สัปดาห์ที่ผ่านมาแวดวงฟุตบอลไทยมีข่าวที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขัน “โอลิมปิกเกมส์” อยู่ 2 ข่าวเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน แต่คนในข่าวต่างยุคต่างสมัยกัน
ไฮไลท์คือการจับสลากแบ่งสาย
“ฟุตบอลอายุไม่เกิน 23 ปีชิงแชมป์เอเชีย 2020” ที่ไทยเป็น “เจ้าภาพ” ระหว่างวันที่ 8-26 ม.ค. 2563
ทัวร์นาเมนต์นี้มี 16 ชาติเข้าร่วม เตะกัน 32 นัดหา 3 ทีมเป็นตัวแทนเอเชียไปกีฬาโอลิมปิก
“โตเกียวเกมส์ 2020” ในช่วงกลางปีที่
ญี่ปุ่น เป็นเจ้าภาพและได้สิทธิ์เตะในรอบสุดท้ายอยู่แล้ว
นักเตะไทยถูกจับอยู่
“กลุ่มเอ” ร่วมกับ
อิรัก ออสเตรเลีย และ
บาห์เรน
กลุ่มของไทยหนักหรือเบาอยู่ที่มุมมอง แต่เกมระดับ
“รอบสุดท้ายชิงแชมป์เอเชีย” แบบนี้ถ้าว่ากันตรงๆ คงต้องบอกว่าไม่มีเบา อยู่ที่เจอหนักมากหรือน้อยเท่านั้น
ที่น่าสนใจคือการเตรียมทีมชาติไทยมากกว่าว่าพร้อมแค่ไหนสำหรับการชิงแชมป์เอเชียที่วางเป้าหมายเอาไว้ว่าต้องติดเป็น 1 ใน 3 ไป
“โอลิมปิก 2020” ให้ได้
เอ่ยถึงเรื่องนี้ทีไรรู้สึกเสียดายทุกที ทีมชาติไทยควรได้เตรียมทีมต่อเนื่องมากว่า 3 ปีแล้ว นับตั้งแต่
“สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ” วางเป้าเอาไว้อย่างหรูในตอนนั้นว่าจะไปโอลิมปิก
ทั้งเริ่มแผนเตรียมทีมนับ 1 ก่อน
“ซีเกมส์ 2017” รวมถึงเสนอตัวขอเป็น “เจ้าภาพ” เพื่อชิงความได้เปรียบในเกมรอบสุดท้าย
แต่เอาเข้าจริงการเตรียมทีมดันล้มเหลวไม่เป็นท่า นโยบายเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาดั่ง
“ไม้หลักปักขี้เลน”
3 ปีเปลี่ยนโค้ชไป 4 รอบแบบเพิ่งได้
อากีระ นิชิโนะ มารับงานควบกับทีมฟุตบอลโลก เท่ากับว่าแทนที่จะได้เตรียมทีมมาแล้ว 3 ปีกลายเป็นมีเวลาแค่ 4-5 เดือน ก่อนแข่งเท่านั้น !!!
สภาพทีม “ยู-23” ในวันนี้จึงน่าเป็นห่วงมากกว่าจะไปกังวัลกับทีมคู่แข่งว่าเป็นอย่างไร เพราะเอาจริงๆ “นิชิโนะ” เพิ่งได้เริ่มนับ 1 เตรียมทีม แต่ยังไม่เคยเจอกันแบบเต็มทีมด้วยซ้ำ
การเข้าแคมป์ช่วง “ฟีฟ่าเดย์” ในเดือนตุลาคมนี้จะเป็นการรวมทีมครั้งแรกของ “นิชิโนะ” แต่ก็น่าสนใจว่ากุนซือญี่ปุ่นจะบริหารจัดการอย่างไรในการคุมทีมชาติไทยทั้ง 2 ชุดพร้อมกัน
สถานการณ์ของทีม “ยู-23” เท่าที่เห็น
“วันนี้” จึงน่าเป็นห่วงถึงเป้าหมายที่หวังกันไว้ว่า
“ฟุตบอลไทยจะกลับไปโอลิมปิกอีกครั้ง” จะเป็นจริงได้หรือไม่
บางคนอาจไม่รู้ว่า
“วันวาน” ที่ผ่านมาฟุตบอลไทยเคยไปโอลิมปิกมาแล้วถึง 2 ครั้ง เรื่องนี้หลายคนรู้ แต่อีกหลายคนยังไม่รู้
คำถามที่ว่า
“ฟุตบอลไทยเคยไปโอลิมปิกหรือเปล่า” จึงถูกถามบ่อยหน
