logo-heading

"ไทยแลนด์เอล กลาสซิโก้" คำพูดที่นิยามฟุตบอลไทยลีก คู่เอกระหว่างชลบุรี เอฟซี และเอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด

การเจอกันครั้งแรกในปี 2009 (พ.ศ.2552) ณ สนามกีฬาหนองปรือ เมืองพัทยา สร้างปรากฏการณ์มากมายในเวทีลูกหนังไทย แฟนบอลแห่กันล้นสนาม เกมต่อสู้กันสุดระห่ำมีการพังประตูมากมายถึง 7 ลูก ชัยชนะแม้ตกเป็นของเมืองทอง ยูไนเต็ด เหนือชลบุรี 5-2 แต่มันได้รับการยอมรับจากผู้คนทั่วสารทิศ ว่าเป็นบอลไทยที่สู้กันได้ขาวสะอาด และกลายเป็นเกมลูกหนังไทยที่คนให้ความสนใจ ต่อให้คนคนนั้นจะไม่ได้ติดตามบอลไทยอย่างจริงจังก็เถอะ ชลบุรีและเมืองทอง อุดมไปด้วยผู้เล่นทีมชาติ ทำให้การต่อสู้ในแทบทุกๆครั้ง จะใส่กันสนุก ไม่มีใครยอมแพ้ให้อีกฝ่ายแน่ แต่มันเวลาได้เปลี่ยนไป 10 ปีจากการเจอกันในครั้งแรกในไทยลีก ความน่าสนใจของเกมลูกหนังคู่นี้ตกลงไปอย่างน่าใจหาย คุณภาพผู้เล่นที่ชลบุรีไม่เหลือคำว่าทีมชาติหลงเหลืออยู่ ส่วนเมืองทองก็ประสบปัญหาเรื่องความสำเร็จที่จับต้องแทบไม่ได้ในช่วงหลังๆ จึงทำให้ไคล้แมกซ์วงการลูกหนังไทย กลายเป็นเรื่องราวที่ถูกพูดถึงแค่ช่วงหนึ่งในแง่ของตำนานเท่านั้น ขอบสนามสรุปเหตุผลที่ทำให้ "ไทยแลนด์เอล กลาสซิโก้" ถึงสิ้นมนต์เสน่ห์บิ๊กแมตซ์ ระหว่าง ฉลามชลvsกิเลนมนต์ 1.ความสำเร็จที่ขาดหาย อันนี้คือจุดหลักๆที่ทำให้ 2 สโมสรลูกหนังไทยที่เคยสร้างปรากฏการณ์ให้คนตื่นตัวเข้ามาชมฟุตบอลกันจนแน่นสนามเมื่อ 10 ปีที่แล้วไม่มีในตอนนี้ เนื่องจากแชมป์บอลลีกภายในประเทศก็ตกเป็นของบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ส่วนแชมป์ลีกหนสุดท้ายของเมืองทองก็เกิดขึ้นในปี 2016 ส่วนแชมป์รายการล่าสุดคือลีก คัพ ปี 2017 ด้านชลบุรีก็ปี 2007 ที่ได้แชมป์ลีกมาครอง ส่วนบอลถ้วยก็คือเอฟเอ คัพ ปี2010 เท่ากับว่าความสำเร็จที่มีของทั้ง 2 ทีมห่างหายไปนานเกินไป แน่นอนว่ามันมีผลต่อผู้สนับสนุนทีมอยู่ไม่น้อยในการเพิ่มเม็ดเงินการทำทีมในปีต่อๆไป 2.แฟนบอล เมื่อทีมไร้ความสำเร็จแบบจับต้อง สิ่งที่เป็นผลกระทบตามมาคือเรื่องของแฟนบอล ที่จะต้องห่างหายไปด้วยเช่นกัน ฟุตบอลไทยยุคนี้ไม่ได้สนุกอย่างที่ควรจะเป็น แถมกระแสทีมชาติไทยก็ซบเซาไปอีก คนดูจึงเลือกมองข้ามในการดูบอลไทย ต่อให้เป็นแมตซ์ใหญ่ๆก็ไม่สามารถเรียกคนเข้าสนามได้เหมือนเมื่อราวๆ 7-8 ปีก่อน 3.พัฒนาการอินเตอร์เน็ต ฟุตบอลไทยเมื่อก่อน ไม่มีการโปรโมตให้รู้จักกันเป็นที่มากมายนัก เนื่องจากจะหาสปอนเซอร์ดึงคนเข้ามาชมในสนามมันเป็นเรื่องยาก ยิ่งไม่นับเรื่องการถ่ายทอดสดยิ่งแทบเป็นไปไม่ได้เลย แต่การจุดประกายของชลบุรี ที่สามารถคว้าแชมป์ลีก เมื่อปี 2007 สร้างคำว่าท้องถิ่นนิยม และมีการจ้างสยามกีฬาไปถ่ายทอดสดลงหน้าจอทีวี ทำให้เกิดความตื่นตัว และเข้ามาชมบอลเต็มสนามจนบอลไทยฟีเวอร์ในช่วงปี 2009-2010 หลังจากนั้นพัฒนาการของโซเชียลมีเดียเริ่มเข้ามามีผลกระทบโดยตกกับการดูบอลไทยชัดเจน ความเร็วของอินเตอร์เน็ตและเฟสบุ๊ค ทำให้เกิดการถ่ายทอดสดลงอินเตอร์เน็ต, ไลฟ์สดแทน ยิงสัญญาณผ่านYoutube อีก เรียกได้ว่าเป็นการทำลายการเข้าไปดูบอลในสนามโดยตรง และนั้นเป็นสาเหตุหลักๆที่คนเมินหนีการดูบอลไทยในสนามด้วยเช่นกัน 4.