logo-heading

ฟุตบอลเยาวชนทั้งอายุไม่เกิน 16 และ 19 ปีชิงแชมป์เอเชีย 2018 ของไทยจบลงแล้ว เป้าหมายที่ฝันไป “เยาวชนโลก” ยังเป็นสิ่งที่ต้องเฝ้ารอต่อไป

นับตั้งแต่เลิกนโยบาย “ดองอายุ” นักเตะเยาวชนไทยไม่เคยได้สัมผัสเกมระดับ “ชิงแชมป์โลก” อีกเลย

ดังนั้นความผิดหวังในปีนี้จึงไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจ

ถึงจะเป็นคำพูดเดิมๆแต่ต้องบอกว่าสิ่งสำคัญที่สุดในความพ่ายแพ้คือการนำ “บทเรียน” จากความผิดหวังมาพัฒนาเพื่อเดินหน้าต่อไป ความผิดหวังของทีมเยาวชนไทยทั้งอายุ 16 และ 19 ปีมีหลายมุมมองที่วิพากษ์วิจารณ์กัน อยู่ที่ว่าจะเลือกมองมุมไหน อย่างไร ส่วนตัวแล้วไม่คิดว่าเป็นความเสียหายหรือความตกต่ำของวงการฟุตบอลไทย เพราะอย่างที่บอกว่าตั้งแต่เลิกดองอายุ นักเตะไทยก็ไม่เคยประสบความสำเร็จอีกเลย ถ้ามองกันจริงๆต้องถือว่าครั้งนี้ยังจะมีลุ้นมากกว่าหลายๆปีที่ผ่านมาด้วยซ้ำ เรา “เกือบ” ที่จะประสบความสำเร็จในทั้ง 2 รุ่น ทีมเยาวชนไทยอายุ 16 ปีที่ตกรอบแรกเกมชิงแชมป์เอเชียมาตลอดนับตั้งแต่ใช้อายุจริง ปีนี้ได้ลุ้นจนนาทีสุดท้ายในนัดสุดท้ายของรอบแรกที่ขอเพียงแค่ผลเสมอจะได้เข้ารอบ ส่วนทีมเยาวชนไทยอายุ 19 ปีจะได้ไปเยาวชนโลกอยู่แล้ว แต่มาเสียประตูก่อนหมดเวลา 3 นาทีแล้วไปแพ้ในช่วงต่อเวลาพิเศษจนฝันสลายแบบน่าเสียดาย แน่นอนละว่าผลงานคือไม่ประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย แต่ต้องมาวิเคราะห์กันต่อว่าอะไรคือเหตุผลที่ทำให้นักเตะไทยไม่ประสบความสำเร็จเสียที สมัยก่อนมักจะมีคำพูดที่ใช้ในวงการฟุตบอลไทยบ่อยๆว่า “แพ้ตั้งแต่ยังไม่ทันขึ้นเครื่อง” ความหมายคือ “การเตรียมทีม” ที่มีปัญหาตลอด การฝึกซ้อมไม่ดี เก็บตัวไม่ดี หรืออะไรอีกต่างๆนาๆที่ทำให้ดูแว่วแล้วว่าไปแข่งก็สู้ชาติอื่นไม่ได้

อย่างฟุตบอลเยาวชนนี่เคยมีปัญหาการจัดการไม่ดีจนถึงขั้นบางทีเตะบอลนักเรียนเช้า ตกบ่ายไปเล่นให้ทีมชาติยังมี !!!

