logo-heading

กลายเป็นประเด็นใหญ่ที่สร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับวงการฟุตบอลเป็นอย่างมากเกี่ยวกับการจัดตั้ง ยูโรเปี้ยน ซูเปอร์ลีก ของเหล่าแกนนำสโมสรใหญ่ในยุโปรที่ตอนนี้เผยโฉมออกมาแล้วทั้งสิ้น 12 ทีม

ซึ่งในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาดูเหมือนโปรเจ็กต์จะทวีความดุเดือด และเดินหน้าสู่ความเป็นจริงมากยิ่ง ฉะนั้นเท่ากับว่าทัวร์นาเมนต์ใหม่นี้จะมีการแข่งขันแบบคู่ขนานไปกับศึก แชมเปี้ยนส์ลีก รายการแข่งขันที่ยิ่งใหญ่สุดของสโมสรยุโรปในช่วงกว่าหลาย 10 ปีที่ผ่านมา ฉะนั้นแล้วโจทย์ใหญ่ของผู้จัดซูเปอร์ ลีก คือจะทำอย่างไรให้การแข่งขันรูปแบบใหม่นี้ถึงเป็นที่ยอมรับ และเป็นที่สนใจของแฟนบอลนอกจากการที่มีเหล่าสโมสรยักษ์ใหญ่เข้าร่วมการแข่งขัน ว่าแล้ว ขอบสนาม ของเราจะพาไปวิเคราะห์กันหน่อยว่าจะมีจุดไหนบ้างที่ ซูเปอร์ ลีก ต้องปรับปรุง เพื่อที่จะเดินหน้าไปข้างหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โปรแกรมลงสนาม

นี่คือหัวข้อใหญ่ที่หยิบยกมาพูดถึงมากที่สุดในประเด็นเรื่องของโปรแกรมการแข่งขัน เพราะด้วยปริมาณทีม และรูปแบบการจัดแข่งขันจะเห็นได้ว่ายูโรเปี้ยน ซูเปอร์ลีก ค่อนข้างที่จะยัดการลงสนามแบบถี่ยิบ และเป็นการเพิ่มการลงสนามให้กับทีมสมาชิกด้วย ก่อนอื่นขอไล่เรียงก่อนว่า ยูโรเปี้ยน ซูเปอร์ลีก จะมีทีมเข้าร่วมการแข่งขันกันทั้งหมด 20 ทีม แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มละ 10 ทีม แข่งขันแบบเหย้า-เยือน พบกันหมด จากนั้นจะนำอันดับ 1-3 ของแต่ละกลุ่มเข้ารอบน็อกเอาต์อัตโนมัติ ส่วนอันดับ 4-5 จะเล่นเพลย์ออฟเพื่อที่จะผ่านเข้ารอบรอบต่อไป จากนั้นในรอบ 8 ทีมสุดท้าย จะแบ่งสายแข่งน็อกเอาต์แบบเหย้า-เยือน เหมือนในศึก แชมเปี้ยนส์ลีก เป๊ะ จนกระทั่งถึงรอบชิงชนะเลิศที่จะแข่งขันกันนัดเดียวรู้ผลที่สนามเป็นกลาง ซึ่งจากสิ่งที่ปรากฎจะเห็นได้ว่าโปรแกรมในรอบแบ่งกลุ่มเท่ากับทุกทีมต้องลงสนามด้วยจำนวน 18 นัด จะว่านั้นเป็นจำนวนที่มากเอาการเลยกับฟุตบอลถ้วย 1 รายการ พูดง่ายๆ มันคือการแข่งขันเกมลีกครึ่งซีซั่นเลยทีเดียว และจำนวนที่มันมากมายขนาดนั้นจะไปยัดลงโปรแกรมในส่วนไหนของซีซั่น ในช่วงกลางสัปดาห์แบบนั้นหรอ? สุดท้ายมันก็จะวนกลับไปลูปเดิมถึงสภาพของนักเตะในทีมนั้นๆ ที่กรอบเป็นข้าวเกรียบเมื่อโปรแกรมมันไม่เอื้ออํานวย อีกอย่างคือเรื่องของความกระหายลองคิดภาพตามดูว่าโปรแกรม 18 นัดในรอบแบ่งกลุ่ม สมมุติมีทีมที่หมดลุ้นการผ่านเข้ารอบต่อไปไปตั้งแต่ยังไม่ถึงครึ่งทางในรอบแบ่งกลุ่ม มันเลยจะกลายเป็นการลดความสนุกในการมีเดิมพันเข้ารอบ หรืออารมณ์ร่วมของทีมนั้นมันก็จะจืดจางลงไป ฉะนั้นแล้วนี่คือโจทย์ใหญ่ข้อแรกถ้า ซูเปอร์ ลีก คิดจะแข่งขันกันแบบจริงจัง เพราะถ้าไม่อาจบริหารได้ต่อให้มียอดทีมเยอะขนาดไหน มันก็ไม่อาจทำให้อัตราความสนุกมันเพิ่มขึ้นได้ วิเคราะห์โจทย์ใหญ่ที่ ซูเปอร์ ลีก ต้องทำ ถ้าได้จัดการแข่งขันขึ้นจริงๆ

