logo-heading

 “โค้ชคนใหม่ทีมชาติไทยจะเป็นใคร ?” ยังคงเป็นคำถามที่ไม่มีคำตอบที่ชัดเจนจาก สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ

เบื้องต้น “บิ๊กอ๊อด” พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกสมาคมฯ บอกจะให้ “โค้ชโต่ย” ศิริศักดิ์ ยอดญาติไทย กับ “โค้ชโชค” โชคทวี พรหมรัตน์ คุมทีมต่อเนื่องไปก่อน “โค้ชโต่ย” และ “โค้ชโชค” ทำงานร่วมกันและมีผลการแข่งขันที่ถือว่าโอเคจาก “เอเชียนคัพ 2019” ที่ขัดตามทัพขึ้นทำทีมแทน มิโลวาน ราเยวัช ที่ถูกปลดจากตำแหน่ง จากจุดนี้จึงทำให้ สมาคมฯ มีท่าทีไว้วางใจให้ทั้งคู่ได้ทำทีมชาติไทยต่อ “บิ๊กอ๊อด” ให้สัมภาษณ์เรื่องนี้ 2 ครั้งเหมือนกันคือยืนยันให้ “โค้ชโต่ย”​ และ “โค้ชโชค” ทำต่อไป ประมุขลูกหนังไทยบอกว่าทัวนาเมนต์ไหนที่ไม่ต้องยึดข้อบังคับของ “เอเอฟซี” ที่ระบุว่ากุนซือทีมชาติต้องดีกรีระดับ “โปรไลเซนส์” เท่านั้นก็ให้ทั้ง 2 คนคุมทีม แต่เมื่อถึงรายการแข่งขันใดๆที่มีข้อบังคับของ “เอเอฟซี” ระบุไว้ค่อยว่ากัน “บิ๊กอ๊อด” ว่าเอาไว้อย่างนี้ นั่นหมายความว่าเกมที่รออยู่ข้างหน้าอย่างฟุตบอล 4 เส้าที่จีนในช่วงปลายเดือนมีนาคม และฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทาน “คิงส์คัพ” ครั้งที่ 47 ในเดือนมิถุนายนคงไม่มีปัญหาอะไร แต่ทัวนาเมนต์หลังจากนั้นที่ทีมชาติไทยต้องเตะในเดือนกันยายนมีปัญหาแน่ๆเพราะเป็น “ฟุตบอลโลก 2022” รอบคัดเลือก รอบ 2 ที่ต้องยึดตามข้อบังคับของ “เอเอฟซี” สถานะตอนนี้  “โค้ชโต่ย” จบ “เอไลเซนส์” แล้ว และกำลังเรียน “โปรไลเซนส์” ส่วน “โค้ชโชค” แค่ “ซีไลเซนส์” เท่านั้น ทำให้ สมาคมฯ จำเป็นที่ต้องวางแผนเรื่องนี้ล่วงหน้า เข้าใจว่า สมาคมฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจในประเด็นนี้ และกรณีของ “โค้ชโต่ย” นั้นเอาจริงๆถ้าจะให้คุมทีมชาติไทยคงไม่ติดปัญหาเรื่อง “โปรไลเซนส์” อย่างที่คิดกัน เท่าที่ได้ข้อมูลมายังมีช่องทางที่คุยกับ “เอเอฟซี” ได้ และเท่าที่รู้สมาคมฯดำเนินการอยู่  เพราะประเทศไทยเพิ่งเปิดครอส “โปรไลเซนส์” เป็นครั้งที่ 2 เท่านั้น กรณีแบบนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้ว ดังนั้นหากจะมอบหมายให้ “โค้ชโต่ย” คุมทีมยาวๆ เชื่อว่าสามารถกระทำได้ ประเด็นคือสมาคมฯจะเอาอย่างไรมากกว่า ถ้าวิเคราะห์ถึงแนวทางจากบทสัมภาษณ์ของ “บิ๊กอ๊อด” แล้วต้องบอกว่าไม่เห็นด้วย เพราะทีมชาติไทยมีเวลาเตรียมทีมในช่วง “ฟีฟ่าเดย์” แค่ 