ปัญหาเรื้อรังของวงการฟุตบอลไทยที่ยังแก้ไม่หายเสียทีในประเด็น “เชิ้ตดำทำฟาวล์” กลายเป็นเรื่องใหญ่โตอีกแล้วในฟุตบอล “ไทยลีก” เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา !!!
เหตุการณ์เกิดขึ้นที่สนามกีฬาจังหวัดตราดเมื่อ
ตราด ถูก
บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ยิงประตูจาก
“ลูกปัญหา” ในช่วงท้ายเกมนาทีที่ 84
นี่คือกรณี
“ดราม่า” ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักเพราะทำให้ “ช้างขาวเจ้าเกาะ” แพ้คาบ้าน และเป็นประตูชัยที่ทำให้ “ปราสาทสายฟ้า” ยังเป็น
“จ่าฝูง” ลุ้นแชมป์ต่อไป
ที่เป็นข้อถกเถียงกันคือลูกนี้ถูกต้องตามกติกาหรือไม่ นักเตะตราดน่ะทำฟาวล์แน่ๆ แต่ผู้เล่นบุรีรัมย์ฉวยจังหวะเล่นเร็วเริ่มเล่นไม่ตรงจุดที่เกิดเหตุอย่างชัดเจน
นอกจากนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าจังหวะนั้นลูกฟุตบอลหยุดนิ่งก่อนมีการเริ่มเล่นใหม่แล้วหรือยัง ที่แน่ๆพอผู้ตัดสินปล่อยให้เกมไหลจนกลายเป็นประตูจึงเกิดปัญหาวุ่นวายตามมา
ผู้ตัดสิน
“ชัยฤกษ์ งามสม” ที่มีดีกรี
“ผู้ตัดสินยอดไทยลีก 2018” ถูกตั้งคำถามว่าปล่อยให้เล่นได้อย่างไร ทำไมไม่เป่าหยุดเกมให้กลับมาเริ่มเล่นใหม่ให้ตรงจุด
หลายคนแสดงความคิดเห็นเรื่องนี้อย่างกว้างขวางในเรื่องกฎกติกา ทั้งที่
“เห็นด้วย” และ
“เห็นค้าน” ต่อการทำหน้าที่ของผู้ตัดสิน
แต่หลายรายพิพากษาไปแล้วว่ามีการ
“โกง” เกิดขึ้น !!!
ข้อกล่าวหานี้ถือว่ารุนแรงและไม่ใช่ครั้งแรกที่ผู้ตัดสินไทยลีกโดนตราหน้าเปลี่ยนคำเรียกจาก
“กรรมการ” เป็น
“กรรมโกง”
แต่มุมมองอีกด้านมีคำถามเกิดขึ้นว่าหลายความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในฟุตบอลไทยเกิดจาก
“กรรมการห่วย” มากกว่าหรือเปล่า
ความผิดพลาดเกิดขึ้นได้อยู่แล้วกับมนุษย์ทุกคน ผู้ตัดสินไม่ว่าระดับไหนไม่เคยไม่พลาด แต่ประเด็นสำคัญคือพลาดแบบไหน พลาดแบบเจตนาหรือไม่เจตนา
คำถามนี้ยากที่จะตอบ ทุกอย่างอยู่ที่ตัวของผู้ตัดสินเองที่ย่อม
“รู้ดีแก่ใจ”
หากพลาดแบบเจตนาต้องถือว่า “โกง” ถ้าพลาดแบบไม่เจตนาอาจมองได้ว่าเรื่องปกติ แต่ถ้าพลาดบ่อยๆซ้ำซากอย่างนี้เรียก “ห่วย”
สำหรับกรณีปัญหาล่าสุดที่เกิดขึ้นคงไม่มีใครฟันธงได้ว่าผู้ตัดสินผิดพลาดแบบเจตนาหรือไม่ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมองได้หลายมุม
ไม่ได้บอกว่าใครถูกใครผิด แต่จากการสอบถามผู้ตัดสินหลายรายมีมุมมองที่น่าคิด ลองวิเคราะห์ตามด้วยเหตุและผลดังนี้
