logo-heading

ฟุตบอล “โตโยต้า ไทยลีก 2018” เตะกันผ่านเดือนแรกของฤดูกาลใหม่ไปแล้ว ตลอดทั้ง 3 นัดที่ผ่านมาต้องบอกว่ามันส์สะใจไม่น้อย แต่ละสัปดาห์ยิงกันไม่ต่ำกว่า 20 ประตู

อรรถรสของการแข่งขันไทยลีก 2018 ในช่วงออกสตาร์ทถือว่าค่อนข้างดีน่าติดตาม หลายทีมพัฒนามาตรฐานขึ้นมาได้อย่างยอดเยี่ยม แต่ก็มีหลายทีมที่มาตรฐานตกลงไป สำหรับการต่อสู้ในฤดูกาลที่ต้องมีทีมตกชั้นถึง 5 ทีมยังจะต้องลุ้นกันไปอีกยาวนาน เชื่อว่าเกมจะเข้มข้นตามสโลแกนที่ว่า “Battle of Warrior” แน่นอน อย่างไรก็ตามยังมี 2-3 เรื่องที่แฟนบอลอาจจะมีความรู้สึกคาอกคาใจอยู่บ้าง เพราะจะมีคำถามเข้ามาตลอดว่าทำไมถึงเป็นอย่างนู้น หรือทำไมถึงเป็นอย่างนั้น จริงๆ แล้วบางเรื่องเป็นเรื่องเดิมๆ ที่ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอะไรหรอกครับ เพียงแต่ว่าหลายคนอาจจะไม่เข้าใจเท่านั้นเอง อย่าง “ระเบียบการแข่งขัน” ที่ยังมีคนสงสัยกันอยู่ตลอด โดยเฉพาะกรณี ใบเหลือง ใบแดง ที่ถามกันมาเข้ามามากเพราะยังเข้าใจไม่ถูก ทั้งทีเป็นเรื่องเก่าไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร ทำไมนัดที่แล้วนักเตะคนนั้นโดนใบแดง แต่ทำไมนัดนี้ยังลงได้ ? นี่คือคำถามที่พบมากครับ ขออธิบายให้คาใจเลยว่าเรื่องนี้ไม่มีอะไรซับซ้อน ระเบียบฯเขียนไว้ชัดเจนว่าสะสมใบเหลืองครบ 4 ใบถึงจะโดนแบนหรือพักการแข่งขัน 1 นัด กรณีที่นักเตะโดนใบแดงจากการถูกใบเหลืองที่ 2 ถือว่านัดนั้นโดน 2 ใบเหลืองครับ เท่ากับว่ามีใบเหลืองสะสม 2 ใบ ยังไม่โดนแบนในนัดต่อไปทันที เข้าใจง่ายๆ คือสะสมใบเหลืองครบ 4 ใบ ครั้งที่ 1 โดนแบน 1 นัด ปรับ 10,000 บาท หลังจากนั้นก็นับไปอีกทีละ 4 ใบที่จะมีโทษแบนและปรับเงินที่เพิ่มขึ้นตามลำดับ ส่วนกรณีที่โดนใบแดงโดยตรง อันนี้โดนแบนในนัดต่อไปทันทีอย่างน้อย 1 นัด แต่บางกรณีอาจจะแบนมากกว่า 1 นัดอยู่ที่ความผิดและความร้ายแรงในแต่ละกรณี ระเบียบว่าด้วยการลงโทษวินัย มารยาทฯ พ.ศ.2559 แก้ไขเพิ่มเติม (ครั้งที่ 2) พ.ศ.2560 บทที่ 3 หมวดที่ 2 ระบุทุกอย่างไว้อย่างชัดเจน ลองไปหาโหลดที่ www.fathailand.org มาอ่านได้ ด้านการทำหน้าที่ของผู้ตัดสิน หลายคนคาใจว่า “AAR” Additional Assistant Referee หรือผู้ตัดสินหลังประตูที่นำมาทดลองใช้นั้นมีหน้าที่อะไรบ้าง บางนัดเหมือนไม่ช่วยอะไร !!! นี่ถือเป็นของใหม่ครับจึงไม่แปลกที่หลายคนอาจจะคาใจ ไทยลีกเองก็เพิ่งทดลองใช้ บางนัดที่มี “AAR” จึงมีคำถามและความคาใจว่าทำไมไม่อย่างนั้น ทำไมไม่อย่างนี้ ตั้งแต่ตำแหน่งการยืนของ “AAR” ทำไมไปยืนฝั่งเดียวกับ “ผู้ช่วยผู้ตัดสิน” ตรงริมเส้น ทำไมไม่ไปยื่นอีกฝั่งจะได้เห็นเหตุการณ์ในกรอบเขตโทษได้ครอบคลุมกว่า เอาจริงๆ คือ “AAR” ยืนฝั่งเดียวกับผู้ช่วยผู้ตัดสินน่ะถูกแล้วครับ “AAR 1” จะยืนฝั่งเดียวกับผู้ช่วยผู้ตัดสินคนที่ 1 ส่วน “AAR 2” ยืนฝั่งเดียวกับผู้ช่วยผู้ตัดสินคนที่ 2 เหตุผลมาจากทิศทางการวิ่งของผู้ตัดสินที่เวลาหันหน้าเข้าประตูจะมีตำแหน่งการยืนที่ด้านซ้ายของกรอบเขตโทษ “AAR” จึงต้องอยู่ฝั่งขวาเพื่อช่วยดูเหตุการณ์ในมุมที่ผู้ตัดสินเข้าไม่ถึง ส่วนหน้าที่ของ “AAR” คือการบอกผู้ตัดสินว่าฟลาว์หรือไม่ฟลาว์ ลูกเข้าประตูหรือไม่ จุดโทษหรือไม่จุดโทษ (เข้าเขตโทษหรือยัง) ใบเหลืองหรือใบแดง โดยทำได้แค่ “บอก” เท่านั้น แต่การตัดสินใจทุกอย่างอยู่ที่ผู้ตัดสินว่าจะเชื่อ “AAR” หรือไม่ ซึ่ง “AAR” จะให้สัญญานมือแค่เวลาที่มีกรณีปัญหาว่าลูกข้ามเส้นเข้าประตูไปหรือยังเท่านั้น จากข้อมูลเชิงลึกในบางเหตุการณ์ที่ไทยลีกทดลองใช้ “AAR” ถือว่าน่าพอใจ แต่ก็ยังมีที่ผู้ตัดสินพลาดและ “AAR” พลาด ถือเป็นเรื่องปกติอยู่แล้วที่ไม่มีอะไรสมบูรณ์ 100% สิ่งใดทีต้องแก้ไขปรับปรุงทาง “คณะกรรมการผู้ตัดสิน” ต้องพยายามกันต่อไปละครับ ดูแล้ว “AAR” น่าจะมีประโยชน์และน่าสนับสนุนมากกว่า “VAR” ที่แพงเกินไป แต่สิ่งสำคัญที่อยากให้คำนึงถึงคือทุกทีมในลีกควรได้สิทธิ์เท่าๆกันด้วย ไม่ใช่ว่าใช้ “AAR” แค่กับทีมใหญ่หรือไม่กี่ทีม บรรดาทีมเล็กหรือทีมที่ต้องหนีตายก็ควรได้รับสิทธิ์นั้น คำว่าทีมเล็ก ทีมใหญ่ มันมีอยู่จริงละครับ แต่อยู่ลีกเดียวกันควรมี “ความเสมอภาค” เท่ากัน ฝากไว้ให้พิจารณาครับ

“บับเบิ้ล”

ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมของ ขอบสนาม
logoline