ผลประโยขน์ต่อทีมเล็ก

ไล่เรียงไปที่จำนวนผู้เข้าร่วมซูเปอร์ ลีกในตอนนี้ปรากฎชื่อทั้งหมด 12 สโมสรประกอบไปด้วย แมนฯ ยูไนเต็ด, แมนฯ ซิตี้, ลิเวอร์พูล, ท็อตแน่ม ฮ็อทสเปอร์, เชลซี, อาร์เซน่อล, เรอัล มาดริด, บาร์เซโลน่า, แอตเลติโก มาดริด, ยูเวนตุส, อินเตอร์ มิลาน และ เอซี มิลาน ซึ่งจะบวกกับอีก 3 สโมสรที่ยังไม่ได้เผยโฉมออกมาว่าคือสโมสรไหน ฉะนั้นแล้ว 15 ทีมนี้จึงสถาปนาตัวเองกลายเป็นทีมก่อตั้งลีก โดยสโมสรที่ร่วมก่อตั้งนี้จะได้สิทธิพิเศษนั้นก็คือยืนรอลงเล่นในรอบแบ่งกลุ่มอย่างสบายใจ และก็มีคอยลุ้นว่าอีก 5 สโมสรจะที่เข้ามาสมทบนั้นจะมีใครบ้างที่ผ่านผ่านเกณฑ์มาตรฐานของลีก ฉะนั้นแล้วมันก็เหมือนเป็นการปิดประตูให้ทีมระดับกลาง หรือล่าง หมดสิทธิ์ที่จะเข้าร่วมโม่แข้งในครั้งนี้ไปแบบปริยาย  ซึ่งถึงตอนนั้นเราก็ไม่รู้ว่าวิธีคัดสรรของเหล่าบอร์ดบริหารจะยึดจุดไหนมาพิจารณา เพราะถ้าว่ากันตามตรงบางสโมสรที่ถูกยกว่าเป็นทีมก่อตั้งลีก ผลงานในลีกของตนเองมันก็ไม่ได้เปรี้ยงปร้างอะไร ว่าแล้วนี่คืออีกปัญหาที่ควรจะปรับใช้ถ้าอยากจะให้มันมีคสามเป็นมืออาชีพที่มากขึ้น