การเล่นเร็วจากฟรีคิกสามารกระทำได้ ถ้าว่ากันตามกติกาหรือ
‘Laws of the Game’ มีเงือนไข 2 ข้อ 1.ตั้งลูกฟุตบอลตรงจุดที่ฟาวล์ 2.ลูกฟุตบอลต้องนิ่ง
แต่ทางเทคนิคการทำหน้าที่ของผู้ตัดสิน การเริ่มเล่นฟรีคิกไม่ตรงจุดมีให้เห็นเป็นประจำ หากไม่เกิดความได้เปรียบ-เสียเปรียบ หรือมีผลต่อการทำประตู
ลองนึกภาพตามถ้าเป็นการฟาวล์ในแดนฝ่ายรับที่ได้ฟรีคิก หรือจุดที่ไกลกรอบเขตโทษ การเล่นเร็วจากฟรีคิกที่ไม่ตรงจุดคงไม่เป็นปัญหา ภาพแบบนี้เห็นอยู่ทั่วไปในแต่ละเกม
แต่เหตุการณ์ที่ตราดเกิดขึ้นใกล้บริเวณกรอบเขตโทษที่มีผลต่อการทำประตูอย่างชัดเจน ผู้ตัดสินควรมีความระมัดระวังเป็นพิเศษในการใช้
“ดุลยพินิจ” พิจารณา
ดังนั้นอาจพิจารณาได้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวผู้ตัดสินสามารถปล่อยให้เล่นได้ แต่ไม่ควร เพราะเกิดเป็นประตูมีผลต่อการแข่งขัน
ถึงตรงนี้เหตุการณ์ผ่านไปแล้วไม่สามารถเปลี่ยนแปลงผลการแข่งขันได้ ขั้นตอนต่อไป
“คณะกรรมการผู้ตัดสิน” สมควรต้องพิจารณาว่าผู้ตัดสินทำหน้าที่ถูกต้องหรือบกพร่องอย่างไร
สิ่งสำคัญควรอธิบายและทำความใจต่อสาธารณชนด้วยไม่ว่าบทสรุปจะออกมาแบบไหน ถ้าผู้ตัดสินทำหน้าที่ถูกต้องก็ควรชี้แจงว่าถูกยังไง ทุกๆทีมและแฟนบอลจะได้เข้าใจตรงกัน
แต่ถ้าผู้ตัดสินทำหน้าที่ผิดพลาด บกพร่อง เมื่อมีการลงโทษต้องเปิดเผยให้สังคมได้รับรู้ ไม่ใช่คุยกันเงียบๆลงโทษกันเงียบๆรู้แค่พวกเดียวกันเหมือนที่ผ่านๆมา
อย่าไปยึดแนวทางที่อ้างว่า
“ระบบสากล” การลงโทษผู้ตัดสินปกปิดเป็นความลับเลย นั่นมันระดับนานาชาติ นานๆผู้ตัดสินจะลงเป่าเจอกันสักที
แต่นี่คือ “ไทยลีก” ที่ต้องเจอทำหน้าที่ทุกสัปดาห์ อย่างน้อยๆ “คณะกรรมการผู้ตัดสิน” ต้องให้ความมั่นใจว่าผู้ตัดสินผิดพลาดต้องถูกลงโทษ ไม่ใช่ปล่อยให้ลอยนวล
ส่วนคนทำทีมและแฟนบอลที่ไม่พอใจการทำหน้าที่ของผู้ตัดสินสามารถแสดงความคัดค้านหรือไม่พอใจได้ แต่ถ้าเกินขอบเขต นอกจากภาพพจน์จะไม่ดีแล้วทีมยังต้องถูกลงโทษด้วย
อย่างกรณีของตราดคาดว่าต้องถูกลงโทษหนักอยู่ ทั้ง
“วอล์กเอาท์” ผละออกจากการแข่งขัน ตะโกนด่าขว้างปาใส่ผู้ตัดสิน รวมถึงเหตุการณ์ปิดล้อมหลังจบเกม
ทั้งคนทำทีมและแฟนบอลต้องท่องจำให้ขึ้นใจ
“ผู้ตัดสินห่วย อย่าห่วยตาม” เพราะถึงตรงนี้ยังเชื่อว่า “กรรมโกง” คงไม่มี แต่ “กรรมการห่วย” น่ะมีแน่ๆ
ลองพิจารณาดูดีๆว่าไม่มีทีมไหนหรอกที่ไม่เคยได้เปรียบหรือเสียเปรียบจากความผิดพลาดของผู้ตัดสิน แต่จะมากหรือน้อยแตกต่างกันไปเท่านั้น
“บับเบิ้ล”