เมื่อวันวานที่ผ่านมา (11 ก.พ. 62) เป็นการครบรอบ 3 ปีวันเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ “ฟ้าเปลี่ยนสี”
ชัยชนะของ “บิ๊กอ๊อด” พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง และทีมงานในวันนั้นผ่านมา 3 ปีแล้ว ฟุตบอลไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นมากมายตลอดช่วงที่ผ่านมา
คำถามที่ได้ยินบ่อยหูคือ
“ฟุตบอลไทยดีขึ้นหรือแย่ลง ?”
คำตอบคงมีหลายมุมมอง อยู่ที่ว่าจะถามใคร
แต่สิ่งที่จริงแท้แน่นอนคือไม่มีอะไรที่สมบูรณ์แบบร้อยเปอร์เซนต์ สมาคมฯ ก็เช่นกัน ไม่ว่ายุคไหน สมัยใด ย่อมมีทั้งเรื่องที่ดีและแย่
ฟุตบอลไทยยุค “บิ๊กอ๊อด” มีจุดเด่นที่สุดคือ
“การบริหารจัดการ” ที่ได้รับคำชมเยอะ หลายๆ อย่างเป็นระบบและระเบียบร้อยขึ้นมาก
การดำเนินการบางอย่างอาจดูยืดยาดตามระบบราชการ แต่สิ่งที่ได้มาคือความโปร่งใส การชี้แจงแถลงไขอย่างเป็นทางการมีนำเสนอสู่สาธารณชนตลอด ตรงนี้หลายคนค่อนข้างชื่นชม
แต่ใช่ว่าจะไม่มีสิ่งที่คลาดแคลงใจเลย การออกมาแฉของอดีตเลขาฯ
พล.ต.ท.พิสัณห์ จุลดิลก ถึงความไม่ชอบมาพากลเรื่องเงินเดือนค่าจ้างของคนในสมาคมฯถือเป็นเรื่องใหญ่
ตอนนี้เรื่องยังอยู่ในกระบวนการร้องเรียนต่อ
“การกีฬาแห่งประเทศไทย” และเป็นประเด็นที่คนวงในยังวิพากษ์กันตลอดถึง
“ตัวละคร” บางคนในสมาคมฯ
ด้านการพัฒนาต่างๆ ภาพใหญ่ๆ ที่ถูกจับตามองหนีไม่พ้นเรื่อง
“ลีก” และ
“ทีมชาติไทย” ที่มีทั้งคำชมและเสียงด่า
“ไทยลีก” ถูกมองว่ากระแสความนิยมและคนดูลดน้อยถอยลง แต่เรื่อง
“สิทธิประโยชน์” ไม่ได้ตกตาม เม็ดเงินต่างๆ ที่ต่อยอดมาจากการบริหารสมาคมฯ ชุดก่อนถือว่าโอเค
คุณภาพลีกยังถือเป็น
“เบอร์ 1 อาเซียน” แต่นโยบายบางอย่างเหมือนไม่นิ่งกลายเป็น
“ไม้หลักปักขี้เลน” ทั้งที่มี
“มาสเตอร์แพลน” เป็นแผนแม่บทวางเอาไว้แล้ว
ประเด็น
“เพิ่มโควตาอาเซียน” ถูกวิพากษ์มากที่สุดเพราะไม่อยู่ในแผนแต่โผล่มาดื้อๆ หลายคนไม่เชื่อว่าเป็นการพัฒนาที่ตรงจุด และยังไม่เห็นว่ามีสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้นตรงไหน
ด้านผลงานของทีมชาติไทยเป็นสิ่งที่ถูกวิจารณ์อย่างหนักเพราะถือเป็น
“จุดขาย” ของสมาคมฯทุกสมัย บางยุคบริหารแย่แต่ทีมชาติดีก็ช่วยลดกระแสไปได้เยอะ
ทีมชาติไทยในยุคของ “บิ๊กอ๊อด” มีหลายรสชาติจริงๆ แต่ส่วนใหญ่หนักไปทาง
