logo-heading

ฟุตบอล “ไทยลีก” ประเดิมเลก 2 ไปเรียบร้อยแล้ว กระแสแฟนบอลถือว่าดีทีเดียว สัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นเกมที่มีครบทุกรสชาติ ทั้งสีสันและผลการแข่งขัน

ไฮไลท์อยู่ที่ ชลบุรี สเตเดียม ที่กลายเป็นประเด็นให้พูดถึงกันอย่างต่อเนื่อง เมื่อแฟนๆ “ฉลาม” แห่กันเข้ามาชมเต็มความจุของสนาม นี่คือภาพที่ไม่เคยเห็นมาหลายปีแล้ว !!! การมาของ “โค้ชเตี้ย” สะสม พบประเสริฐ กุนซือมาดกวนเป็นการปลุกกระแสเบื้องต้น ก่อนที่ “ลีซอ” ธีรเทพ วิโนทัย จะตามมาสมทบอีกรายจนกลายเป็น “จุดขาย” ที่น่าสนใจยิ่งนัก อีกทั้งคู่แข่งของ ชลบุรี ในเกมล่าสุดยังเป็น บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ทีมแชมป์เลกแรกด้วย ความน่าสนใจจึงอยู่ในระดับ 5 ดาวที่ทำให้บรรยากาศแฟนบอลเต็มสนามกลับคืนมาอีกครั้ง ที่ต้องปรบมือชื่อชมคือนักเตะทั้งสองทีมที่เล่นกันได้สนุกไม่ทำให้แฟนบอลต้องผิดหวัง ตลอดเกม 90 นาทีถือเป็น “บิ๊กแมทช์” ที่ไม่น่าเบื่อและสมราคา ถ้าถามว่าจะทำอย่างไรให้แฟนบอลไทยกลับมาแน่นสนาม กรณีศึกษาที่ ชลบุรี สเตเดียม น่าจะเป็นคำตอบได้ดี เกมต้องมีสีสันหรือจุดขาย ไม่ใช่เตะให้จบๆไป บางทีคำว่า “ท้องถิ่นนิยม” อาจไม่ใช่คำตอบที่ร้อยเปอร์เซนต์อีกต่อไป แน่นอนว่าการ “รวมลีก” เมื่อหลายปีก่อนที่ดึงเอาความผูกพันธ์ของแฟนบอลท้องถิ่นใน “โปรลีก” มารวมกับฝีเท้านักเตะระดับชั้นนำใน “ไทยลีก” ทำให้ลีกไทยเติบโตมาจนถึงทุกวันนี้ แต่จากจำนวนคนดูตามสนามลีกต่างๆในรอบหลายๆปีแสดงให้เห็นชัดเจนว่ามันไม่พอ แฟนบอลพันธุ์แท้มีน้อยกว่าที่ดูตามกระแสและผลการแข่งขัน ทีมใหญ่ๆที่เคยคนดูเยอะ แต่พอผลงานไม่ดี อันดับฮวบ แฟนบอลก็ลดน้อยถอยลงด้วย นี่คือภาพความเป็นจริงที่เห็นกันอย่างชัดเจน ประเด็นโลกยุค “โซเชียล” ถือว่าสำคัญไม่แพ้กัน ทุกวันนี้คนเข้าถึงการดูฟุตบอลได้ง่าย แค่เปิดโทรศัพท์ดูได้แล้ว ไม่จำเป็นต้องถ่อไปถึงสนาม แต่ถ้าจะให้เลิกถ่ายทอดสดเพื่อให้แฟนบอลกลับเข้าไปดูในสนามคงเป็นไปไม่ได้ เลอะเทอะด้วย ไม่มีที่ไหนในโลกทำกันแน่ อย่าลืมว่ามูลค่า “ค่าลิขสิทธิ์” มหาศาล ทุกวันนี้ทีมสโมสรได้จากตรงนี้ปีละกว่า 20 ล้านบาท หากเลิกหรือลดจำนวนถ่ายทอดสดไปแล้วเงินหายไปจะยอมกันหรือ คงเป็นไปไม่ได้ ป่วยการที่มาตะโกนโวยวายว่าทำไมคนดูน้อย เอาแต่โทษนู้นโทษนี่ สิ่งสำคัญคือต้องพยายามคิดว่าจะทำอย่างไรให้คนดูกลับเข้ามาในสนามมากกว่า นี่คือสิ่งที่ทั้งฝ่ายจัดการแข่งขันและทีมต้องพยายามสร้างจุดขายเพื่อดึงดูดแฟนบอลกลับมาให้ได้ “ลด แลก แจก แถม” หรืออะไรที่ทำได้ต้องทำ ไม่ก็หาจุดขายของตัวเองให้เจอ สร้างสีสันกันเข้าไปให้น่าสนใจ ที่เห็นและเป็นอยู่ยังสงสัยในเรื่องการประชาสัมพันธ์ไม่น้อยเหมือนกัน ทุกวันนี้เห็นป้าย “ไทยลีก” โฆษณาติดเยอะแยะตามป้ายบนตึกใหญ่ ทางด่วน รวมถึงรถโดยสารสาธารณะ แต่สงสัยว่าเข้าถึง “กลุ่มเป้าหมาย” ตรงจุดหรือเปล่า ? เข้าใจอยู่ว่าป้ายเหล่านี้เป็นการเพิ่มมูลค่าให้ “ไทยลีก” แต่ถ้าถามว่าเข้าถึงแฟนบอลจริงๆหรือไม่ ผู้สัดทันกรณีหลายคนมองว่าไม่น่าจะโดน ทุกวันนี้หลายสโมสรไม่ได้อยู่ในเมืองกรุง แต่กระจายออกไปต่างจังหวัดกันเยอะมากๆ เอาแค่ “ไทยลีก” ที่เป็นลีกสูงสุดเหลือเพียง การท่าเรือ ทีมเดียว ทีมอื่นขยับออกไปอยู่ปริมณฑลและต่างจังหวัดหมดแล้ว แล้วพวกป้ายที่ติดตรงตึกใหญ่ ทางด่วน รถโดยสารสาธารณะ จะเจาะเข้าถึงแฟนบอลที่จะเข้าสนามส่วนใหญ่ได้อย่างไร ? ใครบางคนบอกว่าไม่ต้องเน้นเลิศหรู เอาแบบบ้านๆ อย่าง “รถแห่” บางทีเข้าถึงมากกว่า วิธีการแบบนี้สมัย “ไทยลีก” เพิ่งจะเริ่มบูมหลายทีมเคยใช้กัน แถมได้ผลอีกต่างหาก ถ้าลองเปลี่ยนงบที่ซื้อโฆษณาในเมืองกรุงกระจายไปสู่ต่างจังหวัดที่เข้าถึงแฟนบอลจริงๆได้อาจจะดีกว่าหรือเปล่า นี่คือสิ่งที่เริ่มมีคนถาม เพราะเกรงว่าการพีอาร์ทุกวันนี้อาจไม่ตรงจุด รวมถึงอะไรที่สามารถบูมกระแสออกตามสื่อหลักกระจายได้ทั่วประเทศมากๆควรทำ ไม่งั้นกี่ครั้งกี่หนข่าวสารฟุตบอลไทยก็ได้แค่เป็น “ลูกเมียน้อย” รองจากบอลนอกทั้งปี นั่นคือสิ่งที่ฝ่ายจัดการแข่งขันต้องคิดทบทวน แต่สโมสรอย่าได้นิ่งเฉยรออย่างเดียว อะไรที่ตัวเองทำได้เพื่อเรียกความสนใจจากแฟนบอลก็ต้องทำ สโมสรต้องพยายามสร้างสีสัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องนอกสนามอย่างโปรโมชั่น กิจิกรรมต่างๆ รวมถึงเรื่องในสนามทั้งบุคลากร ผู้เล่น ฟอร์มการเล่น

แม้ “ไทยลีก” จะแจ้งสถิติคนดูล่าสุดว่าดีกว่าหลายๆ ปี แต่จากความรู้สึกมันเคยดีกว่านี้ และเชื่อว่าสามารถดีกว่านี้ได้อีก

แต่ละทีมต้องหาสีสันของตัวเองให้เจอ ไม่ก็สร้างขึ้นมา แล้วจะบูมกระแสแฟนๆได้ชัวร์

 

“บับเบิ้ล”

 
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมของ ขอบสนาม
logoline