logo-heading

ฟุตบอลถ้วยพระราชทานคิงส์ คัพ ครั้งที่ 46 ผ่านพ้นไปสัปดาห์ก่อน พร้อมโทรฟี่แชมป์ที่ถูกชูขึ้นโดย มาร์ติน สเคอร์เทล กัปตันทีมชาติสโลวาเกีย แม้ว่าจะพลาดหวังแต่ขุนพลธงไตรรงค์ สร้างความประทับใจแก่เหล่ากองเชียร์ทั่วสารทิศในสนามราชมังคลากีฬาสถาน และกองหนุนที่ชมการถ่ายทอดผ่านหน้าจอโทรทัศน์

เมื่อสิ้นเสร็จโปรแกรมคิงส์ คัพ ฟุตบอลลีกบ้านเรา คัมแบ็คกลับมาฟาดแข้งกันตามปกติสุดสัปดาห์นี้ นอกจากคอลูกหนังบ้านเรามีฟุตบอลลีก ให้เสพกันตามปกติ หลากหลายระดับดิวิชั่น ผู้เขียนอยากบอกเล่างานฟุตบอลดีๆ แห่งหนึ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันแรกของเดือนเมษายนนี้ เป็นนิทรรศการฟุตบอลไทยยุคเก่า ที่ชื่อว่า 5 ทศวรรษ คิงส์ คัพ ถ้วยพระราชา งานดีๆ ในครั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง สมาคมประวัติศาสตร์ฟุตบอลแห่งประเทศไทย (สปท.) ร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งจะจัดขึ้นบริเวณพระตำหนักทับแก้ว บริเวณพระราชวังสนามจันทร์ จ.นครปฐม อย่างที่ทราบกันดีว่าฟุตบอลถ้วยพระราชอันศักดิ์สิทธิ์แดนสยาม มีอายุอานามครบ 50 ปี พอดิบพอดี เรื่องราวตำนานคิงส์ คัพ นั้นมีมากมายสาธยายไม่หมด เพียงแต่จุดเริ่มต้นทัวร์นาเมนต์ในครั้งนี้ เริ่มมาจากความสำเร็จของขุนพลลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา สามารถไปโลดแล่นฟุตบอลชายกีฬาโอลิมปิก 1968 (พ.ศ.2511) ณ กรุงเม็กซิโก ซิตี้ ประเทศเม็กซิโก แม้ทัพแข้งธงไตรรงค์ จะปราชัย 3 เกมรวดในทัวร์นาเมนต์ลูกหนังกีฬา 5 ห่วง ทันทีที่เดินทางกลับมาสู่มาตุภูมิ พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ ยมนาค นายกสมาคมฟุตบอลลูกหนังไทยในยุคนั้น ได้ทำหนังสือถึงราชเลขาธิการ ขอให้นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ดำเนินการจัดการแข่งขันฟุตบอลคิงส์คัพ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาต พร้อมทั้งพระราชทานถ้วยถมทองคำสำหรับทีมชนะเลิศ และระบุไว้ชัดเจนว่าถ้วยใบนี้จะไม่มีทีมไหนได้เป็นกรรมสิทธิ์ 5 ทศวรรษ คิงส์ คัพ ถ้วยพระราชา สำหรับงาน “5 ทศวรรษ คิงส์ คัพถ้วยพระราชา” คุณจิรัฏฐ์ จันทะเสน ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์คณะฟุตบอลแห่งสยาม ได้เผยถึงวัตถุประสงค์ การจัดงานครั้งนี้ว่า “เนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปี หรือครึ่งทศวรรษ นิทรรศการนี้จะเป็นงานถาวรเพื่อเทิดพระเกียรติสถาบันพระมหากษัตริย์และในหลวง รัชกาลที่ 9 เนื่องจากเป็นถ้วยพระราชทานจากพระองค์ท่าน” งานนิทรรศการคิงส์ คัพ มีสิ่งของอันทรงคุณค่าที่จะนำมาจัดแสดง จำนวนกว่า 100 ชิ้น ที่สำคัญคือเสื้อแมทวอนทีมชาติไทยชุดคิงส์คัพสมัยต่าง ๆ โดยเฉพาะเสื้อชุดชนะเลิศ ครั้งที่ 9 เมื่อ พ.