logo-heading

เข้าสู่ฤดูกาลที่ 10 พอดิบพอดี ที่ผมเข้ามาป้วนเปี้ยนอยู่กับวงการสื่อฟุตบอลไทย ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงมากมายกับฟุตบอลไทยลีก ตั้งแต่เริ่มจะบูม จนมาบูม จนพีค แต่ยังไม่ถึงจุดพีคที่สุด มันก็ดร็อปและตกลงมาอย่างรวดเร็วซะอย่างนั้น

ผมเองเข้ามาทำข่าวฟุตบอลไทยเต็มตัว และดูฟุตบอลไทยลีกจริงจังตั้งแต่ฤดูกาล 2009 เป็นฤดูกาลที่ลีกไทยเริ่มตั้งไข่และเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา ในปีนั้นแฟนบอลมันยังไม่เต้มสนามหรือเยอะอะไรมากหรอก มีที่เยอะหน่อยก็เมืองทองฯ ที่เริ่มขยายฐานแฟนขึ้นมา มีชลบุรี ที่เป็นต้นตำรับเรื่องทีมฟุตบอลอาชีพและแฟนบอลท้องถิ่น มีการไฟฟ้า ที่ตอนั้นเล่นอยู่อยุทธยา การท่าเรือ ที่ชาวคลองเตยหนุนหลังเยอะอยู่แล้ว ส่วนทีมอื่นๆ ที่มีแฟนเยอะๆ ในปีนั้นก็จะมีราชนาวี ที่แฟนบอลถึงหมื่นคนเป็นทีมแรก ปีนั้นเล่นที่ จ.ระยอง สมุทรสงคราม ก็ถือว่าแฟนบอลโอเค นครปฐม ทีทีเอ้ม สมุทรสาคร และอีกหลายๆ ทีม ส่วนใหญ่ทีมภูธรตามต่างจังหวัดจะมีแฟนบอลเข้ามาดูเยอะมาก คึกคัก ที่แฟนบอลน้อยๆ ก็คงจะเป็นบรรดาทีมองกรณ์ต่างๆ ทีมในกรุงเทพ อะไรพวกนี้ แต่มันก็เริ่มไปในทิศทางที่ดี จนกระทั่งมีทีมอย่างบุรีรัมย์ พีอีเอ ขึ้นมา มีสปอนเซอร์เข้ามาหนุนการแข่งขัน ทำให้มันบูมและพีคขึ้นมาแบบตั้งตัวไม่ทัน ราวๆ ฤดูกาล 2011-2013 ผมว่า 3 ฤดูกาลนี้ บอลไทยพีคสุดละ จากนั้นมันก็ยังมีกระแสที่ดีมาเรื่อยๆ ในปี 2014-2015 ก่อนจะค่อยๆ มาตกลงในปี 2016,2017 และ ในฤดูกาลนี้น่าตกใจมาก แฟนบอลโหรงเหรง มีเต็มอยู่คู่เดียวคือ บุรีรัมย์ พบ เมืองทองฯ แถมให้อีกคู่คือท่าเรือ เมืองทองฯ นอกนั้นคนดูหายเรียบ ทีมอย่างชลบุรี ที่เมื่อก่อนเต็มทุกนัด ตั้งแต่ปีที่แล้วแฟนๆ ก็หายไปไหนไม่รู้ บุรีรัมย์ กับ เมืองทองฯ เองไม่ว่าจะเจอใครแฟนบอลในสนามก็ต้องหลักหมื่น มาปีนี้ 4-5 พันก็หรูแล้ว เรื่องจำนวนแฟนบอลที่ลดลง รวมทั้งกระแสบอลไทยมันก็ตกไปด้วยนั้น มีคนวิเคราะห์และพูดกันเยอะเมื่อฤดูกาลที่แล้วรวมทั้งผมเองด้วย ปัญหาหลักๆ เลยคือเรื่อง 1.โปรแกรมที่มันเตะกันถี่ไป 2.เศรษฐกิจไม่ดี ค่าตั๋วแพง ดูทุกนัดไม่ไหว 3.หาดูง่ายไม่จำเป็นต้องไปสนาม 4.เบื่อเรื่องการตัดสิน การล้มบอล 5.