ความขลังของการแข่งขัน

"ฐานะผู้เล่นของทีมท้องถิ่นอย่าง ดันเฟิร์มลิน ในยุค 60 และในฐานะผู้จัดการทีมอเบอร์ดีนที่คว้าแชมป์ยูโรเปี้ยน คัพ วินเนอร์สคัพ สำหรับ สโมสรเล็กๆ ในสก็อตแลนด์เหมือนปีนเขาเอเวอเรสต์" "ในช่วงเวลาของผมที่ ยูไนเต็ด เราเล่นในรอบชิงชนะเลิศแชมเปี้ยนส์ลีก 4 ครั้ง และพวกเขาก็เป็นค่ำคืนที่พิเศษที่สุดเสมอ" นี่คือประโยคแสดงความคิดเห็นของ เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ที่มีต่อ ยูโรเปี้ยน ซูเปอร์ ลีก ซึ่งถ้าจะให้แปลกันตามตรงป๋าแกก็คงไม่เห็นด้วยแบบ 100% เพราะมันคือการแหกขนบธรรมเนียม ทำลายประวัติศาสตร์ของวงการลูกหนังที่เขาต่อสู้เพื่อคว้าถ้วยบิ๊กเอีอร์กันนั้นมาเป็นสิบๆ ปี แน่นอนเมื่อทัวร์นาเมนต์เริ่มต้นใหม่ อะไรหลายๆ มันมักไม่คุ้นเคย แม้ในรายการนั้นจะเต็มไปด้วยพี่บิ๊กของวงการลูกหนัง แต่ถามว่าความขลังมันจะสู้ แชมเปี้ยนส์ลีก ได้หรอ? ยกมือตอบแบบไม่อายปากเลยว่าเทียบไม่ได้เลยสักนิด  คุณลองนึกถึงบรรยากาศค่ำคืนแมตช์การแข่งขันของ แชมเปี้ยนส์ลีก ดูสิ เพียงแค่เพลง UEFA Champions League Anthem ถูกเปิดขึ้นมา มันก็ทรงพลัง และดึงดูดความน่าสนใจได้แล้ว นี่แหละที่เรียกว่าความขลังที่ไม่ต้องพยายาม เพราะทุกคนสามารถสัมผัสกับมันได้โดยทรง ฉะนั้นแล้วนี่คึอการบ้านข้อใหญ่ของผู้จัด ซูเปอร์ ลีก ว่าจะทำยังไงให้แฟนบอลได้อินไปกับการแข่งขัน และสร้างอิมแพ็คมากขนาดที่ แชมเปี้ยนส์ลีก สร้างไว้ แน่นอนมันคงต้องใช้เวลามากพอสมควรในการรวบรวมความขลังในครั้งนี้ วิเคราะห์โจทย์ใหญ่ที่ ซูเปอร์ ลีก ต้องทำ ถ้าได้จัดการแข่งขันขึ้นจริงๆ

เงื่อนไขที่นักเตะจะอดเล่นให้ทีมชาติ

นี่คืออีกประเด็นใหญ่ที่ผู้จัดจะต้องหาทางแก้ไขให้ได้ เนื่องด้วยเมื่อพวกเขารวมตัวกันจัด  ซูเปอร์ ลีก แน่นอนว่า สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ ฟีฟ่า ก็ไม่ได้เห็นด้วยกับการกระทำในครั้งนี้  ย้อนกลับไปเมื่อปี 2020  ฟีฟ่า ร่วมกับ สมาพันธ์ฟุตบอลระดับทวีปอีก 6 แห่งรวมทั้งยูฟ่า ในเรื่องการไม่รับรองความชอบธรรมของ ยูโรเปี้ยน ซูเปอร์ ลีก พร้อมประกาศแบนสโมสร และนักฟุตบอลที่ลงแข่งขันในรายการนี้จากการเข้าร่วมทัวร์นาเมนต์ที่ทาง ฟีฟ่า และ สมาพันธ์ต่างๆ เป็นผู้จัดตั้งขึ้น สรุปง่ายๆ ให้พอเข้าใจคือนักเตะคนใดก็ตามที่ลงเล่นในศึก ซูเปอร์ ลีก จะถูกตัดสิทธิ์จากการลงเล่นเกมระดับทีมชาติไม่ว่าจะเป็นฟุตบอลโลก หรือฟุตบอลชิงแชมป์ในแต่ละทวีป รวมไปถึงรายการ แชมเปี้ยนส์ลีก ด้วย ฉะนั้นแล้วมองในมุมนักเตะบางรายพวกเขาก็อยากจะลงเล่นรับใช้ชาติบ้านเกิด และถ้ามาลงเล่นในทัวร์นาเมนต์ก็จะเป็นการตัดสิทธิ์ไปแบบปริยาย มันเลยกลายเป็นทางแยกที่ตัวนักฟุตบอลเองก็ไม่อยากจะเลือกเดินเช่นกัน เพราะจะออกซ้าย หรือขวา ก็ต่างมีบาดแผลเต็มตัวเช่นกัน สุดท้ายแล้วนี่คงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อทัวร์นาเมนต์ในครั้งนี้ เพราะถ้าหาจุดลงเอยได้ไม่สวยงามมันจะกลายเป็นจุดด่างพร้อยของการแข่งขันไป บทสรุปเรื่องนี้จะออกมาในทิศทางไหน  ยูโรเปี้ยน ซูเปอร์ ลีก จะเกิดขึ้นได้ตามความต้องการหรือไม่ เชื่อว่าอีกไม่นานคำตอบจะปรากฎโฉมให้แฟนบอลได้ทราบกัน  

- เปา ขอบสนาม -

logoline