logo-heading

ฟุตบอลลีกไทยอยู่ในช่วงปิดฤดูกาล แต่กระแสข่าวการย้ายทีมยังคงคึกคักต่อเนื่อง สนนราคาการซื้อ-ขายตัวผู้เล่นส่วนใหญ่ว่ากันถึงหลักล้านและหลายสิบล้านบาท

ถ้าย้อนกลับไปสัก 20 ปีที่แล้วคงไม่มีใครกล้าคิดเหมือนกันว่าฟุตบอลไทยจะมาถึงจุดนี้ จุดที่นักเตะมีรายได้ที่งดงาม จากเงินเดือนหลักพัน หลักหมื่น ทะลุไปหลักแสนจนถึงหลักล้าน เคยมีคนถามเยอะว่าทำไมฟุตบอลไทยถึง “บูม” หลายคนมีมุมมองที่แตกต่างกันไป ส่วนตัวแล้วเชื่อว่ามี 2 ปัจจัยสำคัญด้วยกัน อันดับแรกเลยคือการ “รวมลีก” ระหว่าง “โปรลีก” และ “ไทยลีก” เข้าด้วยกัน นี่คือจุดสำคัญที่เปลี่ยนแปลงวงการฟุตบอลไทยไปตลอดกาล ฟุตบอล “ไทยลีก” ของ สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ ออกสตาร์ทก่อนตั้งแต่พ.ศ.2539 ด้วยคุณภาพของสโมสรชั้นนำเมืองไทย และมาตรฐานนักเตะระดับประเทศ ส่วนฟุตบอล “โปรวินเชียนลีก” หรือ “โปรลีก” ของ การกีฬาแห่งประเทศไทย ก่อกำเนิดเมื่อพ.ศ.2542 ด้วยเป้าหมายที่ระบุชัดว่า “ฟุตบอลอาชีพเพื่อนำร่อง” มาตรฐานนักเตะโปรลีกอาจจะเป็นระดับภูธร แต่จุดขายคือ “ท้องถิ่นนิยม” เพราะทีมที่ร่วมแข่งขันคือจังหวัดที่มีความผูกพันกับคนในพื้นที่ ช่วงปีแรกๆต่างฝ่ายต่างเตะกันไป แฟน “โปรลีก” ของทีมจังหวัดต่างๆเริ่มเยอะขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่มาตรฐานฟุตบอล “ไทยลีก” ยังดีกว่า แต่ “จำนวนคนดู” เริ่มถูกนำมาเปรียบเทียบกัน แนวคิดการ “รวมลีก” จึงถูกจุดขึ้นมาเพื่อนำจุดเด่นของทั้ง 2 ลีกมารวมเข้าด้วยกัน นั่นคือความเป็นท้องถิ่นนิยมของ “โปรลีก” กับมาตรฐานฟุตบอลของ “ไทยลีก” “โปรลีก” ถึง “ไทยลีก” สู่ “ลีกอาเซียน” !!! กระแสเรียกร้อง “รวมลีก” เริ่มแรงขึ้นเรื่อยๆจนมีแฟนบอลชูป้ายในสนามว่า “กทม.ลีกของใคร โปรลีก ลีกอาชีพของคนไทยทั้งประเทศ” ที่สุดแล้วหลังต่อสู้กันมาหลายปี การ “รวมลีก” ของ สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ และ กกท. ก็สามารถรวมกันได้สำเร็จ นั่นคือจุดเปลี่ยนสำคัญของวงการฟุตบอลไทย แม้จะมีการวิเคราะห์กันว่าทีม “โปรลีก” คงยากที่จะสู้กับ “ไทยลีก” ได้ แต่แค่ไม่กี่ปี “ฉลามชล” ชลบุรี จัดการทำลายความเชื่อนี้หมดสิ้นด้วยการคว้าแชมป์ไทยลีกมาครองได้สำเร็จ การ “รวมลีก” ทำให้ทีมจังหวัดเริ่มก้าวเข้าสู่สารบบฟุตบอลอาชีพมากขึ้น หลังจากนั้นกระแสความน่าสนใจก็มีตามมา ไม่ใช่เตะกันเอง ดูกันเอง...อีกแล้ว ปัจจัยสำคัญอันดับสองที่ตามมาคือการที่ “สมาพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย” (เอเอฟซี) ออก “คลับ ไลเซนส์ซิง” บังคับให้ชาติสมาชิกได้ดำเนินการพัฒนาไปสู่คำว่าฟุตบอลอาชีพ “โปรลีก” ถึง “ไทยลีก” สู่ “ลีกอาเซียน” !!! “บริษัท ไทยพรีเมียร์ลีก จำกัด” จึงกำเนิดขึ้นมา ขณะที่สโมสรต้องจดทะเบียนเป็น “นิติบุคคล” ในนามบริษัทเพื่อดำเนินการในเรื่องฟุตบอล