logo-heading

ย้อนกลับไปตอนที่เจ้าตัวเข้ามารับงานที่ โอลด์ แทร็ฟฟอร์ด ยังคงมีคำถามมากมายที่ตั้งข้อสงสัยในฝีมือ ว่าจะสามารถกู้ชีพปีศาจตนนี้ได้หรือไม่ ภายหลังในช่วง 2-3 ปีหลัง ทีมมีปัญหาแทบทุกอณูไล่ตั้งแต่ในห้องแต่งตัว ยันผลงานในสนาม

อีกทั้งการออกสตาร์ท 2 เกมแรกที่ฟอร์มหลุดลุ่ยเก็บได้ 0 คะแนน ทำให้กระแสที่ว่า เทน ฮาก มือไม่ถึงดังขึ้นยิ่งกว่าตะโกนผ่านโทรโข่ง 

ทว่าหลังมีการปรับจูน และใช้เวลาในการฝังแท็คติกต่างๆ ให้กับนักเตะ เทน ฮาก เริ่มแสดงพิษสงออกมาแล้วว่าเขามีดี และมีฝีมือมากขนาดไหน ทั้งการควบคุมห้องแต่งตัว รวมไปถึงการแก้เกมต่างๆ ซึ่งแฟนบอลเริ่มเห็นได้ชัดถึงกึ๋นภายในตัวของนายใหญ่ชาวดัตซ์รายนี้

โอเคแหละครับห้วงเวลาราว 7 เดือน อาจไม่ใช่คำตอบของทั้งหมดว่า เทน ฮาก จะพา ยูไนเต็ด ไปได้ดีแบบตลอดรอดฝั่ง แต่จากทิศทางลมมันสามารถมองเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ได้อย่างชัดเจน

ฉะนั้นไม่แปลกที่จะทำให้เหล่ากองเชียร์นึกย้อนไปตอนที่ แมนฯ ยูไนเต็ด ยังคงมี เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน นั่งแท่นเป็นกุนซือ ว่าแนวทางในลักษณะนี้มันเริ่มกลับสู่ตลอดรอดฝั่งอีกครั้ง

ว่าแล้ว ขอบสนาม ของเราจะไปดูข้อสังเกตที่ เอริค เทน ฮาก ทำกับทัพ "ปีศาจแดง" ว่ามีประเด็นไหนบ้างที่มันเริ่มเหมือนกับที่ "ป๋าเฟอร์กี้" เคยทำเมื่อครั้งครองบัลลังก์ที่ โอลด์ แทร็ฟฟอร์ด

\"เทน ฮาก\" กับแนวทางที่เดินคล้ายยุค \"ป๋าเฟอร์กี้\"

คุมห้องแต่งตัวอยู่หมัด

หนึ่งในจุดเด่นของ เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน คือเรื่องของจิตวิทยา และการคุมนักเตะภายในทีม ไม่ว่าจะมีสตาร์ชื่อดังขนาดไหน ทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎข้อเดียวกัน และที่สำคัญไม่มีใครสามารถผยองตัวใหญ่ไปกว่าสโมสรได้

ซึ่งเรื่องนี้ "ป๋าเฟอร์กี้" ทำมาให้เห็นแล้วหลายครั้ง เขาไม่ยึดติดว่านักเตะคนนั้นคือผู้นำของทีม คือคนสำคัญที่ทีมไม่อาจขาดได้ในสนาม ถ้าเมื่อใดออกนอกลู่นอกทางก็พร้อมตัดหางออกจากสโมสรทันที

ประเด็นบาดหมางที่ทำให้แคลงใจกันจนถึงวันนี้คือระหว่างตัวเขากับ รอย คีน หนึ่งในกัปตันที่ดีที่สุดของ ยูไนเต็ด เรื่องนี้มันเกิดขึ้นจากที่มิดฟิลด์รายนี้ได้ไปให้สัมภาษณ์ผ่านช่องทีวีของสโมสรวิพากษ์วิจารณ์เพื่อนร่วมทีม 