“เจ็บ” โดยเฉพาะการพลาดแชมป์ที่ต้องได้อย่าง
“เอเอฟเอฟ ซูซูกิคัพ 2018”
ส่วนทีมเยาวชนชุดต่างๆไม่ได้ทำผลงานดีกว่าเดิมที่เคยทำได้ เกมระดับอาเซียนหืดจับ ไประดับเอเชียซ่าไม่ออก เป้าหมาย
“เยาวชนโลก” เป็นสิ่งที่ไปไม่ถึงเหมือนเดิม
นี่ยังดีว่าพลิกวิกฤตใน
“เอเชี่ยนคัพ 2019” ได้แบบไม่น่าเชื่อ จากจะตกรอบแรกอยู่แล้ว ดันผ่านเข้าไปถึงรอบ 16 ทีมสุดท้าย สถานการณ์หลายๆอย่างจึงคลี่คลาย
“บิ๊กอ๊อด” โชคดีที่ชนะเดิมพันเปลี่ยนโค้ชใน “เอเชียนคัพ” ไม่งั้นวงแตกไปแล้ว เพราะถูกด่ายับมาตั้งแต่ “ยู-23” ไปตกรอบแรก
“เอเชียนเกมส์ 2018” ที่อินโดนีเซีย
จริงๆ แล้วฟุตบอลมีแพ้-ชนะ ทุกความล้มเหลวมีเหตุผลและที่มาที่ไป แต่ “บิ๊กอ๊อด” มักจะพังจากคำพูดตัวเอง อย่างบางทีบอกไม่ปลดโค้ชเพราะมีแผนระยะยาว แต่สุดท้าย..ปลด !!!
ภาพของ “บิ๊กอ๊อด” ในตำแหน่งนายกสมาคมฯตลอด 3 ปีที่ผ่านมาจึงมีหลายอารมณ์ บางคนชื่นชอบในความเด็ดขาด กล้าตัดสินใจ กล้าลุย และกล้าเปลี่ยนแปลง
แต่หลายคนไม่ปลื้มสไตล์อดีตนายกตำรวจใหญ่ที่พูดจาโผงผาง และเอาจุดอ่อนที่ “บิ๊กอ๊อด” เคยสารภาพว่า
“ไม่มีความรู้เรื่องฟุตบอล” มาย้อนใส่บ่อยๆ
ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม “บิ๊กอ๊อด” เหลือเวลาทำงานในตำแหน่งนายกสมาคมฯตามวาระอีก 1 ปี ก่อนที่ต้องจัดการเลือกตั้ง สมาคมฯ ครั้งใหม่ไม่เกินเดือนมีนาคม 2563
ถึงตรงนี้ไม่ปรากฎชัดเจนว่า “บิ๊กอ๊อด” จะลุยต่อหรือไม่ หรือจะมีใครคนใหม่มาลุยแทน แต่ที่แน่ๆมันน่าสนใจยิ่งขึ้นเมื่อ “บังยี”
วรวีร์ มะกูดี อดีตนายกสมาคมฯ พ้นโทษแบนกลับมาแล้ว
“บังยี” ถูก
“ศาลอาญากรุงเทพใต้” ตัดสินให้ผิดฐานปลอมแปลงเอกสารในการแก้ไข ข้อบังคับสมาคมฯ ก่อนการเลือกตั้งสมาคมฯ เมื่อปี 2013 ทำให้ “ฟีฟ่า” สั่งลงโทษแบน 5 ปี
แต่ “บังยี” ยื่นอุทธรณ์และชนะคดี ศาลไทยยกฟ้องในปี 2017 ทว่าคณะกรรมการอุทธรณ์ “ฟีฟ่า” ยืนยันว่าเป็นการละเมิดจรรยาบรรณ สั่งแบน 3 ปี 6 เดือน
กระทั่งล่าสุด
“ศาลกีฬาโลก” พิจารณาตามพยานและข้อมูลใหม่แล้วให้ลงโทษตักเตือน ปรับเงิน และยกเลิกโทษแบน เท่ากับว่า “บังยี” สามารถกลับมาทำกิจกรรมทางฟุตบอลได้แล้ว
“บังยี” จะกลับมาทวงตำแหน่งนายกสมาคมฯหรือไม่ ยังไม่มีใครยืนยัน แต่การ “ปลดล็อก” ครั้งนี้เป็นอะไรที่ต้องจับตามองจริงๆ กับการทำงานของ “บิ๊กอ๊อด” ใน 1 ปีทีเหลือ
“บับเบิ้ล”