logo-heading

ฉายจบไปแล้วเป็นที่เรียบร้อยสำหรับหนังสั้นที่ชื่อ ยูโรเปี้ยน ซูเปอร์ลีก ภายหลังโปรโมทกันอย่างครึกโครมในช่วง 48 ชั่วโมงก่อนหน้านี้ แต่ทว่าชีวิตของพวกเขาก็มีอยู่เพียงเท่านั้น ภายหลังนักแสดงในสังกัดต่างประกาศถอนตัวกันอย่างรวดเร็วเพียงพริบตา

อย่างที่เราทราบกันว่า ซูเปอร์ลีก กลายเป็นโปรเจ็กต์ที่สร้างแรงสั่นสะเทือนกับวงการลูกหนังได้เป็นอย่างมาก เนื่องด้วยพวกเขาสามารถรวบรวมเหล่าสโมสรใหญ่ของยุโรปถึง 12 ทีม มาอยู่ฝั่งเดียวกันได้ และประกาศเป็นกบฏลูกหนังยืนอยู่ฝั่งตรงกับกับ ยูฟ่า แบบชัดเจน จนกลายเป็นแรงกระเพื่อมที่ทำให้ทุกคนในวงการลูกหนังหันมาสนใจกับทัวร์นาเมนต์นี้ แต่ทว่าหลังเล่นเกมโยนวาทะเด็ดๆ เดือดๆ เข้าหากันได้อยู่ราว 48 ชั่วโมง หลังจากนั้นหนังชีวิตนี้ก็เหมือนจะหักเลี้ยวลงสะพานอย่างรวดเร็วเมื่อทีมสมาชิกต่างๆ ประกาศถอนตัวแบบเฉียบพลัน ทิ้งให้หัวเรือใหญ่เคว้งคว้างอยู่แต่เพียงผู้เดียว ว่าแล้ว ขอบสนาม ของเราเลยอยากจะนำเสนอในมุมมองที่กลับกันว่าจากปรากฎการณ์ ซูเปอร์ลีก ในครั้งนี้มีอะไรบ้างที่เราสามารถเรียนรู้จากมัน และควรเป็นอย่างยิ่งกับการนำมาเป็นกรณีศึกษาในอนาคต เริ่มแรกอย่างที่เรารู้กันว่าสาเหตุหลักที่ทำให้ ซูเปอร์ลีก ถือกำเนิดขึ้นก็คือเรื่องของเงินๆ ทองๆ ที่เหล่าสโมสรสมาชิกทั้ง 12 ทีม ต่างลงความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ยูฟ่า แบ่งเงินมาถึงพวกเขาน้อยเกินไป ทั้งที่ทางองค์ลูกหนังนี้ไม่ได้ลงทุนอะไรมากมาย แต่กลับกันเหล่าสโมสรพวกนี้ต้องควักเงินจ่ายค่าเสียหายเป็นจำนวนมากทั้งเรื่องของค่าตัวนักเตะ, ค่าเหนื่อย และ ค่าบุคลากรต่างๆ ที่ปีนึงจ่ายออกไปหลายร้อยล้านยูโร  อีกมุมของ ซูเปอร์ลีก ที่จากไป เรามองเห็นอะไรบ้างจากเคสนี้ ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนั้นการรวมตัวกันเพื่อสร้างทัวร์นาเมนต์นี้มันเลยเกิดขึ้น จากเดิมที่เขาอาจจะได้เงินรางวัลตกเพียงฤดูกาลราวหลักร้อย แต่การแยกออกมาแบบนี้เงินในระดับหลักพันกำลังรอพวกเขาอยู่  ซึ่งนั้นไม่ใช่ส่วนต่างที่น้อยเลย มันสามารถแปรเปลี่ยนเป็นอะไรๆ ได้หลายอย่าง และช่วยเจือจุนสโมสรในช่วงที่สถานการณ์การเงินของแต่ทีมไม่ค่อยสู้ดีจากเหตุการณ์ไวรัส โควิด-19 ป่วนโลก ฉะนั้นแล้วถ้ามองในมุมของฝั่งสโมสรพวกเขารู้สึกไม่คุ้มค่ากับการลงทุน และดูเหมือนการก้าวเดินครั้งนี้มันก็มันค่อนข้างได้ผลเพราะสามารถดึง ยูฟ่า ลงมาเล่นเกมกับพวกเขาได้ ทั้งออกแถลงการณ์ รวมไปถึงคำขู่ต่างๆ ที่ออกมา ว่าแล้วจุดนี้ทาง ยูฟ่า เองก็ควรจะเรียนรู้ หาใช่เพิกเฉยยืนนิ่งๆ ไม่ได้ปรับเปลี่ยนอะไรเลย  เรื่องนี้มันเลยสอนให้รู้ว่าเรื่องของเงินมันไม่เข้าใครออกใคร ต่อให้มีอำนาจเหนือกว่าก็ไม่ได้หมายความว่าจะควบคุมทุกอย่าง และจัดการทุกอย่างได้แต่เพียงผู้เดียว ส่วนอีกเรื่องสำคัญที่กลายเป็นฟันเฟืองชิ้นใหญ่ในการขับเคลื่อน