ถึงตรงนี้หลายสโมสรที่อยู่มายาวนานด้วยรากเหง้าของการเป็นทีม “องค์กร” จึงต้องปรับตัว บางทีมอยู่ได้ แต่บางทีมจำต้องเลิกลา เพราะข้อกำหนดหลายอย่างที่บังคับใช้ ที่สุดแล้วฟุตบอลไทยก็เตะกันไปปรับตัวกันใหม่จนเติบโตมาได้จนถึงทุกวันนี้ วันที่นักเตะมีเงินเดือนสูงกว่าคนจบปริญญาเอก หลายคนมีงานทำเพราะฟุตบอล สิทธิประโยชน์ฟุตบอลไทยว่ากันไปถึงระดับร้อยล้านบาท พันล้านบาทแล้ว ขณะที่จำนวนทีมในลีกส่วนใหญ่กลายเป็นทีมจังหวัดหมดแล้ว เอาแค่ “ไทยลีก” ฤดูกาลหน้าหากนับจริงๆ มีแค่ทีมเดียวที่ใช้สนามในกรุงเทพมหานครคือ “การท่าเรือ” ส่วนทีมอื่นๆออกไปเตะกับตามปริมณฑลและต่างจังหวัดกันหมดแล้ว คำว่า “กทม.ลีก” ไม่มีอีกต่อไป บางสัปดาห์ไม่มีเตะกันในกรุงเทพและปริมณฑลเลยด้วยซ้ำ ถ้าไม่ “รวมลีก” ในวันนั้น ก็คงไม่มี “ไทยลีก” ที่กระจายไปทั่วไทยอย่างวันนี้ แล้วถ้า “เอเอฟซี” ไม่บังคับ “คลับ ไลเซนส์” สโมสรไทยก็คงยังเป็นมือสมัครเล่นกันต่อไป ทุกวันนี้จึงต้องยอมรับว่าฟุตบอลไทยพัฒนาขึ้นมามาก แต่ถามว่าลีกไทยโตแบบ “กลวงข้างใน” หรือเปล่านั้นอีกเรื่องหนึ่ง ต้องยอมรับว่าปัญหายังมีอีกมากมาย อาทิบางสโมสรเหนียวหนี้ หลายทีมขาดทุนยับ นักเตะไม่ได้รับความเป็นธรรม ทีมย้ายสนามหรือถิ่นฐานกันเป็นว่าเล่น สิ่งต่างๆเหล่านี้เป็นปัญหาที่ต้องพยายามช่วยกันแก้ไขเพื่อให้ลีกไทยแข็งแกร่งแบบยั่งยืนจริงๆ อย่าไปหลงไหลได้ปลื้มกับแค่ไม่กี่ทีมที่ประสบความสำเร็จยืนได้อย่างมั่นคงแล้ว “โปรลีก” ถึง “ไทยลีก” สู่ “ลีกอาเซียน” !!! “เอเอฟซี” เคยบอกเอาไว้ว่า “มาตรฐานของลีกอยู่ที่ทีมอันดับสุดท้ายของตารางคะแนน ไม่ใช่ทีมที่อยู่บนหัวตารางคะแนน” ดังนั้นการพัฒนาหรือออกกฎใดๆควรให้เดินไปด้วยกันหรือโตไปพร้อมกันได้ทั้งลีก อย่าง “โควต้าอาเซียน” ที่เถียงกันนานนั้นก็ไม่แน่ใจว่าเป็นแนวทางที่ “ใช่” หรือเปล่า ? เข้าใจในความมุ่งมั่นของ สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ ที่ต้องการให้ไทยเป็น “ลีกอาเซียน” เป็นอันดับ 1 ของภูมิภาคนี้ รวมถึงเพื่อสิทธิประโยชน์ต่างๆที่วาดฝันไว้สวยหรู แต่ดูแล้วแนวทางนี้อาจเกิดประโยชน์แค่กับไม่กี่ทีมที่มีความพร้อมและมีกำลังเท่านั้น มันจะกลายเป็น “มือใครยาวสาวได้สาวเอา” เสียมากกว่า จุดขายที่ “โควตาอาเซียน” ดูแล้วยังไม่โดน ยิ่งไม่จำกัดคุณภาพแต่เน้นปริมาณยิ่งน่าห่วง รวมถึงถ้าว่ากันถึงการพัฒนานักเตะไทย หากพิจารณาดูจริงๆแล้วคิดว่า “ไม่ตรงจุด” สักนิด !!! ขออยู่ในฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับแนวนโยบายนี้ เพราะคิดว่าลีกไทยยังมีอะไรที่น่าคิด น่าทำกว่าการเปิดโควตาอาเซียนเยอะ เอาเวลาไปคิดทำอย่างอื่นดีกว่าแยะ                                “บับเบิ้ล”       
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมของ ขอบสนาม
logoline