ซึ่งเมื่อเรื่องเข้าหู "เฟอร์กี้" นายใหญ่เลือดสกอตต์ ก็ได้เรียกทุกคนมาดูเทปดังกล่าว ก่อนสั่งปรับเป็นจำนวนเงิน 5,000 ปอนด์ ทว่านักเตะกลับฉุนเฉียว เพราะมองว่าตัวเองไม่ผิด และที่พูดออกไปอยากจะกระตุ้นทีมเพียงเท่านั้น

ทว่าท้ายที่สุดทีมจะจัดการปล่อยตัว รอย คีน ออกจากทีม ทั้งที่เขาคือกองกลางหัวใจในแดนกลาง เป็นผู้นำในสนาม แต่ก็อย่างที่บอก เซอร์ อเล็กซ์ ไม่สนใจว่าลูกทีมคนนั้นจะมีอิทธิพลต่อทีมขนาดไหน ผิดก็คือผิด และเมื่อคิดว่าตนเองใหญ่กว่าสโมสรเมื่อใด ก็ต้องเก็บกระเป๋าออกไปทันที

นอกจาก รอย คีน แล้วกรณีศึกษายังมีอีกหลายครั้งไม่ว่าจะเป็นกับ เดวิด เบ็คแฮม ที่แหกกฎ หรือ รุด ฟาน นิสเตลรอย เคสนี้อาจหนักหน่อยตรงที่ขาดความเคารพ และท้าทายอำนาจของผู้เป็นนาย ทว่าท้ายที่สุดก็ลงเอยเหมือนคือต้องย้ายออกจากทีมสถานเดียว

ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไปทั้งคู่ก็สารภาพตามตรงว่ารู้สึกผิดพลาดกับสิ่งที่เกิดขึ้น ...

เช่นเดียวกันกับ เอริค เทน ฮาก เข้าเริ่มจากการปรับความเข้าใจ และอธิบายในสิ่งที่ต้องปรับปรุงแก้ไขทีม ภายหลังในช่วงปีที่ผ่านมามีแต่ข่าวด้านลบออกมาจากแคมป์ของ แมนฯ ยูไนเต็ด

เทน ฮาก ตั้งกฎเหล็กไว้หลายอย่าง ซึ่งข้อดีคือนักเตะยอมรับ และทำตามทุกข้อเสนอ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะทีม และส่วนสำคัญเพื่อตัวของตัวเองในการประสบความสำเร็จ และกลายเป็นนักเตะคุณภาพที่ไม่ใช่เพียงโชว์ผลงานในสนาม แต่มันต้องครบเครื่องทุกอย่าง

และเช่นกันกับกรณีของ คริสเตียโน่ โรนัลโด้ ในการออกมาให้สัมภาษณ์โจมตีสโมสร รวมไปถึงลั่นวาจาว่าไม่เคารพในตัวโค้ชคนนี้ ซึ่งสิ่งที่ เทน ฮาก ทำคืออยู่เฉยๆ ไม่ออกมาตอบโต้ และให้กระบวนการทุกอย่างจัดการด้วยตัวของมันเอง เพื่อเป็นการเชือดนิ่มๆ ให้คนในทีมเห็นว่า "ซูเปอร์สตาร์" หาใช่ว่าจะทำทุกเรื่องได้ตามอำเภอใจ

\"เทน ฮาก\" กับแนวทางที่เดินคล้ายยุค \"ป๋าเฟอร์กี้\"

แนวทางฟุตบอล

สมัยที่ เซอร์ อเล็กซ์ ยังกุมบังเหียน แมนฯ ยูไนเต็ด ต้องยอมรับว่าเป็นช่วงเวลาที่แฟนบอลมีความสุขเหลือเกินกับแนวทางของทีม ฟุตบอลเกมรุกที่ดุดัน การโจมตีที่หวังผลได้ ก่อนนำมาซึ่งความสำเร็จมากมายที่คลั่งไหลเข้ามา

