”วีเออาร์”พ่นพิษ “นวลพรรณ ล่ำซำ” ประธานสโมสรการท่าเรือ เอฟซี ผนึก เอสซีจี เมืองทองยูไนเต็ด , ทรูแบงค็อกยูไนเต็ด แถลงข่าว วิจารณ์นโยบายสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยที่สร้างความสับสน เสนอทางออกขอให้ใช้งบ 16 ล้านบาท สำหรับฟุตบอลหญิงทีมชาติไทย นำมาวางระบบวีเออาร์ให้กับทีมในไทยลีก 1 และไทยลีก 2 ทุกทีม ร่ายจดหมายเปิดผนึกถึง “บิ๊กอ๊อด” ที่หนุนให้เป็นนายกสมาคม 2 สมัย เพราะเชื่อว่าเป็นความหวังของวงการฟุตบอล
ที่โรงแรมสวิสโซเทล ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพฯ นวลพรรณ ล่ำซำ ประธานสโมสรฟุตบอลการท่าเรือ เอฟซี , วิลักษณ์ โหลทอง ประธานสโมสรฟุตบอลเอสซีจี เมืองทองยูไนเต็ด และ ขจร เจียรวนนท์ ประธานสโมสรฟุตบอลทรูแบงค็อก ยูไนเต็ด ได้ร่วมกันแถลงข่าว หลังจากมีประเด็นมาจากสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ต่อการนำเอาระบบเทคโนโยลีมาช่วยในการตัดสิน ( วีเออาร์) จากเดิมที่จะให้ใช้ระบบนี้ ภายใต้แนวทางที่สโมสรสมาชิกรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง เพราะสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ประสบปัญหากับสถานะทางการเงิน ที่ไม่เอื้อต่อการใช้จ่ายเพื่อการนี้ และล่าสุดคือการประกาศยกเลิกการใช้ระบบวีเอเอาร์ โดยอ้างถึงการสร้างความเท่าเทียมระหว่างสโมสรด้วยกันในการแข่งขัน และลดการแพร่ระบาดของโควิด – 19 จากบุคลากรในกลุ่มที่ปฏิบัติหน้าที่ในระบบวีเออาร์
นวลพรรณ ล่ำซำ ประธานสโมสรฟุตบอลการท่าเรือ เอฟซี แถลงในเรื่องนี้ว่า วีเออาร์มีความจำเป็นสูงสุดต่อการแข่งขันฟุตบอล เพราะเป็นการยกระดับมาตรฐานการแข่งขัน ให้ทัดเทียมลีกฟุตบอลชั้นนำในต่างประเทศ ที่ผ่านมาระบบการตัดสิน ที่เป็นการใช้กรรมการทำหน้าที่ ก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า เมื่อเกิดข้อผิดพลาดขึ้นมา ก็ไม่สามารถทำอะไรได้มากไปกว่าการลงโทษผู้ตัดสิน ดังนั้นวีเออาร์จึงถือเป็นหัวใจสำคัญต่อการที่จะยกระดับการแข่งขันให้ได้มาตรฐาน ก่อนเริ่มฤดูกาลไทยลีก 2020 สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ก็มีซักซ้อมความเข้าใจมาโดยตลอดต่อการใช้วีเออาร์ และเมื่อสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ไม่สามารถที่จะใช้เทคโนโลยีดังกล่าวได้ เพราะฐานะทางการ เงินที่ไม่เอื้อ เนื่องจากค่าใช้จ่ายของระบบซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ 80,000 บาท ต่อ นัด และเสนอให้สโมสรสมาชิกเป็นผู้ดำเนินการเอง คือรับผิดชอบค่าใช้จ่าย จนมาถึงล่าสุดคือการไม่ให้ใช้ระบบนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นสร้างความสับสนและขัดต่อแนวทาง ยกระดับการแข่งขันของฟุตบอลไทยลีกให้ไปสู่มาตรฐาน ทั้งหมดที่เกิดขึ้นนั้นเป็นคำถามไปถึงการบริหารงานของสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ที่ไม่สามารถปฏิบัติตามแนวนโยบายที่วางเอาไว้