ไม่มีซูเปอร์สตาร์ (เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในฤดูกาลนี้) เหตุผลทั้งหมดมันมีส่วนเกี่ยวข้องทั้งนั้น และถ้าจะโยงไปถึงบอลโลกด้วยก็เป็นได้ ที่ทำให้เดือนสองเดือนที่ผ่านมา แฟนบอลแม่งอย่างเฮีย แต่ละสนาม คือผมไม่เคยเห็นแบบนี้มาก่อน ผมเองจะพยายามไม่เปรียบเทียบเรื่องการทำงานสมัยนายกสมาคมคนก่อน กับนายกสมาคมคนใหม่นะครับ แต่ละคนมีจุดเด่น จุดด้อยพอๆ กัน อย่างสมาคมชุดเก่า เราก็ต้องยอมรับว่าเขาทำแผนการตลาดได้ดี ไทยลีกเข้าถึงคนทุกระดับ อย่างแค่ลีกภูมิภาคยังบูมเลย ฟุตซอลลีกก็บูม คนดูเยอะ แต่จุดด้อยหรือจุดอ่อนก้คือการบริหารงานที่อาจจะมีจุดให้โดนโจมตีเยอะ ซึ่งเราไม่ไปว่าตรงจุดนั้น ขณะที่สมาคมชุดใหม่ เข้ามาทำได้ดีในเรื่องของการสร้างภาพลักษณ์ให้ไทยลีกของเราดูอินเตอร์ขึ้น มืออาชีพขึ้น ตั้งแต่เรื่องของโลโก้ เรื่องคลับไลเซนซิ่งที่เอาจริงเอาจัง เรื่องแผนพัฒนาต่างๆ การบริหารที่โปร่งใส คือทุกอย่างดีไปหมด แต่ทำไมบอลลีกมันถึงดร็อปไปแบบนี้ ซึ่งก็โยงมาที่จุดอ่อนนั่นก็คือการโปรโมทลีก การจัดการแข่งขัน ที่ดูจะยังทำได้ไม่ดีเท่าไหร่ แม้พื้นฐานจะดี แต่พอถึงเวลาที่ต้องนำไปเสนอให้แฟนบอลได้เข้าถึง หรืออยากจะออกจากบ้านมาดูบอลที่สนาม มันไม่เวิร์ค มันไม่โดนใจ นี่คือโจทย์ที่สมาคมต้องเร่งแก้ไข ในการประชาสัมพันธ์ไทยลีกให้มันถูกจุดกว่านี้ ถ้าเป็นไปได้เอาแนวคิดหรือการทำงานของสมาคมชุดเก่า อะไรที่มันดีๆ ก็เอามาผสมผสานกับการทำงานแบบมืออาชีพของสมาคมชุดใหม่ ผมว่าไทยลีกของเราจะฟื้นคืนชีพกลับมาได้ ในฤดูกาลหน้าน่าเป็นห่วงมากว่าจะเป็นอย่างไร ถ้ากระแสมันยังเป็นแบบนี้เตรียมตัวตายได้เลยครับสำหรับไทยลีก คงไม่เกิน 2-3 ฤดูกาลข้างหน้าคงต้องเล่นให้ยุง หรือแมลงวันดูเหมือนแต่ก่อน ดังนั้นจะทำอะไรก็ต้องรีบทำให้มันกลับมาฤดูกาลหน้าให้ได้ ซึ่งกระแสฟุตบอลไทยโดยรวมในปีนี้ มันเงียบไปมาก ก็หวังว่าช่วงปลายปีที่มันจะมีซูซูกิ คัพ รวมถึงต้นปี 2019 ที่จะมีเอเชียนคัพ ถ้าทีมชาติไทยของเราทำผลงานได้ดีทั้งสองรายการนี้ ก้อาจจะจุดกระแสบอลไทยให้กลับมาดีขึ้นได้ หวังว่าจะเป็นเช่นนั้น

มูซาชิ

ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมของ ขอบสนาม
logoline