือนกันความวุ่นวายจึงเกิดขึ้นในสนามบ่อยๆ ที่สำคัญยังเป็นการปลูกฝังนักเตะไทยให้เข้าใจอะไรผิดๆด้วย เวลานักเตะไทยไปเล่นในเกมระดับนานาชาติจึงมัก “เสียค่าโง่” เป็นประจำ เพราะสับสนตั้งแต่แต่ในบ้านแล้วว่าผู้ตัดสินใช้มาตรฐานไหนกันแน่....พับผ่า !!!                                                                                 “บับเบิ้ล”
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมของ ขอบสนาม
logoline