ซึ่งหลังจากที่เจ้าตัวเก้าลงจากเก้าอี้ ไม่รู้ว่าลืมทิ้งคู่มือ หรือ DNA ความเป็น "ปีศาจแดง" ไว้หรือไม่ เพราะกุนซือคนไหนที่เข้ามาทำทีมกลับมาสไตล์ฟุตบอลที่ตรงข้ามอย่างชัดเจน

เดวิด มอยส์ ทรงบอลที่ไม่รู้จะออกแนวไหน ถ้านิยามสั้นๆ คงเป็นคำว่า "น่าเบื่อ" สำหรับแฟนบอล หลุยส์ ฟาน กัล ในรายนี้ขัดแย้งชัดเจนปรัชญาฟุตบอลที่เน้นผล ไม่ได้เน้นที่เกมรุกสนุกสนานมันชวนน่าง่วงนอนมากกว่าตื่นตาตื่นใจ

ส่วนในยุค โชเซ่ มูรินโญ่ มีโทรฟี่แชมป์ตั้งแต่ฤดูกาลแรก แต่ว่าสไตล์ฟุตบอลในสนามกลับสวนทาง ยิ่งช่วงปลายๆ ที่ โอลด์ แทร็ฟฟอร์ด ความดื้อด้าน หรือแนวทางของเขามันถูกแฟนบอลวิจารณ์พอสมควร โดยเฉพาะเกมที่เจอทีมต่ำชั้นกว่าก็เล่นเน้นผลมากเกินไป ทั้งที่ศักยภาพควรทำได้ดีกว่านี้

หรือ โอเล่ กุนนาร์ โซลชา ที่น่าตื่นตาในช่วงแรก และมีช่วงที่ดูดีขึ้นแบบผิดหูผิดตา ทว่าภาพรวมที่ออกมามันไม่สามารถหาคำนิยามได้ว่าคือฟุตบอลสไตล์ไหน ปิดท้ายที่ ราล์ฟ รังนิค ละไว้ในฐานที่เข้าใจในช่วงเวลาสั้นๆ ที่ไม่มีอะไรให้น่าจดจำ

กระทั่งการเข้าถึงของ เอริค เทน ฮาก เรารู้อยู่แล้วว่าสไตล์ของเขาที่เคยทำ อาแจ็กซ์ มาเป็นในรูปแบบไหน วิ่งเพรสซิ่งตั้งแต่แดนบน เปิดเกมรุกใส่การโจมตีอย่างดุดัน แต่แน่นอนมันย่อมต้องใช้เวลาในการปรับจูนนักเตะให้เข้ากับระบบใหม่ๆ ภายหลังอยู่กับระบบเดิมๆ มานาน

จนกระทั่งเมื่อทุกอย่างมันเข้าที่ก็อย่างที่ภาพปรากฎความดุดันของนักเตะ ความกระหายที่ใส่ไปในตัวลูกทีม และแพชชั่นที่ล้นเหลือ มันนำมาซึ่งผลงานที่ยอดเยี่ยม และมีโทรฟี่แชมป์เป็นเครื่องการันตี

อีกอย่างคือการปลุก โอลด์ แทร็ฟฟอร์ด ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง หลังถูกล้อเลียนว่าเป็น รีสอร์ท แอนด์ สปา ที่ทีมเยือนสามารถบุกมายื้อแต้ม หรือเก็บชัยได้แบบสบายๆ

ซึ่งกับประเด็นนี้ต้องยอมรับเลยว่า เทน ฮาก ทำให้แฟนบอล ยูไนเต็ด นึกถึงความดุดันสมัย "เฟอร์กี้" ไม่ใช่น้อย นักเตะเลือดนักสู้พลุ่งพล่าน เสี่ยงเป็นเสี่ยง แลกเป็นแลก และไม่ยอมแพ้ถ้านกหวีดยาวยังไม่ถูกเป่าจบเกม

ตายยาก !