ตัวผู้เล่น นับตั้งแต่ชลบุรี ก้าวไปคว้าแชมป์ไทยลีก เมื่อปี 2007 ซึ่งแกนหลักก็มาจากผลผลิตที่มาจากโรงเรียนอัสสัมชัญ ศรีราชา และจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย ผู้เล่นชุดนี้อยู่กับทีมตั้งแต่อายุไม่ถึงหลัก20 ต้น จนถึงเตะวัยเลข 30 โรยราลงไปเรื่อยๆ ขนาดที่กลุ่มดาวรุ่งที่สโมสรผลักดัน ก็ยังไม่สามารถขึ้นมาทดแทนได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ผลงานชลบุรีจึงกระท่อนกระแท่น ผิดกับเมืองทองที่มีพร้อมทุกอย่าง ทั้งผู้เล่นดีกรีทีมชาติ ระดับเยาวชนที่เยี่ยมยอด แต่ก็มีปัญหาคล้ายๆชลบุรีคือ ทดแทนไม่ได้โตไม่ทันใช้งาน นี่ก็เป็นเหตุผลสำคัญไม่แพ้กัน เนื่องจากในยุคบอลไทยลีกเริ่มบูม ตัวผู้เล่นส่วนใหญ่ทีมชาติจะมาจากชลบุรีและเมืองทอง มันจึงทำให้ 2 สโมสรสามารถเรียกคนดูบอลเข้ามาดูในสนามได้ด้วย แต่ในยุคสมัยนี้มันไม่ใช่เสียแล้ว 5.งบประมาน ส่วนการใช้เงินเมืองทอง ยูไนเต็ด คงไม่น่ามีปัญหา เพราะพวกเขามีกลุ่มทุนสปอนเซอร์มากมายที่ทุ่มงบประมานให้สยามสปอร์ตจัดการทีมได้ จึงไม่ผิดแปลกที่พวกเขาสามารถจับจ่ายใช้เงินเสริมทัพผู้เล่นใหม่ค่าตัวแพงๆได้แทบทุกฤดูกาล หรือการจ้างโค้ชต่างชาติเกรดพรีเมี่ยม ซึ่งเรื่องดังกล่าวคงไม่มีทางเกิดขึ้นกับสโมสรอย่างชลบุรี เอฟซี นโยบายคือ อรรณพ สิงห์โตทอง รองปธ. และวิทยา เลาหกุล ปธ.เทคนิค คือการผลักดันเด็กเยาวชนที่บ้านบึง ขึ้นมาสู่ทีมชุดใหญ่ นโยบายการควักเงินเพื่อซื้อใครเข้ามาสู่ทีมคงเป็นเรื่องยาก เพราะสิ่งนี้เป็นโมเดลที่ทีมฉลามชล ยืนหยัดในวงการลูกหนังไทย ในการสร้างคนมากกว่าจะใช้เงินแก้ปัญหา มันอาจจะเห็นผลช้า แต่สิ่งนี้ยั่งยืนกว่า และทางชลบุรี มองเห็นถึงการสอนนักบอลในสโมสรให้รู้จักคำว่าคุณค่าของการใช้เงินและคำว่าอาชีพนักฟุตบอล ซึ่งมันไม่ได้ยืนยาวอย่างที่นักบอลไทยหลายๆคนคิดกัน 6.โปรแกรมแข่งในประเทศที่แน่นเกินไป ข้อนี้มันคือความจริงปัจจุบันวงการลูกหนังไทย หากนับเฉพาะทีมในลีกสูงสุดของประเทศ เมื่อก่อนมี 18 ทีม แถมแมตซ์แข่งที่แน่นเกินไป แถมยังมีรายการบอลถ้วยอีก 2 รายการ ทั้งเอฟเอ คัพ และ ลีก คัพ และบางครั้งก็ต้องมาเล่นในเกมกลางสัปดาห์ มันเป็นเรื่องยากที่คนจะเข้าสนามมาดูเกมฟุตบอล ยิ่งเตะถี่ๆกลางสัปดาห์อีก อย่างลืมว่าตั๋วบอลไทยสมัยนี้ราคาเกิน 100 บาทไปแล้ว ไม่ได้เหมือนสมัยก่อน เพราะฉะนั้นมันเป็นเรื่องยากที่จะมีคนทั่วไปมาเข้าชม

เอ็มเร่

[email protected]

ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมของ ขอบสนาม
logoline