“ ที่ต้องออกมาพูดในวันนี้ อย่าโกรธแป้งเลย แป้งเลือกพี่อ๊อด ( พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ) มา 2 สมัย เพราะเชื่อว่าจะพัฒนาวงการฟุตบอลได้ แต่เรื่องของวีเออาร์ที่สร้างความสับสน และไม่ชัดเจนกับแนวทาง รับไม่ได้จริงๆ ทุกทีมสำคัญ ทุกแมตช์สำคัญ การนำระบบวีเออาร์ จะทำให้ไทยลีก เป็นชาติแรกของอาเซียน ที่สามารถสร้างมตรฐานได้ ยกเรตติ้งให้สูงขึ้น มูลค่าของลิขสิทธิ์จะสูงขึ้น เหล่านี้ล้วนเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ต้องนำเอาวีเออาร์มาใช้ ในเมื่อสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ไม่สามารถดำเนินการได้ ก็อยากให้ใช้งบประมาณ ที่บริษัทเมืองไทยประกันภัย จำกัด ( มหาชน) สนับสนุนให้กับสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย เป็นงบรายปี คือ 16 ล้านบาท ต่อฟุตบอลหญิงทีมชาติไทย นำมาเป็นคำใช้จ่าย กับการทำระบบวีเออาร์ให้กับทีมไทยทั้งลีก 1 และไทยลีก 2 ทุกทีมจะต้องได้รับความเสมอ-ภาคกับระบบการตัดสิน ระบบวีเออาร์ที่ถูกเชื่อมโยไปถึงเรื่องโควิด -19 ของคนเพียง 8 คน เมื่อเทียบกับจำนวนผู้ชมในสนาม ที่ภาครัฐอนุญาตให้แฟนบอลเข้าชมได้ มันเป็นเรื่องสวนทาง และเป็นหน้าที่ของสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ที่จะไปเจรจากับภาครัฐ เพื่อให้บุคลากรทั้ง 8 คน ที่ทำหน้าที่ในการดูระบบ วีเออาร์ สามารถทำงานได้ ” ประธานสโมสรการท่าเรือ เอฟซี ระบุ
ขณะเดียวกัน นวลพรรณ ล่ำซำ ประธานสโมสรการท่าเรือ เอฟซี ยังได้ทำหนังสือเปิดผนึก โดยมีข้อเรียกร้อง 7ข้อ เนื้อหาโดยสรุป คือ “ 1. การขอคำอธิบายที่ชัดเจนจากสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ต่อการยกเลิกการใช้งานวีเอาร์ 2. การสร้างมาตรฐาน “คำไหนคำนั้น” ไม่กลับคำไปมา และปล่อยข่าวรายวัน จนก่อให้เกิดข่าวลือง ที่สร้างความไม่ชัดเจน 3. ความชัดเจน “เรื่องเงินสนับสนุน” ที่จะให้กับสโมสรสมาชิก เดิมสโมสรไทยลีก1 จะได้รับเงินสนับสนุนขั้นต่ำ 20 ล้านบาท และยังมีการสนับสนุนเงินจำนวน 5 ล้านบาทผ่านโครงการ FA Thailand Development เงินสนับสนุนเหล่านี้ยังมีหรือไม่ 4. ความชัดเจน “เรื่องลิขสิทธิ์ในการถ่ายทอดสด” ที่หายไป ใครจะถ่ายทอดสด จะถ่ายจำนวนกี่แมตช์ 5. ความตรงไปตรงมาจากสมาคมฯ ต่อการแข่งขันจบแบบข้ามปี (พฤษภาคม) โดยสมาคมฯ ไม่ได้มีการชี้แจงให้สโมสรสมาชิกทราบ ถึงผลที่จะตามมาเกี่ยวกับลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด 6. งบดุลและเงินคงเหลือของสมาคม ในฐานะสโมสรสมาชิก อยากขอให้เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวให้ชัดเจน 7. ขอให้สมาคมฟุตบอล เปิดใจรับฟังสโมสรสมาชิก รับฟังทุกเสียงทั้งจากคนที่อยู่ในสนามและนอกสนาม อย่างแท้จริง” เนื้อความส่วนหนึ่งของจดหมายเปิดผนึก
วิลักษณ์ โหลทอง ประธานสโมสรฟุตบอลเอสซีจีเมืองทอง ยูไนเต็ด กล่าวว่า ปัญหาการทำงานของสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยในขณะนี้ คือ ขาดความต่อเนื่องในการประสานงานกับสโมสรสมาชิกเพื่อประเมินสถานการณ์ จริงอยู่ที่โควิด – 19 สร้างผลกระทบต่อวงการกีฬา ต่อการกำหนดแผนงาน แต่ก็อยากให้ศึกษากรณีของสมาคมฟุตบอลประเทศญี่ปุ่น ที่ประสบปัญหาเช่นกัน แต่ก็สามารถผลักดันให้เจลีก กลับมาแข่งขันได้ และวางโปรแกรมการแข่งขันไปจนจบฤดูกาลในปีนี้ การแข่งแบบข้ามปี ปัญหาที่ตกกับสโมสรก็คือ เงินสนับสนุนที่มาจากสปอนเซอร์ ที่ให้แบบปีต่อปี ไม่ได้จ่ายแบบข้ามปี การที่ฟุตบอลไม่สามารถจบการแข่งขันในปีนี้ คือการแบกรับค่าใช้จ่ายของสโมสรสมาชิก
ขจร เจียรวนนท์ ประธาน สโมสรทรูแบงค็อก ยูไนเต็ด กล่าวว่า จุดยืนของทรูฯคือ ต้องการให้สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ใช้วีเออาร์กับฟุตบอลไทยลีก 1 ไทยลีก 2 ทุกคู่ เพื่อให้การแข่งขันฟุตบอลอาชีพของประเทศไทย เป็นไปตามมาตรฐานสากล และสามารถอ้างอิงต่อการเป็นชาติแรกของอาเซียน ที่ใช้ระบบนี้