ย้อนไปในยุคที่ ยูไนเต็ด ครองความยิ่งใหญ่หนึ่งในคุณสมบัติที่พวกเขามีติดตัวคืออาการ "ตายยาก" ถ้าเปรียบเป็นภาพยนตร์สักเรื่องคงใช้ชื่อภาษาไทยเข้าใจง่ายๆ อย่าง "คนอึดตายยาก"

หลายเกมที่ทีมของ "เฟอร์กี้" กำลังจะม้วยมรณาความพ่ายแพ้ผายมือต้อนรับ แต่สิ่งที่นักเตะแสดงออกมาคือไม่ยอมแพ้ เดินหน้าคว้าแต้มกลับมา หลายครั้งจาก 0 เป็น 1 แต้ม บางครั้งจาก 1 คะแนน แปรเปลี่ยนเป็น 3 ซึ่งตรงนี้มันสำคัญ และเป็นจิ๊กซอว์ที่ช่วยให้ทีมเดินหน้าล่าความสำเร็จ

ส่วนหนึ่งคือการติดตั้งระบบนักสู้ในตัวลูกทีมของ "เฟอร์กี้" คือให้ทุกคนสู้ให้ถึงหยดสุดท้าย เกมไม่จบพวกมึงแค่อย่ายอมแพ้ จนมันกลายเป็นสันดานของนักเตะในชุดนั้นๆ 

ซึ่งไม่รู้แหละว่าจะกลับมาได้ไหม แต่ขอแค่ให้ได้สู้ มองผิวเผินเพียงแค่นี้ก็ได้ใจแฟนบอลไปแบบเต็มๆ

เฉกเช่นเดียวกับ ยูไนเต็ด ในยุคของ เอริค เทน ฮาก ที่ DNA ของความเป็นนักสู่เริ่มแสดงออกมาอย่างเห็นได้ชัด เราแทบไม่เห็นภาพแล้วว่าเมื่อโดนนำนักเตะออกอาการ หรือใจฝ่อ แต่ภาษากายยังคงพร้อมเดินหน้าเพื่อล่าประตูต่อไป

ยกตัวอย่างเกมบุกชนะ วูล์ฟแฮมป์ตัน ที่รูปเกมตื้อๆ ตันๆ  แต่สุดท้ายก็ตามหาประตูชัยจนเจอ, แมตช์ที่ตามตีเสมอ ลีดส์ ยูไนเต็ด 2-2 ทั้งที่โดนนำไปก่อนถึง 2 ตุง หรือนัดดวล บาร์เซโลน่า ก็หาวิถีทางในการกลับมาเก็บชัยได้สำเร็จ

ไม่เว้นแต่นัดล่าสุดที่โดน เวสต์แฮม บุกมานำก่อน ทว่าก็มาได้ประตูช่วง 15 นาทีสุดท้ายพลิกแซงเข้าป้าย

แน่นอนมันคือบรรยากาศดีๆ ที่แฟนบอล แมนฯ ยูไนเต็ด ห่างหาย และไม่ได้สัมผัสมาแสนนาน 

และถ้าถามว่า เอริค เทน ฮาก จะแสดงรอยตาม เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ได้ไหม ?

มันไม่สามารถตอบได้หรอกครับ ฟุตบอลเปลี่ยนไปตามกาลเวลา เพียงแต่ว่าในช่วงที่ผ่านมาทุกเหตุการณ์มันบ่งบอกว่าแนวทางที่ ยูไนเต็ด ควรจะเป็นได้กลับคืนชีพอีกครั้ง

ต่อจากนี้เป็นเรื่องของเวลาที่จะพิสูจน์ทุกข้อสงสัยเอง

- Paolinho -

ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมของ ขอบสนาม
logoline