และเป็นพลังช่วยให้เหล่าสโมสรถอนตัวจาก ซูเปอร์ลีก นั้นก็คือแฟนบอล หรือเหล่าซัพพอร์ตเตอร์ที่คอยเคียงข้างสโมสรนั้นเอง เราจะได้เห็นภาพกันตามหน้าสื่อว่าการกระทำของสโมสรในครั้งนี้ มันทำให้แฟนบอลผู้ภักดีนั้นเลือกที่จะยืนอยู่ฝั่งตรงข้ามกับทีมรักของตัวเองแบบชัดเจน  ซึ่งมันไม่ใช่เพียงแฟนบอลเท่านั้น นักเตะในสโมสรของทีมเหล่านั้นยังยกมือเลยว่าไม่ได้สนับสนุนการกระทำ แต่พวกเขาต้องตกร่างแหไปด้วยแบบถูกมัดมือชก ฉะนั้นแล้วเราจึงได้เห็น จอร์แดน​ เฮนเดอร์สัน ผู้นำของ ลิเวอร์พูล นัดแนะกับกัปตันทีมต่างๆ ในพรีเมียร์ลีก เพื่อมาหารือกัน และแสดงจุดยืนว่าไม่เอา ซูเปอร์ลีก วกกลับไปที่แฟนบอลผมเชื่ออย่างนึงว่าแฟนบอลในท้องถิ่นนั้นๆ พวกเขาคงเข้าถึงรากเหง้าของสโมสรได้เป็นอย่างดีที่สุด และมันคงเหลืออดแล้วจริงๆ ที่สโมสรเลือกก้าวเดินแบบนี้  เหล่าแฟนบอลของทั้ง ลิเวอร์พูล, แมนฯ ยูไนเต็ด, อาร์เซน่อล หรือ เชลซี ได้ออกมารวมตัวที่สนามแข่งขัน พร้อมโจมตีอย่างหนักต่อทีมรักของพวกเขา การแสดงท่าทีนั้นไม่ได้แปลว่าพวกเขาปันใจไปจากทีมแล้ว แต่มันคือการแสดงออกอย่างชัดเจน และคัดค้านการกระทำของทีม จนกลายเป็นพลังคลื่นเสียงที่ส่งไปยังสโมสร ก่อนที่ทีมต่างๆ จะทยอยออกมาแถลงการณ์ว่ายอมแล้ว ตัดสินใจถอนทีมแล้ว รูปภาพ แน่นอนที่กล่าวมาสามารถถอดบทเรียนง่ายๆ ได้ว่าแฟนบอลก็ไม่ต่างจากปัจจัยหลัก ปัจจัยสำคัญที่สุดของสโมสรฟุตบอลที่ช่วยแปรผันความคิดของเหล่าผู้บริหารในสโมสรต่างๆ ที่เข้าร่วมได้ ประเด็นสุดท้ายเลยคือการรับผิดชอบของเหล่าผู้บริหารทั้งหลาย เราได้เห็นข่าวกันมาแล้วว่า เอ็ด​ วู้ดเวิร์ด​ ลาออกจากตำแหน่งซีอีโอ แมนฯ ยูไนเต็ด, อันเดรีย​ อันเญลลี่​ ลาออกจากตำแหน่งประธาน ยูเวนตุส หรือ จอห์น​ วิลเลียม​ เฮนรี่ เจ้าของทีม ลิเวอร์พูล ต้องออกมาโพสต์คลิปวิดีโอขอโทษไปยังแฟนบอลของพวกเขา พร้อมขอรับผิดต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแต่เพียงผู้เดียว ซึ่งเมื่อมองอย่างถี่ถ้วนสาเหตุหลักๆ ที่เหล่าบิ๊กเนมทั้งหลายต้องออกมารับผิดชอบก็เพราะการกระทำที่ขาดการพินิจพิจารณาอย่างถี่ถ้วนไปหน่อย มันเลยกลายเป็นดาบนั้นคืนสนอง ต้องรับแรงกระแทก รวมไปถึงการสละเก้าอี้อันเกียรติของตัวเองด้วย และที่ขาดไม่ได้คือเสียงด่าทอจากแฟนบอลที่ปกติก็โดนสาดเสียเทเสียมามากพออยู่แล้ว สุดท้ายนี่คือเหตุการณ์ครั้งสำคัญของวงการลูกหนังแม้เส้นเรื่องจุดคลายแม็กจะมีเวลาเพียงไม่นาน แต่มันก็สามารถสร้างอิมแพ็คกับวงการได้มากพอสมควร ซึ่งมันจะดี หรือไม่ดี อยู่ที่มุมมองของใครคนนั้นว่าพิจารณาในรูปแบบไหน แต่เชื่อเถอะบทสรุปสุดท้ายสโมสรฟุตบอลไม่ได้ขึ้นอยู่กับใครเพียงคนเดียว เพราะสุดท้ายเหล่าผู้บริหารเงินค้ำฟ้านั้นก็ต้องลงมาฟังเสียงของแฟนบอลตาดำๆ ที่กำลังเรียกร้องอยู่ดี

คำว่า "ไม่มีแฟนบอล​ ฟุตบอลก็ไม่มีอะไรเลย" ยังคงใช้ได้กับโลกลูกหนังเสมอ

- เปา ขอบสนาม -

logoline