2 ครั้งเท่านั้นก่อนถึงคัดฟุตบอลโลก ครั้งแรกคือช่วงปลายมีนาคม และครั้งที่สองมิถุนายน ดังนั้นเฮดโค้ชที่จะพา “ช้างศึก” ลุยฟุตบอลโลก 2022 รอบคัดเลือก ควรเป็นคนเดียวกับที่ทำทีมใน “คิงส์คัพ” ในเดือนมิถุนายน แผนการต่างๆต้องชัดเจนแล้วแต่ตอนนี้ ไม่ใช่บอกว่าพอถึงทัวนาเมนต์ที่มีข้อบังคับ “เอเอฟซี” แล้วค่อยหา “โปรไลเซนส์” เข้ามา สมาคมฯจะเอาอย่างไรควรสรุปให้ชัดเจนไปเลย “โค้ชโต่ย” หรือโค้ชคนใหม่ก็ว่ามา หลังจากนั้นจะได้วางแผนงานเตรียมทีมให้เป็นเรื่องราว ไม่ว่าสมาคมฯตัดสินใจแบบไหนเชื่อเถอะว่ามี “ดราม่า” แน่ๆ ดังนั้นต้องหนักแน่น ฟังกระแสหรือเสียงวิจารณ์ได้ แต่ต้องเลือกสิ่งที่คิดแล้วว่าดีที่สุดแล้วเท่านั้นเป็นคำตอบสุดท้าย ประเด็นที่ว่า“โค้ชไทยหรือต่างชาติดีกว่ากัน ?” เป็นคำถามที่ได้ยินบ่อยหูในช่วงนี้ แต่บอกตามตรงเลยว่าตอบยากจริงๆ คงต้องอยู่ที่มุมมองแต่ละคน เอาเป็นว่าจะโค้ชไทยหรือโค้ชต่างชาติวงการฟุตบอลไทยลองมาหมดแล้วทั้งนั้น วงจรของทีมชาติไทยเป็นอย่างนี้ ของนอกไม่ดีก็เปลี่ยนมาไทย ไทยไม่ไหวก็กลับไปต่างชาติ ทั้งโค้ชไทยและโค้ชต่างชาติต่างมีทั้งข้อดีและข้อเสียจึงไม่แปลกที่จะมีคนเชียร์แตกต่างกันไป ยิ่งช่วงนี้กระแสกุนซือไทยมาแรงยิ่งเถียงกันหนัก หลายคนบอกโค้ชนอกมาทำทีมชาติไทยพอไม่ประสบความสำเร็จก็หอบเงินกลับประเทศไป แต่ถ้าเอาโค้ชไทยทำทีมอย่างน้อยยังมีวิชาให้พัฒนาฟุตบอลไทยต่อไป บางรายบอกโค้ชไทยมีข้อดีที่คุยกับนักเตะรู้เรื่องเพราะคุยภาษาเดียวกัน แต่บางคนบอกจะปวดหัวเรื่องนอกสนามมากกว่าจากความกดดันสารพัดต่างๆนาๆ ยิ่งโค้ชไทยที่บารมีไม่ถึง อาวุโสน้อยเกรงว่าจะยิ่งปวดกบาลมากมาย เพราะประเทศนี้มี “เฮด ของ เฮดโค้ช” ให้เห็นอยู่ตลอด ขณะที่โค้ชต่างชาติฟังภาษาไทยไม่รู้เรื่องจึงไม่ค่อยมีคนนอกเข้าไปยุ่งวุ่นวาย แรงกดดันจากเสียงวิจารณ์ก็ไม่มากไม่มายเท่าไร ส่วนเรื่องฝีไม้ลายมือในการทำทีมมันก็พูดลำบากในตอนเลือก โค้ชไทยดีกรีคงไม่เท่าต่างชาติแน่ๆ แต่โค้ชนอกโปรไฟล์ดีแต่ทำจริงห่วยก็มีให้เห็นเยอะไป คำถามทีว่าโค้ชไทยหรือต่างชาติดีกว่ากันจึงเป็นอะไรที่ตอบยากมากๆ สมาคมฯต้องเป็นผู้ที่พิจารณาและตัดสินใจเลือกสิ่งที่คิดดีที่สุดและเหมาะสมที่สุด ไม่ว่าจะเลือกแบบไหนย่อมมีทั้งที่ถูกใจและไม่ถูกใจแน่นอน แต่อย่างน้อยก็ดีกว่าการ “กั๊ก” ไม่สรุปเด็ดขาดว่าจะเอาอย่างไรต่อไป   “บับเบิ้ล”  
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมของ ขอบสนาม
logoline