logo-heading

ลองวิเคราะห์ข้อแตกต่างขอโค้ชสัญชาติไทย กับโค้ชชาวต่างชาติ ในการจะเป็นกุนซือทีมช้างศึก มีข้อดี ข้อเสีย ต่างกันอย่างไร กับทีมชาติไทยชั่วโมงนี้

ควันหลงหลังจากที่สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ ประกาศแยกทางกับ อากิระ นิชิโนะ กุนซือชาวญี่ปุ่นไปเมื่อสองวันก่อน ซึ่งตอนนี้ความน่าสนใจอยู่ที่คนจะมารับไม้ต่อหลังจากนี้ ควรจะเป็นโค้ชชาวไทย หรือโค้ชชาวต่างชาติดี ไปดูมุมมองต่างๆ ในเรื่องนี้ว่าโค้ชไทย กับ โค้ชนอก ต่างกันตรงไหน มีข้อดี ข้อเสียอย่างไร กับการจะมาคุมทีมช้างศึกในเวลานี้ ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่าโปรแกรมทีมชาติไทยในปีนี้ ยังไม่มีความชัดเจน ที่แน่ๆ จะมีฟุตบอลยู 23 ชิงแชมป์เอเชีย รอบคัดเลือก ในช่วงเดือนตุลาคมนี้ ที่ประเทศมองโกเลีย ซึ่ง ณ ตอนนี้มีโอกาสสูงที่จะเป็น อิสระ ศรีทะโร กับ "โค้ชจุ่น" อนุรักษ์ ศรีเกิด ทำหน้าที่ขัดตาทัพไปก่อน ซึ่งถ้าผลงานดีก็อาจจะได้คุมชุดเล็กถาวร ขณะที่ทีมชาติไทยชุดใหญ่ ไม่มีโปรแกรมฟีฟ่าเดย์ ในช่วง ก.ย., พ.ย, และ ต.ค. แน่นอนแล้ว เพราะยกช่วงเวลาดังกล่าวให้กับการแข่งขันไทยลีก อีกทั้งการจัดอุ่นเครื่องกับทีมต่างประเทศก็เป็นไปได้ยากในสถานการณ์โควิด ซึ่งทีมชาติไทย ชุดใหญ่ จะมีโปรแกรมแบบจริงๆ จังๆ อีกครั้ง ก็เป็นในช่วงเดือนธันวาคม ที่จะมีฟุตบอลซูซูกิ คัพ แข่งขัน หากสามารถจัดการแข่งขันได้ แต่หากซูซูกิ คัพ ถูกเลื่อนไปอีก ก็น่าจะไม่มีโปรแกรมทีมชาติไทยชุดใหญ่ในปีนี้แล้ว ซึ่งน่าจะได้คำตอบในวันที่ 10 ส.ค.นี้ ที่จะมีการจับสลากแบ่งสายซูซูกิ คัพ ดังนั้นอาจจะรอความชัดเจนจาก เอเอฟเอฟ ฝ่ายจัดก่อนว่าจะเอาอย่างไร

เรามาว่ากันที่ข้อดี ข้อเสีย ของการเลือกโค้ชทีมชาติไทยในชั่วโมงนี้ ว่าแตกต่างกันอย่างไรบ้าง