ใครยังไม่รู้ก็บอกให้รู้ไว้เลยว่าทีมชาติไทยเคยสร้างประวัติศาสตร์ไปแข่งขันโอลิมปิกครั้งแรกมาแล้วตั้งแต่พ.ศ.2499 ใน
“กีฬาโอลิมปิก 1956” ที่เมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย
นักเตะทีมชาติไทยยุคนั้นมีหลายคนที่คนรุ่นหลังเคยได้ยินชื่อ อาทิ “ปรมาจารย์ลูกหนัง”
พล.ต.สำเริง ไชยยงค์ และ “น้าสันต์”
ประสันต์ สุวรรณสิทธิ์ ที่ปัจจุบันล่วงลับไปแล้ว
ประวัติศาสตร์ครั้งที่ 2 ของฟุตบอลไทยในโอลิมปิกเกิดขึ้นในพ.ศ.2511 หรืออีก 20 ปีต่อมาจากครั้งแรกใน
“โอลิมปิก 1968” ที่เม็กซิโกซิตี ประเทศเม็กซิโก
ปัจจุบันนักเตะชุดลุยเม็กซิโกยังอยู่ในวงการหลายคน ไม่ว่าจะเป็น
นิวัติ ศรีสวัสดิ์, ชัชชัย พหลแพทย์, สราวุธ ประทีปากรชัย, ไพบูลย์ อัญญะโพธิ์, เกรียงศักดิ์ วิมลเศรษฐ์ ฯลฯ
ทุกวันนี้บางคนทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้กับสโมสร บางรายเปิดสอนฟุตบอลเด็กๆ หลายคนทำหน้าที่ผู้ควบคุมการแข่งขันในฟุตบอลลีก
ทุกๆ คนถือเป็น
“ฮีโร่” ของวงการฟุตบอลไทย แต่น่าเสียดายที่บางคนดูจะ
“ถูกลืม” เพราะฟุตบอลไทยยุคสมัยนี้ไม่ค่อยระลึกถึง
“รากเหง้า” ที่ผ่านมา
น่าเสียใจที่ข่าวเศร้าที่เกิดขึ้นเมื่อสัปดาห์ก่อนถูกพูดถึงแค่ในวงเล็กๆ ทั้งที่
สหัส พรสวรรค์ คือนักเตะที่ยิงประตูชัยให้ทีมชาติไทยได้ไปโอลิมปิก 1968 ได้เสียชีวิตลง
แม้ สหัส จะไม่ได้ร่วมทีมไปเม็กซิโกเนื่องจากป่วยหนักจนต้องหลุดจากทีมไป แต่หลังจากนั้นได้กลับมาร่วมทีมชาติไทยคว้าแชมป์เยาวชนเอเชียหรือ
“ถ้วยทอง” ในเวลาต่อมา
นั่นคือความสำเร็จที่ต่อเนื่องมาจากการที่ทีมชาติไทยได้ไปโอลิมปิกที่เม็กซิโก ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการก่อกำเนิดฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทาน
“คิงส์คัพ” ด้วย
ชื่อของ “สหัส พรสวรรค์” จึงควรค่าแก่การเป็น
“วีรบุรุษลูกหนังไทย” คนหนึ่ง แต่น่าผิดหวังที่วงการฟุตบอลไทยกลับนิ่งเฉย ไม่มีแอคชั่นใดๆ จาก สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ เลย
สุภาษิตจีนว่าไว้
“เวลาดื่มน้ำ อย่าลืมคิดถึงต้นลำธาร” ฟุตบอลไทยกว่าจะมาถึงวันนี้ผ่านอะไรมาเยอะ อย่าหลงไหลกับปัจจุบันจนลืมอดีตที่มา
สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ ควร
“ใส่ใจ” และให้เกียรติ “ฮีโร่” ทุกคน ยิ่งเวลานี้กำลังฝันจะไปโอลิมปิกอีกครั้งยิ่งควรยกย่องสดุดีขุนพลประวัติศาสตร์โอลิมปิกไทย
นักเตะรุ่นเหลนของลุงๆ ที่เคยไปโอลิมปิกมาแล้วจะได้ภาคภูมิใจและรู้ว่าเมื่อสู้และทำชื่อเสียงเพื่อประเทศชาติแล้ว........ท้ายที่สุดจะไม่ถูกลืม
“บับเบิ้ล”