ศ. 2519 สมัยแรกของไทย ที่ครองแชมป์ร่วมกับเกาหลีใต้ เหรียญรางวัลชนะเลิศ เข็มกลัดที่ระลึกของทีมชาติทั่วโลกที่เคยเล่นคิงส์คัพ สูจิบัตร ตั้งแต่ครั้งที่ 1 จนถึงปัจจุบัน นอกจากการนำเสนอดิวิทัศน์การแข่งขันคิงส์คัพแมตช์สำคัญ ภาพถ่ายต้นฉบับ สถิติและเรื่องราวที่ที่น่าสนใจ ในรอบ 50 ปี ของฟุตบอลถ้วยพระราชาที่มีอายุยาวนานที่สุดของทวีปเอเชีย ในปัจจุบันยังคงจัดการแข่งขันเป็นประจำทุกปี 5 ทศวรรษ คิงส์ คัพ ถ้วยพระราชา ไฮไลท์สำคัญที่คุณจิรัฏฐ์ ได้บอกเล่ากับทีมงานขอบสนาม คือการนำถ้วยจำลองคิงส์ คัพ มาจัดแสดงในครั้งนี้ พร้อมกับบอกถึงที่มีที่ไปสำหรับถ้วยใบนี้ให้ฟังว่า “โดยปกติแล้ว ถ้วยใบนี้จะมอบให้แก่ทีมต่างประเทศกลับไปในเวลาได้แชมป์ เพราะต้องเก็บถ้วยพระราชทานจริงให้อยู่ในประเทศไทยต่อไป ทว่าในปี 1979 หรือ ในปีพ.ศ.2522 (คิงส์ คัพ ครั้งที่ 12) มีการมอบถ้วยจำลองแก่นิวัฒน์ ศรีสวัสดิ์ “สิงห์สนามศุภ” เนื่องจากคว้าแชมป์และเลิกเล่นทีมชาติในวันนั้นด้วย ทำให้ “น้าต๋อง” กลายเป็นผู้เล่นสัญชาติไทย เพียงแค่รายเดียวเท่านั้นที่ได้รับถ้วยจำลองใบนี้ไป ซึ่งถ้วยดังกล่าวก็ถูกนำมาจัดแสดงงานนิทรรศการครั้งนี้” 5 ทศวรรษ คิงส์ คัพ ถ้วยพระราชา นอกจากนี้คุณจิรัฏฐ์ ยังกล่าวทิ้งท้ายด้วยว่าสำหรับสิ่งที่แฟนบอลจะได้กลับไปจากการเข้าชมนิทรรศการในครั้งนี้ คือ “สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณในหลวง รัชกาลที่ 9 และภาคภูมิใจในเกียรติยศฟุตบอลรายการแรกระหว่างประเทศ ของทวีปเอเชีย ที่ยังคงมีการแข่งขันจวบจนถึงปัจจุบันเป็นเวลายาวนาน 50 ปี” สำหรับงานนิทรรศการ “5 ทศวรรษ คิงส์คัพถ้วยพระราชา” จะเปิดให้เข้าชมวันจันทร์ถึงเสาร์ ในระหว่างวันที่ 1 - 30 เมษายน 2561 ณ พิพิธภัณฑ์คณะฟุตบอลแห่งสยาม จังหวัดนครปฐม เวลา 09.00 – 16.00 น. ปิดเฉพาะวันนักขัตฤกษ์ การแต่งกายสุภาพเรียบร้อย เนื่องจากพื้นที่การจัดงานบริเวณดังกล่าวอยู่ในเขตพระราชฐาน ติดต่อสอบถามรายละเอียด โทร. 034 271 815 หรือเฟสบุ๊คแฟนเพจของพิพิธภัณฑ์คณะฟุตบอลแห่งสยาม ประวัติศาสตร์คือสิ่งที่บอกเล่าเรื่องราวจากรุ่นหนึ่งไปสู่คนอีกรุ่น หากใครรักหรือคลั่งไคล้ฟุตบอลอยากทราบอดีตความเป็นมาฟุตบอลคิงส์ คัพ แนะนำว่าไม่ควรพลาดงานนิทรรศการ 50 ปี คิงส์ คัพ ด้วยประการทั้งปวง

เอ็มเร่

ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมของ ขอบสนาม
logoline