โค้ชไทย ข้อดี กับสถานการณ์ในช่วงโควิด และโปรแกรมที่ยังไม่แน่นอนแบบนี้ การใช้โค้ชไทย อาจจะเหมาะสมกว่า ทั้งเรื่องของการติดต่อเจรจา ค่าจ้าง รวมทั้งความเข้าใจในฟุตบอลไทย เข้าใจนักเตะไทยเป็นอย่างดี ถ้าซูซูกิ คัพ เตะตามโปรแกรมในช่วงเตรียมทีมในเวลาอันสั้น การใช้โค้ชไทยน่าจะดีกว่า และมีโอกาสประสบความสำเร็จในซูซูกิ คัพ เพราะโค้ชไทยจะเน้นเป็นพิเศษแบบพลาดไม่ได้ เพราะถ้าพลาดมาทีก้บ้านบึ้ม โดนทัวร์มาลงแน่นอน ข้อเสีย เรื่องประสบการณ์ในระดับนานาชาติอาจจะเป็นรองตัวเลือกโค้ชชาวต่างชาติ เพราะส่วนใหญ่โค้ชไทยก็จะคุมทีมแต่ในประเทศ และเมื่อเทียบประสบการณ์ในทัวร์นาเม้นท์ใหญ่ระดับเอเชีย หรือระดับโลก ก็ต้องยอมรับว่าโค้ชนอกมีมากกว่า โอกาสที่จะเป็นโค้ชไทย สำหรับโค้ชไทยที่ว่างงานและมีโปรไลเซนส์ในเวลานี้มีตัวเลือกที่เหมาะสมไม่มากนัก ประมาณ 3-4 คน ส่วนโค้ชโปรไลเซนส์คนอื่นๆ ยังไม่มีประสบการณ์ในไทยลีก และการคุมทีมชาติ ซึ่งโอกาสเป็นไปได้ยาก ขณะที่ตัวเลือก 3-4 คน ที่เหมาะสมในเรื่องของความสามารถและประสบการณ์ รวมทั้งการยอมรับจากนักบอล แต่บางที่ก็อาจจะยังไม่ถูกใจแฟนบอลส่วนใหญ่ แต่ถ้าดูจากความเป็นไปได้ที่จะเป็นโค้ชไทยในชั่วโมงนี้ก็มีสูงเลยทีเดียว โค้ชต่างชาติ ข้อดี แน่นอนว่าถ้าเป็นโค้ชต่างชาติที่จะมาคุมทีมชาติไทย สมาคมฯ คงต้องเลือกคนที่มีประสบการณ์และดีกรีหรูๆ มาแน่นอน คงไม่ไปเอาโค้ชธรรมดาๆ มา ซึ่งโค้ชที่มีดีกรีสูง ก็จะมีการคุมทีมแบบมืออาชีพ และถ้าเจอคนที่คลิ๊กกับทีมชาติไทยได้ ก็มีโอกาสพาทีมชาติไทย ประสบความสำเร็จ และอีกอย่างที่เป็นมุมมองจากทางสมาคมฯ ก็คือกสารใช้โค้ชต่างชาติก้จะไม่มีเรื่องการเลือกตัวแบบเอาใจใคร หรือเรียกง่ายๆ ว่าเด็กเส้นนั่นเอง (ซึ่งจริงๆ โค้ชไทย มันก็ไม่มีแล้วเรื่องเด็กเส้นกับฟุตบอลสมัยนี้ เพราะถ้าไม่เก่งจริง แฟนบอลเขาดูออก) ข้อเสีย หากเป็นโค้ชต่างชาติที่ไม่เคยผ่านงานในไทย หรือไม่มีความรู้เรื่องฟุตบอลไทย ก็จะต้องใช้เวลาในการเรียนรู้นักเตะไทย ทำความเข้าใจในฟุตบอลไทย ไหนจะเรื่องค่าจ้างที่น่าจะแพงกว่าโค้ชไทยหลายเท่า ยิ่งมีสตาฟฟ์มาด้วยก็ยิ่งแพงเพิ่มขึ้นไปอีก อีกเรื่องก็สำคัญคือการสื่อสารที่บางที่สิ่งที่ต้องการจะสื่อมันไปไม่ถึงนักฟุตบอลทั้งหมด โอกาสใช้โค้ชต่างชาติ ถ้าเป็นโค้ชต่างชาติที่เคยคุมทีมในเมืองไทยมาก่อน ก็พอจะเป็นไปได้ แต่ถ้าเลือกใช้โค้ชต่างชาติใหม่ดีกรีสูงๆ เลย ถ้าจะเอาจริงๆ ควรจะรีบตัดสินใจเพื่อจะได้มีเวลาในการวางแผนเตรียมทีม หรือถ้ายังไม่ตัดสินใจ ก็อาจจะรอให้ผ่านปีนี้ไปก่อน แล้วค่อยมาว่ากันใหม่ในปีหน้า ซึ่งถ้าเป็นช้อยส์นี้มีโอกาสมากกว่า เพราะถ้าจะเอามาตอนนี้อาจจะยากและติดต่อลำบาก รวมทั้งถ้าสมมติเอามาเลยแล้วไม่ประสบความสำเร็จในซูซูกิ คัพ อาจจะต้องหาโค้ชใหม่ก็เป็นได้ แต่ถ้าประสบความสำเร็จก็ถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดี และมีเวลาในการวางแผนแบบระยะยาวได้

ข้อดี ข้อเสีย "โค้ชไทย" กับ "โค้ชนอก" ในการคุมทัพช้างศึกชั่วโมงนี้

logoline