ไม่ได้อวยใคร แต่ว่ากันตามมุมมอง คิดว่าสมัยนี้คำว่าแพ้ตั้งแต่ยังไม่ขึ้นเครื่องไม่น่ามีแล้ว นักเตะเยาวชนไทยทั้ง 16 และ 19 ปีถือว่ามีการเตรียมการในระดับที่เรียกว่าดีเลย ทีมรวมตัวฝึกซ้อมกันมาเป็นปีๆ ตระเวณอุ่นเครื่องในทัวนาเมนต์ทั้งที่เป็นทางการ ไม่เป็นทางการ เตะทั้งในและนอกประเทศมาตลอด แต่พอไปถึงการแข่งขันแล้วจริงยังไม่ดีกว่าทีมอื่นก็ต้องยอมรับความจริงว่าเรายัง “ดีไม่พอ” ดังนั้นต้องเอาข้อผิดพลาดต่างๆมาวิเคราะห์เพื่อแก้ไขกันไป “สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ” ต้องตีโจทย์ให้แตกว่าจะทำอย่างไรให้ “ฝันเยาวชนโลกเป็นจริง” จริงๆแล้วทุกวันนี้รากฐานฟุตบอลเยาวชนของไทยดีขึ้นกว่าสมัยวันวานเยอะ ต้องยกเครดิตให้สโมสรต่างๆที่หันมาสนใจการสร้างเยาวชนแบบจริงๆจังๆ หลายสโมสรสร้างระบบ “อคาเดมี” ลงทุนปีละหลายสิบล้านบาท นักเตะที่เคยเป็นมาตรฐานฟุตบอลนักเรียน ยกระดับเป็น “เด็กสร้างของสโมสร” จากเมื่อก่อนประกาศรายชื่อนักเตะทีมเยาวชนไทยต้องมีต่อท้ายสังกัดว่ามาจากโรงเรียนนั้น โรงเรียนนี้ แต่ทุกวันนี้มีสังกัดเป็นสโมสรกันเกือบจะทุกคน อคาเดมีหลายสโมสรเริ่มสร้างนักเตะเยาวชนไทยอย่างถูกระบบตั้งแต่อายุ 12 ปี บางแห่งส่งแข่งต่างประเทศตั้งแต่เด็กๆเพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์และพัฒนาฝีเท้า เยาวชนอคาเดมีของบางสโมสรไปเตะกับพวกญี่ปุ่น เกาหลีใต้ แบบเป็นภาษามวยคือ “แทบจะจำกลิ่นตัวได้” เพราะเจอกันบ่อยมาก พอเจอกันบ่อยๆจากที่ว่านักเตะไทยกลัวญี่ปุ่น เกาหลี อีกหน่อยก็ไม่กลัวกันแล้ว ไหนจะมีประสบการณ์ทั้งเรื่องการเดินทาง อาหารการกินต่างบ้านต่างเมืองอีก เรียกได้ว่าทุกวันนี้หลายสโมสรผลิตนักเตะเป็นวัตถุดิบชั้นดีให้ทีมชาติไทยในรุ่นต่างๆเลือกไปใช้งานกันอย่างสบายๆ

สำคัญที่ว่า สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ จะเอาไปต่อยอดให้ประสบความสำเร็จได้กี่มากน้อย

เท่าที่ทราบตอนนี้หลายอย่างน่าจะดีขึ้น โปรแกรมแข่งขันเยาวชนมีให้พัฒนาต่อเนื่อง ขณะที่ “เอคโคโน” เก็บข้อมูลนักเตะระดับอายุต่างๆไว้หลายร้อยคนเป็นคลังข้อมูล แต่ปัญหาใช่ว่าจะไม่มี เมื่อนักเตะมีสังกัดเป็นสโมสรจึงมีปัญหาบ้างเมื่อขอตัวมาทีมชาติ ดังนั้นการเตรียมทีมแบบเต็มทีมจริงๆจึงมีปวดหัวอยู่บ้าง ทุกฝ่ายต้องร่วมด้วยช่วยกันต่อไปเพื่อต่อยอดไปสู่ฝันเยาวชนโลก ปีนี้ “เกือบ” แล้ว ขอให้ได้เกือบหรือเฉียดบ่อยๆแบบขาประจำ แล้วอีกไม่ช้าไม่นานคง “ฝันเป็นจริง”  

“บับเบิ้ล”

ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมของ ขอบสนาม
logoline